วันเด็กแห่งชาติ : ว่าด้วยวันเด็กในรั้ว "อุดมศึกษา"


“ของที่นำมาแจก” ผมก็ตั้งประเด็นเหมือนกันว่าควรเป็นข้าวของเชิงคุณภาพ มิใช่เอะอะลูกอม ขนมกรุบกรอบที่ไม่มีผลดีต่อระบบสุขภาพของเด็กๆ ครับ-ในอดีตที่ผมเคยดูแล ผมย้ำเรื่องนี้มาก กิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องแสดงความเป็นสถาบันอุดมศึกษาอยู่มิใช่ย่อย แต่ละองค์กรต้องมีความเป็นวิชาการ-วิชาชีพของตนเอง ไม่ใช่เอาง่ายเข้าว่า-ง่ายในที่นี้หมายถึงแจกขนมนมเนยเอาสนุก จนไม่คิดว่ากิจกรรมอะไรที่พอจะหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้บ้าง

ก่อนวันเด็กแห่งชาติจะเริ่มต้นในวันนี้ (วันที่ 9 มกราคม 2559) กองกิจการนิสิต ร่วมกับองค์การนิสิต มีเวทีประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกันอย่างเป็นทางการ – อย่างเป็นทางการในที่นี่ คือ องค์การนิสิตมาร่วมประชุม 2 คน ขณะที่กองกิจการนิสิต มาร่วมประชุมเป็น 10 คน !

โดยธรรมเนียมนิยม-ก่อนประชุมเวทีนี้ องค์การนิสิตกับสโมสรนิสิต สภานิสิตและชมรมต่างๆ จะประชุมหารือวางกรอบแนวคิด แนวปฏิบัติร่วมกันมาแล้วอย่างน้อยก็ (ควร) 1 ครั้งในช่วงก่อนปิดเทศกาลส่งท้ายปีเก่า เพราะกลับมาหลังปีเก่า จะได้มีเวลาตระเตรียมการงานได้ทันท่วงที

ว่าไปแล้ว ผมว่าโครงการวันเด็กแห่งชาติ ไม่ใช่กิจกรรมอะไรที่ซับซ้อนซ่อนปมอันใดมากนักหรอก เป็นกิจกรรมที่ออก “บันเทิงเริงปัญญา” อย่างเต็มรูปแบบเสียด้วยซ้ำไป ไม่ต้องปวดกะโหลกกะลาในเรื่องประชาสัมพันธ์ให้มากความ เพราะคนทั้งประเทศรู้ดีอยู่แล้วว่า

  • “วันนี้ คือวันเด็ก”
  • และรู้ดีอยู่แล้วว่า “วันนี้ มมส ก็จัดงานวันเด็ก”




วันเด็ก: ส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนความเป็น “อัตลักษณ์นิสิต มมส”

ผมตั้งคำถามกับนายกองค์การนิสิตแบบหยิกเจ็บๆ ตามสไตล์ของผมว่า “วันเด็ก นอกจากคำขวัญวันเด็กแล้ว องค์การนิสิตมีกรอบแนวคิด นโยบายการจัดกิจกรรมอย่างไร”

เป็นการตั้งคำถามที่ไม่ปรารถนาคำตอบเท่าใดเลย เพราะกระบวนการคำถามเหล่านี้มันควรถูกตั้งมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว นับตั้งแต่การประชุมร่วมระหว่างองค์กรนิสิต สู่การพิจารณาใน “สภานิสิต” และขออนุมัติต่อรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและบุคลากรในสังกัดกลุ่มงานกิจกรรมนิสิตเป็นผู้ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” คอยหนุนเสริม




ใช่ครับ-การเป็นพี่เลี้ยง คงไม่ใช่คอยหนุนเสริมแต่เรื่องจัดแต่งเวที ต้อนรับขับสู้ผู้หลักผู้ใหญ่ราวกับ “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” เพราะแท้ที่จริงแล้ว “เด็กๆ และชาวบ้าน” จากชุมชนนั่นแหละคือกลุ่มคนที่เป็นพระเอกและนางเอกที่เราต้องต้อนรับขับสู้และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับพวกเขาเป็นอย่างดี มิใช่แค่สรรหา “ขนมนมเนย ตุ๊กตา” มาแจก –



เช่นเดียวกับการตั้งคำถามสู่ระบบในทำนองเดียวกันว่า “มหาวิทยาลัย หรือผู้บริหารมีนโยบายใดเกี่ยวกับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ”

ครับ-เป็นคำถามที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งคำตอบ เพราะเวทีที่กำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี่ไม่ใช่ระยะต้นน้ำที่จะมาหนุนเสริม “ความคิด” หรือปรัชญาอันใด ระยะนี้คือระยะที่กำลังจะปฏิบัติการ เหมือน “ผีกำลังจะถึงป่าช้า” แล้ว คงยากที่จะหันเหกลับไปปรับจูนกันใหม่ แต่ที่แน่ๆ คำถามของผม คือ การฝากให้ทบทวนถึง “ระบบและกลไก” ของการจัดกิจกรรมว่าด้วยเรื่องนี้ที่ต้องต่อยอดในปีหน้า พร้อมๆ กับการฝากทบทวนเรื่องบทบาทหน้าที่ของ “พี่เลี้ยง” ว่าโดยแท้แล้วต้องหนุนเสริมอะไรแก่นิสิต



ในเวทีดังกล่าวนั้น ผมสื่อสารให้คิดตามว่าวันเด็กแห่งชาติ คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่สะท้อนตัวตนความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) เพราะกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติมีสถานะหนึ่งในการบริการสังคม อย่างไม่ผิดเพี้ยน ดังนั้นนิสิต หรือผู้นำนิสิต จึงควรต้องทำความเข้าใจกับสถานะเช่นนี้ให้แน่นหนัก เป็นการตระหนักมาตั้งแต่ระยะต้นน้ำ (ต้นความคิด) ถ้าเข้าใจย่อมหมายถึงการตระหนักและมีแรงบันดาลใจที่จะ “ออกแบบกิจกรรม” ให้มีคุณค่าและมีผลต่อการหนุนเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก




วันเด็ก มมส : วันเด็กที่แสดงตัวตนของสถาบันอุดมศึกษา

เป็นเวลายาวนานเลยทีเดียวที่องค์การนิสิตปักหมุดจัดกิจกรรมวันเด็กในมหาวิทยาลัยฯ โดยไม่ไปรวมจัด ณ ศูนย์กลางของจังหวัด เพราะต้องการให้บริการต่อชุมชนแถบนี้ เช่น ขามเรียง-ท่าขอนยาง-เขวาใหญ่ เสมอเหมือนการกระจายพื้นที่ความรับผิดชอบต่อสังคมให้กว้างขวางและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ในมุมของผม-กิจกรรมวันเด็กที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยควรคิดคำนึงถึงความเป็นสถาบันระดับ “อุดมศึกษา” อย่างที่สุด เริ่มตั้งแต่การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ปล่อยปละให้เป็นความรับผิดชอบของ “องค์กรนิสิต” เท่านั้น



ครับ-ในทุกๆ หน่วยงานต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ มาออกบูธได้ก็ต้องมา มาไม่ได้ก็ฝากนิสิตออกบูธแทน มาไม่ได้ก็สนับสนุนสิ่งของ

ส่วนองค์กรนิสิตก็เช่นกัน ย่อมต้องตระหนักถึงเวทีเหล่านี้ร่วมกัน การจัดแสดงบูธหรือซุ้มอาจไม่จำเป็นต้องมีแต่เฉพาะข้าวของที่เน้นแจกเป็นรางวัลเท่านั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นผลผลิต ผลงานของนิสิตก็เอามาจัดนิทรรศการได้ เพราะมันคือ “สื่อการเรียนรู้” มิใช่เอะอะในบูธก็มีแต่ “ของแจก”



นอกจากนั้น “ของที่นำมาแจก” ผมก็ตั้งประเด็นเหมือนกันว่าควรเป็นข้าวของเชิงคุณภาพ มิใช่เอะอะลูกอม ขนมกรุบกรอบที่ไม่มีผลดีต่อระบบสุขภาพของเด็กๆ

ครับ-ในอดีตที่ผมเคยดูแล ผมย้ำเรื่องนี้มาก กิจกรรมที่เกิดขึ้นต้องแสดงความเป็นสถาบันอุดมศึกษาอยู่มิใช่ย่อย แต่ละองค์กรต้องมีความเป็นวิชาการ-วิชาชีพของตนเอง ไม่ใช่เอาง่ายเข้าว่า-ง่ายในที่นี้หมายถึงแจกขนมนมเนยเอาสนุก จนไม่คิดว่ากิจกรรมอะไรที่พอจะหนุนเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้บ้าง




วันเด็ก มมส : ความง่ายงาม และความพยายามที่ยังต้องพยายามร่วมกันต่อไป

วันเด็กปีนี้เป็นอีกปีที่ยังไม่สามารถเชื่อมร้อยเทศบาลตำบลขามเรียงเข้ามาร่วมเป็น “เจ้าภาพ” ร่วมกันได้ แต่กระนั้นองค์กรนิสิตก็ยังเดินหน้าทำหน้าที่ของตนเองในแบบ “ทำไปเรียนรู้ไป” อย่างไม่อิดออด

ปีนี้ผมเห็นตัวตนขององค์กรนิสิตหลายองค์กรสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมาในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” อย่างน่ารัก เช่น



  • ชมรมวรรณศิลป์ เน้นให้เด็กๆ ทายสุภาษิตคำพังเพยผ่านภาพวาดที่ดูมีสีสันน่ารักน่าสนใจ ซึ่งในอดีตชมรมฯ เคยสร้างมุมให้พ่อกับแม่มานั่งอ่านนิทานและเล่านิทานให้ลูกๆ ฟัง
  • ชมรมรุ่นสัมพันธ์ เน้นให้เด็กๆ ลากเส้นเชื่อมโยงภาพกับความหมาย
  • ชมรมพุทธศาสนาและสมาธิ มีกิจกรรมบัตรคำ “ความดีที่หนูอยากทำ”


  • สภานิสิต เน้นให้เด็กๆ ทายคำศัพท์เกี่ยวกับอาชีพ และสถานที่สำคัญๆ
  • สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ มีฐานกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เล่นเกมส์อย่างสร้างสรรค์
  • สโมสรนิสิตในสายสุขภาพ เน้นกิจกรรมและสื่อเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น บุหรี่ อุบัติเหตุ การแปรงฟันถูกวิธี
  • สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ นำป้ายค่านิยม 12 ประการ มาเผยแพร่...
    ฯลฯ



ครับ-กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของการช่วยเหลือสังคมเท่านั้น แต่สื่อให้เห็นภาพ “ตัวตน” (ทุนทางปัญญา) และ “วิชาชีพ” ของแต่ละหลักสูตรแต่ละองค์กรอย่างเด่นชัด รวมถึงการสะท้อนความเอาจริงเอาจังของการจัดกิจกรรมต่อการบริการสังคมไปในตัว

หากแต่ปีนี้ ... ส่วนหนึ่งที่ผมเสียดายมากเลยก็คือ ผมไม่ค่อยเห็นมุมกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ปกครองกับเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเท่าใดเลย ผมไม่เห็นมุมกิจกรรมที่ประกวดภาพวาดอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เห็นมุมบริการเรื่องสุขภาพที่เป็นรูปธรรมภายใต้การขับเคลื่อนของ “คณะ” เหล่านั้นเฉกเช่นในอดีต



แน่นอนครับ-ผมคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ องค์การนิสิต ไม่จำเป็นต้องมา “แบกรับ” เองก็ได้ กระจายงานไปตาม “วิชาชีพ” ให้ได้มากที่สุด กำหนดกรอบแนวคิดที่ชัดเจนและหนักแน่นก็พอแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • ในอดีตกิจกรรมที่ว่าด้วยการวาดภาพ : ทั้งวาดเล่นๆ วาดประกวด หรือบริการวาดภาพเหมือนภาพล้อเลียนจะถูกออกแบบและรับผิดชอบโดยกลุ่มที่สันทัด คือ ศิลปกรรม สถาปัตย์ มีการจัดโซนนิ่งเป็นกิจจะลักษณะ
  • ในอดีตกิจกรรม “หนูน้อยสุขภาพดี” : ยกกระบวนการให้วิชาชีพที่สันทัดไปขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ คือ แพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัช เน้นให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีการคัดกรองอย่างมีเกณฑ์กติกา ฯลฯ
  • ในอดีตเรื่องดนตรีขับร้อง : เปิดพื้นที่ให้คณะศิลปกรรม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์กำกับดูแลบริหารจัดการ มีบางปีตั้งอุปกรณ์ดนตรีให้เด็กๆ ได้จับได้เล่นกันอย่างสนุก
  • ในอดีตวิทยาการสารสนเทศ : มีมุมฝึกการเป็น “พิธีกร” ให้เด็กๆ อย่างเป็นรูปธรรม



  • ในอดีตก็พาเด็กๆ ไปออกรายการวิทยุ ฝึกการเป็นดีเจ
  • ในอดีตมีนิสิตโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒธรรม ขึ้นโชว์การขับร้องเพลงกับเด็กๆ
  • ในอดีตมีมุมละเล่นแบบไทยๆ ....
  • ในอดีตเปิดโรงฉายภาพยนตร์ให้เด็กๆ ได้เข้าดู
  • ในอดีตมีบอร์ด –ป้ายนิเทศให้เด็กๆ ได้เขียนความฝันของตนเองร่วมกันอย่างเปิดกว้าง
  • ในบางปีแบ่งปันของรางวัลไปให้เด็กๆ ตามโรงพยาบาลที่เจ็บป่วย หรือเด็กกำพร้า ฯลฯ




สุดท้าย

ต้องขอบคุณน้องๆ องค์กรนิสิตทุกคนทุกองค์กรที่ปลีกตัวมาร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในวันนี้ร่วมกัน บางคนอาจมาเพราะหน้าที่ บางคนอาจมาเพราะต้องการทวนทักถึงวัยวันแห่งความเป็นเด็กของตนเอง หรือมาด้วยเหตุผลหลากเหตุผล –

แต่การมาก็ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้ถึงภาระหน้าที่ของการ “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” (อัตลักษณ์นิสิต) อันเป็นมิติหนึ่งของการบริการสังคมและการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมผ่าน "กิจกรรมนอกชั้นเรียน” หรือ “กิจกรรมนอกหลักสูตร” เพราะถ้าไม่มาย่อมไม่เกิดการเรียนรู้ ไม่ลงมือทำก็ไม่รู้ – เว้นแต่ลงมือทำแล้วแต่ไม่สรุปผลการเรียนรู้ก็จะไม่รู้ !

และที่สำคัญ บางทีปีหน้าฟ้าใหม่อาจต้องมานั่งคุยกันจริงๆ เหมือนในอดีตว่าวันเด็กแห่งชาติในรั้วอุดมศึกษาอย่างเราๆ ควรเป็นเช่นใด “บันเทิงเริงปัญญา” แบบใดถึงจะเหมาะควรต่อความเป็นมมส ที่ประกาศเอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) และอัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)

เช่นเดียวกับการนั่งคุยในกลุ่มพี่เลี้ยง และในระบบเชิงนโยบายว่าจะมีทิศทางอย่างไร -

--- สู้ๆ ต่อไป และอย่าหยุดที่จะคิดฝัน นะครับ ----

หมายเลขบันทึก: 599308เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2016 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2016 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วันเด็ก วันของเด็ก ๆ สนุกสนานกันทุกที่จ้ะ

มีกิจกรรมหลากหลายมาก

แบบนี้เด็กรอบมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้เรื่องการรักษาฟันเรื่องสุขภาพเรื่องอื่นๆจากพี่นิสิต

เป็นการเรียนรุ้ที่สนุกกว่าในห้องเรียน

นิสิตก็ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจากกิจกรรมจริง

อ่านแล้วมีความสุขครับ

ครับ พี่ คุณมะเดื่อ

เด็กๆ สนุก หัวเราะในวันเช่นนี้กันท้วนทั่ว
มีร้องไห้บ้าง เพราะไม่ได้ถ่ายรูปกับไดโนเสาร์ 55

ใช่ครับ อ. ขจิต ฝอยทอง

บันทึกนี้ นอกจากธรรมเนียมนิยามคามสนุกสนานทั่วๆ ไปแล้ว ผมเพียแค่ตั้งประเด็นให้นิสิตเรียนรู้ถึงการจัดงานวันเด็กในบริบทของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่กรอบแนวคิด กระบวนการ ผลลัพธ์ รวมถึงประเด็นของการดึงศักยภาพในวิชาชีพของแต่ละคณะออกมาบริการสังคมในมิติ "บันเทิงเริงปัญญา" เพราะจะได้ช่วยให้ตนเองมีความรู้และทักษะที่แจ่มชัดขึ้น



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท