คำถามจากผู้ปฏิบัติ


ตัวบัตรทองไม่ใช่สิ่งตัดสินชี้ขาดว่าประชาชนคนนั้นมีสิทธิหรือไม่ การตัดสินชี้ขาดใช้การตรวจสอบสิทธิแบบ realtime จากฐานข้อมูลหน้า web สปสช. ส่วนการใช้สิทธิของประชาชน จะสามารถใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อ ได้ดำเนินการลงทะเบียนตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 (ทำไปพร้อม ๆ กับการให้บริการได้เลย)

     ด้วยมีคำถามจากผู้ปฏิบัติระดับสถานีอนามัย ในwebboard สสจ.พัทลุง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2548 ซึ่งขอสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องงานประกัน ด้วยคำถามในประเด็นดังนี้ครับ

     1. สืบเนื่องจากขณะนี้มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการบ่อย ๆ และในบัตรทองที่ประชาชนได้รับไปถืออยู่นั้น จำเป็นต้องปรับปรุงให้ถูกต้อง ตามที่ พณฯ ดำรงตำแหน่งหรือไม่
     2. ที่ผ่านมานั้นหน่วยงานที่ข้าฯ ทำงานอยู่ ได้ออกบัตรทองที่ไม่ตรงกับวาระการตำรงตำแหน่งของ พณฯ รัฐมนตรีว่าการนั้น บัตรเหล่านั้นถือว่า มีผลถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่
     3. การใช้หรือถือบัตรทองของประชาชนนั้นมีระเบียบ กฎหมายรองรับหรือไม่
          3.1 ถ้ามี การทำลาย หรือจำหน่ายบัตรเหล่านั้น มีขั้นตอนอย่างไร กรุณาพิมพ์เผยแพร่ด้วยจะขอบคุณยิ่ง ขอถามแค่นี้ก่อนขอบคุณ
                                                                             จาก...หมออนามัยโหมเหนือ

     ผมจึงได้ตอบคำถามดังกล่าวไป จากข้อคำถามทั้งหมด ขอตอบใน 3 ประเด็น ดังนี้ ครับ

          1. บัตรทองที่ประชาชนถืออยู่ หรือได้ออกไปไม่ตรงกับการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีผลแต่อย่างไรกับการใช้สิทธิฯ ของประชาชนครับ บัตรเหล่านั้นยังมีผลตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยสมบูรณ์ จึงไม่ต้องจัดพิมพ์บัตรใหม่ให้ประชาชน จนกว่าบัตรจะหมดอายุ ชำรุด สูญหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสิทธิ แล้วแต่กรณี จึงจะได้ทำบัตรใหม่ ส่วนการได้มาซึ่งลายมือชื่อ ฯพณฯ ท่าน ก็ขึ้นอยู่กับทาง สปสช.เปิดให้ downlode มา Update ในโปรแกรมพิมพ์บัตร การเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อ (ในส่วนที่พิมพ์บัตรออกมา) จะดำเนินการในตอนนี้ครับ

          2. บัตรทอง (ตัวบัตร) เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงสิทธิ (เพียงระดับหนึ่ง) ในระบบหลักประกันสุขภาพ ของประชาชนที่มาลงทะเบียนตามมาตรา 6 (ลงทะเบียนโดยไม่มีการรับบริการ) หรือ มาตรา 8 (ลงทะเบียนโดยมีการรับบริการด้วย) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แล้วแต่กรณี ประเด็นการมีสิทธิของประชาชนนั้นมีสิทธิตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทุกคน แต่ต้องไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกยกเว้นตามมาตรา 9 (สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ) และมาตรา 10 (สิทธิประกันสังคม) ฉะนั้นการมีสิทธิกับการใช้สิทธิของประชาชนจึงแยกเป็น 2 ประเด็น อย่างชัดเจน กล่าวคือ อาศัยความตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลงทะเบียนตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น จะสามารถใช้สิทธิได้ โดยไม่ได้เคยมีข้อกฎหมาย หรือระเบียบใด ๆ บอกว่าประชาชนต้องแสดงบัตรเพื่อใช้สิทธิ (หมายถึงการบังคับว่าต้องมีบัตรมาแสดงสิทธิ) แต่สาระสำคัญจริง ๆ คือการแสดงตัวว่าเป็นคน ๆ เดียวกันกับคนที่มีสิทธิในฐานข้อมูล (ใช้เลข 13 หลัก เป็นตัวตรวจสอบ คู่กับบัตรประจำตัวประชาชน) หน่วยบริการจึงต้องตรวจสอบสิทธิก่อนการให้บริการเอง เพื่อความถูกต้อง และรักษาประโยชน์ของหน่วยบริการเอง เพราะสิทธิของบุคคลนั้นอาจเปลี่ยนเป็นสิทธอื่นไปแล้วก็ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะถือบัตรทองอยู่ก็ตาม กรณีนี้วิธีดำเนินการก็คือการขอบัตรทองใบนั้นคืน หากสิทธิเปลี่ยนไปแล้ว และจะออกให้ใหม่เมื่อมาลงทะเบียนใหม่ ในกรณีที่สิทธิกลับมาอีกครั้งในภายหลัง
          กล่าวโดยสรุปว่า บัตรทองจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มอบให้แก่ประชาชนที่มาลงทะเบียนไว้เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าได้เข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแล้วระดับหนึ่ง และเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการขอรับบริการ และการจัดบริการให้ โดยการแสดงพร้อมบัตรประชาชน หรือบัตรอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ เชื่อถือได้ และมีเลข 13 หลัก และรูปถ่ายเจ้าของบัตรแสดงอยู่ด้วยในบัตรใบเดียวกัน
          บัตรทองไม่ใช่สิ่งตัดสินชี้ขาดว่าประชาชนคนนั้นมีสิทธิหรือไม่ การตัดสินชี้ขาดใช้การตรวจสอบสิทธิแบบ realtime จากฐานข้อมูลหน้า web สปสช. ส่วนการใช้สิทธิของประชาชน จะสามารถใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อ ได้ดำเนินการลงทะเบียนตามมาตรา 6 หรือมาตรา 8 (ทำไปพร้อม ๆ กับการให้บริการได้เลย)

          3. การทำลายบัตรทอง บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นเอกสารของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหน่วยบริการนั้น ๆ การเก็บรักษา และทำลายเอกสารจึงต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ข้อ 57.5 กำหนดว่าหนังสือที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญซึ่งไม่มีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กำหนดให้เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นว่า บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้ารุ่นเก่า บัตรซ้ำซ้อนที่ยึดคืน และบัตรที่พิมพ์เสียใช้ไม่ได้เข้าข่ายเป็นบัตรที่ไม่มีความสำคัญและเป็นบัตรที่ดำเนินการแล้วเสร็จตาม ข้อ 57.5 ดังกล่าว สำหรับวิธีการทำลายฯ ตามข้อ 67 และ 68 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทำลายหนังสือที่หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมแต่งตั้ง อันนี้ท่านต้องปรึกษากับหัวหน้าพัสดุในหน่วยบริการของท่านอีกครั้งครับ

หมายเลขบันทึก: 6003เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท