เล่างาน KM แก้จน ให้ รมต.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับทราบ


เพราะโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯเที่ยวนี้ เราไม่ได้มองความจนที่วัดกันด้วยตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้มองที่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การออม มิตินี้มิติเดียวเท่านั้น แต่มองแบบองค์รวมว่าจนคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพ อาชีพ คุณธรรม ศิลปะ ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ กิจกรรมจึงเปิดกว้างมาก แก้จนกันได้ในทุกกิจกรรม

            เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา ในเวทีเรียนรู้เพื่อสร้างแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดนครศรีธรรมราช กรณีคนคอนพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ อาคารเรียนรวม 7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผมได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อ.ไพบูลย์ วัฒนาศิริธรรม และได้ถือโอกาสนี้เล่างานแก้จนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดนครฯเราที่ดำเนินการมาให้ท่านได้รับทราบ

          ผมเริ่มต้นเล่างานด้วยการเรียนท่านรัฐมนตรีฯและที่ประชุมว่าการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯที่ดำเนินการอยู่นี้นั้นเป็นการจัดการความรู้เชิงพื้นที่ เป็น KM ชุมชน ไม่ใช่ KM เฉพาะกิจ มุ่งทำกันยาวนานต่อเนื่อง ส่งต่อให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด มองประเด็นการพัฒนาอย่างรอบคอบครอบคลุมให้ครบทุกประเด็น บูรณาการทุกหน่วยงานมาทำงานรับใช้ชุมชนอย่างชนิดที่ว่าให้ชาวบ้านคิดว่าทุกหน่วยงานคือสมบัติหรือเครื่องมือพัฒนาของชาวบ้านให้ได้ ให้ชุมชนเข้มแข็ง สมบูรณ์ และยั่งยืนในที่สุด ยึดแนวทางการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามจุดเน้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่สิบ และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ GDP โต และโตชนิดที่ว่าคนมีความสุขได้ ไม่ทอดทิ้งสิ่งแวดล้อม และคนด้อยโอกาสในสังคม เพราะโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครฯเที่ยวนี้ เราไม่ได้มองความจนที่วัดกันด้วยตัวเลขเท่านั้น ไม่ได้มองที่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การออม มิตินี้มิติเดียวเท่านั้น แต่มองแบบองค์รวมว่าจนคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพ อาชีพ คุณธรรม ศิลปะ ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ กิจกรรมจึงเปิดกว้างมาก แก้จนกันได้ในทุกกิจกรรม

          ผมเรียนท่านรัฐมนตรีและที่ประชุมว่าจากการดำเนินงานที่ผ่านมา 2 ปี (48-49) ชุมชนในเขตเทศบาลก็สนใจเข้าร่วมโครงการฯนี้ด้วยแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจมากว่ากระบวนการเรียนรู้ชุมชนมันมีผลกระทบในทางที่ดีมากว่าที่คิด เราจะทำกระบวนการเรียนรู้ชุมชนนี้ให้ชัดมีตัวชี้วัด มีขั้นตอนการดำเนินงานเป็นปีไปที่เรียกว่า roadmap ตั้งแต่ 2548 - 2553 พอปีสุดท้ายของแผนฯสิบคือปี 2554 เราก็ประเมินผลตามตัวชี้วัดออกมา ซึ่งแผน 6 ปี ที่จังหวัดนครฯเราจะดำเนินการจัดการความรู้แก้จน 1,553 หมู่บ้าน เป็นดังนี้

             รุ่นที่ 1 จำนวน 400 หมู่บ้าน เริ่มสำรวจข้อมูล จัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง ในปี 2548 และนำแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติการแก้จนโดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในปี 2549

             รุ่นที่ 2 อีกจำนวน 600 หมู่บ้าน สำรวจข้อมูล จัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง และนำแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติการแก้จนโดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในปี 2550

            รุ่นที่ 3 อีกจำนวน 553  หมู่บ้าน สำรวจข้อมูล จัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง และนำแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติการแก้จนโดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในปี 2551

            เมื่อได้สำรวจข้อมูลครัวเรือน ชุมชน ดำเนินการจัดทำแผนชุมชนพึ่งตนเอง และนำแผนชุมชนพึ่งตนเองไปปฏิบัติเพื่อเป็นการฝึกฝนเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้แล้ว จากนั้นจึงเชื่อมการพัฒนาไปสู่หน่วยงานต่างๆที่เป็นภาคีเครือข่ายดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เห็นความเด่นชัดของกิจกรรม ได้แก่ ขวบปีที่ 2 ของแต่ละรุ่นจะเน้นงานเด่นของหน่วยงานต่างๆได้แก่งานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของเกษตร งานกลุ่มอาชีพที่หน่วยงานต่างๆดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานพาณิชย์ อุตสาหกรรม แรงงาน หรือแม้แต่ของ พมจ. ขวบปีที่ 3 จะเน้นความเด่นชัดในเรื่องงานมาตรฐานชุมชน หรือ มชช.ของกรมการพัฒนาชุมชน ส่วนขวบปีที่ 4 ก็จะเน้นงานเด่นเรื่องงานมาตรฐานสาธรณสุข เป็นต้น หมู่บ้านเริ่มต้นก่อนรุ่นแรกกับรุ่นสองจะได้เปรียบกว่าตรงที่ได้เคี่ยวประสบการณ์มากกว่า เพราะไปสิ้นสุดโครงการในปี 2553 พร้อมกัน แต่กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในคนในชุมชนแต่ละคนแต่ละชุมชนก็จะมีการส่งเสริมต่อเนื่องตลอดไป สำหรับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันเชื่อมต่อการพัฒนาหรือบูรณาการทำงานร่วมกันก็ไม่ใช่ว่าจะต้องรอให้ถึงขวบปีนั้นเสียก่อนจึงจะทำงานดังกล่าว ทำไปได้เลยไม่ต้องรอให้เสียเวลา ที่กำหนดเป็นแผนขั้นตอนไว้ดังนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความเด่นชัดของกิจกรรมว่าปีไหนจะวัดประเมินผลกันที่ความโดเด่นในเรื่องอะไร การทำงานต้องเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว

            เมื่อเคี่ยวกัน 6 ปีแล้ว  ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รู้กระบวนการเรียนรู้การพัฒนาก็จะยั่งยืน เป็นชุมชนอินทรีย์ เป็นชุมชนอินทรีย์จริงหรือไม่ เป็นมากน้อยแค่ไหน ก็ให้ดูที่ 1.การมีผู้นำชุมชนที่ดี 2.การมีแผนชุมชนที่ดี 3.การมีการเรียนรู้ที่ดีเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต 4.การมีทุนชุมชนที่พอเพียง และ  5.ชุมชนมีการบริหารจัดการที่ดี

             ทุกหมู่บ้าน 1,553 หมู่บ้าน จะต้องได้รับโอกาสการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน เลือกปฏิบัติไม่ได้ จึงต้องทำปูพรมทั้งจังหวัดเต็มพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งจังหวัดก็จะเป็นห้องเรียนที่ใหญ่มาก ทุกคนไม่ว่าจะอยู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอใดก็จะสามารถเข้าถึงโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาชุมชนตนเองได้ทั้งนั้น และเชื่อมโยงการพัฒนาเป็นเครือข่ายอีกด้วย เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายสุขภาพ ฯลฯ งบประมาณที่ตั้งรองรับไว้ปี 48 -51 จำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนจังหวัดนครฯทั้งหมด 400,000 ครัวเรือน ก็จะเฉลี่ยค่าใช้จ่ายงบประมาณครัวเรือนละ 212 บาท ซึ่งคิดว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่จะได้รับในกระบวนการเรียนรู้และกระบวนรการพัฒนา ไม่หวังว่าจะได้ร้อยเปอร์เซนต์ เพียงหนึ่งในสามก็พอใจแล้ว

               ผมได้เล่าให้รัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ฟังอย่างนี้ ผมจึงนำมาเล่าต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 60265เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

       เรียน... ประธานคุณเอื้อจังหวัด 

        ผมเป็นครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน ถ้าตามบทบาทแล้วก็คือ "คุณอำนวย" ตัวเล็กๆ ที่ปฏิบัติงานอยุู่ในพื้นที่  จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามแนวทาง การจัดการความรู้ โดยเฉพาะเรื่องงานการศึกษาอาชีพ โดยเฉพาะ "กลุ่มปุ๋ยหมักจากโครงการเกษตรอินทรีย์" ผม คิดว่า จะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อน  งาน  KM  แก้จนแก่ชาวบ้านให้ไปสู่เป้าหมายได้  

         ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านเพื่อนำกระบวนการ แก้ไข ปัญหาความยากจนของคนเมืองนคร ส่วนผมในฐานะ "คุณอำนวย" อยากจะให้ท่านเล่าความคืบหน้าบ่อยๆ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้และการนำไปปรับใช ้้กับการทำงานในพื้นที่ต่อไป

        ผมได้นั่งร่วมฟังท่านเล่างานให้ รมต. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  คิดว่าหากเราสามารถ บูรณาการกระทรวงน้ีมาได้อีกหนึ่งกระทรวงก็จะทำ ให้เรามีีพลังในการขับเคลื่อนโครงการน้ีมากยิ่งขึ้น

                       ขอเป็นกำลังใจครับ......
 

 

     เรียน...ประธาน คุณเอื้อจังหวัดนครศรีธรรมราช.

     ผมในฐานะคุณกิจ และเป็นที่ปรึกษาฯของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรพัฒนาบ้านมะขามเรียง ทางกลุ่มฯได้ดำเนินกิจกรรมด้านการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ระบบกองเติมอากาศ และกิจกรรมที่ร่วมกันส่งเสริมพลักดันด้านเพิ่มศักยภาพ การทำเกษตรกรรม แบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ขึ้นภายในชุมชน การเสริมสร้างความรู้ที่หลากหลายในการประกอบอาชีพหลักและอาชีพเสริมและดำเนินการนำกระบวนการ การจัดการความรู้ สร้างเสริมทักษะเข้าไปอย่างกลมกลืนกับบริบทของชุมชน ในด้านการนำทุนทรัพย์ที่มีทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้วในชุมชน มาใช้อย่างก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมชุมชนให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

     ปราชญ์ ลุกทุ่ง ครับ. 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท