การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย (๕)


ระบบงานวิจัยของประเทศไทยยังมีปัญหาและมีความอ่อนแอที่จะต้องทำการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการพัฒนาครั้งใหญ่

แต่เมื่อผมได้ยินได้ฟัง ผู้ซึ่งมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบในเชิงนโยบายด้านงานวิจัยของประเทศที่เมื่อพูดอะไรแล้วรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงของประเทศจะฟังและเชื่อถือ พูดในหลายๆ เวที แล้ว ผมรู้สึกเป็นห่วงว่าประเทศไทยกำลังจะเดินไปผิดทาง ซึ่งจะทำให้การปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย อาจจะไม่เกิดขึ้น ความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้

ในขณะที่แต่เดิม ประเทศไทยมีการลงทุนด้านงานวิจัยน้อยมาเป็นเวลานานนับสิบปี คือ ประมาณร้อยละ ๐.๒๕ ของจีดีพี (GDP) (แม้ว่าในช่วงปีหลังๆ จะขยับขึ้นบ้างเล็กน้อย) ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ขาดความพร้อมและทำให้ติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่ในปัจจุบัน ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่แนวโน้มและนโยบายของรัฐบาล กลับเป็นไปในทางที่จะไม่มีการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัย แต่จะให้เอกชนลงทุนแทน เพื่อที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านงานวิจัยจากภาคเอกชน นัยว่าจะเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนด้านงานวิจัย ระหว่างภาครัฐต่อภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วน ๖๐ ต่อ ๔๐ ให้เป็นสัดส่วน ๔๐ ต่อ ๖๐

ผมเห็นว่าเป็นวิธีคิดและตรรกะที่แปลกๆ ของผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการวางนโยบายด้านงานวิจัยของประเทศไทย เพราะแทนที่จะมองเห็นว่าประเทศไม่ได้ลงทุนด้านงานวิจัยสะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน คิดเป็นเม็ดเงินที่ไม่ได้ลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ซึ่งจะต้องมีตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของงานวิจัย ขาดกำลังคนด้านงานวิจัยที่จะทำให้เกิดมวลวิกฤต (critical mass) ขาดสถานที่ทำงานของคน ขาดเครื่องมือ-อุปกรณ์ เงินทุนทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ขาดการสะสมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรม ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบด้านการวางนโยบายงานวิจัยของประเทศไทย กลับเป็นห่วงตัวเลขสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐต่อภาคเอกชน ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่น้อยอยู่แล้วทั้งคู่ และหวังจะให้ภาคเอกชนไทย ซึ่งถนัดแต่ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเกือบจะไม่เคยลงทุนด้านงานวิจัยมาก่อน มาลงทุนด้านงานวิจัยแทนรัฐบาล ผมเองก็เหมือนกับทุกๆ ท่านที่อยากจะเห็นภาคเอกชนไทยลงทุนในด้านงานวิจัยมากๆ แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่ได้แสดงให้เห็นเช่นนั้นมาก่อน แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการให้ภาคเอกสามารถนำเงินลงทุนด้านงานวิจัยมาหักภาษีได้ถึง ๓๐๐ เปอร์เซ็นก็ตาม ตัวเลขที่นำมาหักภาษีอาจจะมี แต่การทำงานวิจัยจริงๆ อาจจะไม่มีหรือไม่ค่อยมี (เหมือนเมื่อครั้งที่ให้หักได้ ๒๐๐ เปอร์เซ็น มาแล้ว) แต่ผมก็ทราบว่าปัจจุบันและอนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีตได้ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่มีทางเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะมาแก้ไขปัญหาความผิดพลาดทางนโยบายที่รัฐบาลในอดีตได้สร้างและสละสมไว้ในด้านงานวิจัย แทนรัฐบาลได้ โดยเฉพาะการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลง หรือการปฏิรูประบบงานวิจัย ที่จะต้องกระทำอย่างเร่งด่วน

เรื่องสัดส่วนการลงทุนด้านงานวิจัยของภาครัฐต่อภาคเอกชนควรจะเป็นเรื่องที่มาทีหลัง หรือถ้าอยากจะทำให้เหมือนกับนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยก็ควรจะมีการลงทุนด้านงานวิจัยให้ได้ร้อยละ ๒-๔ ของจีดีพี พร้อมกับทำให้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อเอกชนเป็น ๔๐ ต่อ ๖๐ ไปทีเดียวเลย เพราะถึงแม้จะสามารถเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนด้านงานวิจัยของภาครัฐต่อภาคเอกชนให้เป็น ๔๐ ต่อ ๖๐ ได้ และแม้ว่าภาคเอกชนจะมีการลงทุนให้เกิดกิจกรรมด้านการวิจัยอย่างแท้จริงด้วย เม็ดเงินลงทุนด้านงานวิจัยโดยรวม (ซึ่งขาดสะสมมาช้านาน) คงไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทยอย่างเป็นมรรคเป็นผลได้

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เงินงบประมาณของประเทศนั้นมีจำกัด แต่ที่ผ่านมาการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่ได้คิดให้รอบคอบและมีวิสัยทัศน์ ทำให้ประเทศไทยติดกับดักอย่างที่เป็นอยู่ แต่หากยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง ก็อาจจะไม่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักได้ดังหวัง

ในการปฏิรูปประเทศไทย ภาครัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำและลงทุนก่อน ฉันใด ในการปฏิรูประบบงานวิจัยของประเทศไทย ภาครัฐบาลก็จะต้องเป็นผู้นำและลงทุนก่อน ฉันนั้น

หมายเหตุ

ขออธิบายขยายความเพิ่มอีกสักนิดหนึ่งว่า

๑. เรากำลังพูดกันถึงข้อเท็จจริงและอนาคตของประเทศชาติและสังคมไทย ผมไม่มีเจตนาที่จะให้ร้ายและกล่าวหาโจมตีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการส่วนตัว

๒. ความหมายโดยสรุปของข้อเขียนนี้คือประเทศไทยจะต้องเพิ่มการลงทุนด้านงานวิจัยอีกมาก จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำ ไม่ใช่ให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำ เพราะภาคเอกชนส่วนใหญ่หวังผลกำไรสูงสุดระยะสั้น จึงทำให้ชอบซื้อเทคโนโลยีที่ใช้ได้เลยมากกว่า แต่การวิจัยเป็นการลงทุนระยะยาว การจะให้ภาคเอกชนมาเป็นผู้นำ โดยรัฐบาลไม่ลงทุนก่อนหรือลงทุนแต่น้อย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะประสบความสำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 599859เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2016 01:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2016 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าความคิดเห็นของอาจารย์ทั้ง 5 ตอนนี้ ผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องการวิจัยของประเทศไม่มีโอกาสได้อ่านเลยก็น่าเสียดายมาก ถ้าอ่านแล้วไม่ทบทวน ก็ยิ่งน่าสงสารประเทศไทย และนักวิจัยแท้ที่มิใช่นักล่าทุนวิจัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท