ชีวิตที่พอเพียง 2635. หนีสังคมเข้าป่าหาชีวิต



หนังสือ เข้าป่าหาชีวิต : เรื่องราว ตัวตน และความโดดเดี่ยว ของสำนักพิมพ์หนังสือเพื่อสังคม แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Into the Wild เขียนจากเรื่องจริงโดย Jon Krakauer แปลโดยธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ อ่านแล้วผมฉงนว่าคนอย่าง คริส แมคแคนด์เลส ตัวเอกของเรื่องก็มีด้วย

หนังสือเล่มนี้จึงขายดี และมีคนเอาไปทำหนัง (ดูได้ ที่นี่) อ่านคำนิยมของ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จะยิ่งทำให้น่าอ่านหนังสือยิ่งขึ้น มันบอกมิติของความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ในตัวคนบางคนได้ลึกซึ้งมาก

เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าคนหนีสังคมเข้าป่าหาชีวิตไม่ได้มี คริส แมคแคนด์เลส เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอื่นๆ อีกมาก เช่น โรเซลลินี (น. ๑๖๖), จอห์น วอเตอร์แมน (น. ๑๗๐) คนเหล่านี้ดูจะมีความ ไม่เต็มเต็งอยู่ไม่มากก็น้อยและบ้าคนละแบบ โดยวอเตอร์แมนบ้าปีนเขา ส่วน คาร์ล แม็คคันน์ (น.๑๘๐) บ้าถ่ายรูป

ในหนังสือหน้า ๑๐๓ ผมตกใจที่ได้อ่านพบว่าที่บริเวณที่เรียกชื่อว่า Slabs นอกเมือง Niland รัฐ California มีคนจรจัดมาชุมนุมกันถึง ๕ พันคน แสดงว่าในสหรัฐอเมริกามีคนที่หลีกเร้นสังคมจำนวนมาก

ความสนุกในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือรายละเอียดของป่าเขา ชั่วขณะระหว่างปีนหน้าผา วิธีดำรงชีวิต และการเผชิญอันตรายในป่า หรือในสภาพนั้นๆ ยิ่งหากบริเวณใดเราเคยผ่านเฉียดๆ ไปแล้วยิ่งสนุก คือพอจะจินตนาการออกว่าตัวละคร ในหนังสือ มีความเป็นอยู่อย่างไร เช่นทะเลทรายโมฮาวี ที่ผมเพิ่งไปเที่ยวเมื่อปีที่แล้ว ดัง บันทึกนี้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ Jon Krakauer เป็นคนที่มีประสบการณ์ในการเข้าไปทดลองใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในป่า และปีนเขา แบบเดียวกันกับ คริส แมคแคนด์เลส หนังสือเล่มนี้จึงน่าจะน่าอ่านมากสำหรับนักเดินป่า หรือนักผจญภัยในป่าเขา มีเรื่องราวของความรู้สำหรับดำรงชีวิตในป่า และความรู้ด้านสรีรวิทยาของผู้อดอาหาร ซึ่งจะช่วยการอยู่รอด ไม่ตายจากการอดอาหารอย่างที่เกิดกับ คริส แมคแคนด์เลส และคนอื่นๆ อีกหลายคน

หนังสือเล่มนี้ เขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนก่อนรู้เรื่อง คริส แมคแคนด์เลส, จากการตามรอย คริส แมคแคนด์เลส, จากการค้นคว้าทางวิชาการ, และจากการสัมภาษณ์ผู้คน และผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เช่นด้านพืชในป่าอะลาสกา

อ่านไปได้ไม่ถึงครึ่งเล่ม ผมรู้สึกว่า คริส แมคแคนด์เลส และคนอื่นๆ ที่หลีกเร้นชีวิตในสังคมปกติ เน้นชีวิตเพื่อตนเองเป็นหลัก ที่จริงในประเทศไทยก็มีคนเข้าป่าหาความหมายในชีวิตจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างที่เด่นที่สุดคือ ท่านอาจารย์ใหญ่สายพระป่าหรือวิปัสนาธุระในอดีต (เช่น ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตฺโต) แต่เป็นการเข้าไปฝึกจิตใจของตนเอง เพื่อการดำรงชีพแบบสมณะที่ไม่ยึดติด และนำธรรมะที่ค้นพบ หรือเข้าใจผ่านการปฏิบัติ มาเผยแพร่โปรดเพื่อนมนุษย์

ชีวิตของ คริส แมคแคนด์เลส น่าจะเรียกได้ว่า ชีวิตนักปฏิเสธ เขาปฏิเสธระบบทุนนิยมวัตถุนิยม ปฏิเสธความรักความหวังดีของพ่อแม่ โดยเขารู้สึกว่าเป็นสิ่งบีบคั้น เมื่อออกเดินทางคนเดียว เงินก็เป็นสิ่งบีบคั้น เขาจึงเผาธนบัตรทิ้งหนังสือบอกว่า เขาเป็นสาวกของตอลสตอย และธอโร ที่เป็นนักอุดมคติ ไม่ยอมประนีประนอมกับความคิดที่มุ่งใฝ่หาชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ความรัก แต่มุ่งหา ความจริง

อ่านมาเรื่อยๆ จึงเข้าใจว่า คริส แมคแคนด์เลส ปฏิเสธพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อ ที่เป็นคนเก่ง เป็นอัจฉริยะด้านฟิสิกส์-วิศวกรรมอวกาศ แต่ร่วมกันประพฤติผิดจริยธรรมทางเพศ ที่ร่วมกันตั้งครอบครัวที่สอง โดยที่พ่อของคริสก็ยังอยู่กับภรรยาเก่า และมีลูกกับภรรยาเก่าหลังมีคริสกับภรรยาใหม่คือแม่ของคริส ความเคียดแค้นชิงชังของเขาขยายตัวไปสู่สภาพสังคมทุนนิยม

อ่านข้อความในหน้า ๓๙๔ ที่เขาขีดเส้นใต้ข้อความในหนังสือ ด็อกเตอร์ชิวาโก ข้อความ รักเพื่อนบ้านของเรา และ ชีวิตคือความเสียสละ ผมนึกในใจว่า น่าเสียดายที่หนังสือจำนวนมากที่เขาอ่าน ไม่มีคำว่า การให้อภัยเป็นการให้ที่ประเสริฐสุด

แต่ในข้อเขียนของสุทธิพงศ์ อนุกูลเอื้อบำรุงตอนท้ายเล่ม (ไม่มีเลขหน้า) ระบุว่า “เขาใช้จิตวิญญาณสุดท้ายในการให้อภัย เขาให้อภัยพ่อแม่ เขามอบความรักให้ทุกคนที่ผ่านมา ....” ซึ่งหากเป็นจริงตามนี้ ก็เท่ากับว่า ประสบการณ์ชีวิตในอะแลสกา ช่วยให้ คริส แมคแคนด์เลส เกิด Transformative Learning


วิจารณ์ พานิช

๑๒ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604660เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2016 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2016 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อิสระภาพแห่งความคิด แต่ละชีวิตคิดกันเอง ซับซ้อนนัก

มันคือเรื่องที่ซับซ้อนจริงๆ ดูหนัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท