​ดูสิว่า..เราธาตุเจ้าเรือนแบบไหนกินอาหารอย่างไร


ดูสิว่า..เราธาตุเจ้าเรือนแบบไหนควรกินอาหารอย่างไร

อาจารย์สุภัชชา พันเลิศพาณิชย์


ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยกล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ซึ่งมี ๒ ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือน เกิดซึ่งจะเป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด คือเมื่อธาตุทั้ ๔ สมดุล บุคคลจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หากขาดความสมดุลก็จะเกิดความเจ็บป่วย

ธาตุดินเจ้าเรือน

ผู้ที่เกิดเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม จะมีธาตุดินเป็นเจ้าเรือน มักเจ็บป่วยด้วยโรคของอวัยวะโครงสร้างหลักของร่างกายเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ริดสีดวงทวาร เป็นต้น ควรรับประทานอาหารรสฝาด หวาน มัน เค็ม เช่น มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่างๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย เกลือ น้ำฟักทอง น้ำแตงโม น้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว น้ำแห้ว เป็นต้น

ธาตุน้ำเจ้าเรือน

ผู้ที่เกิดเดือน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน จะมีธาตุน้ำเป็นเจ้าเรือน มักเจ็บป่วยด้วยโรคทางระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบขับถ่ายปัสสาวะ ควรรับประทานอาหารรสเปรี้ยว รสขม เช่น มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะระ สะเดา น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ น้ำระกำ น้ำสับปะรด เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มี รสมันจัด

ธาตุลมเจ้าเรือน

ผู้ที่เกิดเดือน เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน จะมีธาตุลมเป็นเจ้าเรือน มักเจ็บป่วยด้วยอาการของระบบประสาท การไหลเวียนเลือด อารมณ์และ จิตใจ เช่น วิงเวียน หน้ามืด อ่อนเพลีย ไม่มีแรงเป็นต้น ควรรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะเพรา น้ำขิง น้ำตะไคร่ น้ำมะตูม เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยง อาหารรสหวานจัด

ที่มา : วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๕๖

ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วนประกอบของร่างกาย

ธาตุดินคือ องค์ประกอบที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความคงรูป ได้แก่ อวัยวะต่าง ๆ
ธาตุน้ำคือ องค์ประกอบที่มีลักษณะเป็นของเหลว เช่น น้ำต่าง ๆ
ธาตุลมเป็นสิ่งที่มีพลัง ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว เช่น ลมหายใจเข้า-ออก
ธาตุไฟมีลักษณะเป็นความร้อน คุณสมบัติก็คือเผาผลาญ ทำให้ลมและน้ำเคลื่อนที่ด้วยพลังความร้อนพอเหมาะ
ฤดูกาล

มีผลทำให้ร่างกายเราแปรปรวน ต้องปรับตัวให้เข้ากับฤดูที่เปลี่ยนไป ฤดูร้อนจะเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ ฤดูฝนเจ็บป่วยด้วยธาตุลม ฤดูหนาวเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ
อายุที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเปลี่ยนตามอายุ 3 วัย คือ
ปฐมวัย(อายุ 1-16 ปี) เจ็บป่วยด้วยโรคทางธาตุน้ำ
มัชฌิมวัย(อายุ 16-32 ปี) เจ็บป่วยด้วยโรคธาตุไฟ
ปัจฉิมวัย(อายุ 32 ปีขึ้นไป) เจ็บป่วยด้วยโรคทางธาตุ

ประเทศร้อน- สถานที่ที่เป็นภูเขาสูง เนินผา มักเจ็บป่วยด้วยธาตุไฟ
ประเทศเย็น- สถานที่ที่ฝนชุก โคลนตม มักเจ็บป่วยด้วยธาตุลม
ประเทศอุ่น- สถานที่ที่เป็นน้ำฝน กรวดทราย เก็บน้ำไม่อยู่ มักเจ็บป่วยด้วยธาตุน้ำ
ประเทศหนาว- สถานที่ที่เป็นโคลนตม ชื้นแฉะ น้ำเค็ม เช่น ชายทะเล มักเจ็บป่วย ด้วยธาตุดิน
แพทย์แผนไทยจะให้ปรับตัวเข้ากับสภาวะ ด้วยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดโรค เช่น กินอาหารมากหรือน้อยไป กินไม่ถูกกับธาตุหรือโรค นั่ง ยืน เดิน นอน ไม่สมดุล อากาศไม่สะอาด ฝืนธรรมชาติเช่น อดอาหาร อดนอน กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ ทำงานหนักเกินกำลัง มีกิจกรรมทางเพศมากไป โศกเศร้าเสียใจ หรือดีใจเกินไป มีโทสะมากไป ขาดสติ



“ธาตุประจำตัว” หรือเรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน”
แต่ละคนจะมี “ธาตุประจำตัว” หรือเรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ “ธาตุเจ้าเรือนเกิด” หมายถึงเป็นไปตามวันเดือนปีเกิด และ “ธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน” ที่พิจารณาจากบุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และภาวะด้านสุขภาพว่าสอดคล้องกับลักษณะบุคคลธาตุเจ้าเรือนอะไร โดยสมัยโบราณจะใช้รสชาติอาหารเป็นยารักษาโรค

ธาตุดินเป็นธาตุประจำตัวของคนที่เกิดเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ลักษณะของคนธาตุดินนั้นจะมีร่างกายแข็งแรง และกล้ามเนื้อแข็งแรง
คนธาตุดินควรรับประทานอาหารที่มีรสฝาด ซึ่งจะช่วยสมานปิดธาตุ รสหวาน ซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้ชุ่มชื่นบำรุงกำลัง หากรับประทานมากเกินไปทำให้กำเริบ ง่วงนอน เกียจคร้าน รสมัน แก้เส้นเอ็นพิการ แวดเสียว ขัดยอด กระตุก และ รสเค็ม ซึมซาบไปตามผิวหนัง ประดง ชา คันถ้ามากไปทำให้ร้อนใน กระหาย
ผลไม้ที่ควรรับประทาน เช่น ฝรั่งดิบ หัวปลี กล้วย มะละกอ เผือก มัน ถั่วพู กะหล่ำปลี ผักกะเฉด มังคุด ฝรั่ง ฟักทอง เผือก ถั่วต่างๆ เงาะ หัวมันเทศ ส่วนผักพื้นบ้าน เช่น ผักกระโดน กล้วยดิบ ยอดมะม่วงหินมพานต์ ยอดมะยม สมอไทย กระถินไทย กระโดนบก กระโดนน้ำ ผักหวาน ขุ่นอ่อน สะตอ ผักโขม โสน ขจร ยอดฟักทอง ผักเซียงดา ลูกเหนียงนก บวบเหลี่ยม บวบงู และบวบหอม
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรรับประทานคือ ผักกูดผัดน้ำมันงา คั่วขนุน สะตอผัดกุ้ง ผัดสายบัว แกงมะระ เต้าส่วน วุ้นกะทิ กล้วยบวดชี แกงบวดฟักทอง ตะโก้เผือก น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำตาลสด น้ำมะตูม นมถั่วเหลือง น้ำแคนตาลูป น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำลูกเดือย น้ำข้าวโพด น้ำแห้ว น้ำฟักทอง
เกร็ดน่ารู้ : ผู้มีธาตุเจ้าเรือน ธาตุดินมักไม่ค่อยเจ็บป่วย เพราะธาตุดินเป็นที่ตั้งกองธาตุ

ธาตุน้ำเป็นธาตุประจำตัวของคนที่เกิดเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ลักษณะของคนธาตุน้ำมักมีรูปร่างสมส่วน ท้วมถึงอ้วน ผิวพรรณสดใส เต่งตึง ตาหวาน น้ำตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำ กินช้ำทำอะไรช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดี เสียงโปร่ง มีลูกดก หรือมีความรู้สึกทางเพศดีแต่มักเฉื่อย และค่อนข้างเกียจคร้าน
คนธาตุน้ำควรรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ช่วยแก้เสมหะ กัดฟอกเสมหะ กระตุ้นน้ำลายช่วยให้เจริญอาหาร แต่หากรับประทานมาก ทำให้ท้องอืด แสลงแผลร้อนใน
ผักและผลไม้ที่ควรรับประทาน เช่น มะเขือเทศ ส้มโอ สับปะรด มะนาว ส้มเขียวหวาน ยอดมะขามอ่อน มะยม มะกอก มะดัน กระท้อน ผักพื้นที่บ้าน เช่น ขี้เหล็ก มะอึก แคบ้าน ชะมวง ผักติ้ว ยอดมะกอก ยอดมะขาม มะเขือเครือ สะเดาบ้าน มะระขี้นก มะระจีน มะแว้ง ใบยอ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ รสมันจัด
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรรับประทานคือ แกงขี้เหล็กปลาย่าง แกงส้มดอกแค แกงอ่อมมะระขี้นก ผัดมะระใส่ไข่ ห่อหมกใบยอ แกงป่าสะเดาใส่ปลาหมอ ต้มโคล้งยอดมะขาม ใบยอผัดน้ำมันหอย มะยมเชื่อม สับปะรดกวน กะท้อนลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน มะม่วงกวน น้ำมะนาว น้ำใบบัวบก น้ำมะเขือเทศ น้ำมะขาม น้ำสับปะรด น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะเฟือง
เกร็ดน่ารู้ : ผู้มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุน้ำ ในช่วงอายุแรกเกิด-16 ปี มักจะอาการเป็นหวัดคัดจมูก ตาแฉะ ในฤดูหนาว จะเจ็บป่วยง่ายเพราะธาตุน้ำกำเริบ

ธาตุลมเป็นธาตุประจำตัวของคนที่เกิดเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน คนธาตุลม มักมีรูปร่างโปร่ง ไม่อ้วน ผิวหนังแห้ง รูปร่างโปร่งผอม ผมบาง ข้อกระดูกมักลั่นเมื่อเคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่ายหน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัด มีลูกไม่ดก หรือความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
คนธาตุลมควรรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน จะช่วยแก้โรคในกองลม อาทิ ลมจุกเสียด ปวดท้องลมป่วง แต่ต้องระวังด้วยเพราะหากรับประทานมากไปจะทำให้อ่อนเพลีย
ผักและผลไม้ที่ควรรับประทาน ได้แก่ ชมพู่ แตงโม แตงไทย ผักพื้นบ้าน ได้แก่ ใบชะพลู ขมิ้นขาว ใบสะระแหน่ ใบแมงลัก ใบโหระพา ขิง ข่า ตะไคร้
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรรับประทานคือ แกงเผ็ดปลาดุกย่าง ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงหอยขมใส่ใบชะพลู สมอไทยจิ้มน้ำพริก บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย เต้าทึง มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง เมี่ยงคำ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำข่า น้ำกานพลู
เกร็ดน่ารู้ : ผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุลม ในช่วงอายุ 32 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลมง่าย ในฤดูฝน จะเจ็บป่วยง่าย เพราะธาตุลมกำเริบ



หมายเลขบันทึก: 599499เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2016 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2016 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท