คำคล้องจอง


"คำคล้องจอง คือ คำที่มีเสียงสระเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกดจะต้องอยู่ในมาตราเดียวกัน
มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกันได้ คำคล้องจองเป็นการเรียบเรียงภาษาที่ทำให้เกิดความไพเราะ
สละสลวยการเรียนรู้เรื่อง คำคล้องจอง เป็นการฝึกฝนทักษะในการเลือกสรรถ้อยคำ เรียบเรียง
ภาษา คิดคำสัมผัสซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ในการแต่งคำประพันธ์ได้ดี"

คำคล้องจองเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของภาษาไทย คนไทยได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ดังนั้น จึงมีการใช้คำคล้องจองในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเพราะในภาษาอื่นไม่มีคำคล้องจองมีพัฒนามาจากคำซ้อนนั้นเอง เช่น คำซ้อนที่ใช้สระและตัวสะกดเหมือนกัน เช่น เงียบเชียบ รอบคอบ หรือคำซ้อนที่ใช้พยัญชนะต้นเหมือนกัน เช่น เคว้งคว้าง ต่ำต้อย

ในการแต่งคำประพันธ์นักเรียนต้องฝึกฝนเรื่องการเลือกคำที่มีลักษณะคล้องจองกัน เพื่อให้เกิดความไพเราะมีความหมายที่สื่อความได้ชัดเจนและมีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจด้วย ดังนั้นพื้นฐานสำคัญในการแต่งคำประพันธ์ นักเรียนต้องเรียนรู้คำคล้องจองให้เข้าใจเพื่อเป็นสิ่งสำคัญในการแต่งคำประพันธ์ต่อไป


มารู้จักความหมายของคำคล้องจองกันเถอะ

คำคล้องจอง คือ คำที่มีเสียงสระเดียวกัน และถ้ามีตัวสะกดจะต้องอยู่ในมาตราเดียวกัน มีเสียงวรรณยุกต์ต่างกันได้

คำคล้องจองในบทประพันธ์ร้อยกรอง เรียกว่า สัมผัส

ตัวอย่างคำคล้องจองที่มีสระเดียวกัน

สระอา ขา ลา นา สา จ่า ล่า หล้า ป้า

สระอี กี สี ศรี ขี่ ผี พี่ ปี่ จี้

สระอู หมู ขู่ สู้ รู้ ผู้ ปู่ งู อู่

สระเอา เกา เขา เรา เผ่า เหล่า เจ้า เหง้า เศร้า

สระเอือ เกลือ เขือ เจือ เผื่อ เสื้อ เพื่อ เยื่อ เอื้อ

ตัวอย่างคำคล้องจองที่มีสระเดียวกัน และมีมาตราตัวสะกดเดียวกัน

สระอา มาตราแม่กด กาด ปาด พลาด ญาติ ทาส

สระออ มาตราแม่กน กลอน ขอน ผ่อน ป้อน มอญ

สระโอะ มาตราแม่กบ กบ ขบ จบ หลบ พบ อบ

สระเอีย มาตราแม่เกอว เกี๊ยว เจียว เปรี้ยว เสียว เหี่ยว

สระเอือ มาตราแม่เกย เลื้อย เปื่อย เมื่อย เดือย เอื้อย


ลักษณะของคำคล้องจอง

คำคล้องจอง 1 พยางค์ คือคำที่ออกเสียงเพียงครั้งเดียว มีสระเสียงเดียวกัน ตัวสะกดมาตราเดียวกัน ส่วนรูปและเสียงวรรณยุกต์ต่างกันได้คำคล้องจอง 1 พยางค์ มี 2 ลักษณะ ดังนี้

1. คำคล้องจอง 1 พยางค์ ไม่มีตัวสะกด เช่น

กา ตา มา พา ปลา ยา

แม่ แน่ แล แปร แพร่

ดู หู ปู่ หมู รู้

ขี่ สี มี หมี พี่

แกะ แคะ แวะ แพะ และ

2. คำคล้องจอง 1 พยางค์ มีตัวสะกด เช่น

กิน ดิน ปิ่น หิน สิ้นนิล

กุ้ง ปรุง พุง นุ่ง รุ้ง ยุ่ง

เกี๊ยว เขียว เพียว เรียว เจียว เหมียว

กลาด ขาด ชาติ ราด ปราชญ์ สาด

กก นก ครก ปก พก


คำคล้องจอง 2 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มี 2 พยางค์ พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองของกลุ่มคำหลังที่อยู่ถัดไปคำคล้องจอง 2 พยางค์ มี 2 ลักษณะ ดังนี้

1. คำคล้องจอง 2 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกของกลุ่มคำหลัง เช่น

ความดี มีอยู่ คู่กัน ฝันหวาน

เวลา นาที ยินดี ปรีดา

เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แก่เด็ก เล็กน้อย

คุณค่า ราตรี สีขาว วาววับ

พรุ่งนี้ มีงาน อ่านเขียน เรียนรู้

2. คำคล้องจอง 2 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สองของกลุ่มคำหลัง เช่น

นักเรียน หมั่นเพียร อ่านเขียน วนเวียน โรงเรียน

คุณครู ความรู้ เนื้อคู่ หมอดู พรั่งพรู

แม่ค้า ไปมา ขายผ้า ท้องฟ้า รักษา

สีเหลือง ลือเลื่อง ทำเหมือง อุ่นเครื่อง ย่างเยื้อง

นกบิน ผกผิน ทรัพย์สิน รวยริน เสียงพิณ


คำคล้องจอง 3 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มี 3 พยางค์ พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองหรือพยางค์ที่สามของกลุ่มคำหลังที่อยู่ถัดไป คำคล้องจอง 3 พยางค์ มี 3 ลักษณะ ดังนี้

1. คำคล้องจอง 3 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกของกลุ่มคำหลัง เช่น

ตั้งใจเรียน เพียรศึกษา หาความรู้

ดอกดาวเรือง เหลืองอร่าม งดงามจริง

สีสดใส ใบไม้เขียว เรียวสู่ปลาย คล้ายขนนก

คำว่าเพื่อน เตือนความคิด มิตรสหาย ร้ายกลับดี

ทุกนาที มีคุณค่า พาสุขใจ ห่วงใยจริง

2. คำคล้องจอง 3 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สองของกลุ่มคำหลัง เช่น

เราทุกคน ฝึกฝนงาน ประสานใจ ความใฝ่รู้

ครูรักศิษย์ ผูกมิตรกัน สร้างฝันไกล แสงไฟส่อง

ซื้อรถยนต์ มาขนส่ง วาดวงกลม สวยสมใจ

เดินคนเดียว แสนเปลี่ยวใจ ลองใคร่ครวญ ดอกชวนชม

เปลือกสีขาว วับวาวแสง ช่วยแต่งแต้ม ยิ้มแจ่มใส

3. คำคล้องจอง 3 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์ที่สามของกลุ่มคำหลัง เช่น

รักแผ่นดิน ไม่โกงกิน เก็บทรัพย์สิน นกโบยบิน

อารมณ์ขัน สร้างสีสัน ร่วมแบ่งปัน เดินคู่กัน

รักวัยเรียน เหมือนจุดเทียน ย่อมแปรเปลี่ยน ใจวนเวียน

ช่อดอกไม้ เก็บมาไว้ สายน้ำไหล ขั้นบันได

รอยยิ้มหวาน กลีบแย้มบาน สิ่งใดปาน สีดอกจาน


คำคล้องจองที่มี 4 พยางค์ คือ กลุ่มคำที่มี 4 พยางค์ คำสุดท้ายของกลุ่มคำแรกมีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกหรือพยางค์ที่สองหรือพยางค์ที่สามหรือพยางค์ที่สี่ของกลุ่มคำหลังที่อยู่ถัดไป คำคล้องจอง 4 พยางค์ มี 4 ลักษณะ ดังนี้

1. คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์แรกของกลุ่มคำหลัง เช่น

ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ในบ้าน ร้านขายหนังสือ ถือของมากมาย

ผ้านี้สีสวย ช่วยให้โดดเด่น เย็นค่ำจันทร์พราว ดาวเดือนเลื่อนลอย

ตักข้าวใส่จาน งานบ้านมากมาย ยายเล่านิทาน สานสายสัมพันธ์

2. คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์สองของกลุ่มคำหลัง เช่น

เด็กไทยวันนี้ ต้องดีต้องเก่ง รีบเร่งค้นคว้า สืบหาความรู้

เจ้าปลาตัวน้อย ล่องลอยในน้ำ แสนสำราญใจ อยู่ในสายธาร

ออกกำลังกาย มากมายประโยชน์ ไร้โทษเพิ่มสุข หมดทุกข์แข็งแรง

3. คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์สามของกลุ่มคำหลัง เช่น

เดินทางท่องเที่ยว ลัดเลาะเลี้ยวไป ธารน้ำไหลหลั่ง งดงามฝังใจ

นั่งมองท้องฟ้า แสงจันทราส่อง สีเหลืองทองนวล พาให้ชวนฝัน

ยุคสินค้าแพง กินข้าวแกงอิ่ม ซื้อของริมทาง ค้าขายกลางเมือง

4. คำคล้องจอง 4 พยางค์ ที่พยางค์สุดท้ายของกลุ่มคำแรก มีเสียงคล้องจองกับพยางค์สี่ของกลุ่มคำหลัง เช่น

หมอเพลงลำแคน แห่งเมืองขอนแก่น อีสานดินแดน มีค่านับแสน

ชีวิตย่ำแย่ จงอย่าท้อแท้ ตั้งใจแน่วแน่ รีบเร่งคิดแก้

พ่อแม่สั่งสอน ไหว้พระก่อนนอน มือไม้หัดอ่อน ผู้ใหญ่อวยพร



หมายเลขบันทึก: 600440เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นายอำพร. แสงหล้า

นายอำพร. แฝงหล้า

คำคล้องของกับคำว่าประเทศไทย

คำคล้องจอง4พยาค์จำนวน30คำ

คำคล้องจอง 4 พยางค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท