Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

​วีระ ชุบทอง ยังไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่อีกหรือ ? เพราะอะไร ?


กรณีศึกษานายวีระ ชุบทอง : เขายังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะดังกล่าวมาขอคำปรึกษากฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวีระอธิบายปัญหาของตนเองดังต่อไปนี้

“พ่อผมเป็นคนไทยใหญ่ครับ ส่วนแม่ผมเป็นคนมอญ ทั้งคู่เกิดในประเทศพม่า โดยพ่อเกิดในรัฐฉาน แม่เองก็เกิดในรัฐมอญ ทั้งคู่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ตัวผมเองเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเกิดที่บ้านกับหมอตำแย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่ได้แจ้งเกิดด้วย มีเพียงฉีดวัคซีนที่อนามัยหลังจากเกิดเท่านั้น

พ่อกับแม่เข้ามาประเทศไทยแบบไม่ถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หรืออาจก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตั้งแต่เข้ามาพ่อก็อาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่สอดเลย ไม่ได้เดินทางออกนอกเขต หลายปีต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดถึงทุกวันนี้และตอนนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ถือบัตรอะไรที่ทางราชการออกให้ครับ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เคยทำ ทร.๓๘/๑ ทั้งคู่ คิดว่าทำแล้วสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ จากที่ทำ ทร.๓๘/๑ แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนะครับ เพราะพ่อเป็นช่างทองรับทำอิสระไม่มีนายจ้าง

ปัจจุบันนี้ ทั้งพ่อและแม่ถือบัตรที่ทางหมู่บ้านออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน และที่ไม่สามารถทำบัตรสิบปีได้ ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าใครที่เคยทำ ทร.๓๘/๑ จะไม่สามารถทำบัตรดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะทำ เลยไม่ได้ทำบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน)

ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ ถือบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยได้ทำอะไรครับ ปัญหาของผมคือผมไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร เนื่องจากพ่อและแม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อทางราชการ อาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆในหมู่บ้านเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านก็รู้จักกันดีนะครับ”

โดยการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยอาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบงานให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชุบทอง พบว่า

(๑) นายวีระได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก.) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙

(๒) นายวีระถือบัตรประจำตัวที่ชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยบัตรนี้ระบุว่า นายวีระมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรดังกล่าวไม่ได้ระบุนามสกุลของนายวีระ และระบุว่า นายวีระเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ และอาศัยอยู่ ณ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บัตรนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๑

(๓) สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกบัตรประจำตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้แก่นายวีระ แต่กลับระบุว่า นายวีระมีนามสกุลว่า “ไทยใหญ่” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

(๔) นายวีระใช้นามสกุลว่า “ชุบทอง” ในการแนะนำตัวต่อสาธารณชน ซึ่งนามสกุลดังกล่าวไม่ปรากฏทั้งในบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(๕) นางสาวอารีย์ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดาและมารดาเดียวกับนายวีระ กลับได้รับการรับรองชื่อสกุล “ชุปทอง” ในการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

ด้วยเหตุดังกล่าว อาจารย์นคร ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความกังวลใจว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพวิศวกรในอนาคต และปัญหาความไร้นามสกุลในบัตรที่ออกตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะสร้างปมด้อยในชีวิตมากขึ้นแก่นายวีระ อาจารย์นครจึงขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นไปได้จากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงได้เข้าหารือเพื่อทบทวนข้อกฎหมายและข้อนโยบายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในชื่อสกุลให้แก่นายวีระ ไม่มีนามสกุล ในทะเบียนราษฎรกับ (๑) ท่านดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค และ (๒) ท่านอาจารย์วีนัส สีสุข ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร ณ ห้องประชุมกรมการปกครอง อันนำไปสู่การรับรองสิทธิในชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท.๐๓๐๙.๑/๑๑๓๖ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงนายวีระ ไม่มีนามสกุล หรือนายวีระ ชุบทอง ซึ่งการบันทึกชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ตลอดจนคนในครอบครัวทั้งหมด กล่าวคือ บิดา มารดา และน้องสาว ได้ทำในวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ อันทำให้บุคคลทั้งสี่จึงมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทยว่า มีชื่อสกุลว่า “ชุบทอง” เพื่อการแสดงตน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระนั้น นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอดได้ตรวจสอบเอกสารการศึกษาทั้งหมดของนายวีระแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวระบุวันเกิดของนายวีระไม่ตรงกันเลย จึงได้เรียกพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของนายวีระมาสอบปากคำใหม่ อันทำให้นายจำรัส กันทะวงศ์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าสายลวด ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อรับรองว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนายหน่ายโอ่ง และนางวาวา ชุบทอง

เมื่อฟังว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อาจารย์ศิวนุช สร้อยทองจึงได้จัดการให้นายวีระยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอดได้ลงนามอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร๑๔) ให้แก่นายวีระ ชุบทอง ด้วยว่า นายอำเภอดังกล่าวพิจารณาแล้วว่า เขามีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ ข้างต้น ทั้งนี้ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กระบวนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ เทศบาลตำบลท่าสายลวดจึงยังไม่อาจเพิ่มชื่อของนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เทศบาลดังกล่าวก็ยังไม่อาจออกบัตรประชาชนให้แก่นายวีระ

ในปัจจุบัน นายวีระเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว และยังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันในคณะเดียวกัน โดยทุนการศึกษาจากคณะดังกล่าว

--------

คำถาม[2]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นายวีระ ชุบทองยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

--------------

แนวคำตอบ

--------------

มีคำตอบสำหรับคำถามในข้อนี้ ๒ ประเด็น กล่าวคือ (๑) นายวีระมีสถานะเป็นคนไร้รัฐหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? (๒) นายวีระมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติหรือไม่ ? และ (๓) การจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายวีระจะต้องทำอย่างไร ?

(๑) นายวีระมีสถานะเป็นคนไร้รัฐ (Stateless Persons) หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล “คนไร้รัฐ (Stateless Person)” ก็คือ คนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก อันทำให้คนดังกล่าวตกเป็น “คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ทั้งนี้ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมจะต้องได้รับการรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดและหรือรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีทั้งสอง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมได้รับการบันทึกทั้งในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็น “คนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล” อันทำให้นายทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่คนดังกล่าว คนในสถานการณ์นี้ย่อมมีสถานะเป็นคนที่ “มี” เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Documented Person) คนในสถานการณ์นี้จึงไม่ประสบทั้งปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร แต่ในทางตรงกันข้าม หากคนดังกล่าวไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก พวกเขาก็จะมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐ” อันทำให้ตกเป็นคนที่ “ไม่มี” เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person) เพราะไม่ปรากฏตัวนายทะเบียนราษฎรของรัฐเพื่อออกเอกสารรับรองตัวบุคคล

โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงของนายวีระ จะเห็นว่า ก่อนการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก.) ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ นายวีระก็น่าจะมีสถานะเป็น “คนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง” แต่เมื่อเขาได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภทนี้แล้ว เขาก็จะไม่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐอีกต่อไป เพราะการบันทึกในทะเบียนประวัตินี้โดยเทศบาลท่าสายลวดย่อมหมายความได้ว่า รัฐไทยได้ยอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเขาแล้ว เขาย่อมมีสถานะเป็นราษฎรไทย และมีสิทธิในเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย ในที่นี้ ก็คือ สำเนาทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ข.) และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒[3] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

จึงสรุปได้ว่า ความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของนายวีระย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ และเข้าสู่สถานะของ “คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ” ในทะเบียนราษฎรไทย หรือเป็น “ราษฎรไทยประเภทคนไร้สัญชาติ”

(๒) นายวีระมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ (Nationality - less Persons) หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นคนที่มีรัฐหรือคนที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็ไม่หมายความว่า คนในสถานการณ์นี้จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ โดยรัฐใดรัฐหนึ่งเสมอไป พวกเขาอาจจะมีสถานะเป็น “คนมีรัฐมีสัญชาติ” หรือ “คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ” ก็เป็นได้

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของนายวีระ เราอาจจำแนกสภาวะความเป็นคนไร้สัญชาติของนายวีระออกเป็น ๓ ช่วงเวลา กล่าวคือ

ในช่วงเวลาแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายวีระประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งเป็นวันที่นายวีระเกิด จนถึงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่นายวีระจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

เราพบว่า ในขณะที่เกิด นายวีระก็จะมีสถานะเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของทุกรัฐบนโลก เขาจึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติไปด้วย คือ ไร้เอกสารเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคลตั้งแต่เกิด เนื่องจากเกิดนอกโรงพยาบาล และไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล เนื่องจากไม่ได้รับการแจ้งเกิดทั้งในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิด หรือในทะเบียนราษฎรของประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดของนายหน่ายโอ่ง ผู้เป็นบิดา และของนางวาวา ผู้เป็นมารดา

สภาวะดังกล่าวปรากฏอยู่กับนายวีระตั้งแต่เกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ จนถึงวันที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ รวมเป็นเวลา ๑๕ ปีที่เขาตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวนี้

ในช่วงเวลาที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายวีระมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐไทยเป็นเจ้าของตัวบุคคล แต่ยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ เพราะรัฐเจ้าของตัวบุคคลยังไม่รับรองจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงอันก่อตั้งสิทธิในสัญชาติโดยการเกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งเป็นวันที่นายวีระจะได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จนถึงวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่นายอำเภอแม่สอดอนุมัติการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของนายวีระในช่วงเวลานี้ แม้เขาจะรับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ และได้รับการออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้ถือเพื่อแสดงตนในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เขาก็ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย ทั้งที่มีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของความเป็นคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เขาจึงได้รับการขจัดปัญหาความไร้รัฐเท่านั้น แต่ยังไม่ได้รับการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติ และยังมิได้รับการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยที่มีอยู่ จึงยังตกเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ เขาจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

ปรากฏการณ์ที่สำคัญในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระในช่วงเวลาที่สองนี้ ก็คือ (๑) การยอมรับรองการเกิดในประเทศไทยของนายวีระ โดยอำเภอแม่สอดและเทศบาลท่าสายลวดโดยหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการรับรองจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงระหว่างรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิด และนายวีระ ซึ่งเป็นคน/มนุษย์ที่เกิดในประเทศไทย และ (๒) การยอมรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

โดยสรุป สภาวะความเป็นคนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง จึงปรากฏชัดเจน จนทำให้กรมการปกครองไทย ซึ่งทำหน้าที่สำนักทะเบียนกลางตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงมีหน้าที่ที่จะกำหนดเลขประจำตัวประชาชนสัญชาติไทยให้แก่นายวีระโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ เพื่อความเป็นไปได้ทางเทคนิคที่จะบันทึกชื่อนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๓๖ วรรคแรก[4] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ และการออกบัตรประชาชนเพื่อแสดงสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕ วรรคแรก[5] แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔

โดยสรุป สภาวะไร้สัญชาติเพราะยังกำหนดจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยและนายวีระไม่ได้นี้จึงปรากฏอยู่กับนายวีระตั้งแต่เกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ หรือวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ รวมเป็นเวลา ๙ ปีที่เขาตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวนี้

ในช่วงเวลาที่สาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายวีระมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐไทยเป็นเจ้าของตัวบุคคล และรัฐนี้รับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดแล้ว แต่กระบวนการบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันที่นายอำเภอแม่สอดอนุมัติการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรไทย จนถึงวันที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของนายวีระ เราอาจสรุปได้ว่า ในปัจจุบัน เขายังมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติโดยข้อเท็จจริง (De facto Nationality – less Person) กล่าวคือ เป็นที่ชัดเจนว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของเขานั้นเกิดขึ้น เพราะข้อเท็จจริงอันก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นไม่ได้รับการรับรองจากรัฐเจ้าของสัญชาติ ปัญหามิได้อยู่ที่ความขาดไปของข้อกฎหมายหรือข้อนโยบาย

ในช่วงเวลานี้ นายวีระเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองความมีสิทธิในสัญชาติไทยแล้วตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เพียงแต่กระบวนการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ จึงกล่าวชัดๆ ว่า เขาได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎฆมายสัญชาติไทยในสถานะคนสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมิได้รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย เขายังเข้าไม่ถึง (๑) สิทธิในเลขประจำตัวในสถานะคนสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๖ วรรคแรก[6] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ และสิทธิในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรตามมาตรา ๓๖วรรคแรก[7] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ขอให้ตระหนักว่า ในวันที่นายวีระเข้าถึงสิทธิทั้งสองนี้อย่างครบถ้วนแล้ว เขาก็จะพ้นจากสถานะคนไร้สัญชาติ กลับเป็นคนมีสัญชาติ หรือกล่าวให้ชัดเจน ก็คือ เป็นคนที่รัฐไทยยอมรับเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติโดยหลักดินแดนโดยการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเอง เขาจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทยโดยการเกิด อันทำให้มีเอกสารรับรองตัวบุคคลในสถานะดังกล่าว เพื่อการใช้สิทธิอื่นๆ ต่อไป

(๓.) การจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายวีระจะต้องทำอย่างไร ?

การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อนายวีระย่อมจะต้องทำใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปเพื่อนายวีระ โดยกรมกรปกครองไทย และ (๒) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์เฉพาะเรื่องเพื่อนายวีระ โดยส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓.๑.) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปเพื่อนายวีระ โดยกรมการปกครองไทย

โดยพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่เกี่ยวข้อง กระบวนการต่อไปจึงเป็นหน้าที่ที่เคร่งครัดของกรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่สำนักทะเบียนกลางในการบันทึกคนอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ที่จะต้องมีการกระทำของรัฐใน ๓ ประการที่สำคัญ

ในประการแรก การกำหนดเลขประจำตัวในสถานะคนสัญชาติไทยตามมาตรา ๑๖ วรรคแรก[8] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ให้แก่นายวีระ โดยไม่ล่าช้า และโดยไม่ผิดพลาด

ในประการที่สอง การบันทึกชื่อนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๓๖[9] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ โดยไม่ล่าช้า และโดยไม่ผิดพลาด

ในประการที่สาม การออกบัตรประชาชนเพื่อแสดงสถานะคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕ วรรคแรก[10] แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔

จะเห็นว่า ด้วยสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในทั้ง ๓ ลักษณะนี้ จะทำให้นายวีระพ้นจากข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าวตามมาตรา ๕๗ วรรคแรก[11] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

(๓.๒.) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์เฉพาะเรื่องเพื่อนายวีระ โดยส่วนราชการอื่นของรัฐไทย

โดยพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของคนที่มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎร เราพบว่า มีหลายส่วนราชการที่ต้องเข้ารับรองสิทธิและหน้าที่ให้แก่นายวีระ อาทิ (๑) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา ๕ วรรคแรก[12] แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ หรือ (๒) กระทรวงการโหมจะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงหน้าที่ของนายวีระในการรับราชการทหารตามมาตรา ๗[13] แห่ง พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือ (๓) ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งจะต้องเข้ารับรองสถานะของผู้ทรงสิทธิในการเข้าร่วมทางการเลือกทางการเมืองให้แก่นายวีระ ทั้งนี้ ย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยซึ่งไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นต้น

--------------------------------------------------------------

[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากการทำงานโครงการบางกอกคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับข้อมูลและขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกรณีของนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากอาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดย (๑) อาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๑) อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรัตน์ นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณทิตด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (๓) อาจารย์ปภาวดี สลักเพชร นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอด

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ในการสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสอบภาคที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดรายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน”

[7] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

[8] ซึ่งบัญญัติว่า “ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน”

[9] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร”

[10] ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”

[11] ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย”

[12] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้” ประกอบกับบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง กำรเป็นหน่วยงานร่วมจัดระบบหลักประกันสุขภำพของคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยตามเรื่องเสร็จที่ ๑๔๔๙/๒๕๕๖ ซึ่งเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) อันได้แก่ (๑) นายสวัสดิ์ โชติพำนิช ประธานกรรมการ (๒) นายวิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์ กรรมการ (๓) นายวิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ กรรมการ (๔) นายสุประดิษฐ์ หุตะสิงห์ กรรมการ (๕) นายสมชาย พงษธา กรรมการ (๖) นางจริยา เจียมวิจิตร กรรมการ (๗) พลเอกพิชิต ยูวะนิยม กรรมการ (๘) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการ และ (๙) นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ กรรมการ เพื่อพิจารณาเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ รายงานว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นทางกฎหมายว่า “บุคคลที่มีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงหมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยไม่ได้หมายถึงบุคคลสัญชาติอื่นที่พำนักอยู่หรือพักอาศัยอยู่หรือเข้ามาในประเทศไทยด้วยแต่อย่างใด ซึ่งปัญหานี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในเรื่องเสร็จที่ ๒๒๔/๒๕๕๕”

http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2556&lawPath=c2_1449_2556

[13] ซึ่งบัญญัติว่า “ชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย มีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน”

หมายเลขบันทึก: 599748เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2016 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2016 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท