คำนิยม หนังสือสะเต็มศึกษา : ปัญญาจากการออกแบบวิศวกรรม



คำนิยม

หนังสือ สะเต็มศึกษา : ปัญญาจากการออกแบบเชิงวิศวกรรม

วิจารณ์ พานิช

....................


ทั้งผู้เขียนหนังสือ และผู้เขียนคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ ต่างก็เอากระบวนทัศน์ที่มีรูปแบบจำเพาะ ของตนเองมาเขียน จึงย่อมเห็นต่างแหวกแนวไปจากกระบวนทัศน์ที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคย และเสี่ยงต่อการ นำเสนอกระบวนทัศน์ที่ผิด ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านด้วยวิจารณญาณ ใช้กาลามสูตรให้จงหนัก

ทั้งสาระในหนังสือ และข้อความในคำนิยม เสนอความเห็นต่าง ซึ่งในความเข้าใจของผม เป็นเครื่องมือสร้างความสนใจต่อการเรียนรู้ และเป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรมในสังคม ซึ่งในกรณีนี้ คือการสร้างนวัตกรรมด้าน สะเต็มศึกษา

สะเต็มศึกษาเป็นนวัตกรรมที่เริ่มต้น และใช้คำนี้โดยสหรัฐอเมริกา แต่ผมเข้าใจว่า ประเทศอื่นๆ ที่ได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบบูรณาการ เน้นเรียนจากการปฏิบัติหรือการทำโครงงาน ใช้แนวทางนี้มานานแล้ว

ตามความเข้าใจของผม สะเต็มศึกษา ไม่ใช่เป้าหมาย (end) แต่เป็นเครื่องมือหรือเส้นทาง (means) เพื่อบรรลุการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) สามารถปฏิบัติได้ หล่อหลอมกระบวนทัศน์เชิงระบบ และพัฒนาทักษะการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

ผมเชื่อว่า สะเต็มศึกษาที่ถูกต้อง จะไม่เพียงพัฒนาความรู้ด้าน S, M, T, และ E เท่านั้น ยังจะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะอื่นๆ ตามเป้าหมายการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ อีกด้วย เนื่องจากสะเต็มศึกษาเน้นเรียนจากการปฏิบัติ และต้องปฏิบัติเป็นทีมด้วย

ผมตีความว่า สะเต็มศึกษาที่ไม่ถูกต้อง คือการจัดรูปแบบการเรียนรู้ หรือการสอนตามรูปแบบตายตัว ให้ครูต้องกำหนดโจทย์ตามที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด ต้องดำเนินการตามขั้นตอนเท่าจำนวนที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด และต้องประเมินตามรูปแบบที่กำหนด นั่นไม่ใช่การเรียนรู้ตามรูปแบบในชีวิตจริง และเป็นแนวทางที่ไม่ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาวิธีการทำหน้าที่ scaffolding, facilitating, และ coaching ของตน

ผมจึงขอเสนอว่า วิธีการพัฒนา “ครูสะเต็ม” โดยเน้นวิธีจับมาเข้าประชุมปฏิบัติการเพื่อฝึกตามรูปแบบตายตัว ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง วิธีที่ดีกว่าคือกำหนดกรอบแนวทางการจัดการเรียนการสอน สะเต็ม ที่ดี แล้วเสาะหาครูที่ทำเช่นนั้นอยู่แล้วในระดับที่น่าพึงพอใจ เชื้อเชิญ (อย่างให้เกียรติ) มาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ร่วมกับวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยกันคิดว่า จะส่งเสริมให้เกิดครูสะเต็มที่เก่งยิ่งขึ้น และขยายจำนวนมากขึ้นเร็วหน่อย ได้อย่างไร

นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้ ครูสะเต็ม ได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมยาว ไปร่วมกิจกรรมวิจัย โดยทำโครงการวิจัยสั้นๆ และฝังตัวอยู่ในสถาบันวิจัยด้าน S, M, T, หรือ E เพราะครูสะเต็มที่เก่งต้องเข้าใจ เนื้อหาและขั้นตอนปฏิบัติการ S, M, T, และ E ในลักษณะที่มี “ความรู้มือหนึ่ง” ไม่ใช่มีแต่ “ความรู้มือสอง” ที่จดจำมาจากผู้อื่น

ควรใช้หลากหลายวิธีการประกอบกัน ในการพัฒนาครูสะเต็ม โดยควรประเมินผลของแต่ละวิธีการด้วย

อย่าลืมว่า เป้าหมายของ สะเต็มศึกษา อยู่ที่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ไม่ใช่อยู่ที่ความเก่งวิธีการของครู ตามสูตรสำเร็จของผู้เชี่ยวชาญ หากมองเช่นนี้แล้ว วิธีการจัดการ สะเต็มศึกษา น่าจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และจะสามารถพัฒนาขึ้นได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด และมีวิธีการที่ดีหลายแบบ

อย่าลืมว่า เป้าหมายของ สะเต็มศึกษา ไม่ได้อยู่ที่นักเรียนที่เรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น สังคมต้องการพลเมืองที่มี stem literacy ยกระดับขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบการศึกษาจึงต้องรับผิดชอบการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่าลืมว่า เป้าหมายของ สะเต็มศึกษา ไม่ได้อยู่ที่การฝึกเด็กเก่งจำนวนน้อย ให้ไปแข่งขันชิงรางวัล เพื่อสร้างชื่อเสียง (ปลอมๆ) ให้แก่โรงเรียนเท่านั้น แต่เราต้องการให้เด็กทั้งชั้น และทุกห้องเรียน ได้บรรลุการเรียนแบบรู้จริง (mastery learning) สะเต็มศึกษา ต้องเน้นเป้าหมายนี้

สะเต็มศึกษา เป็นการเรียนที่ซับซ้อนยิ่งนัก ซับซ้อนทั้งตัวกระบวนการเรียนรู้ และซับซ้อนในสิ่งที่เรียนรู้ และพัฒนาขึ้นในตัวผู้เรียน ในสภาพของความซับซ้อนนี้ ถูกผิดไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือตัวกระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน จนตัวผู้เรียนบรรลุผลตามเป้าหมายของการเรียน ที่ซับซ้อนนั้น

สะเต็มศึกษา เน้นที่การเรียนโดยการปฏิบัติ พึงตระหนักว่า การปฏิบัติได้รับผลสำเร็จ มีชิ้นงานที่น่าชื่นชม แต่ผู้เรียนอาจเรียนรู้ S, M, T, และ E เพียงผิวเผิน (superficial learning) เท่านั้นก็เป็นได้ การเรียน สะเต็มศึกษา จึงต้องลงท้ายด้วยการที่ครูชวนศิษย์ไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection, AAR) ร่วมกัน ว่าตนได้เรียนรู้ทฤษฎีและทักษะอะไรบ้าง จากการทำผลงานชิ้นนั้น และครูประเมินว่า ศิษย์บรรลุผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายในระดับรู้จริง (mastery learning) หรือไม่

เราต้องการ Growth Mindset ทั้งของผู้รับผิดชอบส่งเสริมสะเต็มศึกษา ของครูสะเต็ม และของนักเรียน สะเต็มศึกษาของไทยจึงจะพัฒนาได้อย่างแท้จริง Growth Mindset หมายถึงความเชื่อในพลังของการพากเพียร เรียนรู้ต่อเนื่องไม่ท้อถอย ไม่หยุดนิ่ง เป็นหลัก ไม่ใช่เชื่อในพลังของความสำเร็จ หรือสูตรสำเร็จ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เป็นหลัก ผมจึงขอตั้งความหวังว่าวงการสะเต็มศึกษาไทย และวงการศึกษาในระบบใหญ่ของไทย จะสมาทาน Growth Mindset ไม่ใช่ Fixed Mindset

การที่ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ มีความเพียรเขียนหนังสือ สะเต็มศึกษา เล่มที่ ๒ ออกมา เพื่ออธิบาย “ปัญญาที่เกิดจากการออกแบบเชิงวิศวกรรม” จากประสบการณ์ตรงของตนเอง จึงเป็นการส่งเสริม Growth Mindset ให้แก่วงการสะเต็มศึกษาไทย และผมขอขอบคุณท่านผู้เขียนแทนสังคมไทย ในกุศลเจตนาและกุศลกรรมนี้



วิจารณ์ พานิช

๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 599831เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2016 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2016 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท