จรรยาบรรณแห่งเงินตรา วิธีสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและภาคการเงิน


อาจารย์จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

วิกฤติการณ์ทางการเงินในสหรัฐ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ Sub-prime Crisis ในปี 2007-2008 มีสาเหตุมาจากการให้เครดิตเป็นจุดเริ่มต้น และส่งต่อสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นผลทางตรงของความล้มเหลวด้านจริยธรรมที่ร้ายแรงเกินกว่าที่คาดคิดไว้

จรรยาบรรณวิบัติแห่งเงินตรา มาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อโดยไม่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตแก่ผู้กู้ที่ต้องการบ้านทั้งที่ขาดความสามารถ หรือไม่ได้ต้องการจะมีบ้านเป็นของตนเองจริงๆ

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของนักลงทุน ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเป็น Watchdog ในตลาดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวขับเคลื่อนพื้นฐานของวิกฤติการณ์

สิ่งที่น่ากลัวและเป็นกังวล คือ ความวิตกว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดในวิกฤติการณ์คราวนี้ จะเกิดซ้ำซึ่งจะจัดการได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ต้องจัดทำบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำ

ความล้มเหลวเชิงจรรยาบรรณที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติการณ์ ได้ถูกตั้งเป็นโจทย์และหัวใจหลักของการปรับปรุงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ นั่นคือ หากเราต้องการให้ภาวะเศรษฐกิจยังคงมีการเติบโต เราอาจจะต้องยอมให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพื่อปรับพื้นฐานก่อน

ทั้งนี้เพราะจำนวนประชากรในโลกได้เติบโตจากเพียง 2,000 ล้านคนในปี 1950 เป็นเกือบ 7,000 ล้านคนในปี 2008 และคาดกันว่าจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคนในปี 2050

นอกเหนือจากปัญหาที่ตลาดการเงินจะต้องรองรับจำนวนประชากรของโลกแล้ว ปัญหามาตรฐานบัญชีปัจจุบันก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะรายการที่บันทึกบัญชีสามารถอธิบายมูลค่าได้ในสัดส่วนราว 20-25%ของมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของแต่ละกิจการเท่านั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีทางเลือกทางบัญชีด้วยการอนุญาตให้บันทึกบัญชี Triple Bottom Line

  • Financial Return ผลตอบแทน (กำไร) ทางการเงินด้วยแนวคิดแบบดั้งเดิม
  • Economic Return ผลตอบแทน (กำไร) ต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอื่น นอกกิจการที่ระบุกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ได้
  • Social Return ผลตอบแทนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

แต่สิ่งที่เป็นมูลค่าของกิจการที่สำคัญที่ยังคงไม่มีระบบบัญชีรองรับยังคงมีอยู่อีกหลายประการ เช่น มูลค่าของความสัมพันธ์กับลูกค้า ความไว้ใจ เชื่อใจของลูกค้าต่อกิจการ ผ่านมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนและมั่นคงทางเศรษฐกิจและของภาคการเงิน

ประเด็นของจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับเงินตรา มีหลายประเด็นที่กระทบต่อความยั่งยืนของกิจการที่ต้องคำนึงถึงในธุรกรรมทางการเงินในระยะต่อไปได้แก่

ประการที่ 1 - การฟื้นฟูความเชื่อใจ ไว้วางใจ (Restoring Trust)

ความเชื่อใจ ความไว้วางใจมีความหมายอย่างมากต่องานบริการทางการเงินและตลาดการเงินทุกแห่ง เพราะถือว่าเป็น “สินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่” (Hidden assets) ที่สำคัญที่สุดควบคู่กับแบรนด์และภาพลักษณ์ของงานบริการทางการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินและตลาดการเงินสามารถเป็นผู้ครอบครองสินทรัพย์เหล่านี้ได้ และถือเป็นการสะท้อนคุณค่าในเชิงจรรยาบรรณและจริยธรรมของกิจการและของตลาด ที่เป็นรากฐานของธุรกิจ ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลเงินทองของบุคคลอื่นที่หวังพึ่งพา

หลังจากเกิดภาพลักษณ์ทางลบ ก็จะเกิดการเสื่อมถอยของความเชื่อใจ ไว้วางใจ จนต้องทำให้สถาบันการเงินและตลาดการเงินต้องกลับมาฟื้นฟู

ประการที่ 2 - การฟื้นฟูความไว้วางใจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน ใช้ความอดทน

กิจการจะต้องมีคุณธรรมเพียงพอ จึงจะทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจ หากไม่สามารถสร้างสถานะของกิจการและตลาดการเงินที่มีคุณธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีภาพลบและการเริ่มต้นด้วยภาพบวกนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อใจไว้วางใจ

ประการที่ 3 - ในการสร้างจรรยาบรรณแห่งเงินตรา สิ่งที่เป็นคำถามหลักที่ต้องตอบให้ได้คือ

คำถามที่ 1 - ทำไม่กิจการ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในกิจการจึงยังทำผิดที่รู้ดีว่าผิด

คำถามที่ 2 - การดำเนินงานอย่างถูกต้องมีความหมายแค่ไหน

คำถามที่ 3 - กิจการใช้หลักการ เกณฑ์ เงื่อนไขใดแยกว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

คำถามที่ 4 - กิจการจะสร้างวัฒนธรรมของความซื่อสัตย์ จรรยาบรรณในกิจการอย่างไร

ประการที่ 4 - Moral DNA

การสร้างดีเอ็นเอของบุคลากรและกิจการที่มีจรรยาบรรณ เพื่อเป็นต้นแบบให้บุคลากรมีความเข้าใจและตัดสินใจเชิงจรรยาบรรณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงจรรยาบรรณวิบัติ

(1) Rule Compliance การกำกับการปฏิบัติบนภารกิจ บทบาท หน้าที่

(2) Social conscience มีความยึดมั่น มุ่งเป้าสู่สังคม

(3) Principled conscience มีความยึดมั่น มุ่งเข้าสู่หลักการ เหตุผล

ประการที่ 5 - Rule Compliance

เน้นที่การปฏิบัติโดยรู้สติ รู้ตัวตลอดเวลาว่าตนเองมีบทบาท หน้าที่ภารกิจใดที่ต้องยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่หลุดจากบทบาทที่รับมอบหมาย

ประการที่ 6 - Social conscience

การที่ทำสิ่งที่ดีได้ ควรจะรู้ตัว มีสติและพิจารณาอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อสังคม สร้างความอยู่ดีมีสุข ย่อมได้รับการยอมรับว่าเป็นความดีอย่างแน่นอนผู้พิจารณาจึงต้องมั่นใจก่อนว่า ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแก่สังคมแล้ว

ประการที่ 7 - Principled conscience

หมายถึงการกำหนดคุณสมบัติพึงประสงค์ พฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับหรือคาดหวัง เป็นสิ่งที่มีคุณธรรม

ประการที่ 8 - การแก้ไขเมื่อเกิดการกระทำผิด

ผู้ปฏิบัติงานทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะทำผิด แต่ปัญหาคือ เมื่อเกิดการทำผิดแล้วจะปฏิบัติแบบปฏิบัติต่อเด็ก เหมือนพ่อแม่ผู้ใหญ่ดูลูกหลานไม่ได้ แต่ต้องกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและคนอื่นเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยความสำนึกและความรับผิดชอบจากภายในจิตใจเอง พร้อมปรับกฎเกณฑ์ให้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อหลักเลี่ยงการผิดซ้ำซาก และป้องกันการปกปิด หลบเลี่ยงการรายงานและการถูกทำโทษ หลังโทษคนอื่น โทษระบบ หรือโทษระเบียบแทน และต้องให้ความไว้ใจเชื่อใจว่าจะเกิดการปรับตัว และรายงานทุกเรื่อง

ประการที่ 9 - การให้รางวัลเมื่อมีการทำความดี

เมื่อใดที่มีการกระทำดี เหนือกว่าค่าเฉลี่ยหรือเหนือความคาดหมาย ผู้ที่ได้กระทำก็ควรจะได้รับรางวัลและผลตอบแทน เพื่อให้เกิดการจดจำและเป็นกำลังใจ รับรู้ในคุณค่าของจรรยาบรรณ

ประการที่ 10 - สิ่งที่ต้องสื่อสารและส่งข้อมูลให้เกิดการรับรู้และตระหนัก

(1)ความชัดเจนของจรรยาบรรณทางธุรกิจและวัตถุประสงค์ของการให้คุณค่าทางจรรยาบรรณ

(2)การนิยามจรรยาบรรณที่กิจการให้คุณค่าสูงในลำดับต้นๆ เพื่อเป็นแนวทางพฤติกรรม

(3)พฤติกรรมที่เกิดจริง โดยเฉพาะพฤติกรรมตัวอย่างและต้นแบบของผู้บริหาร

(4)การสร้างสังคมที่มีจรรยาบรรณ ที่ครอบคลุมทั้ง พนักงาน ลูกค้า ซับพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และพร้อมที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาได้เมื่อจำเป็น

ประการที่ 11 - จรรยาบรรณวิบัติยังคงเป็นความท้าทายของกิจการ

เมื่อกิจการมีการเติบโต ดูเหมือนว่าจรรยาบรรณวิบัติจะเติบโตตามไปด้วย และยังไม่สามารถปรับลดลงได้อย่างน่าพอใจ

สิ่งนี้สะท้อนว่ากลยุทธ์การบริหารจรรยาบรรณเกิดประสิทธิผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็นหรืออาจจะเป็นไปได้ว่า กิจการยังเปิดใจในการพูดถึงเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น มีช่องทางหรือมีเวทีที่พูดถึงเรื่องนี้ไม่จริงจังเหมือนเรื่องทั่วๆไป

ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากข้อจำกัดของทรัพยากร งบประมาณ และการลงทุนในการบริหารจรรยาบรรณไม่สามารถดำเนินการได้มากเท่าที่ควรจะเป็นก็ได้

หมายเลขบันทึก: 600555เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2016 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2016 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท