คิดใหม่ + ทำใหม่ : คนพิการ = คน


จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยยังมองว่าผู้พิการเป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บ้างก็ถูกมองเป็นตัวตลก ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือถูกมองว่าเป็นภาระของครอบครัวและสังคม ถึงแม้ทางรัฐบาลพยายามที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของผู้พิการในด้านต่างๆ แต่ก็ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น การคมนาคมในประเทศไทยที่มีความลำบาก ไม่เอื้อต่อการใช้บริการของผู้พิการ นอกเหนือจากเรื่องทางกายภาพที่ไม่สะดวกสบายของผู้พิการแล้ว ค่านิยมของคนไทยยังมีการดูถูกเหยียดหยาม หรือการเลือกปฏิบัติบางอย่างกับผู้พิการทำให้แตกต่างจากคนปกติอีกด้วย

ตัวอย่างอุปสรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมต่างๆของผู้พิการมีดังนี้ เช่น

  • ผู้พิการขาดความภาคภูมิใจในตนเอง และคิดว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะทำกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมในเรื่องใดๆ ของสังคมได้
  • ครอบครัวรู้สึกว่าการมีสมาชิกในครอบครัวที่พิการ ถือเป็นเรื่องน่าอับอายจึงไม่สนับสนุนหรือไม่อนุญาตให้สมาชิกที่มีความพิการดังกล่าวมีส่วนร่วมทางสังคม
  • สมาชิกในชุมชนมีความคิดหรือความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลเกี่ยวกับความพิการ เช่น เชื่อว่าหากผู้พิการเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จะทำให้สถานที่นั้นแปดเปื้อน เชื่อว่าผู้พิการเป็นผู้ที่ถูกคำสาป
  • อุปสรรคในเชิงกายภาพอย่างเช่น การไม่สามารถเข้าถึงอาคารและสถานที่ อย่างเช่นศูนย์ชุมชน สนามกีฬา และโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึง

ด้วยสาเหตุดังที่กล่าวมา ทำให้ผู้พิการเกิดความรู้สึกต่อต้านสังคม เนื่องมาจากสังคมไม่ให้โอกาสในด้านความรู้สึก ทำให้ผู้พิการมองตัวเองด้อยค่า และส่งผลให้ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ทั้งที่ความเป็นจริงผู้พิการมีความสามารถมากกว่าที่จะอยู่บ้านโดยไม่ทำงาน เพื่อรับเบี้ยยังชีพเดือนละไม่กี่ร้อยบาท และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย และสวัสดิการที่คุ้มครองผู้พิการ

เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่สังคมควรให้ความใส่ใจ และมาร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?

  • เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ โดยมีแนวทางแก้ไขในส่วนของตัวผู้พิการ ครอบครัว ชุมชน และสังคม
  • การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางสื่อสาธารณะโดยอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • ผู้พิการ ส่งเสริมให้รับรู้ถึงสิทธิทางกฎหมายของตนเองมากยิ่งขึ้น
  • ครอบครัว สนับสนุนการประกอบอาชีพของผู้พิการ เพื่อให้สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มฝึกอาชีพผู้พิการ ให้คนพิการและสมาชิกในครอบครัวได้รู้จักกับคนพิการหรือสมาชิกในครอบครัวอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าในสังคมยังมีผู้พิการรายอื่นๆอีกนอกจากตน รวมถึงให้ข้อมูลและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวที่มีความพิการ พร้อมทั้งสนับสนุนจุดยืนและสถานะของผู้พิการในชุมชน และช่วยให้ครอบครัวเข้าใจถึงผลกระทบในทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น จากการปกป้องคนพิการมากเกินไป สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวช่วยให้เกิดการแก้ไขทัศนคติที่เป็นลบภายในชุมชน จัดให้สมาชิกในครอบครัวได้รับการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการในการดูแลผู้พิการ
  • ชุมชน การปรับทัศนคติภายในชุมชนนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อผู้พิการจะได้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระมากขึ้นและไม่ถูกลดคุณค่าของตนเองจากชุมชน ซึ่งสามารถจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มโดยทำร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างคนในชุมชนและผู้พิการ และเพื่อเป็นการปรับทัศนคติเดิมของชุมชนที่มีต่อผู้พิการ
  • สังคม เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริงและสร้างสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันดังนั้นในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา คําว่า อารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือการออกแบบเพื่อทุกคนในสังคมเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ อันแสดงถึงการเข้าถึงสิทธิต่างๆของผู้พิการ การอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมและยอมรับซึ่งกันและกัน จึงมีการกล่าวถึงในวงกว้างมากขึ้น ทั้งที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทยแต่ประการใดเพราะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 บัญญัติไว้ว่า “...คนพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิ่งอํานวยความสะดวกและความช่วยเหลือจากรัฐ” ทําให้มีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่ยังขาดมาตรการที่เคร่งครัดจริงจัง

ในส่วนของผู้พิการบางรายที่อาจไม่มีครอบครัว ซึ่งก็จะมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ แนะนำให้ผู้พิการติดต่อเครือข่ายรองรับที่เหมาะสมในชุมชน เข้าทำงานในสถานสงเคราะห์คนพิการเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าตนเองยังคงมีความสามารถในการเข้าร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนและสนับสนุนให้ผู้พิการที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมีที่พักที่เหมาะสมอีกด้วย

การจัดสิ่งอํานวยความสะดวกในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานราชการ โดยการจัดสิ่งอํานวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสําหรับผู้พิการ แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

1) ทางลาด

2) ห้องน้ํา

3) ที่จอดรถ

4) ป้ายและสัญลักษณ์

5) การบริการข้อมูล

  • กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเรื่องผู้พิการ ฝ่ายสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง กองสวัสดิการสงเคราะห์ เน้นการให้บริการด้านสวัสดิการสงเคราะห์ให้แก่ผู้พิการ ผลักดันสิทธิและโอกาสของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชนโดยรวม เพื่อเป็นกลไกด้านสังคมในการบรรลุนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน สตรี ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ให้มีการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญ
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย งานวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ การส่งเสริมสวัสดิการสังคม และการพัฒนาสังคมแก่หน่วยงานภายในองค์กร การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคม เพื่อการวางแผนและกำหนดนโยบายได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน การให้คำแนะนำปรึกษาในด้านการติดตามผล การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
  • มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ส่งเสริมให้บุคคลทั่วไปมีเจตคติต่อผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสอย่างสร้างสรรค์โดยใช้สื่อทุกชนิด เช่น สิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือโดยวิธีอื่นๆ โดยจัดให้มีบริการป้องกันความพิการ การให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เช่น ตั้งสถานสงเคราะห์ โรงเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ โรงพิมพ์ และดำเนินกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ให้บริการประสานงานให้ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งส่งเสริมหรือจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีมนุษยสัมพันธ์ มีจิตใจที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ มีวินัยและเคารพกฎหมาย

นักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขปัญหา?

  • ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการรับรองทำงานของผู้พิการในสถานที่ทำงานต่างๆ
  • ให้คำแนะนำในการดัดแปลงสภาพบ้าน สิ่งแวดล้อม และสถานที่ทำงาน ดัดแปลงอุปกรณ์ช่วยและอุปกรณ์เสริมที่ทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงในการใช้งานตามที่สาธารณะได้
  • ให้การดูแลสภาพจิตใจและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิต ให้การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องการเข้าถึงความต้องการในการดำรงชีวิตและการทำงาน
  • ให้คำปรึกษาและแนะนำญาติเกี่ยวกับการยอมรับในตัวผู้พิการ แนะนำวิธีการช่วยดูแลผู้พิการ ฝึกและให้ความรู้ผู้ดูแลกับผู้พิการให้ใช้อุปกรณ์ช่วยต่างๆอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • ส่งเสริมวิธีการรักษาทางกิจกรรมบำบัดด้านการทำงาน โดยประเมินความสามารถในการประกอบอาชีพและสอนทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ฝึกทักษะอาชีพ ให้คำแนะนำในการทำงานอย่างถูกวิธี และสอนเทคนิคในการสงวนพลังงาน
  • ให้คำแนะนำในการจัดตารางเวลาของกิจกรรมในแต่ละวันให้มีความสมดุลกันทั้งการทำงาน การใช้เวลาว่าง การพักผ่อน การดำเนินกิจวัตรประจำวัน และการจัดรูปแบบการฝึกด้านการประกอบกิจวัตรประจำวันเพื่อช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด
  • ฝึกฝนถ่ายทอดความรู้ให้กับทีมอาสาสมัครจิตอาสา เพื่อกระจายความช่วยเหลือแก่ผู้พิการอย่างแพร่หลาย
  • การให้บริการและดูแลผู้พิการและญาติที่บ้านหรือในชุมชน
  • ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการคืนข้อมูล เรื่องจำนวนผู้พิการที่อยู่ในชุมชนซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ให้กับ อปท. เพื่อจะของบประมาณสนับสนุน และวางแผนการทำงานร่วมกันกับสหวิชาชีพหรือคนในชุมชน

จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นผู้พิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ยังขาดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณอีกมาก เนื่องจากโครงการหรือการปรับสิ่งต่างๆนั้นเริ่มจากเมืองที่มีความเจริญอย่างกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้กระทั่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครเองนั้น ผู้พิการเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้ทั้งหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เล็กที่สุดเพื่อจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้นั้นควรเริ่มจากระดับรากหญ้าก่อนซึ่งก็คือตัวเราเอง ถ้าหากเราปรับเปลี่ยนทัศนคติกันคนละนิด เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของพวกเราอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก:

ผู้จัดทำ : นางสาวชญามณฑน์ กัลชนะ

นางสาวชนิภา วิภาตะวัต

นางสาวญาดา หิรัญยะนันท์

นางสาวปารณีย์ เลิศกิจลักษณ์

นางสาวศุภธิดา สรศักดิ์

นายสิริสักก์ เจริญรวิภักดิ์

(นักศึกษาสาขากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยมหิดล)

หมายเลขบันทึก: 600388เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2016 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท