กิจกรรมบำบัดกับการป้องกันสุขภาพ (Occupational Therapy and Prevention)


...อายุมากขึ้น ร่างกายก็เสื่อมถอยลงตามอายุ “การป้องกันสุขภาพ” จึงเป็นสิ่งสำคัญ...

การป้องกันสุขภาพใน “ผู้สูงอายุ” มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ซึ่ง “กิจกรรมบำบัด” ก็เป็นหนึ่งในวิชาชีพ ที่สามารถช่วยป้องกันสุขภาพได้ ทั้งการแนะนำให้คำปรึกษา และการบำบัดฟื้นฟูด้วยวิธีการต่างๆ และหากร่วมกันทำงานกับสหวิชาชีพอื่นๆ เช่น กายภาพบำบัด เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล เป็นต้น ก็จะยิ่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

แนวทางการป้องกันสุขภาพ (Prevention) แบ่งออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ดังนี้

  • การป้องกันโรคระดับปฐมภูมิ หรือการป้องกันโรคล่วงหน้า (Primary Prevention) โดยเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น การให้ความรู้ เป็นต้น
  • การป้องกันโรคระดับทุติยภูมิ หรือการป้องกันในระยะมีโรคเกิด (Secondary Prevention) โดยเป็นการป้องกันในผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการมากนัก ให้อาการไม่รุนแรงมากขึ้น
  • การป้องกันโรคระดับตติยภูมิ หรือการป้องกันการเกิดความพิการและการไร้สมรรถภาพ (Tertiary Prevention) เป็นการฟื้นฟูรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ แบบเฉพาะทาง


ในวันนี้ฉันจึงอยากบอกเล่าเกี่ยวกับการป้องกันสุขภาพทั้งสามระดับ จากงานวิจัยทั้ง 3 ฉบับต่อไปนี้
โดยขอเริ่มต้นที่เรื่องแรก...การป้องกันโรคล่วงหน้า (Primary Prevention)

Health Promotion Can Postpone Frailty: Results from the RCT Elderly Persons in the Risk zone
การส่งเสริมสุขภาพสามารถชะลอความอ่อนแอของร่างกายได้

ผู้สูงอายุทุกคน เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ร่างกายก็มักอ่อนแอตามลงไปด้วยตามลำดับ บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นโรคอะไรสักอย่างก็เป็นได้

งานวิจัยนี้เปรีบเทียบการส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion) หรือการให้ความรู้ในการป้องกันการป่วย ในผู้สูงอายุที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ มีความรู้ความเข้าใจปกติ และอายุมากกว่า 80 ปี โดยเปรียบเทียบการส่งเสริมสุขภาพ 2 รูปแบบ ได้แก่ การเยี่ยมบ้าน และการจัดกิจกรรมกลุ่มความรู้ผู้สูงอายุ เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วย โดยเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่ม และติดตามผลนาน 2 ปี

วัดผลโดยการใช้เครื่องมือการประเมิน 2 อย่าง ได้แก่

  • ผลรวมของตัวแปรความเสื่อมของสุขภาพ 8 อย่าง (Sum of eight frailty indicators) เป็นการวัดการเสื่อมถอยของร่างกายที่สังเกตได้ชัดเจน ประกอบด้วย ความอ่อนแอ (Weakness), ความล้า (Fatigue), น้ำหนักลด (Weight loss), ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายต่างๆลดลง (Low physical activity), สมดุลร่างกายเสื่อม (Poor balance), ความเร็วในการเดิน (Gait speed), บกพร่องทางสายตา (Visual impairment) และระดับความรู้ความเข้าใจ (Cognition)
  • Mob-T scale แบบประเมินความเหนื่อยในการทำกิจวัตรประจำวัน

วิธีการส่งเสริมสุขภาพ จะจัดโดยสหวิชาชีพ ได้แก่ นักกิจกรรมบำบัด, นักกายภาพบำบัด, พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ ทั้ง 2 รูปแบบ มีดังนี้

  1. การจัดกลุ่มกิจกรรมความรู้ผู้สูงอายุ (Senior group) เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุ กลุ่มละประมาณ 6 คน โดยมีนักวิชาชีพต่างๆผลัดกันให้ความรู้ในหัวข้อที่ตนเองรับผิดชอบ และให้ถกเถียง บอกเล่าประสบการณ์ จะจัดกลุ่มครั้งละ 2 ชั่วโมง ทั้งหมด 4 สัปดาห์ แล้วจะไปเยี่ยมบ้าน หลังจากการจัดกลุ่มสิ้นสุดนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยการจัดกลุ่มนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อใหความรู้เกี่ยวกับความแก่ชรา และการแก้ปัญหา การให้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน และการจัดสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างหัวข้อในการจัดกลุ่ม ดังนี้
    • พยาบาล – การทานยา, การดูแลสุขภาพ
    • นักกิจกรรมบำบัด – การทำกิจวัตรประจำวัน, การใช้อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก, ความจำ
    • นักกายภาพบำบัด – การทำกิจกรรมทางกาย, อาหาร
    • นักสังคมสงเคราะห์ – ความช่วยเหลือต่างๆ, คุณภาพชีวิต

2. การเยี่ยมบ้าน (Prevention home visit) นักวิชาชีพต่างๆจะผลัดกันไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ และให้ความรู้ คำแนะนำต่างๆ คล้ายกับการจัดกลุ่ม ผ่านทั้งการพูดและเขียน รวมถึงให้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันอีกด้วย

ตารางสรุปหัวข้อความรู้

ผลสรุปก็คือ การส่งเสริมสุขภาพทั้งสองกลุ่ม สามารถชะลอความอ่อนแอของร่างกายได้ ในช่วง 1 ปีแรก ถึงแม้จะไม่เห็นความแตกต่างในผลลัพธ์ของผลรวมของตัวแปรความอ่อนแอทั้ง 8 แต่การวัดระดับความเหนื่อยในการทำกิจวัตรประจำวัน (Mob-T scale) นั้นมีค่าลดลง ทำให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ โดยไม่เหนื่อยง่ายนั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับความชรา กล่าวคือ ผู้สูงอายุเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความล้าเป็นเรื่องปกติของการแก่ชรา และการส่งเสริมสุขภาพทั้งสองรูปแบบยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าจากการที่มีคนมารับฟังปัญหาของพวกเขา และมีแรงจูงใจในการใช้ชีวอตเพิ่มมากขึ้น จากการที่เห็นว่าเพื่อนสูงอายุด้วยกันสามารถแก้ปัญหานั้นได้ ตนเองก็ต้องทำได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มมากขึ้น



เรื่องที่สอง...การป้องกันในระยะมีโรคเกิด (Secondary Prevention)

Improving Health Related Quality of Life and Independence in Community Dwelling Frail older Adults Through a Client-centered and Activity-oriented program. A Pragmatic Randomized Controlled Trial
การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในชุมชน ผ่านกิจกรรมที่มีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง

งานวิจัยนี้เป็นการบำบัดฟื้นฟูผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีปัญหาในการทำกิจกรรมดูแลตนเอง มาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมบำบัด โดยมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ การตั้งเป้าประสงค์ โดยมีผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง, การวางแผนการบำบัดร่วมกัน, การบำบัดฟื้นฟู และการประเมินผล โดยรูปแบบการบำบัดฟื้นฟู จะอิงผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ตามความต้องการของผู้รับบริการ ทั้งการทำกิจกรรมดูแลตนเอง การทำงาน และกิจกรรมยามว่าง ออกแบบมาให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละคนโดยเฉพาะ และแนะนำให้รู้จักเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ

รูปแบบการให้การบำบัดฟื้นฟู มีดังนี้

  • การฝึกทักษะต่างๆ ทั้งความรู้ความเข้าใจ และประสาทสัมผัสการเคลื่อนไหว
  • การให้ความรู้เกี่ยวกับผู้ดูแล
  • การแนะนำการใช้อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก
  • การใช้เทคนิคอื่น ตามความเหมาะสมของผู้รับบริการแต่ละคน

การวัดผลการให้บริการ เป็นการสัมภาษณ์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสัมภาษณ์ ซึ่งใช้แบบประเมิน 2 แบบด้วยกัน ได้แก่

  • WHO questionnaire เพื่อประเมินความมีส่วนร่วมในการทำกิจวัตรประจำวันดูแลตนเองต่างๆ (B-ADL participation)
  • SF-36 การประเมินความสามารถ ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ทักษะทางกาย (Physical functioning), ทักษะทางกายในการแสดงบทบาท (Physical role functioning), ความเจ็บปวดของร่างกาย (Bodily pain), สุขภาพจิต (Mental health) และสัญญาณชีพ (Vitality)

สรุปผลคือ การให้บริการโดยนักกิจกรรมบำบัดข้างต้น สามารถเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน (กิจกรรมดูแลตนเอง) ได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีระดับความเจ็บปวดของร่างกายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ระดับสุขภาพจิตของผู้รับบริการทั้งหมดลดลง นั่นแสดงว่างานวิจัยนี้ไม่ได้สนับสนุนผู้ศูงอายุในด้านนี้ จึงควรมีการศึกษาต่อไป เพื่อเพิ่มสุขภาพจิตที่ดีไปพร้อมกับร่างกายที่ดีด้วย ถึงแม้สุขภาพจิตของผู้รับบริการจะแย่ลง แต่เพราะความเจ็บปวดทางกายลด และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น ก็ส่งผลให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น



และเรื่องสุดท้าย...การป้องกันการเกิดความพิการและการไร้สมรรถภาพ (Tertiary Prevention)

OPTIMAL, an Occupational Therapy Led Self-management Support Programme for People with Multimorbidity in Primary care: a Randomized Controlled Trial

การวิจัยนี้จะเป็นให้บริการทางกิจกรรมบำบัด ร่วมกับกายภาพบำบัดและเภสัชกร ในการบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการที่ป่วยเป็นโรคหลายๆโรค โดยโรคที่พบมากสุด ได้แก่ โรคข้ออักเสบ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคความดันโลหิตสูง โดยโรคความดันโลหิตสูง จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะไม่คงที่เท่านั้น แต่ผู้ที่มีโรคไขมันในเลือดสูงจะไม่สามารถเข้าร่วมได้

การให้บริการจะเป็นการจัดโปรแกรมการฟื้นฟู 6 สัปดาห์ ที่เรียกว่า “OPTIMAL program”

แบ่งกลุ่มการให้บริการออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 8-15 คน จัดที่สถานพยาบาลในชุมชน เพื่อให้ผู้รับบริการในแต่ละชุมชนเดินทางมาได้สะดวก การจัดกลุ่มนี้จะเป็นการรวมตัวกันของผู้รับบริการที่มีอยู่ในภาวะเดียวกัน คือ ป่วยเป็นโรคหลายโรค ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า "Peer group" นักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ควบคุมการดำเนินไปของกลุ่ม มีการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมทั้งให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆอีกด้วย โดยในแต่ละครั้งจะใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง นักกิจกรรมบำบัดจะตั้งเป้าประสงค์รายสัปดาห์สำหรับผู้รับบริการแต่ละคน ความต้องการของผู้รับบริการและความเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ในทุกๆครั้งที่จัดกิจกรรมกลุ่ม หรือบางคนก็สามารถใช้เวลามากกว่า 1 สัปดาห์ในการบรรลุเป้าประสงค์ก็ได้

การจัดกลุ่มโดยนักกิจกรรมมีหัวข้อ ดังนี้

  • การจัดการความล้า
  • การทานอาหารสุขภาพ
  • การคงสุขภาพทางร่างกาย, ออกกำลังกาย (ร่วมกับนักกายภาพบำบัด)
  • การจัดการความเครียด วิตกกังวล และการคงสุขภาพจิตที่ดี
  • ทักษะการสื่อสาร
  • การทานยา (ร่วมกับเภสัชกร)

การวัดผลการให้บริการ แบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ ดังนี้

  1. แบบประเมิน The Frenchay Activities Index (FAI) เป็นแบบประเมินการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่างๆ (Activity participation)
  2. แบบประเมินผลอื่น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้รับบริการแต่ละคน ได้แก่
    • The Canadian Occupational Therapy Measure (COPM) ประเมินความสามารถและความพึงพอใจ
    • The Nottingham extended activities of daily living (NEADL) ประเมินการทำกิจกรรมการคลื่อนไหว ทำครัว กิจวัตรประจำวัน และกิจกรรมยามว่าง
    • The Hospital anxiety and depression scale (HADS) ประเมินภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
    • The Standford chronic disease self-efficacy 6-item scale (SSE) ประเมินการรับรู้ความสามารถตนเอง
    • The Health education impact questionnaire (HeiQ) ประเมินทักษะหลายๆด้าน
    • Goal attainment scaling (GAS) ประเมินการบรรลุเป้าประสงค์

ผลสรุปก็คือ ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการทำกิจวัตรประจำวันทั่วไป โดยมีระดับการทำกิจกรรมที่สูงขึ้น จากการวัดผลโดยแบบประเมิน FAI นอกจากนี้ผู้รับบริการยังมีความสามารถและความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น มีความคิดเชิงบวก ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และสามารถบรรลุเป้าประสงค์รายสัปดาห์ได้ โดยเฉลี่ยคนละ 3 ข้อ แต่ในส่วนของสุขภาพจิต กลับมีผลที่แย่ลง ถึงแม้จะการให้บริการในครั้งนี้จังไม่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต แต่ผู้รับบริการก็มีส่วนร่วมในการทำกิจวัจรประจำวันของตนเองมากขึ้น พึงพอใจมากขึ้น สามารถรับรู้ความสามารถของตนเองได้ด้วย ทั้งหมดนี้จึงลงผลให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น

จากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่าการป้องกันสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถช่วยป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพได้จริง แม้จะยังมีความไม่ชัดเจนในบางข้อสรุป หรือการส่งผลในทางลบต่อสุขภาพจิต หรือการมีข้อจำกัดในปัจจัยต่างๆ แต่หากเรานำวิธีการเหล่านั้นมาเป็นแนวทาง และนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น การหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องความชรา การรวมกลุ่มเพื่อนเพื่อพูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้และปัญหา การใช้เครื่องช่วยสิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าหานักวิชาชีพในสาขาวิชาต่างๆ เป็นต้น ทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพจิต ก็จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันสูงอายุ

"เหนือสิ่งอื่นใด หากเราป้องกันดูแลสุขภาพไว้ให้ดีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำกิจกรรมๆต่างด้วยตนเองมาเรื่อยมา เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เราก็จะยังคงมีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมต่างๆได้ ส่งผลให้เรารู้สึกภูมิใจในตนเองและมีคุณค่า สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี ควบคู่กับความสามารถยังคงอยู่ ก็จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลายเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต"

ขอขอบคุณ (อ้างอิง)

การป้องกันสุขภาพ:
http://www.si.mahidol.ac.th/project/geriatrics/net...
https://sites.google.com/site/healthy2556/healthy2...

Health Promotion Can Postpone Frailty: Results from the RCT Elderly Persons in the Risk zone: http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/phn.12240/full

Improving Health Related Quality of Life and Independence in Community Dwelling Frail older Adults Through a Client-centered and Activity-oriented program. A Pragmatic Randomized Controlled Trial:
http://link.springer.com/article/10.1007/s12603-016-0673-6

OPTIMAL, an Occupational Therapy Led Self-management Support Programme for People with Multimorbidity in Primary care: a Randomized Controlled Trial:
http://bmcfampract.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12875-015-0267-0

หมายเลขบันทึก: 602475เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท