​ทฤษฎีเทคโนโลยีเส้นโค้ง-S


ทฤษฎีเทคโนโลยีเส้นโค้ง-S มีประโยชน์ต่อความคิดของผู้นำองค์การ เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงคุณค่า โดยคำนึงถึงลูกค้าที่มีอยู่แล้วและเน้นการตอบสนองความต้องการเพื่อรักษาและขยายฐานตลาดลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่ เพราะ “นวัตกรรม หมายถึง การรวบรวม การผสมผสาน หรือการสร้างสรรค์ความรู้ ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีความเกี่ยวข้องและเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการใหม่” ซึ่งอาจแบ่งเป็น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมบริการ หรืออาจแบ่งเป็น นวัตกรรมส่วนเพิ่ม (incremental innovation) และนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง (radical innovation) ซึ่งต้องประกอบด้วย คุณสมบัติการใช้งานแบบใหม่ทั้งหมด หรือปรับปรุงคุณสมบัติการใช้งานให้ดีกว่าเดิมหรือลดต้นทุน และสามารถเพิ่มผลการดำเนินงานให้กับองค์การได้ (Schilling & Esmundo, 2009)

S-curve of Technology ใช้เพื่ออธิบายวัฎจักรเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมโดยการนำเสนอความสามารถของเทคโนโลยีในรูปแบบกราฟ และใช้อธิบายข้อจำกัดในทางปฏิบัติจากการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ และการประหยัดต้นทุนจากการพัฒนานวัตกรรม เป็นแนวทางสู่ความสำเร็จของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเกิดจากการสังเกตปัญหา ทำให้เกิดแนวคิดใหม่และนำไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรมจากการเพิ่มเติม ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่องค์การมีอยู่ โดยเริ่มจากการสร้างนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้เพิ่มขึ้น และมีการพัฒนานวัตกรรมให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำสุด โดยแกนแนวตั้งแทนผลการดำเนินการในอนาคต ส่วนแกนแนวนอนเป็นเวลาในการเกิดของเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งแสดงวงจรแห่งความเจริญและความเสื่อมถอยของเทคโนโลยี และด้วยเหตุผลที่มีรูปร่างคล้ายตัว S กล่าวคือ ในช่วงแรกการเจริญเติบโตจะเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เส้นกราฟจะเริ่มชันขึ้น ซึ่งเกิดจากอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก จากนั้นการเจริญเติบโตจะเริ่มช้าลงจนกระทั่งหยุดนิ่ง อธิบายแต่ละระยะ คือ (Dattee, 2007, pp. 1-5)

ระยะที่ 1 เป็นช่วงเวลาการประดิษฐ์คิดค้นหรือปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วขององค์การให้เหมาะสม จนประสบความสำเร็จและเริ่มทดสอบการจำหน่าย ถือเป็นช่วงเริ่มต้น ซึ่งมีการเติบโตของยอดขายที่ค่อนข้างช้า องค์การที่ใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่อาจมองว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ยังไม่ใช่คู่แข่งขัน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสนใจ เพราะยังไม่มีประสิทธิภาพหรือต้นทุนสูง

ระยะที่ 2 เป็นช่วงที่ธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาประสิทธิภาพได้สูงขึ้น พร้อมกับจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น และควรจะเข้าสู่
การจำหน่ายมากที่สุด

ระยะที่ 3 เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีเริ่มอิ่มตัว ประสิทธิภาพการพัฒนาถึงขีดสุดของทรัพยากรที่ใช้ผลิตและไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ จำนวนผู้ใช้ไม่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีเริ่มคงที่ แต่ยังมีการใช้ต่อไปจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่มาทดแทน และเทคโนโลยีเดิม
ที่คงที่นั้นหายไป

เมื่อนวัตกรรมดังกล่าวได้ถูกพัฒนาจนใกล้ถึงจุดอิ่มตัว องค์การจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่เพื่อแทนที่นวัตกรรมเดิม ในช่วงแรกนวัตกรรมนี้อาจจะไม่สามารถสู้กับนวัตกรรมเดิมได้ แต่เมื่อมาถึงจุดที่เส้นโค้งตัดกัน ซึ่งเป็นจุดที่นวัตกรรมใหม่ตามทันนวัตกรรมเดิม ทั้งในด้านประสิทธิภาพหรือการประหยัดต้นทุน แต่นวัตกรรมใหม่ต่างจากนวัตกรรมเดิมด้านความสามารถในการพัฒนาให้ดีขึ้น ส่วนนวัตกรรมเดิมจะถึงจุดอิ่มตัวและไม่สามารถพัฒนาได้ เส้นกราฟมีแนวโน้มลดลง ทำให้นวัตกรรมใหม่สามารถเข้ามาแทนที่นวัตกรรมเก่า และเป็นวงจรของการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสามารถอธิบายเส้นทางแห่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งใหม่และเก่า ซึ่งผู้บริหารหรือผู้นำควรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและรับรู้ว่า องค์การกำลังอยู่ในส่วนใดของ S-curve เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารทรัพยากรและการแข่งขัน และกำหนดเป็นกลยุทธ์ขององค์การที่อาจจะประสบความสำเร็จในอนาคตมากที่สุด ทำให้เกิดทฤษฎีซึ่งเป็นบทสรุปที่เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดสำหรับวางแผนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่หรือปรับปรุงของเดิมเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และมีความเป็นไปได้มากขึ้นเป็นการคาดการณ์หรือพยากรณ์อนาคตทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Den Heijer, 2010, pp. 1-5; Neumann, 2013, p. 5)

การปรับปรุงที่เกิดจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ภูมิทัศน์ขององค์การ เพื่อพัฒนารูปแบบการปรับตัวดีขึ้นโดยการเปลี่ยนปัจจัยนำเข้าและส่งออก ดังนั้น นวัตกรรมเทคโนโลยีจึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโตของผู้บริโภค และความสำเร็จขององค์การและความมั่งคั่งของประเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงมีความสำคัญมากต่อผลการดำเนินงานขององค์การ (Newell, Genschel, & Zhang, 2014, pp. 1-5)

ข้อจำกัดของ S-curve เป็นแบบจำลองที่มีคำแนะนำไม่ชัดเจน ไม่สามารถนำมาเป็นหลักในการจัดการ และแสดงได้ว่า กำไรสูงสุดจะมาจากเทคโนโลยีไหน และจะวิเคราะห์เฉพาะเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ข้อมูลทางสถิติจำนวนมากเพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 600509เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท