​คำนิยม หนังสือ จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน


การเรียนเพื่อปัญญาภายนอกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จะมีส่วนสร้างปัญญาภายใน และการสร้างปัญญาภายใน จะมีส่วนช่วยให้การสร้างปัญญาภายนอกได้ผลดียิ่งขึ้น

คำนิยม

หนังสือ จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน

วิจารณ์ พานิช

.........

หนังสือ จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากผลการทดลองปฏิบัติจริง จากประสบกาณ์ จริงเป็นเวลา ๑๒ ปี จึงมีลักษณะอิงพยานหลักฐาน (evidence-based) แต่เป็น พยานหลักฐานเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ เป็นหลักฐานที่มาจากการปฏิบัติ ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด ตรวจสอบกับทฤษฎีเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง จึงได้มุมมองที่ลุ่มลึก ต่อการเรียนรู้ที่สมดุลบูรณาการครบด้าน

ในมุมมองของผม หนังสือเล่มนี้ สะท้อนการต่อสู้เชิงกระบวนทัศน์ ระหว่างการจัดการศึกษาที่เดินผิดทาง กับการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นหนังสือที่เสนอ “สัมมาทิฐิ” ของการศึกษา แก่สังคมไทย

สาระระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ สะท้อนมุมมองต่อเด็ก ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพสูง จะพัฒนาไปได้เพียงใด ขึ้นกับการเรียนรู้ที่พัฒนาปัญญาภายใน และพัฒนาปัญญาภายนอก อย่างเชื่อมโยงสมดุลและเกื้อกูลกัน อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะเห็นว่าการศึกษาที่ดี ทำไม่ยาก หากแต่ต้องสมาทานสัมมาทิฐิว่าด้วยการเรียนรู้ ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้

อคติส่วนตัวของผมบอกว่า สาระระหว่างบรรทัดของหนังสือเล่มนี้เชื่อมโยงกับการเทอดทูนให้คุณค่า "ครูเพื่อศิษย์" และเสนอแนวทางการทำหน้าที่ "ครูเพื่อศิษย์" จากมุมของการปฏิบัติ ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ผมเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่ต่อครู หรือคนในวงการศึกษา (ในนิยามที่แคบ) แต่มีประโยชน์ต่อ พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงดูกล่อมเกลาบุตรหลานในความปกครอง และยิ่งกว่านั้น มีประโยชน์ต่อทุกคน สำหรับนำมาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับตนเอง ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความหมายของ “คนในวงการศึกษา” ในนิยามที่กว้าง

จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน เป็นหนังสือที่เขียนด้วยท่วงทำนองกวี มีความงดงามอ่อนโยน และความมีชีวิต แทรกอยู่ตลอดเล่ม ตามบุคลิกของผู้เขียน ซึ่งหมายความว่า ส่วนใหญ่ของหนังสือ เขียนขึ้นจากภายใน กลั่นออกมาจากหัวใจ

ผมขอเสนอว่า จิตศึกษา ไม่ได้มีผลเฉพาะต่อการพัฒนาภายใน ของผู้เรียน (และของครู/ผู้บริหารสถานศึกษา) เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการพัฒนาหรือการเรียนรู้มิติภายนอก คือการเรียนรู้โลก (วิชา) และชีวิต ด้วย และ “จิตศึกษา” ก็มีได้หลายแนวทาง การเรียนรู้แบบ “ผู้เรียน” ลงมือปฏิบัติ (action) ตามด้วยการไต่ตรองสะท้อนคิด (reflection) มีมิติของจิตศึกษาอยู่ด้วย โดยมีหลักฐานอยู่ที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ที่ผมไปสัมผัสมาเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ ท่านที่สนใจเข้าไปดูใน YouTube ได้ที่ https://www.google.co.th/webhp?sourceid=chrome-instant&rlz=1C5CHFA_enTH503TH506&ion=1&espv=2&ie=UTF-8#q=YouTube+เพาะพันธุ์ปัญญาแจ้ห่มวิทยา

ปรากฏการณ์ที่โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา ยืนยันคำกล่าวในหนังสือเล่มนี้ ว่า การศึกษาที่ถูกต้อง ทำให้จิต “เป็นสุข” ทั้งต่อนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้บริหารสถานศึกษา ยืนยันประสบการณ์ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และที่โรงเรียนในเครือข่าย โรงเรียนเสริมสร้างสุขภาวะ (http://www.cres.in.th/post/tag/สุขภาวะในโรงเรียน)

การศึกษาที่ผิด สร้างความทุกข์ การศึกษาที่ถูกต้อง สร้างความสุข

“การเรียนเพื่อปัญญาภายนอกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง จะมีส่วนสร้างปัญญาภายใน และการสร้างปัญญาภายใน จะมีส่วนช่วยให้การสร้างปัญญาภายนอกได้ผลดียิ่งขึ้น” คือข้อสรุปของผม จากการอ่านต้นฉบับหนังสือ จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน ประสมกับประสบการณ์ตรงจากการไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ และจากการไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ผมบันทึกไว้ ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/โรงเรียนสุขภาวะ

ผมขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการวิเชียร ไชยบัง ที่ปรับปรุงหนังสือ จิตศึกษากับการพัฒนาปัญญาภายใน ออกตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ เพื่อประโยชน์อันไพศาล ต่อการพัฒนาปัญญาของเยาวชนไทย และของวงการศึกษาไทย

วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 599056เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2016 05:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2016 05:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท