ประสพการณ์ดีๆทางด้านกิจกรรมบำบัด ฝ่ายจิตสังคม ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลมนารมย์


สวัสดีค่ะ เมื่อวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดิฉันและเพื่อนๆ นักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่3 ได้รับโอกาสที่ดีที่อาจารย์สุพรรษา ตาใจ(อ.แอน)ได้มอบให้ โดยการได้พาพวกเราไปศึกษาดูงานทางด้านกิจกรรมบำบัด ฝ่ายจิตสังคมด้วยกันถึง 2 แห่ง แห่งแรกได้แก่ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ(Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center) ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ และแห่งที่สอง คือ โรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งวันนี้ ดิฉันจะมาเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาดูงานของทั้งสองสถานที่โดยผ่านการเชื่อมโยงด้วย SMART TREES ให้ทุกคนได้ติดตามกันค่ะ 


ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ

S (self): ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นศูนย์ที่ให้บริการและดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตโดยให้บริการครอบคลุมถึงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยให้บริการกลุ่มอาการทางจิตที่หลากหลาย อาทิเช่นอาการของโรคซึมเศร้า วิตกกังวล อารมณ์สองขั้ว (bipolar) ผู้ป่วยที่คิดฆ่าตัวตาย ผู้ที่ต้องการเลิกสุราหรือสารเสพติด เป็นต้น ซึ่งมีการบำบัดฟื้นฟูผ่านโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบจากต่างประเทศโดยเน้นฟื้นฟูผ่านการกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ให้ความรู้สึกอบอุ่นราวกับอยู่บ้าน

M (Motivation): พี่นักกิจกรรมบำบัดที่ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพได้เล่าถึง เกณฑ์การคัดเข้าทำงานของที่นี่มีหลักใหญ่ที่สำคัญอยู่หนึ่งอย่างคือ “ทัศนคติ” ผู้ที่จะสามารถทำงานที่ศูนย์จิตรักษ์แห่งนี้ได้ จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ และมีใจที่อยากจะทำการช่วยเหลือ บำบัด ฟื้นฟู ให้ผู้รับบริการกลับมาหายเป็นปกติจริงๆ ซึ่งสิ่งนี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรให้ความสำคัญของการให้บริการบำบัดการดูแลผู้ป่วยด้วยใจอย่างใกล้ชิด

A (Ability): ความสามารถของทีมสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา เภสัชกร พยาบาล และอีกมากมายที่มีคุณภาพ รวมไปถึงศักยภาพของโปรแกรมที่ใช้เป็นกิจกรรมการรักษาที่หลากหลาย อาทิเช่น

  • Exercise and wellbeing การจัดกลุ่มออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านร่างกาย
  • Stress reduction กิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการความเครียด เช่น yoga , muscle relaxation , mind fullness
  • Art & creativity ศิลปะบำบัด โดยเน้นไปที่ความชอบและความสนใจของผู้รับบริการเป็นหลัก
  • Learning new skills การฝึกเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยนักจิตวิทยา และนักกิจกรรมบำบัด

ซึ่งแต่ละกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าถึงปัญหาของผู้รับบริการแต่ละบุคล และช่วยเพิ่มสุขภาวะทางจิตของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี

T (Transformation):

- ในส่วนของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ในปัจจุบันได้มีกิจรรมที่มากขึ้นที่จัดกลุ่มตามกลุ่มอาการ เช่นจัดกิจกรรมกลุ่มตามกลุ่มที่มีปัญหาพฤติกรรม เป็นต้น ทำให้การรักษามีความครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มอาการ โดยเริ่มจากการทำกลุ่มแบบทดลองก่อน เมื่อได้ออกมาเป็นผลดีแล้วจึงจัดทำจริง

- เป็นต้นแบบของการให้บริการทางการแพทย์ของการได้นำทีมสหวิชาชีพที่หลากหลายมากกว่า สถานพยาบาลอื่นๆ

T (Therapeutic): มีการให้บริการบำบัดรักษา อย่างหลากหลายรูปแบบโดยหลากหลายสหวิชาชีพโดยมี การบำบัดรักษาในวิธีต่างๆมีเป้าประสงค์เดียวกันคือทำให้ผู้รับบริการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีขึ้น

R (Relationship): ศูนย์แห่งนี้รับผู้ป่วยในเพื่อเข้ารับการรักษาได้สูงสุด เพียงแค่ 8 ราย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บำบัดและผู้รับบริการมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิด นอกจากนี้การทำกิจกรรมร่วมกันของผู้บำบัด-ผู้รับบริการ รวมไปถึงผู้รับบริการด้วยกันเองทำให้เกิดการปฎิสัมพันธ์และมีสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่กันและกัน

E (Environment):

- มีผู้รักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าเพื่อเป็นการกรองบุคคลที่จะมาเข้าถึงผู้รับบริการ นอกจากนี้ผู้ที่จะสามารถเข้าเยี่ยมผู้รับบริการได้จะต้องแจ้งเป็นรหัสผ่านเท่านั้น เป็นการป้องกันบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลใกล้ชิดของผู้รับบริการเข้าเยี่ยม เพื่อเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการ

- ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพแห่งนี้ มีระบบป้องกันการปลอดภัยค่อนข้างสูง คำนึงถึงความปลอดภัยและอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการเป็นหลักอาทิเช่น กระจกที่ใช้ในศูนย์นี้เป็นกระจกนิรภัย ราวจับมีการปิดไม่ให้มีช่องว่างเพื่อป้องกันผู้รับบริการทำร้ายตัวเอง เชือกที่ไว้ใช้ดึงเรียกพยาบาลเมื่อยามฉุกเฉินมีการทำให้สั้นลง ทำการเก็บอุปกรณ์ของมีคมทุกชนิดไว้อย่างมิดชิด

- สภาพแวดล้อมให้ความรู้สึกอบอุ่นให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาลแต่กลับให้บรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน ในส่วนของเก้าอี้รอเข้าตรวจเป็นโซฟาและจัดหันไปในหลายทิศทางเพื่อทำให้รู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ห้องพักคนไข้จัดในรูปแบบคล้ายโรงแรม ทำให้รู้สึกสบาย น่าพักอาศัย รวมไปถึงมีห้องสวนไว้ให้พักผ่อน ผ่อนคลาย ห้องครัว ในการทำกิจกรรมการทำอาหาร เป็นต้น

E (Empathy): ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ Motivation ว่า ณ ศูนย์แห่งนี้บุคลากรมีทัศนคติและจิตใจที่อยากดูแล บำบัดรักษา ฟื้นฟู ให้ผู้รับบริการกลับมาหายเป็นปกติ จึงทำให้บุคลากรที่ศูนย์แห่งนี้ให้ความสำคัญกับตัวผู้รับบริการและดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยเป็นอย่างดีและใกล้ชิด

S (Skills): ด้วยบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนของทีมสหวิชาชีพที่มีคุณภาพของศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ส่งผลให้ผู้รับการบำบัดฟื้นฟู สามารถมีการเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากจบโปรแกรมการรักษาที่ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพแห่งนี้



โรงพยาบาลมนารมย์

S (self): โรงพยาบาลมนารมย์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ปัญหาจิตเวชและระบบประสาทให้แก่ผู้ป่วย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดย บุคลากรทางการแพทย์ที่หลากหลายสาขาวิชาและมากประสบการณ์

M (Motivation): ทางโรงพยาบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาทางด้านสุขภาพจิตว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไปไม่น้อยกว่าปัญหาทางด้านสุขภาพกาย และพบว่าคนส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตกันเป็นจำนวนมาก เช่น ระดับความเครียดของคนในสังคมมีมากขึ้น ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่แหล่งในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูด้านสุขภาพจิตนั้นกลับยังมีอยู่น้อยมาก จึงทำให้เกิดโรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยเกิดขึ้น

A (Ability): เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางทางด้านสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียว จึงทำให้บุคลากรที่รพแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีการมองปัญหาของผู้รับบริการไปในรอบด้าน มองไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ รวมไปถึงครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีอาการที่ดีขึ้น เป็นต้น

T (Transformation): โรงพยาบาลมนารมย์ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีแนวความคิดที่แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นตอบสนองเฉพาะทางด้านกายมากกว่า แต่รพ. มนารมย์แห่งนี้กลับเล็งเห็นและให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพจิตใจ เพราะสำหรับการบำบัดรักษาให้คนๆหนึ่งสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยได้ จะต้องดูในส่วนของด้านร่างกายและจิตใตควบคู่กัน

โรงพยาบาลมนารมย์ เป็นต้นแบบของการใช้วิธีการบำบัดรักษาในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น กิจกรรมกลางวัน(Day program) ละครบำบัด ศิลปะบำบัด เล่นบำบัด ที่เป็นการให้การบำบัดฟื้นฟูที่ไม่เหมือนกับที่อื่น

อีกทั้งยังใช้ทีมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญและหลากหลายมาก ไม่เฉพาะแค่วิชาชีพที่เกี่ยวกับทางการแพทย์อย่าง จิตแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยาคลินิก พยาบาล เท่านั้น แตยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอื่นๆเช่น นักละครบำบัด นักศิลปะบำบัด นักดนตรีบำบัด ที่มีส่วนช่วยในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยได้ ส่งผลให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

T (Therapeutic):มีการให้บริการบำบัดรักษา อย่างหลากหลายรูปแบบโดยหลากหลายสหวิชาชีพโดยมี การบำบัดรักษาในวิธีต่างๆมีเป้าประสงค์เดียวกันคือทำให้ผู้รับบริการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีขึ้น

R (Relationship): กิจกรรมการบำบัดรักษาในส่วนใหญ่ จะเป็นการที่นักกิจกรรมบำบัด หรือผู้บำบัดเป็นผู้นำกิจกรรมและผู้รับบริการร่วมทำกิจกรรม ซึ่งก่อนจะทำกิจกรรมใดๆได้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของตัวผู้รับบริการ รวมไปถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้รับบริการและผู้บำบัด เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

E (Environment):

- บุคลากรของรพ.มนารมย์มีจำนวนมากเพียงพอต่อการรองรับผู้รับบริการที่จะเข้ารับการรักษา รวมไปถึงมีการจัดตั้งทีมงานหลายทีมที่มีหน้าที่ในการทำงานเป็นเฉพาะอย่าง

- บรรยากาศในโรงพยาบาล ค่อนข้างที่จะร่มรื่น มีพื้นที่เขียวค่อนข้างมาก การจัดสถานที่เป็นสัดส่วนในการทำกิจกรรมชัดเจน ซึ่งแต่ละห้องก็จะมีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงและมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ห้องศิลปะบำบัด ห้องละครบำบัด ห้องกิจกรรมกลางวัน เป็นต้น

- โครงสร้างของตึกมีเพียงแค่ 2 ชั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้รับบริการทำร้ายตัวเองรวมไปถึงการจัดเก็บสิ่งของที่อาจจะนำไปใช้เป็นอาวุธได้ ในที่ที่มิดชิด

E (Empathy): มีแนวความคิดที่อยากจะช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจภายในรพ.แล้ว ทางโรงพยาบาลมนารมย์ยังมีแนวความคิดที่จะช่วยเหลือประชาชนในสังคมอีกด้วย โดยการการจัดบรรยายให้ความรู้ทางด้านจิตเวช ทั้งด้านการป้องกัน การรักษา และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแก่ประชาชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

S (Skills): ด้วยการจัดตั้งของรพแห่งนี้ที่ผ่านมากว่า10ปี โดยทีมงานสหวิชชาชีพที่มืออาชีพส่งผลให้โรงพยาบาลมนารมย์สามารถช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตเวชได้อย่างครอบคลุมในทุก ๆ ด้านทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการล่าช้าในเด็ก หรือแม้แต่กลุ่มสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นต้น


สุดท้ายนี้ ดิฉันต้องขอขอบคุณอ.แอน พี่ๆนักกิจกรรมบำบัด และบุคคลากรในรพ.ทั้งสองแห่งที่ได้เอื้อเฟื้อสถานที่และความรู้ในการเปิดประสพการณ์ครั้งนี้

การได้มาเยี่ยมชมดูงานครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้เห็นภาพการทำงานทางกิจกรรมบำบัดที่ชัดเจนมากขึ้น และทำให้มีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนเพื่อนำความรู้ไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมบำบัด
หมายเลขบันทึก: 602420เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 10:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท