พุทธวจน แก่นแท้ศาสนาที่ไม่ควรมองข้าม


พุทธวจน แก่นแท้ศาสนาที่ไม่ควรมองข้าม

เป็นที่ทราบกันดีจากข่าวคราวในวงการพุทธศาสนาของบ้านเรา ที่ทุกวันนี้นับวันมีแต่มุ่งไปในทางเสื่อม ความศรัทธาในศาสนาของพุทธศาสนิกชนก็ยิ่งถดถอยตาม เกิดเป็นคำถามที่ว่า เราจะศรัทธาในศาสนาหรือหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้อย่างไรในภาวะเช่นนี้?

หากลองมองกลับไปยังแก่นแท้ของศาสนาพุทธศาสนาจริงๆ สิ่งที่เรียกว่า ‘พุทธวจน’ ยังคงปรากฏและมั่นคงตลอดเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว

เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับ พุทธวจนสมาคม จัดกิจกรรมและนิทรรศการเทศกาลลานธรรม: ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เพื่อเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรียนรู้หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผ่านกิจกรรมทางธรรมต่างๆ ทั้งนิทรรศการ กิจกรรม สื่อการเรียนรู้ และเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งใจความสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้ คือการเผยแผ่พุทธวจน ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์ ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

000fbb.jpg
พุทธศาสนิกชนให้ความสนใจพุทธวจนเป็นจำนวนมาก

และในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ ก็มีการแสดงธรรมในหัวข้อ “มารู้จักพุทธวจนในวันอาสาฬหบูชา” โดย พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดนาป่าพง มีพุทธศาสนิกชนให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาที่มีต่อพุทธวจนของพระพุทธเจ้า

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ‘พุทธวจน’ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อศาสนา การบรรยายเริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายก่อน พุทธวจน คือคำสอนที่ออกจากปากของพระผู้มีพระภาคเจ้า พุทธ คือ ผู้รู้ และ วจน คือ วาจา ซึ่งก็คือคือคำสอนของศาสดานั่นเอง เป็นคำสอนตลอดเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จนถึงปรินิพพาน คำสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกวรรณะ ยิ่งในสังคมปัจจุบันผู้คนกำลังสับสนวุ่นวายทางจิตใจ หาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ หรือยึดเหนี่ยวได้ก็ต้องผิดหวังไปต่างๆ นานา

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราลืมเข้าไปหาคำสอนของศาสดานั่นเอง พระองค์ให้เราศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนที่ออกจากปากพระองค์เท่านั้น จะต้องไม่ฟังคำสอนที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งในวันนี้พระอาจารย์คึกฤทธิ์ จึงไม่ได้มาเพื่อบรรยายธรรมะของพระอาจารย์ แต่มาทำหน้าที่ของสงฆ์สาวกที่มาถ่ายทอดคำสอนของศาสดา

ตามประวัติศาสตร์หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วก็มีการสังคายนาหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้กับพระสาวกอย่างเป็นระบบ และหลังจากนั้นก็มีการบันทึกตามยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการบันทึกลงเสาหินและวางไว้ตำแหน่งต่างๆ ทั่วประเทศอินเดีย และประมาณปีพ.ศ. ๗๐๐ ก็มีการบันทึกลงในใบลาน ส่วนในประเทศไทยมีการบันทึกลงในศิลาจารึกและใบลาน จนกระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นครั้งแรก ด้วยอักษรสยาม จำนวน ๔๕ เล่ม และจัดพิมพ์เผยแผ่ไปทั่วโลก เรียกว่า “พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ” ก่อนที่ยุคหลังมีการแปลและเรียบเรียงอีกหลายครั้งจากต้นฉบับนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ทำให้หลักธรรมของพระศาสดา เผยแผ่ออกมาในรูปแบบ E-Book และ แอพพลิเคชัน ตัวอย่างแอพพลิเคชัน E-Tipitaka ช่วยสืบค้นคำสอนของพระศาสดาได้ด้วยการพิมพ์ค้นหา ซึ่งวัดนาป่าพงได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชน

000fbc.jpg
ซักถามข้อสงสัยในพุทธวจน

หลังจากที่ได้รู้จักกับพุทธวจนแล้ว ในช่วงหลังของการบรรยายธรรม พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนซักถามถึงข้อสงสัยในเรื่องพุทธวจนอีกด้วย

“สิ่งที่สำคัญเราต้องรู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องในศาสนาพุทธคือพุทธวจน ถ้าให้ข้อมูลสะเปะสะปะ คนจะเสียเวลากับการศึกษาของปลอม เขาจะคิดว่าของปลอมคือศาสนาพุทธ ซึ่งประเด็นนี้ยังแก้ไม่ได้ ชาวพุทธไม่รู้จะเลือกอะไร เพราะคิดว่าเป็นพุทธทั้งหมด เราต้องชี้ให้ขาด ไม่ยากถ้าเราตั้งใจทำ เราก็จะได้สิ่งที่ถูกต้องไป พระศาสดาบอกว่าถ้าเผยแผ่ออกไปแล้วกุศลเหลือ อกุศลเสื่อมให้เผยแผ่ต่อไป ถ้าเราใช้ภูมิปัญญาของพระศาสดามาตั้งเป็นเกณฑ์ได้ ทุกอย่างตัดสินง่ายหมดเลย”

จากปัญหาเรื่องพระสงฆ์ที่ประพฤติมิชอบที่พบเห็นบ่อยครั้งในปัจจุบัน จึงมีผู้ถามว่าจะแยกแยะพระสงฆ์จริงและพระสงฆ์ปลอมอย่างไร พระอาจารย์คึกฤทธิ์จึงให้คำตอบจากพุทธวจนว่า “จริงๆ นั้นง่ายมาก เราแค่ซื่อตรงในพระตถาคต จะแยกออกได้ง่ายเลย พระศาสดาบอกว่าพระอริยะจะไม่กระทำซึ่งเดรัจฉานวิชาหรือมิจฉาอาชีวะ พระสงฆ์ที่มีปัญหาในปัจจุบันทำเดรัจฉานวิชาทั้งสิ้น แต่เราไปยอมรับว่าเป็นคำสอนของศาสดา เดรัจฉานวิชาหรือมิจฉาอาชีวะมีอะไรบ้าง อย่างการดูฤกษ์ดูยาม การสะเดาะเคราะห์ การปลุกเสก การบนขอลาภ การทำน้ำมนต์ การพรมน้ำมนต์ การรับเงินทอง การซื้อขายแลกเปลี่ยน พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไว้หมดแล้ว แต่เราไม่เชื่อและไม่มั่นคงต่อศาสดา ไม่ฟังตถาคต เขาบอกว่าคำของตถาคตยิ่งเปิดเผยยิ่งรุ่งเรือง ยิ่งปิดไว้ยิ่งไม่รุ่งเรือง อย่าปิดบังคำพระศาสดา และห้ามบัญญัติเพิ่ม”

และสำหรับทางออกของปัญหาดังกล่าว พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชี้แนะแนวทางว่า “พระศาสดาบอกกับฆราวาสว่าอย่าสนับสนุนพระสงฆ์ที่ไม่ดี อย่ากราบไหว้ แต่เรายังไปสนับสนุนเอง ผลกระทบทำให้ศาสนาอายุสั้นลง เรากลายเป็นตัวเร่งให้ศาสนาอายุสั้น เพราะเราไม่ฟังพระพุทธเจ้า ทำลายศาสนาไปทีละเล็กละน้อย เดรัจฉานวิชายังอยู่ในประเทศไทย และยังมีพระสงฆ์นำเดรัจฉานวิชามาเป็นเครื่องหากินอยู่เรื่อยๆ ไม่มีหมด เพราะเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งต้องทำให้คนรู้จักพุทธวจนและนำไปปฏิบัติ อีกทั้งพระสงฆ์ต้องยอมรับคำของพระศาสดา จึงจะแก้ปัญหาได้หมด”

000fbd.jpg
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ชี้แนะแนวทางจากพุทธวจน

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เข้าฟังธรรมสงสัย คือเรื่องของการให้ทาน พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบายถึงความเป็นมาของการให้ทานในพุทธวจนว่า “การให้ทานพระองค์ไม่ได้ห้าม ผู้ใดห้ามผู้อื่นไม่ให้ทานผู้นั้นไม่ใช่มิตร ตามพุทธประวัติ พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่าการทำทานให้ทำที่ไหน พระองค์บอกว่าเลื่อมใสที่ไหนทำที่นั่น แต่เงินทองเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการบรรลุพระนิพพานของพระสงฆ์ เงินทองจึงไม่ควรมอบให้กับพระสงฆ์ การให้ทานวางจิตอย่างไร พระสารีบุตรถามว่าให้ทานอย่างไรจึงจะได้ผลใหญ่และอานิสงส์ใหญ่ พระองค์ตรัสว่าถ้าให้ทานโดยหวังผล มุ่งการสั่งสม มีจิตสั่งสม คิดว่าตายไปจะได้เสวยผล พวกนี้จะได้ผลใหญ่ แต่ไม่มีอานิสงส์ใหญ่ สำหรับอีกพวกที่ไม่หวังผล แต่คิดว่าการให้ทานเป็นการดี ก็จะได้ผลสูงขึ้นมาอีก”

ปิดท้ายด้วยคำถามสำหรับคนทำงานทุกคน ถึงเรื่องจิตที่หวั่นไหวขณะทำงาน จึงเป็นเหตุให้งานไม่สำเร็จลุล่วง พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบายความหมายของจิตที่น้อมอยู่กับงานในทางพุทธวจนว่า “เวลาโยมทำงานสังเกตไหมว่าจิตอยู่กับงานจริงหรือเปล่า เดี๋ยวก็หลุด ไม่มีใครอยู่จริงหรอก แต่ถ้าโยมคอยดึงกลับมาให้อยู่ที่งานเสมอ เรียกว่าเป็นการอาศัยงานเป็นที่ตั้งของการระลึกได้ งานทางโลกก็ได้ งานทางธรรมก็ได้ ได้ทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันด้วยสติสัมปชัญญะ”

ในโอกาสช่วงเข้าพรรษาปีนี้ พุทธศาสนิกชนที่ยังสับสนในแก่นแท้ของพุทธศาสนา และยังพบเห็นแต่ความเสื่อมอยู่รอบๆ กาย ให้ลองหันกลับไปหา ‘พุทธวจน’ สิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติมากว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว

กล่าวได้ว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก คืออดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น และอนาคตก็ยังเป็นเช่นนั้น เราชาวพุทธต้องมีการตั้งคำถามและสืบหาสัจจะที่ออกจากปากของพระศาสดาให้ถ่องแท้เสียก่อน จึงจะศรัทธาและปฏิบัติตามคำสอนอย่างถูกต้อง

ผู้ใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพุทธวจนสามารถเข้าไปได้ที่ www.watnapp.com และสามารถเข้าไปถามคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับพุทธวจนได้ที่ faq.watnapp.com

วิชญ์พล พลพิทักษ์ชัย

ที่มา: http://www.tkpark.or.th/tha/articles_detail/96/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%99-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1

หมายเลขบันทึก: 602002เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท