ชีวิตที่พอเพียง : 157. เลื่อนไหล


          คำว่า เลื่อนไหล" ผมแปลมาจากคำว่า flow      ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อเต็มคือ FLOW : The Psychology of Optimal Experience. เขียนโดย Mihaly Csikszentmihaly. Harper Perennial, 1990.    ที่หน้าปกเขาเขียนชื่อรองว่า Steps toward Enhancing the Quality of Life

         เนื่องจากมีคำถามเรื่องการดำรงชีวิตที่ผลิตภาพสูง  คือทำงานได้มาก     ผมคิดไตร่ตรองว่า ส่วนหนึ่งน่าจะได้จากชีวิตมันเลื่อนไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติ    อย่างมีความสุข     และประกอบภารกิจได้อย่างสนุกสนาน      ชีวิตเหมือนเลื่อนไหลไปโดยไม่ต้องออกแรง หรือออกแรงน้อยมาก      ที่จริงการปฏิบัติ ฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญา ในทางศาสนา น่าจะเป็นหนทางเดียวกัน  แต่วิธีของ Csikszentmihaly เป็นแนววิชาการตะวันตก อาจจะถูกจริตผมมากกว่า      ผมจึงนึกถึงหนังสือเล่มนี้เสมอเมื่อมีคนถามเรื่องการดำรงชีวิตของผม

        ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตผมบรรลุสภาวะ เลื่อนไหล (flow) แล้วนะครับ     ผมยังเป็นแค่นักเรียนอนุบาล     แต่การหมั่นฝึกฝนมันก็ให้ผลดี แม้เราจะยังอยู่ในระดับเบื้องต้น

         ชีวิตที่อยู่ในสภาพเลื่อนไหล  เป็นชีวิตที่กิจการงาน หรือกิจกรรมหลักของชีวิต   ตรงกับปณิธานความมุ่งมั่น ในระดับความเชื่อหรือระดับคุณค่า     บุคคลผู้นั้นสามารถยึดกุมสภาพกิจกรรมให้ดำเนินไปได้     โดยที่เมื่อพบอุปสรรค ก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ บุคคลผู้นั้นมีความสนใจพุ่งสมาธิในกิจกรรมนั้น    และทำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน      ทำด้วยใจจดจ่อ    เมื่อเผชิญอุปสรรค ก็สนุกที่จะแก้ไขให้ลุล่วง     เมื่องานบรรลุผลก็มีความสุข     ความสุขจะเกิดขึ้นจากทั้ง ๓ องค์ประกอบของงาน   คือองค์ประกอบที่ ๑ เป้าหมายของงาน    เพียงแค่ได้นึกว่าตนเองกำลังทำงานนั้นอยู่ ก็เกิดความสุขแล้ว     องค์ประกอบที่ ๒  กระบวนการทำงาน  เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนที่ให้ความสุข ความพอใจ    และองค์ประกอบที่ ๓  ผลของงาน    เป็นผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดความปิติ     ชีวิตเช่นนี้ จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก     ชีวิตเหมือนกับเลื่อนไหลไปโดยแทบไม่ต้องออกแรง หรือใช้ความพยายาม

        ชีวิตที่เลื่อนไหลเช่นนี้ เหตุปัจจัยจะต้องประกอบกันเข้าอย่างเหมาะเจาะ     สมาธิของเราจะต้องไม่ว่อกแว่กไปจากเรื่องนั้น     ไม่มีเรื่องอื่นมากวนใจ     รู้จักปล่อยวางเรื่องที่ไม่สำคัญ     มีบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย      จิตใจที่มุ่งมั่นต่อผลของงานเป็นจิตที่บริสุทธื์ คือหวังผลในระดับที่มีคุณค่าสูงส่ง     เลยไปจากผลประโยชน์ส่วนตัว

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 60134เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     ความสุขจะเกิดขึ้นจากทั้ง ๓ องค์ประกอบของงาน   คือ...

องค์ประกอบที่ ๑ เป้าหมายของงาน    เพียงแค่ได้นึกว่าตนเองกำลังทำงานนั้นอยู่ ก็เกิดความสุขแล้ว    

องค์ประกอบที่ ๒  กระบวนการทำงาน  เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนที่ให้ความสุข ความพอใจ    และ

องค์ประกอบที่ ๓  ผลของงาน    เป็นผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดความปิติ

    เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และผมดีใจที่ตัวเองหาความสุขได้ง่ายๆจาก 3 องค์ประกอบข้างต้นที่ท่านกล่าวถึงมาโดยตลอด เรียกว่าพักผ่อนด้วยการทำงานอยู่เสมอ แต่อยากเสริมว่า ความสุขแบบนี้เกิดได้ยากหากงานที่ทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์แคบๆเฉพาะตน แต่จะสุขและสนุกได้นานเสมอเมื่อสิ่งที่ทำนั้น เราเห็นแจ่มชัดว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างไร ... สั้นๆก็คือตราบใดที่ยังเห็นแก่ตัวจัด  ความสุขชนิดนี้ก็เกิดยากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท