จากบันทึกที่ดียิ่งของคุณบอน( นายบอน!-กาฬสินธุ์ ) ที่ได้วิเคราะห์คำพูดที่สำคัญยิ่งของผมเกี่ยวกับการคิดและทำเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ จนบางครั้งกลายเป็นดาบทิ่มแทงตัวเอง โดยเฉพาะไม่ถูกใจคนส่วนใหญ่ที่รักสงบจนบางครั้งที่ทำให้สิ่งผิดที่เห็นอยู่ตำตานั้นเกิดขึ้นแบบเต็มตาและเต็มใจ จนคุณบอนวิเคราะห์ว่าช่วงนี้ผมอยู่ในช่วงท้อแท้หมดแรงและหมดพลัง
คุณบอนวิเคราะห์ได้ถูกต้องอย่างยิ่งครับ แต่จะถูกต้องยิ่งกว่านั้นถ้าคุณบอนทราบว่าสิ่งที่ผมเป็นอยู่นี้นั้น มิได้เกิดขึ้นมาจากเพียงแค่ความรู้สึก การได้เห็น หรือเฉพาะแต่การได้ยินแล้วนำมาวิเคราะห์จนทำให้ตนเองรู้สึกท้อแท้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้ผ่านบทพิสูจน์จากชีวิตจริง พิสูจน์ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนได้รับคำตอบว่า "ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็จะต้องยอมรับความเจ็บปวดที่จะตามมา"
เรื่องนี้ต้องขอย้อนเล่าไปตั้งแต่ผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ ที่สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร สมัยนั้นผมได้มีโอกาสทำงานกับท่าน ผศ.ดร.ทวนทอง เชาวกีรติพงศ์ ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศน์สัมพันธ์ ครั้งนั้นเป็นวาทกรรมแรกที่เกิดขึ้นแบบตำตาตำใจเลยครับว่า การทำสิ่งที่ดีและถูกต้องจะได้ผลตรงข้ามกลับมาเป็นส่วนใหญ่ ช่วงนั้นจึงเกิดคำพูดที่ติดปากของเรา (เจ้านายกับลูกน้อง) ว่าเราเป็นพวก "โลโซ" ที่จริงมีกลุ่มโลโซอีกสองท่านครับ อันนี้เป็นที่มาปฐมบทที่มาของเรื่อง Lecturer Loso Syndrome ครับ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสถาบันการศึกษาไทย
ต่อมาสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อทำงานที่สำนักวิจัยได้ปีกว่า ๆ ในระหว่างทำงานอยู่นั้นในช่วงเสาร์อาทิตย์ผมก็เรียนปริญญาโทไปด้วย ซึ่งจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสุโขทัย ซึ่งที่นั่นทำให้ผมรู้จักกับ "เพื่อนปุ้ย (ธัญญ์กมน ทองตีฆา) ซึ่งเพื่อนปุ้ยเป็นผู้ชวนผมไปสอบที่สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์
จากนั้นไม่นานหลังจากที่ผมแอบไปสอบและสอบติด ช่วงนั้นเป็นการสอบติดแบบฉุกเฉินมาก ๆ ครับ ก็คือ ประกาศผลสอบวันนี้พรุ่งนี้มะรืนนี้ต้องไปรายงานตัวและทำงานเลย
วันนั้นผมจำได้เลยว่าผมกำลังจะสั่งรถออกไปทานข้าวกลางวันกับท่านอาจารย์ทวนทอง และผมบอกกับท่านว่า "อาจารย์ครับ ผมมีอะไรจะบอก" อาจารย์ทวนทองหันมามองหน้าผมที่สีหน้าแบบเศร้า ๆ กังวลนิด ๆ แล้วท่านก็พูดว่า
"สอบติดที่อื่นเหรอ"
"ครับ ราชภัฏ"
"ที่ไหน อุตรดิตถ์หรือเปล่า ดี ๆ ไปเลย ๆ แล้วต้องไปเมื่อไหร่"
"พรุ่งนี้ครับ"
"อื่ม งั้นครูต้องรีบหาคนใหม่มาแทนเราแล้วสิ"
ตอนนั้นผมงงมากเลย แทนที่ผมจะโดนด่าว่าแอบหนีไปสอบอย่างไม่บอกไม่กล่าว แล้วแถมที่จะต้องลาออกแบบกระทันหัน แต่ท่านก็ไม่ว่าอะไรผมเลยแถมยังสนับสนุนเพื่อให้ผมก้าวหน้าอย่างเต็มที่
แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากที่ผมกำลังเก็บข้าวเก็บของและกำลังจะย้ายไปทำงานที่อุตรดิตถ์นั้น ท่านฝากคำพูดกับผมไว้คำหนึ่งว่า
"จำไว้นะ การทำงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา ถ้าอยากอยู่รอดปลอดภัยและก้าวหน้า อย่าทำอะไรเกินหน้าเกินตาใคร ทำเฉพาะที่เขาสั่ง ดูตัวอย่างครูเป็นตัวอย่าง ถ้าทำดีเกินมากเกิน ก็จะเป็นพวกโลโซอยู่อย่างนี้แหละ"
เป็นสิ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจเสมอครับ แต่ผมคิดว่าท่านอาจารย์ทวนทองก็รู้ครับ "ว่าผมทำไม่ได้หรอก" เพราะผมกับท่านคล้าย ๆ กัน คือชอบคิดชอบทำอะไรที่คนอื่นเขาไม่ค่อยทำกัน "ลูกน้องหล่นไม่ไกลต้นเจ้านายครับ" และผมก็ทำไม่ได้จริง ๆ ครับ
พอทำงานผ่านไปไม่ถึงปี ผมก็เริ่มเกิดความคิดที่แปลกประหลาดขึ้น ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ มากมายนั่นก็คือ "ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน"
ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกว่า "เกียรตินิยมอันดับ 1" นั้นไม่ได้มีคุณค่าเพียงพอสำหรับการเป็นอาจารย์ที่ดีของลูกศิษย์ ลูกศิษย์ต้องการมากกว่าความรู้ในตำราเพื่อที่จะนำไปเผชิญชีวิตกับสังคมที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน
การยืนอยู่หน้าห้องเพื่อบรรยายรายวิชาทางด้านบริหารธุรกิจ ทำให้ผมเริ่มสั่น "สั่นเพราะความไม่แน่น" ไม่แน่นในประสบการณ์ ซึ่งแน่นอนครับ เด็กจบใหม่ ๆ อย่างผมถึงแม้ว่าจะจบเป็นเบอร์ 1 ของคณะ แต่สิ่งนั้นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีในการทำให้นักศึกษาเข้าใจและนำไปใช้ได้
"สอนให้เด็กฟังนั้นไม่ยาก แต่สอนให้เด็กนำไปใช้ประโยชน์จริง ๆ ได้นั้นยากกว่า"
ในขณะนั้นเองผมก็เริ่มที่จะหาทางออกกับปัญหานี้ด้วยตัวเอง ซึ่งในขณะนั้นผมได้ใช้ทุนของเจ้านายเก่าของผมเอง นั่นก็คือท่านอาจารย์ทวนทอง ที่ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่าท่านรู้จักกับท่าน ผศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา รองอธิการฝ่ายวิจัยฯ ที่อุตรดิตถ์ ซึ่งผมรบกวนให้ท่านต่อสายให้และทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ จากงานวิจัยได้อย่างมากมาย
แต่การคิดแบบนี้ เริ่มทำให้ผมเป็นเป้าสายตาเป้าใหญ่ในสังคม ทั้งเรื่องเงิน (ทุนวิจัย) ก็ดีหรือโดยเฉพาะเรื่องเวลาก็ดีที่จะต้องทำงานวิจัยเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานสอน ซึ่งหลาย ๆ ท่านอาจจะทราบอยู่แล้วว่าการสอนในราชภัฏนั้น เป็นการสอนที่ค่อนข้างหนักหน่วงอยู่แล้ว ในหนึ่งสัปดาห์เราทำกันสอนกันประมาณ 8 วัน (7+1) 28 คาบต่อสัปดาห์ (1 คาบสอนจะต้องคูณ 3 เพราะจะต้องรวมกับการเตรียมการสอน 1 คาบและการตรวจงานนักศึกษาอีก 1 คาบ ดังนั้นถ้าสอน 28 คาบ ก็จะต้องใช้เวลาทำงานทั้งเตรียมและตรวจผนวกกับสอนถึง 84 คาบต่อสัปดาห์ ดังนั้น 7 วันคงไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องบวก 1 เป็น 8 วันต่อสัปดาห์)
สาเหตุนี้เองทำให้เกิดความคิดสำหรับคนทั่ว ๆ ไปว่าแค่สอนอย่างเดียวก็แทบจะแย่อยู่แล้ว จะเอาเวลาไหนไปทำวิจัย "ถ้าคุณมีเวลาทำวิจัยแสดงว่าคุณหนีสอนไปอย่างแน่นอน"
จากคำพูดนี้เองเมื่อจะขยับตัวไปทำวิจัยหรืองานอื่นนอกจากสอน ก็จะถูกตั้งป้อมไว้ตั้งแต่ยังไม่ทันก้าวเท้าเดินว่า "คุณหนีสอน"
ตอนนั้นผมเริ่มเข้าคำพูดของท่านอาจารย์ทวนทองเสมอครับว่า "อยู่เฉย ๆ แล้วจะเจริญก้าวหน้า" ว่าเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าการวิจัยจะเป็นภาระกิจหลัก 1 ใน 4 ของการเป็นอาจารย์ (สอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ตัวอักษรที่เขียนไว้ในกระดาษตอนทำ SAR หรือประกันคุณภาพเท่านั้น
แต่นั่นก็คงจะหยุดความคิดที่จะเรียนรู้ความมหัศจรรย์แห่งการวิจัยไปได้ โดยเฉพาะการวิจัยกับชุมชน โดยผมเองพยายามทำงานและก้าวเดินเพื่อค้นหาความรู้จากศาสตร์แห่งการวิจัยนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะการค้นหาความรู้จากประสบการณ์ทางด้านบริหารธุรกิจทางตรงก็คือ ออกไปทำงานโดยการประกอบธุรกิจ นั่นคือการได้ประสบการณ์ตรง แต่ตอนนี้เราเข้ามายืน ณ จุดนี้แล้ว การออกไปทำงานหรือทำธุรกิจคงจะทำไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ "ทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ" เพื่อนำความรู้ที่ได้นั้นมาบรรยายหรือจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาในคณะหรือโปรแกรมบริหารธุรกิจได้มีความรู้และประสบการณ์มากที่สุด
จากความคิดที่ไม่ค่อยมีใครเขาคิดกัน การหลบเลี่ยงและหลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้บริหารเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคิด จนทำให้ผมกลายเป็น "เด็กมีปัญหา" ในสายตาของอยู่ใหญ่อยู่เสมอ ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางการวิจัยเริ่มมีมากขึ้น การได้ทำงานเป็นหัวหน้าโครงการในชุดโครงการวิจัยใหญ่ ๆ ทำให้ถูกเพ่งเล็งมากขึ้น
ซึ่งในความคิดตอนนั้นผมคิดว่า "การวิจัยกับการอบรมมันแตกต่างมีข้อดีหรือข้อเสียแตกต่างกันตรงไหน"
เราไปทำวิจัยไม่เห็นต้องใช้เงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยเลย ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งประสบการณ์แถมยังเป็นได้ผลงานมาเสริมงานประกันคุณภาพอีกต่างหาก "ทำไมผู้บริหารไม่สนับสนุน" แต่กลับไปส่งเสริมให้เดินทางไปอบรม เสียเงินคณะ เสียเงินมหาวิทยาลัย ไปถึงก็นั่งฟังบ้าง หลับบ้าง ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมอบรม ค่าเบี้ยงเลี้ยง ที่พักก็มากมาย ทำไมผู้บริหารถึงสนับสนุนด้านนี้มากกว่า???
การขออนุญาตไปราชการเพื่ออบรม (หยุดทำการเรียนการสอน โดยเราเลือกวันไม่ได้) เป็นสิ่งที่ทำได้ (ไม่ผิด) แต่การขออนุญาตไปราชการเพื่อลงพื้นที่ ประชุมหรือทำการวิจัย (ซึ่งเลือกวันได้ว่าวันไหนว่างหรือมีผลเสียต่อการเรียนการสอนน้อยที่สุด) จึงเป็นสิ่งที่ผิดในสายตาผู้บริหาร อันนี้ผมงงจริง ๆ ครับ อาจจะเป็นคำถามที่ดีไร้สาระหรืองี่เง่าสักเล็กน้อย แต่ในความคิดอาจารย์เด็ก ๆ อย่างผม "งงครับ" ว่าทั้งสองทางเมื่อเปรียบเทียบกันไม่ว่าจะเรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย ความรู้ที่ได้ หรือผลกระทบที่เกิดขึ้น แตกต่างกันอย่างมาก
แต่นั่นก็แหละครับ "ทำสิ่งที่เขาทำกัน ไปตามน้ำ แล้วจะอยู่รอดปลอดภัย" คิดต่าง ทำต่าง มีแต่เสมอตัวกับแย่ลงและแย่ลง
ยิ่งตอนหลังผมไปอ่านวิสัยทัศน์ พันธกิจและนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะหน้าที่หลัก ๆ ของอาจารย์ผมก็ยิ่งเร่งทำงานให้ครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นบริการวิชาการ หรือว่าทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เขียนหนังสือ เอกสารประกอบการสอน บทความต่าง ๆ ยิ่งทำมากก็ยิ่งผิดมาก
ดังนั้น Tacit Knowledge เรื่องความผิดกับความล้มเหลวของผมจะมีเยอะมากครับ เพราะผมเป็นคนที่ทำงานค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะงานที่ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน งานแบบหลากหลาย ใครชวนไปทำงานวิจัยที่ไหน "ผมไปหมด" ซึ่งเมื่อก่อนนั้นผมมีโอกาสกลับบ้าน (ที่คลองลาน กำแพงเพชร)ประมาณปีละ 3 ครั้ง ด้วยเพราะสาเหตุว่าเวลาวันหยุด (ซึ่งไม่ค่อยมี) ผมก็ต้องลงพื้นที่ทำงานวิจัย จนบางครั้งก็รู้สึกน้อยใจครับว่า ทำไมคนอื่นเขาได้หยุด ได้พัก แต่เราต้องมานั่งประชุมทีมวิจัย ต้องเดินต๊อก ๆ อยู่ในชุมชนไม่ต้องหยุดไปเที่ยวเหมือนคนอื่นเขาบ้างเลย แต่เวลาประเมินตอนสิ้นปีหรือจัดคาบสอนตอนต้นเทอมทีไร มีแต่ความผิดติดตัวไม่ค่อยได้สิ่งที่ดี ๆ เหมือนกับคนอื่นที่ตอนทำงานก็สบาย ตอนได้ผลงานก็สบายโชคสองชั้นเลย อันนี้ก็งงเหมือนกันครับ
"หรือว่าเราจะกลับไปทำตัวแบบสบาย ๆ ดี"
อันนี้ผมก็ลองแล้วครับ ไม่สนใจใคร สอนอย่างเดียว สอนเสร็จกลับบ้าน ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องทำวิจัย เด็กจะเรียนรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ต้องไปแคร์ อ่านหนังสือไปสอนแล้วพูดไทยคำอังกฤษคำ ปิ้งแผ่นใสหรือทำสไตลด์ไป พูดหรือบรรยายไปตามทฤษฎีฝรั่งที่เขาว่ากันไว้ เด็กจบไปจะไปทำงานหรือประยุกต์ใช้กับชุมชนได้ "ก็เรื่องของเด็กไม่เกี่ยวกับผม ทำไปก็ไม่ได้ดี แถมโดนผู้บริหารด่าอีกต่างหาก" อันนี้ลองแล้วครับ ปรากฏว่า ทำได้ไม่ถึงสองเดือน "อกแทบแตกตายครับ" เพราะด้วยความวิตกกังวล กลัวว่าเด็กจบไปจะเป็นอย่างไร จะได้งานทำไหม จะสู้เด็กจากสถาบันอื่นได้หรือเปล่า จะคุ้มค่ากับเงินที่ผู้ปกครองเขาส่งมาเรียนไหม จะเติมเต็มความหวังของพ่อแม่ที่จะช่วยทำให้ครอบครัวยกฐานะได้หรือเปล่า
และแล้ว...
จากนั้นผมก็เริ่มกลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่คราวนี้ก็เริ่มกับมาทำงานวิจัยในคณะฯ เพราะผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมผมถึงทำอะไรผิดหมด
เพราะด้วยการแบ่งส่วนงานของคณะฯ ที่เหมือนอยู่คนละองค์กรกับมหาวิทยาลัย "ต้องทำงานให้คณะฯก่อน ถ้าไปทำงานให้มหาวิทยาลัย แสดงว่าคุณไม่ทุ่มเทให้คณะฯ" อันนี้ก็งงเหมือนกันครับ
ตอนหลังก็พบกับทางออกที่สุดที่สุดครับ "ทำงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยของคณะฯ โดยทำงานวิจัยร่วมกับนักศึกษาในชั้นเรียน" เราได้ เด็กได้ คณะได้ "ร่วมรับผลประโยชน์กันทุกฝ่าย" ลดการปะทะ แต่นั้นก็เกือบสายไปเสียแล้วครับ เพราะผมมาคิดได้เอาเทอมสุดท้ายก่อนที่จะลาออก ช่วงสุดท้ายของชีวิตการทำงานที่นั่นผมเริ่มมาพบกับสัจธรรมแห่งความสุข R2R (Research to Routine) การวิจัยที่เนียนเข้าไปในเนื้องานที่ทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ชุมชนหลักของเรา (อาจารย์) ควรจะทำวิจัยมากที่สุดก็คือ "ชุมชนมหาวิทยาลัย คณะ และที่สำคัญที่สุดก็คือ นักศึกษา"
R2R สำหรับอาจารย์ก็คือการทำงานวิจัยในชั้นเรียน โดยเปลี่ยนจากการสอน การบรรยาย ปรับเป็นการจัดการความรู้และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ยกตัวอย่างปัญหากรณีศึกษาที่เป็นจริงของตัวเด็ก ธุรกิจชุมชนที่พ่อแม่ของเด็กประสบอยู่หรือเจออยู่ ไม่ต้องไปยกประเด็นการบริหารที่ไหนซึ่งต้องจินตนาการไปไกลถึงอีกขั้วโลกหนึ่ง คิดไปบางครั้งเราก็มองไม่ออก เพราะเราก็ไม่เคยได้ไปสัมผัส
ใช้ประเด็นบ้านของนักศึกษานี่แหละ ใกล้ตัวและเป็นจริง ที่บ้านเขาเป็นอย่างไร ธุรกิจเขาเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อน ๆ นักศึกษาร่วมเรียน ร่วมวิเคราะห์ ร่วมกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันในทุก ๆ สถานะ เพื่อน พี่ น้อง ลูกค้า อดีตลูกค้า ว่าที่ลูกค้า เราเป็นคุณอำนวยคอยยกทฤษฎีที่จะต้องสอนในคาบนั้นชั่วโมงนั้น ลองมาทดลองแก้ไขดู SWOT ก็ดี Product Life Cycle , PDCA , 5 ส , หรือแม้กระทั่งวิชาการเรือนหรือหัตถกรรมก็ประยุกต์ใช้ได้หมด
ได้สอนครบตามเนื้อหา ยกตัวอย่างที่เป็นจริงใกล้ตัวหรือติดกับตัว ทำแล้วแก้ไขเลย สัปดาห์นี้คุยกันไว้ว่าอย่างนี้ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ไปลองทำมาแล้วเป็นอย่างไร นำมาคุยกันอีก ปรับกระบวน ปรับวิธีการ ทดลอง ทดสอบ ให้เพื่อน ๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันลอง เราก็ได้ มหาวิทยาลัยก็ได้ ที่สำคัญที่สุด "นักศึกษาได้" นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้พัฒนางานที่บ้านของตนเอง ณ ขณะนั้น โดยไม่ต้องรอเรียนจบแล้วค่อนนำปริญญาหรือความรู้มาทำงานกันอีกทีหนึ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นความเป็นไปและเป็นมาของเรื่องราวที่เริ่มต้นจากความเจ็บและความบอบช้ำจากการที่คิดต่างทำต่าง ทำในสิ่งที่ใครเขาไม่ค่อยทำกัน คิดในสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครคิด สงสัยในปัญหาที่ไม่ควรสงสัย ไม่ยอมทำในสิ่งที่สายนำนั้นไหลไป
แต่สุดท้าย ถ้ากัดฟันสู้ความบอบช้ำเหล่านั้น ท้อได้แต่ไม่ถอย สักวันหนึ่ง (อาจจะนานหรือนานมาก ๆ) ก็จะได้พบฟ้าหลังฝนที่สดใสและงดงามยิ่งกว่าเดิม เป็นฟ้าที่เราเขาใจทุก ๆ สายเมฆและหมอกบนท้องฟ้า มีรุ้งเราก็เข้าใจว่ารุ้งนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดหรือความเพ้อฝันแต่อย่างใด แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะหยาดเหงื่อและคราบน้ำตา ทุกหยดน้ำตาหรือเศษฝุ่นที่เปื้อนอยู่ตามเสื้อผ้า ทุกสรรพสิ่งนั้นเกิดขึ้นและอุดมไปด้วยความรู้ ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการกระทำซึ่งสิ่งเหล่านั้นนั่นก็คือ "ปัญญา" นั่นเอง
การพัฒนาโดยใช้ฐานของปัญญา (Wisdom Development) ซึ่งท่านดร.แสวง รวยสูงเนินเคยเปิดประเด็นในการคิดสำหรับผมไว้ ตอนนี้ผมพยายามคิดวิเคราะห์ ทำ AAR ในสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วพอสรุปทราบได้ในส่วนแรกแล้วครับว่า ทุกอย่างต้องเกิดจากการกระทำหรือปฏิบัติ (เท่านั้น) โดยเฉพาะเป็นการกระทำที่อยู่บนฐานแห่งความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ใจและเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
กระบวนการคิด หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกลยุทธ์ และทุกย่างก้าวแห่งกระบวนยุทธ สิ่งเหล่านั้นถ้าเราวิเคราะห์ให้ดี สิ่งนั้นก็จะเป็นการพัฒนาโดยใช้ฐานแห่งปัญญาโดยแท้จริง
ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ชายชาญ วงศ์ชิดวรรณ ใน ความรู้คือพลัง
เป็นกำลังใจนะคะ
กัลยา มิขะมา