KM วันละคำ : 653. ใช้ KM ปฏิรูปการศึกษา



วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ มีการประชุม โครงการสร้างแผนที่เพื่อเสริมพลังโรงเรียน ที่ สสส. จัดโดย มูลนิธิสดศรีฯ, มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และภาคี จบการประชุมคุณเปาชี้ให้ผมดูว่า กระบวนการหลักใช้ KM 3.0

กลับมาบ้าน ผมไตร่ตรองสะท้อนคิดว่า ที่คุยกันไปทั้งหมด และที่วางแผนจะทำ mapping กิจกรรมกระบวนการเรียนรู้และผลที่เกิดขึ้นนั้น คือการใช้ KM เป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษานั่นเอง

KM เริ่มจาก data ที่นำมาสร้างความหมายเป็น information และทำให้อยู่ในสภาพนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็น knowledge เอาความรู้ไปใช้ประโยชน์และยกระดับความรู้และผลการทำงานขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น เกลียวความรู้ (knowledge spiral) ที่ไม่มีวันจบ ถึงจุดหนึ่ง ความรู้และการทำงานนั้นจะก้าวกระโดดสู่ภพภูมิใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ สภาพนี้คือเป้าหมายของ KM คือมุ่งทั้งผลที่เป็นการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย และที่เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด

Education Mapping จะช่วยให้ร่วมกันสร้าง data จากการทำงานประจำของโรงเรียน ครู และการเรียนรู้ของนักเรียน เราจะจัดระบบข้อมูลให้ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง เข้าไปใส่ข้อมูลได้ ข้อมูลที่ตรวจสอบความแม่นยำถูกต้องแล้ว จะเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้คนเข้าไปดูและสะท้อนความคิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปตีความคุณค่าของเรื่องราวนั้น

สถาบัน/บุคคล ผู้เอาข้อมูลที่มีความเป็นจริงและมีความถูกต้องแม่นยำ ใส่ลงใน “แผนที่” จะได้รับบริการตอบแทนในหลายสถาน ได้แก่

  • ได้รับการ feedback จากทีมงาน ว่าระดับคุณภาพการดำเนินการของตน อยู่ตรงไหนในภาพรวมของ “แผนที่” ส่วนไหนที่ตนดีเด่นเป็นตัวอย่างได้ ส่วนไหนที่ควรต้องปรับปรุง และมีตัวอย่างวิธีการที่ดีอยู่ที่ไหน ที่สามารถไป เรียนรู้เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองได้
  • ทีมงานจะจัดระบบให้มีทีมให้บริการอ่านและสะท้อนคิด (reflection) สาระใน แผนที่ ในลักษณะ สร้าง Meaning (ความหมาย/คุณค่า) จาก Map นำออกแผยแพร่ใน map เพื่อการเรียนรู้มิติที่หลากหลายในการพัฒนานักเรียน การสร้างความหมายจาก ข้อมูลขนาดใหญ่เช่นนี้ จะมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Big Data Technology) ช่วยหาความหมายด้วย ทำให้ออกผลได้รวดเร็วทันกาล
  • สถาบัน/ชุมชนเรียนรู้ (PLC)/บุคคล ที่เป็นสมาชิก และลงข้อมูลต่อเนื่องสม่ำเสมอ รวมทั้งนำผล feedback ไปปรับปรุงและนำผลมาลง “ แผนที่” จะได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมพบปะแบบ F2F (Face to Face) เพื่อเชื่อมเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโอกาสต่างๆ ช่วยเพิ่มชื่อเสียง และเพิ่มโอกาสเรียนรู้ยกระดับคุณภาพงานต่อเนื่อง
  • อาจมีการจัดรางวัล “คุณประยุกต์ยอดเยี่ยม” หรือรางวัล “เกลียวโกลด์” ที่นำเอาความรู้จากวง “แผนที่เสริมพลังโรงเรียน” เอาไปปรับใช้ในงานของตน แล้วนำผลมาเล่ากลับเข้าสู่วง “แผนที่ฯ” ทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อยอด ยกระดับ “เกลียวความรู้” ภายในชุมชนเรียนรู้นี้
  • ได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมเครือข่ายทำวิจัยในชั้นเรียน อาจได้รับทุนวิจัย และได้เรียนรู้เทคนิคการวิจัย นำไปสู่การมีผลงานวิจัยด้านการเรียนรู้ และมีผลงานสำหรับเลื่อนวิทยะฐานะ
  • อื่นๆ

นอกจาก ทำแผนที่แบบให้กรอกข้อมูลเองแล้ว ทีมงานจะแสวงหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ นำเอาผลงานริเริ่มสร้างสรรค์ และเห็นผลเพิ่ม “ผลลัพธ์การเรียนรู้” (Learning Outcome) ของนักเรียน เอามาลงใน “แผนที่” เพื่อให้สาธารณชนเข้ามาเรียนรู้ และให้เจ้าของผลงานได้เขามาเพิ่มเติมผลงาน ที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง และได้รับผลประโยชน์ตามที่กล่าวข้างบน

นี่คือ “ฝันที่ ๑” ของการใช้ KM ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา



วิจารณ์ พานิช

๓ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 601871เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2016 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2016 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฝันที่ ๑ ปฏิรูปการศึกษาด้วย KM
วางกลไกจัดเต็มสร้างแผนที่
เสริมพลังโรงเรียนที่ทำดี
ตอบแทนที่ให้ข่าวสารด้วยบริการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท