แนะนำวิธีการจดบันทึก​


แนะนำวิธีการจดบันทึก

การ จดบันทึก การจดบันทึกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูนกมากอีกประการหนึ่ง ควบคู่ไปกับใช้กล้องส่องทางไกลและคู่มือดูนกเพราะจะช่วยให้เราเก็บข้อมูลราย ละเอียดเกี่ยวกับนกจาก การสังเกตของตัวเองไว้ได้อย่างชัดเจน เช่น เราพบนกที่ไหน บ่อยครั้งเพียงใด รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ของนกที่เราพบเห็นเนื่องจากการจดจำแต่อย่างเดียวอาจคลาดเคลื่อนหรือไม่ อาจจำได้ทั้งหมด ดังนั้นการจดบันทึกจึงเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าทบทวน และศึกษาเพิ่มเติมในภายหน้า เป็นการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับนก พฤติกรรม อาหาร แหล่งอาศัยและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ การจดบันทึกจึงเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เราเป็นนักดูนกที่ดีทั้งยังเป็น ความทรงจำที่ดีถึงช่วง เวลาที่สนุกสนานในการดูนกเมื่อนำสมุดบันทึกกลับมาดูอีกครั้ง

อุปกรณ์ที่ใช้ในการจดบันทึก

สมุดพกติดตัว ( field notebook ) ขนาดพกพาสะดวกสำหรับนำติดตัวไปในเวลาที่ออกดูนกนอกสถานที่ ควรเป็นปกแข็ง ไม่มีเส้นบนกระดาษ

สมุดบันทึกถาวร ควรมีขนดใหญ่กว่าสมุดพกติดตัว และใช้บันทึกข้อมูลได้ละเอียดและชัดเจนมากขึ้น สำหรับเก็บเป็นข้อมูลถาวร

ดินสอ ปากกา และยางลบ

ดินสอสีและสีน้ำ

การจดบันทึกที่ดี ควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

บันทึกความจริง สิ่ง นี้สำคัญที่สุดคงไม่มีใครตั้งใจจะแต่งเรื่องให้ผิดความจริง แต่สิ่งที่บันทึกอาจคลาดเคลื่อนได้ หากเราไม่ระมัดระวังพอ ควรบันทึกสิ่งที่เห็นไม่ใช่ที่คิดว่าเห็น อะไรที่ไม่แน่ใจควรบอกว่าไม่แน่ใจ ตัวอย่างหนึ่งในอดีตคือการบันทึกนิสับการทำรังของนกเงือก ของเจ้าฟ้ากุ้งในนิราศธารทองแตง ที่ว่าตัวผู้เข้าไปกกไข่ในโพรง ส่วนตัวเมียไปเล่นชู้ ซึ่งนับว่าผิดพลาดจากความเป็นจริงมาก

บันทึกทันที การ บันทึกทันที ณ สถานทีที่พบเห็น ( field note ) ช่วยให้เราบันทึกได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง อย่าเชื่อความจำตนเองเลยมันมักจะตกหล่นไปเสมอ

บันทึกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

วิธีการจดบันทึก

เมื่อ เราพบเห็นนกตัวใดตัวหนึ่ง เราต้องสังเกตรายละเอียดของนกให้ได้มากที่สุด แล้วบันทึกเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ โดยเขียนคำบรรยายให้ชัดเจนถึงลักษณะต่าง ๆ ของนก เน้นที่จุดเด่นต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมดังนี้

ชื่อนกที่พบ ( ในกรณีที่ทราบแล้วว่าเป็นนกชนิดใด ) ขนาดของนก ซึ่งหากไม่รู้จักนกชนิดนั้นควรเปรียบเทียบกับขนาดนกที่พบโดยทั่ว ๆ ไป เช่น ใหญ่กว่านกกระจอกบ้าน แต่เล็กกว่านกเขาชวา

รูปร่างลักษณะ เช่น นกตัวนั้นมีรูปร่างลำตัวผอมยาว หรืออ้วนป้อม ปากสั้นหรือปากยาว โค้งแหลมหรือตรงยาว มีจุดสังเกตที่เด่นชัดอยู่ที่ส่วนใด เช่น มีจุดที่ดำข้างแก้ม หรือมีสีขาวที่ปลายปีก นกบางตัวอาจมีสีขนที่เปลี่ยนไปตามอายุหรือช่วงฤดู เช่น นกชายเลน เหยี่ยว ดังนั้นจึงต้องพยายามสังเกตและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น สีขน แถบที่ปีก สีของปลายปาก เป็นต้น

พฤติกรรม ให้ สังเกตถึงลักษณะท่าทางที่นกชอบกระทำบ่อย ๆ เช่น การเกาะ ว่าอยู่ในท่าตัวตั้งตรงหรือขนานกับกิ่งไม้ การบิน เป็นแนวเส้นตรงอย่างนกกิ้งโครง หรือบินขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนกหัวขวานชอบกระดกหางหรือแพนหาง รวมทั้งพฤติกรรมในการทำรังว่ามีลักษณะอย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรและทำรังบริเวณใด เช่น ทำรังในโพรงไม้ หรือตามโพรงดิน

เสียงร้องและเสียงร้องเพลงนก จะส่งเสียงร้องเมื่อต้องการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งเสียงร้องตกใจ ( Alarm call ) เสียงร้องขู่ขวัญ ในการบันทึกให้บันทึกเสียงร้องปกติที่ได้ยินบ่อย ๆ หรือเสียงร้องเพลงซึ่งนกมักร้องเมื่อมีอารมณ์ดี เช่น หลังอาหารหรือขณะเกี้ยวพาราสี ว่ามีลักษณะอย่างไร แหบ แหลม หรือเบานุ่ม แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร เสียงร้องของนกมีความจำเพาะ หากจำได้จะช่วยให้เราจำแนกชนิดนกได้ง่ายขึ้น และมีนกบางชนิดที่เราไม่อาจจำแนกจากลักษณะภายนอกได้เลย ต้องอาศัยเสียงร้องที่มีความแตกต่างกันช่วย การจดจำเสียงร้องของนกอาจใช้เครื่องบันทึกเสียงช่วย จะช่วยให้จดจำรายละเอียดของเสียงร้องได้ดีขึ้น

แหล่งที่อยู่อาศัย เป็น รายละเอียดเกี่ยวกับบริเวณที่พบนกว่ามีสภาพอย่างไร เป็นป่าแบบไหน มีลักษณะเด่นอย่างไรบ้าง รวมทั้งระดับความสูงของพื้นที่ถ้าหากทราบ เช่น เป็นบริเวณป่าไผ่ริมน้ำตก หรือกลางทางเดินในป่าสน พบนกกินเมล็ดพืชอยู่ ควรบันทึกรายละเอียดของสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปให้มากที่สุด

เวลา วันเดือนปี และสถานที่ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักดูนกที่จะต้องทราบว่า พบนกชนิดนั้นที่ไหน เมื่อใด ในช่วงเวลาใด เพราะจะทำให้ทราบว่านกชนิดนั้นพบยากหรือพบง่าย จะทำให้เราทราบสถานภาพของนก รวมทั้งช่วงเวลาที่พบนก ทำให้เราทราบว่านกชนิดนั้นเป็นนกประจำถิ่นหรือนกอพยพ รวมทั้งการบันทึกจำนวนนกที่พบในแต่ละครั้ง

สภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ เป็น ส่วนประกอบที่ทำให้การบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับนกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น นกบางชนิดชอบปรากฏตัวเมื่ออากาศมืดครึ้ม ส่วนเหยี่ยวและนกกาบบัวชอบบินร่อนขึ้นสูงในวันที่แดดจ้า ซึ่งมีอากาศร้อน ( thermal ) ช่วยยกตัวมันขึ้น นกหายากบางชนิด อาจพบเห็นตัวได้หลังจากมีพายุไต้ฝุ่นหรือดีเปรสชั่นพัดหลงมา

ใน การบันทึกเราควรวาดภาพร่างคร่าว ๆ ของนกที่พบเพิ่มขึ้น เพื่อจะช่วยให้เราเก็บรายละเอียดและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนกชนิดนั้นได้ง่าย ยิ่งขึ้น ทั้งยังแสดงลักษณะพฤติกรรมที่นกแสดงออก เช่น การข่มขู่ การเกี้ยวพาราสี การหาอาหาร รวมทั้งลักษณะของสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้การวาดภาพร่างจะสวยงามเพียงใด คงต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญส่วนตัวและการฝึกฝน แต่ทุกคนสามารถที่จะวาดภาพร่างคร่าว ๆ ได้ เพียงให้ตัวเองสามารถจดจำและเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทั้งยังอาจนำภาพร่างที่เราพบแต่บอกชื่อไม่ได้ไปถามผู้รู้ให้ช่วยจำแนกชนิด ได้ในภายหลัง ส่วนการบันทึกความรู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เราอาจถ่ายทอดให้ผู้อื่น ได้ตื่นเต้น ดีใจ ประทับใจไปกับเรา ตรงกันข้ามเมื่อเราไปดูนกแล้วพบการดักจับล่านก การทำลายป่าดันเป็นบ้านของนก เราอาจรู้สึกเศร้าสลด หรือโกรธแค้น ความรู้สึกเหล่านี้ควรได้รับการจดบันทึก เพราะจะเป็นพลังในการสื่อสารถึงคนอื่นได้อย่างดี การบันทึกแผนที่ทางเดินและพื้นที่ดูนก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ดีขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แหล่งที่มา: http://www.bcst.or.th/?page_id=49

หมายเลขบันทึก: 601998เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท