Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บริษัทปลาสามตัวฯ อาจมีหลายสัญชาติ ในขณะที่ผู้ลงทุนในบริษัทอาจยังไร้สัญชาติ ความขัดแย้งที่เป็นไปได้ !


กรณีศึกษานายวีระ ชุบทอง : การกำหนดสัญชาติของธุรกิจของคนไร้สัญชาติใน ท.ร.๓๘ ก

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ปรับปรังเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะดังกล่าวมาขอคำปรึกษากฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวีระอธิบายปัญหาของตนเองดังต่อไปนี้

“พ่อผมเป็นคนไทยใหญ่ครับ ส่วนแม่ผมเป็นคนมอญ ทั้งคู่เกิดในประเทศพม่า โดยพ่อเกิดในรัฐฉาน แม่เองก็เกิดในรัฐมอญ ทั้งคู่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ตัวผมเองเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเกิดที่บ้านกับหมอตำแย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่ได้แจ้งเกิดด้วย มีเพียงฉีดวัคซีนที่อนามัยหลังจากเกิดเท่านั้น

พ่อกับแม่เข้ามาประเทศไทยแบบไม่ถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หรืออาจก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตั้งแต่เข้ามาพ่อก็อาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่สอดเลย ไม่ได้เดินทางออกนอกเขต หลายปีต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดถึงทุกวันนี้และตอนนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ถือบัตรอะไรที่ทางราชการออกให้ครับ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เคยทำ ทร.๓๘/๑ ทั้งคู่ คิดว่าทำแล้วสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ จากที่ทำ ทร.๓๘/๑ แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนะครับ เพราะพ่อเป็นช่างทองรับทำอิสระไม่มีนายจ้าง

ปัจจุบันนี้ ทั้งพ่อและแม่ถือบัตรที่ทางหมู่บ้านออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน และที่ไม่สามารถทำบัตรสิบปีได้ ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าใครที่เคยทำ ทร.๓๘/๑ จะไม่สามารถทำบัตรดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะทำ เลยไม่ได้ทำบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน)

ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ ถือบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยได้ทำอะไรครับ ปัญหาของผมคือผมไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร เนื่องจากพ่อและแม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อทางราชการ อาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆในหมู่บ้านเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านก็รู้จักกันดีนะครับ”

โดยการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยอาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบงานให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชุบทอง พบว่า

(๑) นายวีระได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก.) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙

(๒) นายวีระถือบัตรประจำตัวที่ชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยบัตรนี้ระบุว่า นายวีระมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรดังกล่าวไม่ได้ระบุนามสกุลของนายวีระ และระบุว่า นายวีระเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ และอาศัยอยู่ ณ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บัตรนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๑

(๓) สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกบัตรประจำตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้แก่นายวีระ แต่กลับระบุว่า นายวีระมีนามสกุลว่า “ไทยใหญ่” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

(๔) นายวีระใช้นามสกุลว่า “ชุบทอง” ในการแนะนำตัวต่อสาธารณชน ซึ่งนามสกุลดังกล่าวไม่ปรากฏทั้งในบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(๕) นางสาวอารีย์ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดาและมารดาเดียวกับนายวีระ กลับได้รับการรับรองชื่อสกุล “ชุปทอง” ในการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

ด้วยเหตุดังกล่าว อาจารย์นคร ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความกังวลใจว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพวิศวกรในอนาคต และปัญหาความไร้นามสกุลในบัตรที่ออกตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะสร้างปมด้อยในชีวิตมากขึ้นแก่นายวีระ อาจารย์นครจึงขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นไปได้จากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงได้เข้าหารือเพื่อทบทวนข้อกฎหมายและข้อนโยบายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในชื่อสกุลให้แก่นายวีระ ไม่มีนามสกุล ในทะเบียนราษฎรกับ (๑) ท่านดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค และ (๒) ท่านอาจารย์วีนัส สีสุข ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร ณ ห้องประชุมกรมการปกครอง อันนำไปสู่การรับรองสิทธิในชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท.๐๓๐๙.๑/๑๑๓๖ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงนายวีระ ไม่มีนามสกุล หรือนายวีระ ชุบทอง ซึ่งการบันทึกชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ตลอดจนคนในครอบครัวทั้งหมด กล่าวคือ บิดา มารดา และน้องสาว ได้ทำในวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ อันทำให้บุคคลทั้งสี่จึงมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทยว่า มีชื่อสกุลว่า “ชุบทอง” เพื่อการแสดงตน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระนั้น นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอดได้ตรวจสอบเอกสารการศึกษาทั้งหมดของนายวีระแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวระบุวันเกิดของนายวีระไม่ตรงกันเลย จึงได้เรียกพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของนายวีระมาสอบปากคำใหม่ อันทำให้นายจำรัส กันทะวงศ์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าสายลวด ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อรับรองว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนายหน่ายโอ่ง และนางวาวา ชุบทอง

เมื่อฟังว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อาจารย์ศิวนุช สร้อยทองจึงได้จัดการให้นายวีระยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอดได้ลงนามอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร๑๔) ให้แก่นายวีระ ชุบทอง ด้วยว่า นายอำเภอดังกล่าวพิจารณาแล้วว่า เขามีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ ข้างต้น ทั้งนี้ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กระบวนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ เทศบาลตำบลท่าสายลวดจึงยังไม่อาจเพิ่มชื่อของนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เทศบาลดังกล่าวก็ยังไม่อาจออกบัตรประชาชนให้แก่นายวีระ

ในปัจจุบัน นายวีระเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว และยังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันในคณะเดียวกัน โดยทุนการศึกษาจากคณะดังกล่าว

ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า[2] นายวีระตกลงจะร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัทเพื่อรับเหมาก่อสร้างในประเทศเมียนมา กับนายสาวิตร ซึ่งเป็นเพื่อนวิศวกรธรรมศาสตร์รุ่นพี่คนหนึ่งของวีระ ซึ่งไปทำงานในประเทศเมียนมา และเห็นช่องทางที่จะทำธุรกิจก่อสร้างในประเทศดังกล่าว

นายสาวิตรเป็นคนสัญชาติไทย ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ณ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เขาสมรสตามกฎหมายกับหญิงสัญชาติเมียนมา จึงตั้งบ้านเรือนตามความเป็นจริงเพื่ออาศัยอยู่กับภริยาในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา

นายวีระและนายสาวิตรได้ตกลงกับนายหม่องละ นักธุรกิจก่อสร้างสัญชาติเมียนในการตั้งบริษัทก่อสร้างครั้งนี้ ดังต่อไปนี้ (๑) คู่สัญญาร่วมลงทุนตกลงให้นายสาวิตรและนายวีระลงทุนร้อยละ ๔๙ ในขณะที่นายหม่องละจะลงทุนเป็นร้อยละ ๕๑ (๒) คู่สัญญาร่วมลงทุนตกลงให้สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด ประเทศไทย (๓) คู่สัญญาร่วมลงทุนตกลงให้ก่อตั้งบริษัทตามกฎหมายเมียนมา (๔) คู่สัญญาร่วมลงทุนตกลงให้ใช้กฎหมายเมียนมาเป็นกฎหมายที่มีผลต่อสัญญา (๕) คู่สัญญาร่วมลงทุนตกลงให้ใช้ศาลเมียนมาระงับข้อพิพาทอันเนื่องมาจากสัญญาลงทุน (๖) คู่สัญญาตกลงที่จะให้ชื่อบริษัทนี้ว่า “บริษัท ปลาสามตัว จำกัด” และ (๗) บริษัทที่ก่อตั้งนี้จะไม่เน้นกำไร แต่เน้นการพัฒนา

--------

คำถาม[3]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า “บริษัท ปลาสามตัว จำกัด” ตามข้อเท็จจริงนี้จะมีสัญชาติของประเทศใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?

--------------

แนวคำตอบ

--------------

ประเด็นคำถามเป็นเรื่องของการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลที่มีองค์ประกอบระหว่างประเทศ กล่าวคือ ระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมา ทั้งนี้ เพราะบริษัทตามคำถามเป็นบริษัทที่ก่อตั้งสถานะบุคคลตามกฎหมายเมียนมา โดยมีผู้ถือหุ้นข้างมากที่ครอบงำบริษัทเป็นบุคคลสัญชาติเมียนมา ในขณะที่หุ้นข้างน้อยเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศเมียนมา และเป็นบุคคลไร้สัญชาติที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และโดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่สำนักงานตามตราสารจัดตั้งและสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศเมียนมา

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลย่อมจะเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของนิติบุคคล ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะเรื่องของสัญชาติของบุคคลย่อมเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน การกำหนดสิทธิและสถานะในสัญชาติ ย่อมเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ

ในการวิเคราะห์สัญชาติของบริษัท ปลาสามตัว จำกัด นั้น เราอาจจะมีข้อสรุปที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้เป็น ๕ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก อันเป็นสถานการณ์ทั่วไป บริษัท ปลาสามตัว จำกัด ย่อมมีสัญชาติเมียนมา ทั้งนี้ เพราะนิติบุคคลย่อมมีสัญชาติของรัฐเจ้าของกฎหมายที่รับก่อตั้งสภาพบุคคลของนิติบุคคลนั้นๆ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice or ICJ) เคยยืนยันในคดีที่มีชื่อว่า Barcelona Traction ใน ค.ศ.๑๙๗๐/พ.ศ.๒๕๑๓ ระหว่างเบลเยี่ยมและสเปน

สถานการณ์ที่สอง อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติในการขัดกันแห่งกฎหมายที่มีผลต่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน บริษัท ปลาสามตัว จำกัด ย่อมมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ เพราะบริษัทนี้ตกอยู่ในความขัดกันในเรื่องสัญชาติ อันทำให้ถูกถือว่า มีสัญชาติตามสำนักงานแห่งใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของนิติบุคคล สัญชาติของนิติบุคคลนั้นได้แก่สัญชาติแห่งประเทศซึ่งนิติบุคคลนั้นมีถิ่นที่สำนักงานแห่งใหญ่หรือที่ตั้งทำการแห่งใหญ่

สถานการณ์ที่สาม อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติเพื่อกำหนดสิทธิในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว บริษัท ปลาสามตัว จำกัด ย่อมถูกถือเป็น “คนต่างด้าว” ทั้งนี้ เพราะมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดว่า นิติบุคคลก่อตั้งตามกฎหมายต่างประเทศย่อมถูกถือเป็นคนต่างด้าว อันทำให้ถูกจำกัดเสรีภาพในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย แม้จะการครอบงำบริษัทตามบุคคลสัญชาติไทยก็ตาม

สถานการณ์ที่สี่ อันเป็นสถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติในภาวะที่ประเทศไทยตกอยู่ในความไม่สงบ บริษัท ปลาสามตัว จำกัด ย่อมถูกถือเป็น “คนต่างด้าว” ทั้งนี้ เพราะ อำนาจการควบคุมหรือประโยชน์ของบริษัทดังกล่าวเป็นของบุคคลสัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นผู้ลงทุนข้างมาก บริษัทนี้จึงย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวภายใต้ (๑) มาตรา ๖ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๔ (๒) มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู พ.ศ.๒๔๘๕ และ (๓) มาตรา ๓ วรรคที่ ๒ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกักคุมตัวและการควบคุมจัดกิจการหรือ ทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ.๒๔๘๘ แต่หากในวินาทีใดที่บริษัท ปลาสามตัว จำกัด ถูกควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สิน โดยคนสัญชาติไทย บริษัทนี้ก็จะไม่ถูกถือเป็นบุคคลต่างด้าว

สถานการณ์ที่ห้า ก็คือ สถานการณ์พิเศษอันเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติเพื่อการใช้สิทธิตามสนธิสัญญา บริษัท ปลาสามตัว จำกัด อาจถูกถือเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยหรือต่างด้าว ก็ได้กรณีย่อมเป็นไปตามที่กำหนดในสนธิสัญญานั้นๆ ในกรณีที่สนธิสัญญากำหนดให้ใช้ถิ่นที่จดทะเบียนก่อตั้งสภาพบุคคลเป็นตัวกำหนดสัญชาติ บริษัทนี้ก็จะมีสถานะเป็นบริษัทสัญชาติเมียนมา แต่ในกรณีที่สนธิสัญญากำหนดให้ใช้สำนักงานใหญ่ บริษัทนี้ก็จะมีสัญชาติไทย หรือในกรณีที่ใช้อำนาจในการครอบงำนิติบุคคล บริษัทนี้ก็จะมีสัญชาติเมียนมา

ขอให้สังเกตว่า ความเป็นคนไร้สัญชาติของนายวีระไม่ได้ทำให้เขาไร้สิทธิที่จะลงทุนในประเทศเมียนมา หรือประเทศใดๆ ในโลก และปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เขามีอยู่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างใดต่อธุรกิจของเขาที่มีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้น ชีวิตในทางธุรกิจของเขาก็ยังดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ

โดยสรุป บริษัท ปลาสามตัว จำกัด อาจมีสถานะเป็นคนต่างด้าวหรือคนชาติ ก็ได้ ในสถานการณ์ที่ต่างกัน


--------------------------------------------------------------

[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากการทำงานโครงการบางกอกคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับข้อมูลและขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกรณีของนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากอาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดย (๑) อาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๑) อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรัตน์ นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณทิตด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (๓) อาจารย์ปภาวดี สลักเพชร นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอด

[2] เป็นข้อเท็จจริงที่ปรุงแต่งขึ้น มิใช่เรื่องจริง แต่เป็นจินตนาการของนายวีระเอง ชื่อ “บริษัทปลาสามตัว” มาจากเรื่องเล่าของคุณพ่อหน่ายโอ่งของเขา ที่มีให้บุตรธิดาในขณะที่เยาว์วัย และเขาก็อยากที่จะใช้วิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ในการทำงานบริษัทสักหนึ่งบริษัทในที่สุด

[3] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ในการสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสอบภาคที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 599825เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2016 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2016 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท