สอนอย่างไรให้ผู้สอนมีความสุข?(หัวข้อ​Oncology, HIV/AIDS and an Occupational Therapy)


ขอบคุณโอกาส อ.ป๊อบ อ.เดียร์ ผู้ป่วยที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องโรคมะเร็งและโรคเอดส์และเพิ่มมากขึ้น

ดิฉันและอาจารย์เดียร์ได้มีโอกาสสอนนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่สอง ในหัวข้อ เนื้องอก มะเร็ง เอดส์ และบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดเมื่อวานที่ผ่านมา (๑๑/๓/๒๕๕๙) นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่สองจำนวน 25 คน(อีกหนึ่งคนติดสอบ) มานั่งเรียนแบบ active learning ด้วยหัวใจเปิดรับ ยืดหยุ่น สร้างสรรค์ และร่าเริงตามสไตล์ของเด็กชั้นปีนี้

เริ่มการเรียนการสอนด้วยการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง จากการที่ดิฉันเองมีคุณแม่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ตั้งแต่เริ่มจนจบในวาระสุดท้ายของชีวิต ขอผลบุญจากเรื่องเล่าครั้งนี้ไปถึงดังดวงวิญญาณของท่านที่ได้อุทิศเรื่องราวจริงเป็นความรู้แก่นักศึกษากิจกรรมบำบัด นักศึกษาตั้งใจฟัง ไม่มีเสียงพูดคุย และในช่วงท้ายมีนักศึกษาหนึ่งคนร่วมแชร์ประสบการณ์ของคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ และพูดถึงความรู้สึกผิดที่ตนเองไม่ค่อยมีโอกาสไปดูแลคนที่รักได้อย่างเต็มที่ นับเป็นการแสดงความคิดเห็นร่วมที่ทำให้เพื่อนๆร่วมชั้นได้เรียนรู้ไปด้วยกันอย่างซาบซึ้ง

จากนั้นอาจารย์ก็ได้สรุปคีย์เวิร์ดสำคัญที่เชื่อมโยงกับเรื่องเล่า และเชื่อมโยงเนื้อหาระยะมะเร็งกับเอดส์ เนื้อหาฉบับย่อ ขอบคุณ อ.เดียร์ที่กรุณาช่วยบันทึกค่ะ

ระยะของมะเร็ง

1. พบมะเร็ง จำกัดอยู่บริเวณที่ยังเป็น ไม่รบกวนต่อบริเวณเนื้อเยื้อรอบข้าง

2. มะเร็งลุกลาม เข้าเนื้อเยื้อข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลาม

3. มะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

4. มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย

ระยะของเอดส์

1.ระยะไม่ปรากฏอาการ (Acute HIV infection/Asymptomatic Stage)

2.ระยะที่มีอาการ (Chronic HIV infection/ Symptomatic Stage)

3.ระยะเต็มขั้น (Full Blown AIDS/ AIDS)

เริ่มกิจกรรมการเรียนการสอนต่อด้วยการเปิดยูทูป บทภาวนา ตายก่อนตาย https://www.youtube.com/watch?v=VPI51M54h7E นักศึกษานั่งหลับตาฟังในท่าสะบาย ผ่อนคลาย จนหลับจริงๆบ้างบางคน หลังจากฟังเสร็จ อาจารย์ถามคำถาม ถ้ามีเวลาเหลืออยู่สิบห้าวัน คุณอยากทำอะไรก่อนตาย ?


นักศึกษาให้ทัศนะว่า จะ................................

  • กลับไปหาครอบครัว ทำสิ่งที่อยากทำ
  • กลับไปหาพ่อกับแม่
  • กลับไปหาคนที่รัก เพื่อน ทำสิ่งที่อยากทำ
  • กลับไปหาพ่อกับแม่ ทำสิ่งที่อยากทำ
  • กลับไปหาพ่อกับแม่ ใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่
  • ไปในที่อยากไป ทำในสิ่งที่อยากทำ ให้มีความสุขที่สุด
  • ไปหาครอบครัว สิ่งที่เป็นไปได้จะทำให้หมด
  • กลับหาพ่อ แม่ เพื่อน เที่ยวด้วยกันทั้งหมด มีความสุข
  • ทำตามเป้าหมาย กลับไปอยู่บ้าน
  • กลับไปอยู่บ้าน อ่านสิ่งที่อยากอ่านให้หมด ทำทุกอย่างให้มีความสุข
  • ใช้ชีวิตกับครอบครัว ใช้เงินให้เต็มที่
  • อยู่กับพ่อแม่
  • กลับไปบ้าน เที่ยว
  • กลับไปบ้าน ขอโทษในสิ่งที่ทำผิด ทำในสิ่งที่อยากทำ
  • กลับบ้าน
  • กลับไปดูแลพ่อแม่ พูดให้รู้สึกไม่เครียด
  • ดูแลพ่อแม่ ขอโทษเรื่องทำผิด เคลียร์เรื่องค้างคา
  • กลับไปหาพ่อ แม่ อย่าห่วง ให้ใช้ชีวิตต่ออย่างมีความสุข
  • ไปเที่ยวกับคนที่รู้จัก ถ่ายรูป ให้มีความสุข
  • กลับไปหาพ่อ แม่ ไปหาเพื่อน ดูหนังที่อยากดูให้หมด
  • กลับไปบ้าน ไปเที่ยวด้วยกัน ไปกับคนรัก ทำบุญ
  • พ่อ แม่ น้องมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง ฝากฝังน้อง
  • กลับไปอยู่กับครอบครัว เที่ยวด้วยกัน มีประสบการณ์ช่วงเวลาดีๆด้วยกัน
  • ขอบคุณ และขอโทษทุกคน ที่ผ่านเข้ามา ไปเที่ยวกับครอบครัว คนรัก
  • อยู่กับครอบครัว คนรัก เพื่อน

กิจกรรมลำดับถัดมาอาจารย์ใช้เทคนิค Role play สาธิตเป็นนักกิจกรรมบำบัด และ ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ทำการสาธิต (Demonstrate/Demo) ให้กับนักศึกษา และสรุปเทคนิคย่อยๆที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ให้นักศึกษาฟังเป็นระยะ จากนั้นแบ่งกลุ่มและให้นักศึกษาลองทำบทบาทสมมุติบ้าง

แล้วสรุปการเรียนรู้ดังนี้

เราเป็นนักกิจกรรมบำบัดจะต้องช่วยสร้างความไว้วางใจ (Trust) ความหวัง (Hope) พลังการมีส่วนร่วม (Recovery empowerment) กับผู้รับบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ และทำให้เขาปรับบทบาท (Role transformation) ไปได้ในแต่ละระยะ อย่างเต็มศักยภาพ (Capacity)

บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ ทั้งสามระยะ

  • ระยะแรก
  • ระยะกลาง
  • ระยะสุดท้าย (End of Life care)

ระยะแรก

ปฏิกิริยาแรกผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งหรือติดเชื้อเอดส์ ย่อมเกิดภาวะshock เครียด(distress) กลัวตาย ซึมเศร้า (depression) ระยะนี้นักกิจกรรมบำบัดต้องช่วยทำให้เขามีการปรับตัว ปรับอารมณ์ ให้ดีขึ้น หากผู้ป่วยมีการจัดการทางอารมณ์ที่ไม่ดี ย่อมทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ(ใช้กลไกป้องกันทางจิตเพื่อชดเชย) ระบบประสาท Sympathetic ย่อมทำงานหนักขึ้น โจทย์ของนักกิจกรรมบำบัดคือจะต้องช่วยเขาให้สามารถเผชิญกับเหตุการณ์นี้ไปได้ โดยใช้ Cognitive behavioral technique, Relaxation, Mood repair strategies เพื่อให้ผู้รับบริการมี Emotional coping strategies ที่ดีขึ้นและเตรียมพร้อมดูแลรักษาตัวเอง

ระยะกลาง

ผู้รับบริการต้องดำรงชีวิตกับโรคของเขาไปเรื่อยๆและเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ด้วยอาการของโรคที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความล้า (fatigue-weakness) (Physical ไม่มีเรี่ยวแรง + Cognition คิดเยอะ + Mental หดหู่) มีอาการเจ็บ(pain)/distress กลืนลำบาก(dysphagia) โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยมะเร็งที่ให้เคมีบำบัด ฉายแสง ซึมเศร้า(depression) อีกทั้งยังต้องปรับตัวดำรงชีวิตในการทำกิจกรรมต่างๆให้สมดุล ต่อสู้กับอาการต่างๆ ตราบาป(stigma)จากสังคมรอบข้างโดยเฉพาะโรคเอดส์ที่สังคมนิยามว่าเป็นโรคที่น่ารังเกียจ บทบาทนักกิจกรรมบำบัดในระยะนี้ ต้องสำรวจการใช้เวลา(time management) การสอนเทคนิคการสงวนรักษาพลังงาน(energy conservation) การให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง (psychoeducation) รวมทั้งเทคนิคต่างๆในระยะแรกก็ยังสามารถนำมาใช้ร่วมด้วย ส่งเสริมให้เขาไม่เกิด activity deprivation ได้ทำกิจกรรมที่มีความหมาย (meaningful) โดยนักกิจกรรมบำบัดจะจัดกิจกรรมกลุ่มพลวัติ (group dynamics) กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (peer support group) ให้เขามีส่วนร่วม(cooperate)มากขึ้น ดึงความสามารถ สนใจเรื่องการสร้าง self-esteem self-value self-efficacy ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ (Doing-Being-Becoming)

End of Life care

หากมีการเตรียมตัวในระยะแรก และระยะกลางได้ดี ระยะสุดท้ายผู้รับบริการย่อมปรับตัวได้อย่างมีความสุข นักกิจกรรมบำบัดสามารถประเมินความพร้อม และช่วยให้คำแนะนำในการเตรียมตัวเอง เพื่อพร้อมในการลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบ และมีคุณค่า ผู้ป่วยหลายคนอยากใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เขารัก เตรียมวางแผนเรื่องทรัพย์สมบัติ สะสางเรื่องที่ค้างคาต่างๆ ทำบุญและทำจิตใจให้สบาย หากเขามีระดับการรู้คิดที่ดี เช่น ระดับ Cognitive level 6 เมื่อนักกิจกรรมบำบัดถามคำถามนำเชิงลบอย่างน้อย 3 คำถาม เช่น รับได้? ว่าตนเองกำลังจะเสียชีวิต สังเกตว่าเขามีการปรับตัวที่ดีหรือไม่ ระดับ Cognitive level 4-5 เมื่อถามเรื่องการคุยหรือการยอมรับของญาติ ว่าญาติยอมรับได้ไหม?ว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต สังเกตคำตอบและปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยแสดงออกว่ามีการปรับตัวอย่างไร เพื่อประเมินความพร้อมว่าพร้อมแล้วหรือไม่

สรุปโปรแกรมของนักกิจกรรมบำบัด

Self-management program

  • สำรวจการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน
  • ปรับรูปแบบกิจกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะที่เกิดขึ้น
  • ปรับเรื่องอารมณ์
  • ปรับเรื่องความล้า
  • ปรับเรื่องกิจกรรมการดำเนินชีวิต
  • สร้างกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีความหมาย

ยกตัวอย่าง โปรแกรมประเมิน (Program evaluation) หัวข้อ การสงวนรักษาพลังงาน (energy conservation) ในการทำกิจกรรมโดยนักกิจกรรมบำบัดสำรวจ

  • คะแนนคาดการณ์ถึงพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม
  • คะแนนความรู้สึกถึงพลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม
  • รูปแบบกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก (จำนวนกิจกรรม)
  • รูปแบบกิจกรรมที่ใช้พลังงานน้อย (จำนวนกิจกรรม)


สามารถอ่านเนื้อหาอ้างอิงได้จากหนังสือเรื่อง การจัดการตนเองเมื่อเป็นมะเร็ง

ปิดท้ายการเรียนการสอนในวันนี้ด้วยการแผ่เมตตา เพื่อฝึกความเมตตาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

หากมีเวลาเหลือแค่สิบห้าวันก่อนตาย ดิฉันอยากเขียนเล่าการสอนหัวเรื่องนี้ค่ะ.........


ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 603314เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2016 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2016 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้สึกถึงพลังการทำงานเป็นทีมครับ

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์เดียร์ (รู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงาน) :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท