​ทำไมจึงไม่ควรดูพระเครื่องว่าแท้หรือเก๊ ให้กับคนที่เราไม่รู้จักตัวตนจริงๆ


ทำให้การที่เราช่วยดูพระให้เขา ก็อาจจะทำให้เขาพลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยอาจจะคิดว่าไม่ต้องเรียนวิธีดูพระแท้ก็ได้

ทำไมจึงไม่ควรดูพระเครื่องว่าแท้หรือเก๊ ให้กับคนที่เราไม่รู้จักตัวตนจริงๆ

*************************

ข้อผิดพลาดในชีวิตผมเรื่องหนึ่ง ที่พลาดมามากมายหลายครั้ง แม้จะพยายามระมัดระวังจะไม่ให้พลาดอีก แต่ก็ยังพลาดบ่อยๆ เสมอๆ ก็คือ การช่วยดูพระเครื่องให้คนที่อยากรู้ว่าพระที่ตัวเองมี แท้หรือไม่ ด้วยเจตนาดี และวัตถุประสงค์ที่บริสุทธิ์ใจ เพียงเพื่อให้เขาได้มีความรู้ และความมั่นใจในพระเครื่องที่เขามี แต่ที่ผมกล่าวว่า “ผมทำผิดพลาด” ไปนั้น ก็เพราะผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงของการนำมาให้ดู ทำให้เกิดข้อผิดพลาด หลายครั้ง หลายหน มาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น

  • เพื่อการนำไปขาย ที่เราไม่มีความจำเป็นต้องดูให้ เพราะพระเครื่องที่จะขายได้/ไม่ได้ หรือ การตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อ และการต่อรองราคา อยู่ที่ข้อตกลงของผู้ขายและผู้ซื้อ โดยไม่เกี่ยวกับว่าพระเหล่านั้น แท้หรือเก๊ ถ้าผู้ซื้อชอบ เขาก็ซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ซื้อ ชอบมากก็ให้ราคาสูง ชอบน้อยก็ให้ราคาต่ำ คนขายก็ตั้งราคาตามใจชอบ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลา เสียความคิด หรือทุ่มเทกับเรื่องนี้โดยเปล่าประโยชน์ อย่างไร้สาระโดยสิ้นเชิง ที่ผมพลาดมาหลายครั้งแล้ว
  • เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเองมากขึ้น ทั้งๆที่เขามีความมั่นใจว่าพระเครื่องที่ตัวเองมีนั้น “แท้” แต่ก็แค่มาขอคำยืนยันจากคนอื่นเท่านั้น ที่ไม่มีผลดีกับผู้ดูให้ แต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะถ้าบอกว่าดี (ที่เราอาจจะโกหก ทำให้เขาหลงทางต่อไป) ก็อาจจะพอรอดตัวไป แต่ถ้าบอกว่าเก๊ เขาจะโกรธ และ หาเรื่องก่อกวนต่างๆนานา ในระยะต่อๆไป ในทุกเส้นทางที่เขาทำได้ แบบต่างคนต่างเสีย ไม่มีใครได้อะไร ที่ผมโดนมาแล้วหลายครั้ง
  • เพื่อการเก็บสะสม ที่ทุกคน จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงจะเป็นนักสะสมที่ดี ที่ต้องมีการเรียนอย่างถูกต้อง และเป็นระบบ ที่ผมรับสอนอยู่แล้ว พอดูเป็น ก็สามารถดูเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องดูให้ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
  • เพื่อการซื้อมาใช้ ที่ก็เป็นความพอใจของผู้ซื้อ เราไม่ควรเข้าไปแทรกแซง ที่จะทำให้เกิดปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว จากความไม่พอใจของคนขาย ที่ต้องไม่พอใจการกระทำของเราแน่นอน ถ้าเราบอกว่าเก๊ ก็ต้องโกรธเรา ทำให้เขาขายพระไม่ได้ ถ้าพระยิ่งราคาแพง ความโกรธน่าจะยิ่งรุนแรง อย่างแน่นอน อาจจะอาฆาตมาดร้าย กับเราก็ได้ (แต่ถ้าเราว่าแท้ เราก็เพียงแค่รอดตัวไปอย่างหวุดหวิด เท่านั้นเอง แต่คนขายก็อาจจะแอบระแวงเราอยู่ลึกๆก็ได้) ที่ไม่มีความคุ้มค่าใดๆ ในการเสี่ยงช่วยดูพระให้คนที่เราไม่รู้จักในสภาพเช่นนั้น

ทั้งตัวอย่างของ 4 วัตถุประสงค์หลักๆ ดังกล่าวแล้ว และอาจจะมีในวัตถุประสงค์อื่นๆ ผสมผสาน หรือแอบแฝงปะปนมานั้น ทำให้การที่เราช่วยดูพระให้เขา ก็อาจจะทำให้เขาพลาดโอกาสในการเรียนรู้ โดยอาจจะคิดว่าไม่ต้องเรียนวิธีดูพระแท้ก็ได้ แค่ไปเที่ยวถาม ก็ “รู้” ได้ว่า พระเครื่ององค์ไหนแท้ องค์ไหนเก๊ หรือ ทำให้ไม่มีความสนใจอยากเรียนรู้ ที่ทำให้ชีวิตของเขามีความเสี่ยง อยู่กับความไม่รู้ หรือรู้ไม่จริง ที่อาจจะถูกหลอกลวงได้โดยง่าย

แต่สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดกับผู้ช่วยดูพระเครื่องให้คนอื่น ไม่ว่าจะทำไปด้วยความปรารถนาดีล้วนๆ แต่ ส่วนใหญ่นอกจากจะไม่ได้คุณประโยชน์อะไร กับตัวเอง และใครๆแล้ว ก็ยังเป็นการเสี่ยง และ อันตรายมาก เพราะ อาจจะมีคนเสียผลประโยชน์เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เราทำไปด้วยเจตนาดีล้วนๆ จึงควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังให้มากครับ

หมายเลขบันทึก: 599833เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2016 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2016 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในวงการพระเครื่อง เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมานานแล้วครับ ถึงขั้นทะเลาะชกต่อยกัน ขั้นร้ายแรงก็ถึงกับชีวิตทีเดียว เขาถึงมีประโยคที่ว่า "ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดความจริงนั่นแหละจะ..ตาย"

สิ่งที่อาจารย์ตั้งปฏิภาณไว้ว่า จะแนะนำหรือสอนให้คนที่เข้ามาในวงการพระเครื่อง หรือต้องการสะสมพระ เพื่อไม่ต้องตกเป็นเหยือของเหล่านักต้มตุ๋น (อันนี้เรียกตรงๆเลย) หลังจากที่อาจารย์ก้าวเข้ามาใน (ขอเรียกว่า) "ยุทธจักร แห่งเล่ห์เหลี่ยม" ก็ไม่ผิด ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดแล้วยังไม่พอ ต้องเสียเงินค่าบทเรียนที่ผ่านมาเยอะมาก แทบจะไม่คุ้มกับสิ่งที่อาจารย์ทำในปัจจุบัน ที่รับสอนให้ฟรีๆ เพราะความหวังดีต่อ ชาวโลกมนุษย์

จากอดีตที่ผ่านมา เช่น ท่านอาจารย์ "ตรียัมปวาย" แต่งตำราวิธีดูพระเครื่องตั้งแต่ พระสมเด็จฯ , พระนางพญา , พระรอด ฯลฯ ท่านอาจารย์ "พินัย ศักดิ์เสนีย์" เขียนตำรา "ปฐมคัมภีร์พระเครื่อง" และท่านอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน ที่ได้ลาลับล่วงไปแล้วนั้น ก็มีความปรารถนาดีต่อวงการพระเครื่อง ดุจเดียวกับท่านอาจารย์แสวง เช่นกัน

บทสรุปวิธีแก้ปัญหา ที่คนมาขอให้ช่วยดูพระว่า เก๊ หรือแท้ ของผมก็คือ ให้อาจารย์เขียนเป็นตำราขึ้นมาอีกสักเล่ม "วิธีดูพระ โดยหลักวิทยาศาสตร์" มาประดับไว้ในวงการพระเครื่อง เมื่อใครจะมาขอให้ท่านอาจารย์ดูพระเครื่องด้วยเหตุผลตามที่กล่าวอ้างใน ๔ ข้อข้างต้น ก็แนะนำให้ไปซื้อตำราของอาจารย์มาอ่านหรือศึกษาเอาเอง (คิดว่า ทั้ง ๕ เล่มที่อาจารย์เคยเขียนมาโดยใช้ชื่อว่า "ส.มอดินแดง" คงหมดไปจากท้องตลาดนานแล้วครับ) ทำใหม่ เป็นปกแข็งเดินทอง เล่มหนา เล่มเดียวจบไปเลยครับ..ขอบคุณครับ..

ด้วยความนับถือจากใจจริง.


ขอบคุณมากครับ กำลังเตรียมข้อมูลครับ

วิชญ์พล ศักดานุศาสน์

กระผมก็อยากไปศึกษาหาความรู้จากท่านอาจารย์ใจจะขาดแต่คนทำมาหากินพอประทังครอบครัวอย่างกระผมคงลำบากเหมือนกัน พระที่มีก็ได้มาจากเพื่อนฝูงที่เขาไม่สนใจให้มาบ้าง คนชอบพอกันให้มาบ้าง คนเฒ่าคนแก่ จะให้ไปซื้อหาราคาแพงๆคงไม่มีปัญญา พอมีเป็นจำนวนก็อยากศึกษาประดับความรู้อ่านตำราบางครั้งก็ไม่เข้าใจ จะหาของจริงดูก็ไม่รู้จะหาที่ไหน ก็ไม่รู้จะทำยังงัยที่รบกวนสอบถามก็ด้วยเหตุผลนี้เผื่อจะนำคำวิจารณ์ติชมจากท่านเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการศึกษาหาพระแท้ต่อไป (เว้นผมเป็นกรณีพิเศษสักคนครับท่านอาจารย์) เวลาว่างผมติดตามอ่านบทความของท่านอาจารย์และพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจอยู่เรื่อยๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท