ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๗๔. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๔. เมือง Yufuin & Beppu



เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ เรียวกัง Makiba no le ผมไปแช่น้ำร้อนออนเซน ครอบครองอ่างใหญ่กลางแจ้งคนเดียวอยู่ราวๆ ๑๐ นาที กลับมาชวนสาวน้อยไปเดินเล่นและถ่ายรูปภายในสวนสวยของ Makiba no le ภายใต้บรรยากาศหมอกลงจัดมาก และอุณหภูมิ ๘ องศา

กินอาหารเช้าแบบญี่ปุ่น อร่อยมาก รถมารับ ๙.๐๐ น. พาไปเดินชมเมืองจากอีกมุมหนึ่งของเมือง ลงจากรถเราเดินตามคนไป และเดินเลียบลำธารไปเรื่อยๆ จนพบทะเลสาบ บรรยากาศสวยงามมาก ท่ามกลางหมอกจัด เป็นความงามจากธรรมชาติล้วนๆ ทำให้ผมคิดต่างจากเมื่อวาน คราวนี้เห็นแล้วว่า การทำให้การท่องเที่ยวของ Yufuin ติดตลาดเป็นเรื่องที่มีธรรมชาติช่วยได้มาก คือ Yufuin มีทุนสำหรับนำมาต่อยอดได้หลายอย่าง แต่คนคิดพัฒนาก็ต้องเก่งมากอยู่ดี จึงจะพัฒนาเมืองขึ้นมาได้ขนาดนี้

เมื่อเดินกลับมาขึ้นรถตอนใกล้ ๑๑ น. หมอกหายไปหมดแล้ว ได้ความงามของธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง

ในวงสนทนา อ. แบน ตั้งคำถามว่า ท่านประธาน Mizoguchi Kumpei คิดถึงผลประโยชน์ของเมืองเป็นที่ตั้ง หรือคิดถึงผลประโยชน์ของโรงแรม Tamanoyu Hotel ของท่านเป็นที่ตั้ง และตอบเองว่า คิดว่าเป็นอย่างแรก เพราะอย่างหลังจะตามมาเอง


Beppu

เมือง Beppu เป็นเมืองน้ำพุร้อน ดัง VDO ใน YouTube ที่นี่ เมื่อรถแล่นเข้าเมืองตอนบ่ายเราก็เห็นว่าเป็นเมืองใหญ่ ใหญ่กว่า Yufuin หลายเท่า และอยู่ติดทะเล คือทั้งติดภูเขาและทะเล

บ่ายนี้เราได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมไม้ไผ่ จากการไปเยี่ยมชม Beppu City Traditional Bamboo Craft Center ซึ่งก็คือโรงเรียนสารพัดช่างด้านช่างไม้ไผ่ เขาพาไปดูโรงเรียนสารพัดช่างด้านงานไม้ไผ่แห่งใหม่ หลักสูตร ๒ ปี นักเรียนมาจากทั่วประเทศ พื้นความรู้จบ ม. ปลาย อายุไม่เกิน ๓๙ ต้องสอบแข่งขัน เราได้ไปชมห้องฝึกงาน ปี ๑ มีนักเรียน ๑๐ คน ปี ๒ มี ๖ คน เรียนฟรี ได้เห็นสภาพห้องฝึกปฏิบัติที่เป็นระเบียบเรียบร้อย นักเรียนแต่ละคนมีสมาธิอยู่กับงานของตน

ผมได้เห็นว่า ญี่ปุ่นมองงานไม้ไผ่เป็นงานช่างศิลปะ มีการพัฒนาวิธีการ และสร้างมาตรฐานยกระดับเครื่องมือและวิธีการขึ้นไปตลอดเวลา รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อนักเรียนอยู่ปีที่ ๒ เขาไม่มองงานไม้ไผ่ว่าเป็นงานคร่ำครึล้าสมัย แต่เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ต้องรักษาไว้ และพัฒนาขึ้นไปอีก

ที่ศูนย์แสดงชิ้นงานเด่น มีห้องฝึกแก่คนทั่วไป เรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน รวม ๑๐ เดือน ที่ห้องฝึกนี้ ครูช่างท่านหนึ่ง แสดงวิธีจักตอกไม้ไผ่แห้ง ให้ได้เส้นตอกขนาดเล็กมาก โดยเอาเฉพาะส่วนผิวนอก ซึ่งเหนียวและทนทาน เขามีตัวอย่างชิ้นงานที่อายุ ๑๕๐ ปี

ผู้พาชมเป็นหัวหน้าศูนย์ชื่อ Tetsuya Abe พาเราชมชิ้นงานที่จัดแสดง และแนะนำศิลปินแห่งชาติด้านงานช่างไม้ไผ่ ชื่อ Shounsai Shono ได้รับเชิญไปพูดและแสดงผลงานทั่วโลก ลงท้ายเขาเอาชิ้นงานที่ตนเองสะสมเป็นส่วนตัวมาให้ดู และแนะนำให้รู้จักเส้นใยจากเยื่อไม้ไผ่ และผ้าที่ทอจากเยื่อ ที่สาวน้อยเคยซื้อจากสกลนคร ๑ ผืน เป็นผ้าที่ทำจากประเทศจีน บางเบานุ่มแต่ให้ความอบอุ่นยามหนาว และให้ความเย็นสบายยามร้อน

พักที่ Beppu Showaen โรงแรมแบบญี่ปุ่น หรือเรียวกัง เชิงเขา อาหารเย็นปลาปักเป้า (Fuku) เป็นหลัก นัด AAR หลังอาหารแต่ อ. เปิ้ลเล่าเรื่องหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมจนเกือบ ๒๑ น. จึงได้แค่ตั้งโจทย์ AAR โดย อ. ประภาภัทรให้เอาไปคิดก่อน AAR จริงบนรถวันพรุ่งนี้

โจทย์คือ ได้มาเรียนรู้วิธีคิดแบบญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง และจะเอาไปสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยได้อย่างไร คุณวนัสตอบไว้ก่อนเลยว่า โดยหนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย



หน้าบ้านพัก Makiba mo le ยามเช้าตรู่หมอกลงจัด


หน้าทางเข้า ล็อบบี้ Makiba no le


ในสวนของ Makiba no le


อีกมุมหนึ่งของสวน


ดร. เปิ้ลกับสาวน้อยที่สวนด้านหน้าเรียวกัง


เดินชมยูฟิอินเช้าวันที่ ๘ หมอกลงจัด


ถ่ายโดยคุณวนัส ซีอีโอ ของเบทาโกร


ฝีมือคุณวนัส


ที่ทะเลสาบ


ห้องฝึกปฏิบัติช่างไม้ไผ่ ชั้นปีที่ ๑


ชั้นปีที่ ๒


ทางเข้าอาคารนิทัศการศิลปะไม้ไผ่


อีกมุมหนึ่งของทางเข้า


ที่ขั้นบน


หลักสูตรชาวบ้าน เรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน รวม ๑๐ เดือน


ชิ้นงานระดับทำถวายจักรพรรดิ์ ถ่ายจากหนังสือ


ชิ้นงานศิลปะ ของสะสมส่วนตัว


กล่องใส่เครื่องเขียน


สวนน้ำพุร้อน Umi jigoku


ภายในสวนน้ำพุร้อน



วิจารณ์ พานิช

๙ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 599305เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2016 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2016 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท