โลกอาจสวยได้ไม่สุด ..กับอาชีพการเกษตร


โลกอาจสวยได้ไม่สุด ...กับอาชีพการเกษตร

หากติดตามจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสื่อโซเชียล หลัง ๆ เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งเกี่ยวกับอาชีพการเกาตร จะสังเกตมีการแชร์กันเรื่องบุคคลต่างๆ ประสบผลสำเร็จได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากการทำการเกษตร เช่น ทำสวนมะนาว 1 ไร่ 1 ปี ได้เงินหลักแสน ปลูกผักบุ้งขาย รายได้เดือนละหลายหมื่น และยิ่งกว่านั้นคือ มีพวกหลากหลายอาชีพที่ละทิ้งอาชีพหมอ ครู วิศวะ พนักงานออฟฟิศ และมาประสบความสำเร็จกับการมาปลูกผัก ขายผัก จนได้เงินเป็นกอบเป็นกำ

ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ หรือกลุ่มบุคคลที่มีความพร้อม มีแนวคิด มีความรู้ในการทำการเกษตรโดยใช้วิทยาการใหม่เข้ามาประยุกต์ เพราะปัจจุบันเกษตกรส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรรุ่นพ่อ รุ่นแม่ขึ้นไป จึงอาจกล่าวได้ว่า คนอายุ ห้าสิบ หกสิบ คือคนทำอาชีพการเกษตรรุ่นสุดท้ายภูมิลำเนาตามต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ กับการเกษตรแนวทางแบบดั้งเดิม โดยอาศัยต้นทุนทางทรัพยากรที่มี ด้วยเหตุข้อจำกัดด้านความรู้และวิทยากาใหม่ๆ และที่สำคัญคือเงินทุน

ข้อสังเกตที่น่ากังวลจากสถาณการณ์ปัจจุบันคือ บุตรหลานเกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่สนใจที่อยากจะมาทำอาชีพเกษตร สนใจเรียนเกษตรกันน้อยลง และมากไปกว่านั้น พ่อแม่ต่างเต็มใจทำงานหนัก หรือแม้แต่กู้หนี้ยืมสิน เพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่อในระดับที่สูง ๆ ขึ้นไป เพื่อเป้าหมายคือการจบการศึกษาแล้วได้ทำงานที่ดี มั่นคง มีหน้ามีตา ซึ่งไม่ใช่อาชีพสานต่อพ่อแม่ด้วยการเป็นเกษตรกร

แม้แต่ในสถาบันการศึกษาเอง สาขาด้านการเกษตร เยาชนคนรุ่นใหม่ได้รับความสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต ยิ่งถ้าเจาะลงไปในระดับวิชาชีพ (ปวช.ปวส.) แทบจะง้อให้คนมาเรียน ทั้งให้เรียนฟรี พักฟรี กินฟรี แต่ยังถูกเป็นทางเลือกกลำดับถัดๆไปจากการเรียนในสาขาด้านอื่นๆ หรือถ้าจบด้านการเกษตรศาสตร์ก็มีเป้าหมายที่รับราชการ งานบริษัทเอกชนด้านการเกษตร เพราะจากความเข้าใจ ความรู้สึกคือ อาชีพเกษตรเป็นอาชีพทางเลือกสุดท้าย เป็นอาชีพที่หนัก เหนื่อย ได้ค่าตอบแทนน้อย มีความเสี่ยงสูงทั้งในด้านธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ และราคา ซึ่งความเป็นจริงเกษตรกรไทย ก็ประสบสภาวะเช่นนั้นจริงๆ และสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ จึงถูกตั้งไว้ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ มีเพียงคำปลอบประโลมเบาๆ เช่นผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาต ผู้ผลิตอาหารให้เรากิน นั่นก็เหตุผลเพียงพอด้วยความรักของพ่อแม่จึงอยากให้บุตรหลานหลุดพ้นจากวงจรนี้

ย้อนมาที่เกริ่นไว้ข้างต้นกับกระแสผ่านสื่อ ผ่านโซเชียล ในความประสบความสำเร็จของบุคคลที่ละทิ้งอาชีพสบายๆ ค่าตอบแทนสูงๆ ไป หันมาประกอบอาชีพการเกษตร ชีวิตชิลๆ สวยงามท่ามกลางผักเขียว น้ำใส ทำให้หลายคนใฝ่ฝันอยากทำตามเช่นนั้น สิ่งที่สะท้อนเล็ก ๆ คือลึกๆ จิตใจคนส่วนใหญ่อยากใกล้ชิดธรรมชาติ ใช้ชีวิตได้ผ่อนคลายกว่าความกดดัน เคร่งเครียดกับการทำงานปัจจุบันของตัวเอง

ซึ่งต้องยอมรับในจิตใจของนักเกษตรที่หาญกล้า และมุ่งมั่น ตั้งใจจนประสบผลสำเร็จ เพราะการเกษตรจริงๆ ไม่ได้ง่ายดาย เพียงขุดดิน หยอดเมล็ด พืชงอกงาม รดน้ำ เก็บขาย ขนาดนั้น อาจจะง่ายในรูปแบบ กระบวนการความซับซ้อน แต่ยากในการลงมือปฏิบัติจริง ยิ่งกับคนที่ทั้งชีวิตไม่เคยคลุกคลีกับการเกษตรแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง นอกจะใจรักจริงๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ขอไม่กล่าวรวมถึงคนทำเกษตรประเภทเจ้าของใช้เงินลงทุน จ้างแรงงานมาทำเป็นหลัก มาทำช่วงวันหยุด ตัวเองยังทำงานมีรายได้หลักจากงานตัวเองควบคู่ไป (ซึ่งผู้เขียนก็อยู่ในประเภทนี้) จะเรียกเป็นอาชีพเกษตรก็ไม่เชิงสักทีเดียว นอกจากเรียกเป็นอาชีพเสริม อาชีพสำรอง หรืองานอดิเรกสร้างรายได้ไป

ความเป็นจริงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จดั่งเฉกเช่นเดียวกันทุกคน ภาพฝันที่หลายคนเคยวาดไว้อาจไม่สวยงาม ซึ่งคงเหมือนๆ กับทุกอาชีพ ทุกๆ วงการคือ ผู้ประสบความสำเร็จอย่างดีมากมีไม่ไม่น่าเกินยี่สิบเปอร์เซนต์ นอกจากนั้นก็กลางๆ ประคับประคองตัวเองได้ และล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สื่อต้องนำเสนอในส่วนที่ทำสำเร็จ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้ใครได้ แต่สำหรับคนเสพสื่อไม่ครอบคลุม รอบคอบ ก็อาจหลงเข้าใจผิดได้

จากที่ได้อ่าน ติดตามเส้นทางของกลุ่มบุคคลที่หันมาประกอบการเกษตร องค์ประกอบสำคัญต่อการตัดสินใจหลัก ๆ คือ พื้นฐานจิตใจมีความชอบในการเกษตรระดับหนึ่ง ชีวิตหลังเกษียณ ผู้มีจุดอิ่มตัวกับกับงานเดิม สภาวะจำเป็นต่องานที่ทำ หรือสุขภาพไม่เอื้อให้ทำงานเดิมต่อไปได้ และผู้เคยทำการเกษตรแบบควบคู่กับงานประจำจนเมื่อลงตัวจึงค่อยลาออกจากงานเดิม ประเด็นข้อสังเกตอีกอย่างคือคนกลุ่มนี้ ไม่มีภาระหนี้สิน บีบรัด ภาระค่าใช้จ่าย เท่าไหร่ (อันนี้หมายถึงส่วนใหญ่นะคับ)

จุดเด่นที่แตกต่างกับเกษตรกรอาชีพโดยทั่วไปที่เห็นได้ชัดข้อหนึ่งคือการเตรียมความพร้อม ด้านองค์ความรู้ ศึกษาข้อมูล ในรูปแบบ กระบวนการ เทคโนโลยี ชนิดพืชเกษตร และสำคัญคือการตลาด นอกจากนี้คนกลุ่มนี้เตรียมความพร้อมในด้านเงินทุน ทำให้รูปแบบการเกษตรเชิงประณีต เช่น ผักไฮโดรโพนิค ผักกางมุ้ง ผัก ผลไม้ในโรงเรือน ผักปลอดสารพิษ ผักอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ต้นทุนเบื้องต้นค่อนข้างสุง นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกษตรกรทั่วไปยังไม่สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้

การที่คนส่วนหนึ่งหันมาสนใจการทำเกษตรมากขึ้น ถือเป็นมิติใหม่ทีดี เพราะยังไงเสียการเกษตรก็เป็นการผลิตอาหารหลักให้คนเรา ส่วนใครที่กำลังสนใจ กำลังจะตัดสินใจ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน จากสื่อที่มีได้ทั่วไป

......แล้วทำไมเกษตกรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังอยู่สภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ยิ่งทำยิ่งเพิ่มหนี้สิน ยิ่งทำยิ่งจน ไม่สามารถหลุดพ้นจากเส้นอยู่ดีกินดีได้ จนสุดท้ายไม่อยากให้บุตรหลานตัวเองมาสานต่อมรดกทางอาชีพนี้ บทความเขียนหน้าจะลองมาวิเคราะห์ นะคับ

คำสำคัญ (Tags): #เกษตกรกรรม
หมายเลขบันทึก: 604459เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2016 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท