บทเรียน คืออะไร


บทเรียน คืออะไร


ถอดบทเรียนเป็นคำที่เริ่มคุ้นหูมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งวงการธุรกิจ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่ภาครัฐ ต่างใช้คำนี้กันอย่างฟุ่มเฟือย

เท่าที่ผมเฝ้าสังเกตการถอดบทเรียนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า พวกเรามักจะถอดบทเรียนโดยไม่เข้าใจว่า “บทเรียน” คืออะไร ทำให้สิ่งที่ได้รับจากการถอดบทเรียนเป็นเพียงบันทึก หรือเอกสารที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนางานใดๆ


ด้วยเหตุนี้ ผมขอเริ่มทำความเข้าใจคำว่า "บทเรียน" ไปพร้อมกับผู้อ่านด้วยนิทานอีสปที่เราคุ้นเคยกันเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ


...ครั้งหนึ่งมีเด็กเลี้ยงแกะอยู่ผู้หนึ่งซึ่งมีนิสัยชอบโกหก ในวันหนึ่งขณะที่เขาปล่อยให้ฝูงแกะกินหญ้าอยู่ที่เนินเขานั้นก็เกิดคิดอะไรสนุกๆ ขึ้นมา จึงแกล้งตะโกนให้ชาวบ้านแถวนั้นได้ยินว่า “ช่วยด้วย ช่วยด้วย หมาป่ามากินลูกแกะ”

ชาวบ้านเมื่อได้ยินต่างก็ตกใจและรีบวิ่งมาพร้อมอาวุธต่างๆ ในมือเพื่อจะช่วยกันขับไล่หมาป่า แต่พอมาถึงกลับไม่พบหมาป่าแม้แต่ตัวเดียว มีแต่เพียงเด็กเลี้ยงแกะที่ยืนหัวเราะชอบใจอยู่ เด็กเลี้ยงแกะเห็นว่าการโกหกเป็นเรื่องสนุกจึงหลอกชาวบ้านอีกครั้งแล้วครั้งเล่าจนชาวบ้านต่างโกรธและเอือมระอาต่อการกระทำของเขา

อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เด็กเลี้ยงแกะกำลังเฝ้าฝูงแกะอยู่เช่นทุกครั้ง ก็เกิดมีหมาป่าเข้ามาจับแกะกินจริงๆ เด็กเลี้ยงแกะตกใจจึงตะโกนบอกชาวบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่คราวนี้ไม่ว่าเขาจะตะโกนอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจที่จะออกมาช่วยสักคน จนกระทั่งหมาป่าไล่กินลูกแกะจนหมดฝูงไปในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ไม่มีใครเชื่อคนโกหก แม้ว่าต่อมาเขาจะพูดความจริงก็ตาม...

ที่มาwww.muengthai.com


จากนิทานข้างต้น เด็กเลี้ยงแกะได้รับบทเรียนอะไรบ้าง ?

ก่อนจะได้บทเรียน เราต้องเข้าถึงเรื่องราวนั้นๆ อย่างลึกซึ้งเสียก่อน เราต้องสวมวิญญาณตนเองให้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของเด็กเลี้ยงแกะที่เศร้าโศกเสียใจ ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครมาช่วยเหลือเพราะคำโกหกของตัวเองก่อนหน้านี้ แล้วเราก็จะได้บทเรียนว่า “จะไม่โกหกใครอีก เพราะจะไม่มีใครเชื่อถือเรา” บทเรียนนี้จะอยู่กับเรา ฝังใจ และกำหนดการกระทำหรือการตัดสินใจของเราในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ บทเรียน หมายถึง สิ่งที่บุคคลตระหนักและยึดปฏิบัติ อันมีที่มาจากการสั่งสมและพิสูจน์แล้วว่ามีผลทั้งด้านดีและไม่ดีต่อการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน 


ณ จุดนี้ ผมมีคำถาม ๓ ข้อ ชวนให้ผู้อ่านลองตอบคำถามเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจความหมายของ “บทเรียน” มากยิ่งขึ้น

๑. เหตุการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร คุณผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไร
๒. บทเรียนที่คุณได้รับจากเหตุการณ์นั้นคืออะไร
๓. บทเรียนที่คุณได้รับ ส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ หรือการกระทำของคุณอย่างไรในปัจจุบัน


เมื่อผู้อ่านได้ทบทวนเหตุการณ์และบทเรียนในชีวิต ก็จะพบว่าบทเรียนที่ผ่านมามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตเรามากแค่ไหน ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงหรือสำคัญมากเท่าใด บทเรียนนั้นก็จะยิ่งย้ำเตือนตัวเรามากเท่านั้น ยกตัวอย่าง บุคคลที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุได้เพราะสวมหมวกนิรภัย ก็จะเคร่งครัดในการสวมหมวกนิรภัยมากขึ้น ครอบครัวที่เคยเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ก็จะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากกว่าครอบครัวปกติ หรือ บางคนประสบความสำเร็จทั้งการเรียนและการทำงาน เพราะคิดเห็นระบบ ฝึกใช้แผนผังความคิด มาตั้งแต่เด็ก เขาจึงพยายามฝึกฝนตนเองมากขึ้น และสอนให้ลูกหลานใช้แผนผังความคิดตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกับเขา




จากตัวอย่างข้างต้น ผมได้จำแนกวงจรของบทเรียน ซึ่งเราใช้กันอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • ขั้นเหตุการณ์ (Event Phase) เป็นตัวกำหนดว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น มีสภาพแวดล้อมหรือบริบทอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของบุคคลต่อเหตุการณ์นั้น
  • ขั้นการกระทำหรือปฏิกิริยา (Action Phase) เราทุกคนจะมีปฏิกิริยา หรือมีการกระทำต่อเหตุการณ์หนึ่งที่เหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น ขณะที่กลุ่มเด็กชายเดินไปเจอสุนัขเห่า มีท่าทางดุร้าย บางคนยืนนิ่งจ้องหน้าสุนัข ขณะที่อีกคนอาจจะวิ่งหนี ทุกคนมีทางเลือกในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่บางครั้งก็อาจจะใช้พฤติกรรมอ้างอิงกลุ่ม คือ คนส่วนใหญ่ทำอย่างไรก็ทำตาม
  • ขั้นผลและการประเมินผล (Result and Evaluation Phase) แม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างต่อจากเรื่องกลุ่มเด็กชายเจอสุนัขดุ เมื่อกลุ่มตัดสินใจที่จะวิ่งหนี ผลที่เกิดคือ โดนสุนัขวิ่งไล่กวด กลุ่มเด็กชายก็จะประเมินผลโดยทันทีว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผลดีอย่างที่คาดคิดไว้
  • ขั้นกระทำซ้ำ (Repeating Phase) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลได้กลับมาพบกับเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับประสบการณ์เดิม การตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นอาจจะเหมือนหรือแตกต่างไปก็ได้ เช่น กลุ่มเด็กชายเมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับสุนัขตัวเดิม ได้ตัดสินใจใช้การรวมกลุ่มเดินไปทีละก้าวอย่างช้าๆ ในมือถือก้อนหินและแท่งไม้ไว้ ทำให้สุนัขได้เพียงเห่า ไม่เข้ามาวิ่งไล่ นั่นแสดงว่า กลุ่มเด็กผู้ชายได้เรียนรู้และใช้บทเรียนที่ผ่านมาในการตัดสินใจ ในทางตรงกันข้าม หากกลุ่มเด็กผู้ชาย ยังคงใช้วิธีการเดิมซ้ำไปซ้ำมา คือ วิ่งหนี ผลคือสุนัขวิ่งไล่กวดทุกๆ ครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ และบทเรียนไม่เกิดในกลุ่มเด็กผู้ชาย เรียกสภาวะนี้ว่า “เจ็บไม่จำ”


บทเรียนไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเหตุการณ์เชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และสอนให้เรารู้ว่าควรทำหรือไม่ทำสิ่งใด บทเรียนที่ดีมักจะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ในบทเรียนเดียวกันสำหรับบางคนอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับอีกคนอาจเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่ฝังใจ และบทเรียนนั้นอาจหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวตนของเขาโดยไม่รู้ตัว


“...Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results...”
Albert Einstein

“…มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง…”
อัลเบิร์ต ไอสไตน์


6/1/59
พีธากร ศรีบุตรวงษ์



หมายเลขบันทึก: 599213เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2016 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2017 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่ค่ะ ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่

ว้าว ๆ บันทึกน่าอ่านมากค่ะ สาระเพียบ เขียนบ่อย ๆ นะคะ

พี่อ้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท