องค์ประกอบของโครงงานที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ชิ้นงาน


โครงงานมีหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงในประเด็นหรือหัวข้อที่นักเรียนสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดในการผลิตผลงาน และแสดงต่อสาธารณชน โดยนักเรียนต้องเป็นผู้ลงมือปฏิบัติโครงงานด้วยตนเองโดยการอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้ เพื่อสร้างชิ้นงานที่มีความหมายต่อตนเอง ซึ่งมี 7 องค์ประกอบ (คเชนทร์ กองพิลา, 2558) ดังนี้

1)การกำหนดเป้าหมาย เป็นการวางกรอบหรือความคิดรวบยอดในการทำโครงงานด้วยการกำหนดเป้าหมายหลัก(Goal) วัตถุประสงค์ และเลือกเนื้อหาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ อีกทั้งยังส่งผลต่อความสำเร็จในการทำโครงงาน และผู้เรียนสามารถควบคุมและเลือกเนื้อหาตามที่ต้องการและสนใจได้ด้วยตนเอง

2) การใช้แหล่งเรียนรู้หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความหมายต่อผู้เรียนบนพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกันในลักษณะของการนำสารสนเทศที่จัดเก็บไว้ออกมาใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การค้นหาสารสนเทศจากฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยใช้โปรแกรมการค้นหา(Search Engine) สารบบเว็บ(Web Directory) และการค้นหาจากโปรแกรมค้นหา(Meta Search Engine)การติดต่อสื่อสารผ่านเว็บ(Web)และเครื่องมือต่างๆบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงแหล่งสารสนเทศปฐมภูมิที่มาจากเจ้าของข้อมูลโดยตรงหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกับสารสนเทศนั้นๆ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นมัลติมีเดียด้วย และการสร้างสรรค์ชิ้นงานซึ่งถือเป็นการนำไอซีทีมาใช้เพื่อการจัดการเรียนรู้ตามแนว Constructivism และ Constructionism ให้สมบูรณ์ โดยอาศัยกลวิธีในการบูรณาการไอซีทีในการเรียนการสอน คือ ใช้ในการศึกษาค้นคว้า รวบรวมสารสนเทศและการวิเคราะห์ สนทนากับผู้เชี่ยวชาญ เป็นติวเตอร์หรือผู้สอนให้กับตัวเอง เผยแพร่ผลงาน อภิปรายหรือการแสดงความคิดเห็น ร่วมมือกันในการทำโครงงานโดยใช้ทรัพยากรจากเว็บ(Web) ฝึกทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างมีจุดมุ่งหมาย และผสมผสานเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอน

3) การกำกับ ควบคุมตนเอง เป็นการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเองภายใต้คุณสมบัติของสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้วิจัยได้ออกแบบไว้ โดยให้นักเรียนมีโอกาสในการตัดสินใจและเป็นผู้ริเริ่มตลอดการทำโครงงาน ตั้งแต่การตัดสินใจเลือกหัวข้อ การออกแบบ การผลิต และการนำเสนอ ซึ่งในระหว่างการดำเนินกิจกรรมจึงควรมีการให้การป้อนกลับเพื่อช่วยในการคิดไตร่ตรองและปรับปรุงโครงงาน การบันทึกการตัดสินใจของนักเรียน การปรับปรุง และการิเริ่มของนักเรียน ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณค่าสำหรับการประเมินงานและความก้าวหน้าของผู้เรียน

4)บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องและการมีส่วนร่วม เป็นปัจจัยและความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งโรงเรียน บ้าน ชุมชน โดยเฉพาะครูที่ปรึกษาและตัวนักเรียนเองต้องร่วมมือกันเรียนรู้ทั้งระหว่างนักเรียนกับนักเรียน นักเรียนกับครู และนักเรียนกับชุมชนต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้โอกาสนักเรียนได้เรียนรู้ทักษะความร่วมมือ การตัดสินใจของกลุ่ม การมีส่วนร่วมในงานที่ทำ การบูรณาการข้อคิดเห็นของเพื่อนและผู้ให้คำแนะนำ การให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน

5)การเชื่อมกับโลกที่เป็นจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการดำเนินกิจกรรมโครงงาน ในหัวข้อหรือประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่ ซึ่งอาจใช้วิธีการที่เหมือนกับการใช้ในงานในชีวิตประจำวันนั้นจริงๆหรือปฏิบัติอยู่จริง โดยการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกห้องเรียน ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการร่วมมือกับชุมชนและครูที่ให้คำปรึกษา

6) กรอบเวลาในการทำโครงงาน เป็นการกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำโครงงานที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสในการวางแผน ปรับปรุง และพินิจพิจารณาไตร่ตรองการเรียนรู้ของนักเรียน

7)การประเมินผลโครงงาน เป็นการตรวจสอบ ทบทวนข้อค้นพบประเด็นคำตอบเพื่อการตัดสินใจ โดยการประเมินควรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง หลากหลายและบ่อยครั้ง ทั้งครูประเมิน เพื่อนประเมิน ประเมินตนเอง และการป้อนกลับความคิดเห็น ทุกครั้งที่มีการประเมินควรมีจุดมุ่งหมายและให้โอกาสนักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมิน

หมายเลขบันทึก: 599447เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2016 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2016 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท