๑๗๖. ข้าวกับคุณค่า..ภูมิปัญญาไทย


รุ่นก่อนคุณปู่คุณย่าของเรา.. ยังไม่มีเครื่องเกี่ยวข้าว ไม่มีเครื่องสีข้าว ต้องใช้การฟาดแบบนี้ กว่าจะได้ข้าวมาต้องลงทุนลงแรง ความยากลำบากของคนสมัยก่อน ทำให้เห็นคุณค่าของข้าว...รักในคุณค่าของทุกสิ่ง ..ที่ได้มาด้วยความเพียรพยายาม..

เก๊ะ..หรือ จักรกฤษ ดอกกระถิน เดินทางมาถึงโรงเรียนพร้อมเพื่อนสนิทที่อยู่ข้างบ้าน นักเรียน ป.๖ ทุกคนยกมือไหว้ด้วยรอยยิ้มที่คุ้นเคย..พี่เก๊ะ ของเด็กๆเป็นหนุ่มโสด..ที่มีจิตอาสาพัฒนาชุมชนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เคยมาช่วยเหลือกิจกรรมของโรงเรียนอยู่เสมอ ...

ในระยะหลัง..เก๊ะ..ไม่ค่อยได้เข้ามา เนื่องจากโรงเรียนมีครูนิรุต..เป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ แต่ทุกปี ผมก็มีโอกาสได้พานักเรียนไปเรียนรู้"..สวรรค์บ้านไพร " ในไร่นาสวนผสมของเก๊ะ ในพื้นที่ ๔ ไร่ มีทั้งการปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่และทำนา นาของเก๊ะ ได้ชื่อว่า ๑ ไร่ ๑ แสน ไร้สารเคมี

วันนี้..เก๊ะ..ครูภูมิปัญญาของโรงเรียน จะมาสอนการฟาดข้าวให้นักเรียน ..ด้วยเครื่องมือที่เก๊ะทำแบบง่ายๆ แต่แข็งแรง เป็นไม้ไผ่ ๒ อัน ผูกปลายไม้ด้วยเชือกยาวประมาณ ๑ ฟุต

นักเรียนช่วยกันขึงผ้ากั้นไว้ ไม่ให้เมล็ดข้าวกระเด็นไปไกล เก๊ะกับเพื่อนอธิบายวิธีสอดไม้แล้วขัดมัดข้าวไว้ให้แน่น เวลาฟาดข้าวจะได้ไม่หลุด และบอกด้วยว่า วิธีนี้เป็นการฟาดข้าวแบบดั้งเดิม...

ด.ช.นิก..หัวหน้าห้อง เป็นคนแรกที่เรียนรู้แล้วลงมือฟาดอย่างแรง มัดข้าวหลุดกระเด็น เรียกเสียงฮา เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง แต่พอให้..ด.ญ.ขวัญ..ฟาดบ้าง แลดูทะมัดทะแมงมาก..เมล็ดข้าวร่วงพรู น้องๆที่มายืนดูต่างชื่นชมพี่ขวัญ ทำให้พี่ขวัญอาย จนลืมเขย่ามัดข้าว เพื่อให้ข้าวร่วงหล่นให้หมด...

ด.ช.เพชร..ผู้มีรูปร่างผอมสูง ขอลองบ้าง ด้วยความมั่นอกมั่นใจ พยายามยกมัดข้าวอย่างสุดแรง พอฟาดลงพื้น เพชรเสียหลักล้มทับข้าว น้องๆหัวเราะชอบใจ เพชรไม่เจ็บ ลุกขึ้นมาแล้วก็อมยิ้ม พร้อมกับเสียงบ่นเบาๆ... "ทำไมมัดข้าวหนักจัง"

เก๊ะ..บอกนักเรียนว่า รุ่นก่อนคุณปู่คุณย่าของเรา.. ยังไม่มีเครื่องเกี่ยวข้าว ไม่มีเครื่องสีข้าว ต้องใช้การฟาดแบบนี้ กว่าจะได้ข้าวมาต้องลงทุนลงแรง ความยากลำบากของคนสมัยก่อน ทำให้เห็นคุณค่าของข้าว...รักในคุณค่าของทุกสิ่ง ..ที่ได้มาด้วยความเพียรพยายาม..

ด.ญ.ดาว..เธอแข็งแรงกว่าเพื่อน ยืนยิ้มกริ่มอยู่นาน ขอฟาดข้าวกับเขาบ้าง เธอฟาดเต็มแรงและเขย่าทันที ข้าวร่วงหล่นจนเกือบหมด มีเสียงฮือฮาดังไปทั่ว เหมือนว่าเธอฟาดครั้งเดียว ..ได้ข้าวมากกว่าเพื่อนหลายคน

เสร็จแล้ว ข้าวเมล็ดใหญ่สีเหลืองอร่าม ยังมีเศษฟางข้าวปะปนอยู่ เก๊ะ..จึงสอนการฝัดข้าว บอกนักเรียนไม่ต้องเกร็งมือ เอียงกระด้งเล็กน้อย เศษฟางก็ล่องลอยออกไปอย่างง่ายดาย นักเรียนช่วยกันตักข้าว ใส่กระสอบ ได้ข้าวเกือบเต็มกระสอบ ก่อนที่นักเรียนจะยกไปเก็บเพื่อสีเป็นข้าวกล้องต่อไป ได้ถ่ายรูปกับพี่เก๊ะ..ไว้เป็นที่ระลึกด้วย

ก่อนกลับ.. เก๊ะบอกว่า นักเรียนโชคดี ที่โรงเรียนมีการทำนา นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ได้เรียนรู้การทำนาและฟาดข้าวแบบดั้งเดิม เป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาไทย..ปีหน้า..เก๊ะอยากให้ทำนาอีก และจะมาช่วยดำนากับเด็กๆด้วย

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 598860เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2015 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2015 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เขียนได้ดีมาก..เห็นภาพเลยค่ะ

ข้าวไทย(ที่ไม่เน่า) โดยเฉพาะ ข้างหมอมะลิ ดีทีสุดครับ

ขอบคุณครับ...ปีหน้าจะปลูกข้าวหอมมะลิครับ

สุดยอดค่ะ ท่าน ผอ. นักเรียนได้ลงมือทำ ไม่ลืมแน่นอนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท