การเป็นอาจารย์ : ทางเลือกเพื่ออะไร


"ไม่ทำอย่างที่ว่า อย่ามาเรียกว่าอาจารย์" ถ้อยคำประโยคนี้ ผมเคยได้ยินจากเพื่อนท่านหนึ่ง และท่านก็บอกว่า เป็นถ้อยคำของหลวงพ่อพุทธทาส มันเป็นอย่างไรกัน

"ไม่ทำอย่างที่ว่า อย่ามาเรียกว่าอาจารย์" ถ้อยคำประโยคนี้ ผมเคยได้ยินจากเพื่อนท่านหนึ่ง และท่านก็บอกว่า เป็นถ้อยคำของหลวงพ่อพุทธทาส อรรถอันลึกซึ้งเป็นอย่างไรกัน

   เราผู้เคยเป็นนักบวชในพุทธศาสนามาก่อน เรามักจะเรียนบุคคลผู้เป็นประธานให้การอุปสมบทและผู้ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้มาให้นั้นว่า "อาจารย์" อันที่จริงทั้ง ๒ ท่านนั้นเรียกต่างกัน ท่านที่ ๑ เรียกว่า พระอุปัชฌาย์ และท่านที่ ๒ เรียกว่า อาจารย์ ๒ คำนี้มีความหมายอย่างไร

อุปัชฌาย์ หมายถึง ผู้เข้าไปเพิ่งโทษ นั้นหมายความว่า ผู้คอยดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ศิษย์กระทำความชั่ว อบรมสั่งสอนให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

อาจารย์ หมายถึง ผู้นำไป นั้นหมายความว่า ผู้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์ หรือผู้นำศิษย์ไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง

โดยเนื้อแท้ของภาวะการเป็น ท่านทั้ง ๒ นั้น ไม่ได้มีเป้าหมายในการสั่งสอนศิษย์เพื่อหวังว่า ศิษย์จะให้ค่าตอบแทนที่เป็นเม็ดเงิน มีคำหนึ่งที่แสดงให้ศิษย์บางคนรู้สึกนึก "เราไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการศึกษา"

หากเราอยู่ในจารีตของผู้ผ่านวัดมาก่อน จะเห็นได้ว่า ทุกวัน อาจารย์จะให้โอวาท ให้ความรู้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ แล้วพระเณรที่เรียนหนังสือเหล่านั้น ให้อะไรเป็นค่าตอบแทนบ้าง เปล่าเลย ความรู้ที่ได้เป็นความรู้ที่ได้โดยไม่เสียเงิน แต่ถ้าเราเข้าวัดไปด้วยเวลาที่จำกัด และอยู่ในวัดที่ถูกจารีตของสังคมเข้าไปครอบงำ เราก็จะพบว่า พระจำนวนหนึ่งอยู่เพื่อเงิน อันนี้ถือเป็นเรื่องน่าสลดใจ ไม่ใช่เงินไม่มีความหมาย แต่การอยู่เพื่ออะไรต่างหากที่มีความหมาย

เมื่อวาน นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ออกไปหาความรู้จากกระดานดำนอกห้องเรียนเล่าให้ฟังว่า แต่ละคนที่เข้าไปสัมภาษณ์ (พฤติกรรมการเรียน) มักอยากเป็นอาจารย์กัน เหตุผลที่สรุปได้คือ เงิน จากการสอนประจำและสอนพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ ตลอดถึงการบรรยายพิเศษอื่นๆ ผมบอกนักศึกษาว่า อืมม น่าสงสารเหลือเกิน ถ้าคิดว่านั้นคือเป้าหมายของการเรียนเพื่อไปเป็นครูอาจารย์ แต่ก็นั่นเอง ความคิดผมอาจสวนทางกับสังคม ในเมื่อหลักสูตรครู ๕ ปีที่รับรองว่า จะได้รับการบรรจุเมื่อเรียนจบ ก็มีเป้าหมายคือ เงินเดือนที่มากกว่าปกติ ผมว่าผมให้ค่านิยมที่ผิดแน่ๆ จริงๆ แล้วผมควรให้ค่านิยมตามแนวคิดเชิงธุรกิจมากกว่า กล่าวคือ ถ้าคุณเรียน คุณออกไปทำงาน กี่ปีคุณจะได้เงินเท่านี้ จะหาเงินพิเศษจากงานที่ทำนี้ได้อย่างไร และทำอย่างไรให้ได้เงินมาก กลวิธีอะไรบ้างที่จะให้ได้มาซึ่งเงินเมื่อคุณเป็นครูอาจารย์ หรือการอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐ ผมเคยถามอาจารย์ท่านหนึ่ง ด้วยความสงสัยว่า อาจารย์ครับ อาจารย์รับราชการมาหลายสิบปี ทำไมเพิ่งซื้อบ้าน และบ้านก็ไม่ใหญ่โตซึ่งต้องผ่อนทุกเดือน จะไหวหรือ ทำไมครูอาจารย์หลายคนจึงมีบ้านโต รถหรู" ท่านก็บอกว่า ถ้าเราทำงานซื้อสัตย์ อย่าหวังว่าจะได้บ้านโต รถหรู ยกเว้นว่าเป็นสมบัติเก่าจากความเหนื่อยยากของตระกูล" ก็น่าคิดเหมือนกัน เมื่อดูหนี้สินมวลรวมของครูอาจารย์ปรากฎว่า เยอะมาก ดังนั้น เราน่าจะเปลี่ยนวิธีคิดได้แล้วว่า เป็นครูอาจารย์นั่นแหละ แต่จะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนมาก ในเมื่อสังคมเขาวัดหน้าตาด้วยความมั่งคั่งของวัตถุ

ผมออกจะชอบรัฐบาลชุดนี้ ที่คนระดับผุ้นำกล้าที่จะเก็บขยะ กล้าที่จะลงไปทานข้าวจานละ 20 บาท โดยไม่ได้ทำเพื่อเป็นข่าว หรือแสดงให้เห็นเท่านั้น แต่เขาทำเป็นวัฒนธรรมอยู่แล้ว

คิดดีแล้วหรือกับการเป็นครูอาจารย์

1. เราเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่นได้มากน้อยเพียงใด และสิ่งที่บอกว่าดี ดีแบบใด ระดับใดเรียกว่าดี

2. เราต้องตัดสินว่า ดีระดับใดที่เราจะเลือก เราจะเข้มแข็งกับดีแบบนั้นได้มากน้อยเพียงใด

และวันนี้..........อย่าเรียกฉันว่า "อาจารย์" ฉันยังไม่พร้อมจะเป็นอาจารย์ใคร ฉันยังเป็นนักศึกษาที่จะศึกษาต่อไปไม่มีวันจบสิ้น อุดมการณ์แด่ผู้จะไปทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาความคิด
หมายเลขบันทึก: 60131เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท