Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

​กรณีศึกษาน้องทัศนัย แห่ง อำเภอตะโหมด : ความเป็นมาและข้อเสนอในการจัดการเบื้องต้น


กรณีศึกษาน้องทัศนัย แห่ง อำเภอตะโหมด : ความเป็นมาและข้อเสนอในการจัดการเบื้องต้น

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เอกสารเพื่อคุณดาวสวรรค์ ชัยเดช แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://drive.google.com/file/d/0BzawtIMOMfMTR0NHW...

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

---------

สารบาญ

----------

๑. บทนำ : แนวคิดพื้นฐานของงาน (หน้า ๒)

๒. ความเป็นมาของเรื่อง (หน้า ๒)

๓. ข้อเท็จจริงเบื้องต้นของน้องทัศนัย ตลอดจนปัญหาและผลกระทบจากปัญหาที่ประสบในปัจจุบันนี้ (หน้า ๔)

๔. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ? อย่างไร ? (หน้า ๗)

๕. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการปกครอง และอำเภอป่าบอน มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อน้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ? (หน้า ๘)

๖. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการปกครอง และอำเภอตะโหมดมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่น้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ? (หน้า ๑๐)

๗. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวง ศึกษาธิการ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบอำเภอตะโหมด ตลอดจนโรงเรียนป่าบอนและโรงเรียนบ้านท่าเชียดมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ? อย่างไร ? (หน้า ๑๒)

๘. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลตะโหมดย่อมมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับรองสิทธิในสุขภาพดีของน้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ? (หน้า ๑๓)

๙. บทสรุปและข้อเสนอแนะ : ความร่วมมือใน ๕ ลักษณะเพื่อจัดการสิทธิในสุขภาวะของน้องทัศนัยและบุคคลในสถานการณ์เดียวกับน้องทัศนัยควรจะเป็นเช่นใด ? (หน้า ๑๔)

-------------------

เอกสารแนบท้าย

----------------------

๑. หนังสือรับรองการเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ออกโดยโรงพยาบาลป่าบอน เพื่อเด็กชายไม่มีชื่อตัว แต่มีชื่อสกุลว่า "จันทับวงศ์" จากนางอังคณา จันทับวงศ์ โดยไม่ระบุเลขประจำตัวประชาชน และไม่ระบุชื่อบิดา (หน้า ๒๐)

๒. หนังสือโรงพยาบาลป่าบอนที่ พท ๐๐๓๓.๓๐๗/๘/๑๘๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงนายทะเบียนอำเภอป่าบอนเพื่อการทำสูติบัตรของเด็กชายไม่มีชื่อตัว แต่มีชื่อสกุลว่า "จันทับวงศ์" จากนางอังคณา จันทับวงศ์ (หน้า ๒๑)

๓. สำเนาทะเบียนนักเรียนที่จัดทำโดยนายธวัชชัย ภักดีวานิช นายทะเบียนโรงเรียนบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เกี่ยวกับเด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ (หน้า ๒๒)

๔. รูปของเด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ในสำเนาทะเบียนนักเรียนที่จัดทำโดยนายธวัชชัย ภักดีวานิช นายทะเบียนโรงเรียนบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง (หน้า ๒๔)

---------------------------------------

๑. บทนำ : แนวคิดพื้นฐานของงาน

--------------------------------------

งานเขียนฉบับนี้ทำขึ้นอย่างเป็นปกติในชีวิตวิชาการของผู้บันทึกในช่วงเกือบ ๓๐ ปีหลังของชีวิต กล่าวคือ เป็นการค้นคว้าเพื่อตอบคำถามบุคคลรอบด้านเกี่ยวกับการจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลของมนุษย์ในสังคมไทย เป็นที่ชัดเจนว่า งานนี้จัดเป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนา และเป็นงานวิจัยทางนิติศาสตร์ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ที่หารือเข้ามา อาจจะเป็น (๑) บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา หรือ (๒) ภาคเอกชนที่สนับสนุนเจ้าของปัญหา หรือ (๓) ภาคราชการที่สนับสนุนเจ้าของปัญหา หรือ (๔) ภาควิชาการที่เข้ามาศึกษาในเรื่องการรับรองสถานะบุคคลของมนุษย์ในสังคมไทย หรือ (๕) ภาคการเมืองที่เข้ามาทำงานปฏิรูปข้อกฎหมายและข้อนโยบายในเรื่องการรับรองสถานะบุคคลของมนุษย์ในสังคมไทย แต่สำหรับงานเขียนฉบับนี้ เป็นเพื่อคุณดาวสวรรค์ ชัยเดช ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อการขจัดปัญหาความไร้รัฐของเด็กชายน้อยอายุราว ๑๓ ปีในอำเภอตะโหมด ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

---------------------------

๒. ความเป็นมาของเรื่อง

-------------------------

เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๙.๒๗ น. คุณดาวสวรรค์ อีเมลล์มาหารือ โดยตั้งหัวข้ออีเมลล์ว่า “ขอความรู้หน่อยค่ะ” และอีเมลล์มีใจความว่า

“สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูชื่อดาวสวรรค์ ชัยเดช เคยเป็นฝ่ายเลขามาเจสติก สท ค่ะ ปัจจุบันทำงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพัทลุง มีเรื่องขอคำแนะนำจากอาจารย์ค่ะ เนื่องจากมีเด็กนักเรียน ป.๖ ไม่มีเลข ๑๓ หลัก มีเอกสารอย่างเดียวคือหนังสือรับรองการเกิด ของ รพ ป่าบอน จ.พัทลุง สำหรับข้อมูลของแม่เด็กทราบว่าเป็นคนจังหวัดเชียงราย ออกจากบ้านตั้งแต่ ๕ ขวบ ไม่มีเอกสารติดตัวเลย เลข ๑๓ หลักก็ไม่มี ไม่สามารถจำบ้านและชื่อพ่อและแม่ได้ เนื่องจากไม่เคยกลับไปที่จังหวัดเชียงรายเลย ปัจจุบันแม่เด็กอายุประมาณ ๔๐ ปี ส่วนพ่อของเด็กไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะแม่เด็กไม่บอก ปัจจุบัน เด็กอาศัยอยู่กับคนที่แม่เด็กเคยจ้างเลี้ยงตอนคลอดใหม่ๆ สำหรับแม่เด็ก อาศัยอยู่ที่จังหวัดสตูลค่ะ หนูขอคำแนะนำจากอาจารย์หน่อยค่ะ เพราะน้องเป็นเด็กตั้งใจเรียนค่ะ ขอบคุณค่ะ ดาวสวรรค์”

ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๗.๐๖ น. ผู้บันทึกจึงตอบอีเมลล์ไปว่า

“ขอเอกสารดังนี้นะคะ (๑.) ภาพบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของน้อง (๒.) ภาพ ท.ร.๓๘ ข. ของน้อง (๓.) คุณแม่ของน้องถือเอกสารอะไร ขอดูหน่อยค่ะ ถ้าเป็น เลข ๖ หรือ ๗ ก็จะได้พัฒนาสิทธิให้เลย (๔.) ถ้าแม่ไม่มีอะไร ก็คงหนักหน่อย (๕.) ให้เรียนหนังสือไปเรื่อยๆ และ (๖.) เด็กมีหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าที่เรียกเล่นๆ ว่า "ท.๙๙" พาไปเช็คสิทธิกับโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรนะคะ อย่างน้อยขอภาพบัตรของน้องมาก่อนนะคะ จะได้แจ้ง อ.วีนัส และครูหยุย อ.แหววค่ะ ปล.แนบเรื่องคุณฟ้ามาให้อ่านค่ะ”

ผู้บันทึกแนบหนังสือหารือ อ.วีนัส สีสุข รักษาการผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร เรื่องคุณฟ้า ซึ่งประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง เพราะออกจากบ้านเกิดตั้งแต่วัยเยาว์ และไม่ปรากฏว่ามีเอกสารทางทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลกเพื่อรับรองตัวบุคคล คุณฟ้าเป็นชาวเขาที่มาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรื่องของคุณฟ้าเป็นข้อหารือมาจากบ้านเด็กฯ และ พมจ.สงขลา ผู้บันทึกเห็นว่า การยกเรื่องในลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ พม. และเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กและเยาวชนในลักษณะนี้ต่อกรมการปกครอง ย่อมน่าจะนำไปสู่การจัดการปัญหาที่สาเหตุ และมีประสิทธิภาพ

เมื่อ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๗.๕๘ น. คุณดาวสวรรค์อีเมลล์ตอบมาว่า:

“จากการสอบถามข้อมูลจากอาจารย์ที่โรงเรียน น้องไม่มีเอกสารอะไรเลย มีเท่าที่ดาวส่งให้อาจารย์ดูค่ะ สำหรับแม่ของเด็กไม่มีเอกสารอะไรเลย น้องชื่อเด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ค่ะ เดียวจะถามข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์ที่โรงเรียนให้อีกครั้งค่ะ”

เมื่อ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๙.๓๐ น. คุณดาวสวรรค์อีเมลล์ตอบมาว่า

“ดาวประสานขอทะเบียนนักเรียนให้แล้วค่ะ และจากการสอบถามน้องไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านและบัตร ปัจจุบันอาศัยกับคนที่แม่เด็กจ้างเลี้ยงตอนที่เด็กคลอดใหม่ ส่วนแม่อาศัยอยู่ที่จังหวัดสตูล และจากการสอบถามจากอาจารย์ซึ่งได้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่อำเภอเมื่อวาน ทราบว่าจะส่งเรื่องไปที่จังหวัด เนื่องจากไม่เคยเจอเคสแบบนี้ค่ะ”

ในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๓๗ น. คุณดาวสวรรค์ส่งข้อเท็จจริงอีกทางเฟซบุ๊คว่า น้องทัศนัยเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมที่ ๓ ที่โรงเรียนวัดตะโหมด พอถึงชั้นประถมที่ ๓ ภาคการศึกษาที่ ๒ ก็ย้ายมาที่โรงเรียนบ้านท่าเชียด ทั้งสองโรงเรียนอยู่ในอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้น คุณดาวสวรรค์ให้ข้อเท็จจริงอีกว่า ปัจจุบัน น้องทัศนัยอาศัยอยู่กับคนที่รับจ้างเลี้ยง ซึ่งมารดาของน้องจ้างเลี้ยงมาตั้งแต่ตอนคลอด

เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ “ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย โทรมาหารือข้อกฎหมายกฎหมายและข้อนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้บันทึกจึงกราบเรียนท่านถึงปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของน้องทัศนัย ท่านจึงให้ผู้บันทึกสรุปปัญหาของน้องให้ท่านเพื่อที่จะเข้าจัดการต่อด้วย ท่านมีดำริว่า จะเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเด็กไร้ที่พึ่งเพื่อหารือค่ะ ในโอกาสนี้ ก็จะถือโอกาสจัดการให้เป็นระบบ

ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เช่นกันในเวลา ๑๗.๐๖ น. คุณดาวสวรรค์ส่งข่าวมาทางเฟซบุ๊คว่า เธอนัดที่จไปหารือปลัดอำเภอปากบอนอีกครั้งในวันที่ ๒๕ หรือ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งผู้บันทึกก็ได้เสนอให้คุณดาวสรรค์บอกคุณปลัดดังกล่าวว่า “บอกท่านได้ค่ะว่า อ.แหววจะทำหนังสือกราบเรียนท่านอธิบดีกรมการปกครองให้ค่ะ ท่านจะได้ทำงานอย่างสบายใจ มีอะไรที่ยังล่าช้า จะได้เตรียมอธิบายกรม เป็นการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน”

ผู้บันทึกได้เสนอต่อคุณดาวสวรรค์ว่า “หน่วยงานของ พม ที่อยู่ ตจว ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการ ยิ่งเป็นศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เป็นหน่วยงานใหม่ ผู้ปฏิบัติยังทำไม่ค่อยถูก เป็นความโชคดีของดาวที่อยู่ สท และเป็นฝ่ายเลขามาเจสติก ที่มีโอกาศได้รู้จักกับผู้เชีี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ค่ะ”

นอกจากนั้น ผู้บันทึกยังตระหนักว่า การสร้างระบบการจัดการเด็กไร้ที่พึ่งนี้เป็นเรื่องที่ท่านขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ความสนใจตั้งแต่เมื่อเธอดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ และในวันนี้ เธอก็มารับหน้าที่ดูแลคนไร้ที่พึ่งที่มีกฎหมายในระดับรัฐสภาเป็นของตัวเอง ซึ่งคุณดาวสวรรค์ก็เห็นว่า เป็นโอกาสที่ท่านขวัญวงศ์จะได้ส่ังการและมีแนวทางให้ จนท ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทำงานต่อไป ดังนั้น เราจึงคิดว่า หนังสือสรุปความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่ขจัดปัญหาความไร้รัฐของน้องทัศนัยนั้น จะต้องมีไปถึงท่านขวัญวงศ์อีกด้วย

ในท้ายที่สุด เราก็คงต้องไม่ลืมที่จะสำเนาหนังสือนี้ไปถึงท่านศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Majestic Meeting” ด้วยว่า ผู้บันทึกและคุณดาวสวรรค์อยากให้เรื่องของน้องทัศนัยและคุณอังคณา ผู้เป็นมารดา จะทำให้เกิดการจัดการปัญหาคนไร้รัฐที่ยังตกค้างอยู่ในภาคใต้ของสังคมไทย ซึ่งอาจจะไม่คุ้นชินกับปัญหาในลักษณะนี้

------------------------------------------

๓. ข้อเท็จจริงเบื้องต้นของน้องทัศนัย ตลอดจนปัญหาและผลกระทบจากปัญหาที่ประสบในปัจจุบันนี้

----------------------------------------

ปรากฏตามหนังสือรับรองการเกิดที่ ๑๕๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ออกโดยโรงพยาบาลป่าบอน เลขที่ ๘๖ ถนนเพชรเกษม หมู่ ๗ ตำบลว้าใหม่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ว่า เด็กชายไม่มีชื่อตัว แต่มีชื่อสกุลว่า "จันทับวงศ์" สัญชาติไทย เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ เวลา ๖.๐๘ น. ณ โรงพยาบาลป่าบอน จากนางอังคณา จันทับวงศ์ โดยไม่ระบุเลขประจำตัวประชาชน และไม่ระบุชื่อบิดา แต่ระบุว่า เป็นบุตรลำดับที่ ๓ ในจำนวน ๓ คน ผู้ทำคลอดมีชื่อว่า นางสาวพรนภา คุ่ยเบี้ยว อยู่ในครรภ์นาน ๔๐ เดือน นำหนัก ๒,๙๐๐ กรัม ผู้ลงนามรับรองการเกิดมีชื่อว่า "นางสงวนศรี ไชยทองรักษ์ ดังปรากฏเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๑ ในหน้า ๒๐

ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ นางสาวอรนุช จันทร์เกียรติกุล ปฏิบัติงานโรงพยาบาลป่าบอน ได้ลงนามในหนังสือโรงพยาบาลป่าบอน ที่ พท ๐๐๓๓.๓๐๗/๘/๑๘๓ ถึงนายทะเบียนอำเภอป่าบอน โดยมีใจความว่า "พร้อมหนังสือฉบับนี้ ขอส่งหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ของ ดช.จันทับวงศ์ ซึ่งโรงพยาบาลป่าบอนได้ออกตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๒๓ มาเพื่อขอให้นายทะเบียนรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตร เพื่อเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้งต่อไป" เราพบว่า หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ที่ออกแก่เด็กชายจันทับวงศ์ ถูกแนบมาเป็น "สิ่งที่ส่งมาด้วย" กับหนังสือนี้ นอกจากนั้น นางสาวสงวนศรี ไชยทองรักษ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ยังได้ลงนามท้ายหนังสือและระบุว่า "รับรองถ่ายจากสำเนาใบแจ้งเกิดจริง"

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องของน้องทัศนัยมาถึงการพิจารณาของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง กลับไม่ปรากฏว่า น้องทัศนัยได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย น้องจึงประสบปัญหาความไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลโดยสิ้นเชิง

ปรากฏต่อไปตามสำเนาทะเบียนนักเรียนที่จัดทำโดยนายธวัชชัย ภักดีวานิช นายทะเบียนโรงเรียนบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เอกสารนี้ติดรูปที่อ้างว่า เป็นน้องทัศนัย และมีรายละเอียดดังต่อไปนี้(๑) เลขที่ประจำตัว น่าจะเป็น "๒๐๖๓" (๒) ชื่อนักเรียนและนักศึกษา ก็คือ เด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ (๓) วันเดือนปีเกิด ก็คือ วันที่สิบเจ็ด เดือนกรกฎาคม พ.ศ.สองพันห้าร้อยสี่สิบหา (๔) สถานที่เกิด ก็คือ บ้านว้าใหม่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง (๕) ชื่อบิดาและมารดา ก็คือ นางอังคณา จันทับวงศ์ (๖) อาชีพของบิดาและมารดา ก็คือ รับจ้าง (๗) สถานศึกษาเดิม ก็คือ โรงเรียนวัดตะโหมด (๘) เหตุที่ย้าย ก็คือ ย้ายติดตามผู้ปกครอง (๙) วันเข้าเรียน ก็คือ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ (๑๐) ที่อยู่ปัจจุบัน ก็คือ บ้านเลขที่ ๖๘ หมู่ ๔ ตำบลคลองใหญ่ ตะโหมด และ (๑๑) ความรู้เดิม ก็คือ กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาที่ ๓

โดยสรุปในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น เด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ หรือที่เราเรียกในบันทึกนี้ว่า “น้องทัศนัย” ตกเป็นคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง จึงไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล และถูกถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งโดย(๑) ข้อสมมติของมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และ (๒) ข้อสันนิษฐานของมาตรา ๕๗ – ๕๘ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยตกเป็นผู้ละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาที่ว่า “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษในการกระทำที่ตนมิได้กระทำ” จะเห็นว่า น้องทัศนัยมิใช่คนที่เกิดนอกประเทศไทย และเดินทางเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต น้องเป็นคนที่เกิดในประเทศไทย แต่มีปัญหาที่การจดทะเบียนคนเกิดยังไม่ครบขั้นตอนที่กฎหมายไทยในขณะที่น้องเกิดกำหนด ดังนั้น การที่น้องตกเป็นคนต่างด้าวที่ผิดตามกฎหมายคนเข้าเมือง จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐที่ยังไม่รักษาการตามกฎหมายให้ถูกต้องจึงจะต้องรีบจัดการความผิดพลาดครั้งนี้ และเยียวยาความเสียหาย เพื่อมิให้ประเทศไทยตกเป็นผู้ละเมิดข้อ ๑๑ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๕ แห่ง กติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยอย่างชัดเจน

------------------------------------------------

๔. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ? อย่างไร ?

------------------------------------------------

โดยข้อเท็จจริงที่กล่าวมา เราก็จะเห็นว่า การจดทะเบียนคนเกิดให้แก่น้องทัศนัยใน พ.ศ.๒๕๔๕ อาจจะไม่บรรลุจนครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเราไม่พบว่า น้องถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย หรือรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก

ดังนั้น จึงเป็นความถูกต้องที่คุณดาวสวรรค์ แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง ซึ่งเป็นหน่วยงานในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของรัฐไทยที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะดูแลการสงเคราะห์ “เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในความอุปการะหรือการสงเคราะห์” จะยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับอำเภอป่าบอน เพื่อดำเนินการขอแจ้งการเกิดให้แก่น้องทัศนัยให้ครบขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างไม่ชักช้า ในขั้นตอนที่อำเภอป่าบอนอาจมิได้กระทำให้ลุล่วงไปในราววันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการสิทธิในสุขภาวะของน้องทัศนัย ที่สำคัญ ก็คือ (๑) อำเภอตะโหมด (๒) โรงเรียนบ้านท่าเชียด และ (๓) โรงพยาบาลตะโหมด

บทบัญญัติแรก - มาตรา ๑๙/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

“เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

บทบัญญัติที่สอง -ข้อ ๕๙/๑ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยข้อ ๕ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑

“เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามรายชื่อหน่วยงานที่กระทรวงมหาดไทยประกาศซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ขอแจ้งการเกิดให้กับเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในความอุปการะหรือการสงเคราะห์ ให้ดำเนินการ ดังนี้

(๑) เรียกตรวจบัตรประจำตัวผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านของหน่วยงานที่ให้การอุปการะหรือดูแลช่วยเหลือเด็กที่ขอแจ้งการเกิด และหลักฐานการรับตัวเด็กไว้ดูแลหรืออุปการะ

(๒) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่

(๓) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. ๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

(๔) ดำเนินการตามข้อ ๕๙ (๔) (๕) และ (๖) หรือ (๗) แล้วแต่กรณี”

------------------------------------------------

๕. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการปกครอง และอำเภอป่าบอน มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อน้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ?

------------------------------------------------

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อำเภอป่าบอนมีหน้าที่ในการร่วมจดทะเบียนการเกิดอย่างถูกต้องและครบขั้นตอนเพื่อน้องทัศนัยมาตั้งแต่ในช่วงเวลาที่น้องเกิดในราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล การจดทะเบียนคนเกิดในทะเบียนราษฎรย่อมจะต้องทำใน ๓ ขั้นตอน กล่าวคือ (๑) การรับรองการเกิดโดยผู้ทำคลอดในรูปหนังสือรับรองการเกิด (๒) การรับรองการเกิดโดยนายทะเบียนตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และ (๓) การบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎร เมื่อการกระทำครบขั้นตอน คนเกิดที่ถูกรับรองและบันทึกก็จะมีสถานะเป็นราษฎรของรัฐเจ้าของทะเบียน

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณากรณีของน้องทัศนัย เราพบว่า โรงพยาบาลป่าบอนซึ่งได้ทำหน้าที่ดูแลการคลอดน้องของคุณแม่อังคณา ได้ออกหนังสือรับรองการเกิด ประเภท ท.ร.๑/๑ จะเห็นว่า การกระทำของโรงพยาบาลนี้ย่อมเป็นไปอย่างสำเร็จแล้วภายใต้มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งเป็นกฎหมายภายในของรัฐไทยที่รองรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรในเรื่องการรับรองการเกิดโดยผู้ทำคลอดในรูปหนังสือรับรองการเกิด อันเป็นขั้นตอนที่ ๑ ของการจดทะเบียนการเกิด (โปรดดู (๑) เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๑ หนังสือรับรองการเกิดที่ ๑๕๙/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ออกโดยโรงพยาบาลป่าบอน และ (๒) เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๒ หนังสือโรงพยาบาลป่าบอน ที่ พท ๐๐๓๓.๓๐๗/๘/๑๘๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ลงนามโดยนางสาวอรนุช จันทร์เกียรติกุล ปฏิบัติงานโรงพยาบาลป่าบอน ถึงนายทะเบียนอำเภอป่าบอน เพื่อส่งหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ของ ดช.จันทับวงศ์ไปขอออกสูติบัตร

แต่เมื่อน้องทัศนัยไม่มีสูติบัตรและไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงต้องเป็นหน้าที่ของอำเภอป่าบอนที่จะต้องย้อนหลังไปดำเนินการให้ครบขั้นตอนตามที่กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรกำหนด จะเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ออกสูติบัตรดังกล่าวย่อมเป็นความผิดอาญาดังที่กำหนดตามมาตรา ๑๕๗ แห่ง ประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ เพราะอำเภอดังกล่าวนี้ย่อมมีหน้าที่รับรองจุดเกาะเกี่ยวให้แก่คนเกิดในประเทศไทย ในสถานการณ์ดังน้องทัศนัย ตามมาตรา ๒๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ฉบับดั้งเดิม และการไม่ออกสูติบัตรนี้ให้แก่น้องทัศนัยย่อมจะมีผลทำให้น้องทัศนัยตกเป็น “เด็กไร้รัฐ” และทำให้ประเทศไทยตกเป็นผู้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศลายลักษณ์อักษรว่าด้วยการจดทะเบียนคนเกิด ซึ่งประเทศไทยย่อมจะต้องทำอย่างครบขั้นตอนและถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ ๒๔ (๒) แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Covenant on Civil and Political) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “CCPR” และยังเป็นไปตามข้อ ๗ แห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of Child) ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “CRC”

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บันทึกก็ขอมีข้อสังเกตว่า ปลัดอำเภอผู้ทำหน้าที่นายทะเบียนในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลป่าบอนเรื่องแจ้งการเกิดมายังอำเภอป่าบอนนั้น ก็อาจออกสูติบัตรแล้ว ก็เป็นได้ แต่ยังไม่มีการส่งมอบแก่โรงพยาบาลป่าบอนหรือมารดาของน้องทัศนัย ดังหลายกรณีที่เคยพบในอดีตที่ผ่านมา จึงขอให้นายอำเภอป่าบอนในปัจจุบันมีคำสั่งให้มีการค้นหาเอกสารการจดทะเบียนคนเกิดในช่วงเวลานั้น หรือหากไม่พบ ก็คควรมีการออกสูบัตรตามหน้าที่ให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายกำหนด หรือในกรณีที่นายอำเภอป่าบอนอยากมีความมั่นใจในในการจัดการเพื่อน้องทัศนัย ก็ควรรีบหารือเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนกลางอย่างไม่ชักช้า

------------------------------------------------

๖. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมการปกครอง และอำเภอตะโหมดมีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนคนอยู่ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้แก่น้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ?

------------------------------------------------

ตามข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังโดยคุณดาวสวรรค์ แห่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง ว่า ในปัจจุบัน น้องทัศนัยอาศัยอยู่กับคนที่มารดาจ้างเลี้ยงในอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง มิใช่อำเภอป่าบอนอีกต่อไป และนอกจากนั้น โรงเรียนที่น้องทัศนัยเรียนอยู่ กล่าวคือ โรงเรียนบ้านท่าเชียด ก็ตั้งอยู่ในอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ดังนั้น อำเภอตะโหมดจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องร่วมขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของน้องทัศนัยเช่นกัน ในฐานะอำเภอซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่น้องมีภูมิลำเนาตามกฎหมาย

การจดทะเบียนคนอยู่เพื่อน้องทัศนัยภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรปรากฏอยู่ภายใต้มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งกำหนดแนวคิดและวิธีการจัดการไว้ ๖ สถานการณ์ กล่าวคือ

ในสถานการณ์แรก หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยใน ท.ร.๑๔ น้องก็จะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๑๔ ในสถานะคนสัญชาติไทยตามบิดาหรือมารดา ทั้งนี้ เพราะน้องย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดน ภายใต้มาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ในสถานการณ์ที่สอง หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาและมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร น้องก็จะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๑๔ ในสถานะคนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ทั้งนี้ เพราะน้องย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ภายใต้มาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

ในสถานการณ์ที่สาม หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวใน ท.ร.๑๔ น้องก็จะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๑๔ ในสถานะคนต่างด้าวตามตามบิดาหรือมารดา ทั้งนี้ เพราะน้องย่อมมีสิทธิอาศัยถาวรตามบุพการีซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร

ในสถานการณ์ที่สี่ หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวใน ท.ร.๑๓ น้องก็จะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๑๓ ในสถานะคนต่างด้าวตามตามบิดาหรือมารดา ทั้งนี้ เพราะน้องย่อมมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามบุพการีซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยแบบไม่ถาวร กล่าวคือ ชั่วคราว ขอให้ตระหนักว่า น้องอาจมีสิทธิเข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองก็ได้ ทั้งนี้ ย่อมจะเป็นไปตามบุพการีนั่นเอง และบุพการีอาจจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองที่ต่างกัน ซึ่งน้องทัศนัยย่อมจะมีสิทธิตามบุพการีที่มีสถานะเป็นคุณต่อน้องมากที่สุด

ในสถานการณ์ที่ห้า หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งก็อาจจะเป็น ท.ร.๓๘/๑ หรือ ท.ร.๓๘ ก น้องก็จะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ หรือ ท.ร.๓๘ ก ตามบุพการี และจะมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนตามบุพการี ขอให้สังเกตว่า เมื่อบุพการีของน้องทัศนัยถูกบันทึกในทะเบียนประวัติ ก็ย่อมหมายความว่า บุพการีดังกล่าวนี้ย่อมไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง เพียงแต่การส่งกลับประเทศต้นทางหรือการส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ก็ยังทำไม่ได้ และบุตรย่อมจะมีในลักษณะเดียวกับบิดาหรือมารดา กล่าวคือ เป็น “ผู้เยาว์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย หรือ “เด็ก” ตามอนุสัญญาสิทธิเด็กฯ หรือ CRC แต่ไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง เป็นเพียงคนต่างด้าวที่รอการส่งกลับออกไปนอกประเทศไทย

ในสถานการณ์ที่หก หากฟังว่า น้องทัศนัยเป็นบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวซึ่งตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก น้องก็ยังจะต้องถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘ ก ในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง เพียงแต่การส่งกลับประเทศต้นทางหรือการส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ก็ยังทำไม่ได้ จึงเป็นเพียงคนต่างด้าวที่รอการส่งกลับออกไปนอกประเทศไทย

เมื่อพิจารณาหลักคิดในหลักกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแล้ว เราก็จะเห็นว่า การกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นสิ่งที่รัฐไทยจะต้องยอมรับรองให้แก่น้องทัศนัยโดยไม่อาจปฏิบัติได้เลย เพียงแต่การจะบันทึกไว้ในฐานข้อมูลใดนั้น ก็จะต้องทราบถึงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนทั่วไปของคุณอังคณา ผู้เป็นมารดา ดังนั้น นายอำเภอตะโหมดจึงต้องร่วมมือกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง และโรงเรียนบ้านท่าเชียดที่จะตามหาตัวคุณอังคณามาเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนของเธอผู้นี้ เพื่อที่จะบันทึกน้องทัศนัยให้ถูกต้อง

ในกรณีที่คุณอังคณาก็ยังมีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อำเภอตะโหมดก็มีหน้าที่ที่จะประสานกับอำเภอหรือเทศบาลหรือเขตที่เกี่ยวข้องในการขจัดปัญหาความไร้รัฐของคุณอังคณา ทั้งนี้ เพื่อให้น้องทัศนัยได้รับผลดีจากความสำเร็จในการจัดการปัญหาให้แก่คุณอังคณา

ข้อสังเกตประการสุดท้าย ก็คือ หากการจัดการปัญหาความไร้รัฐของน้องทัศนัยคงต้องใช้เวลานานมาก ก็ควรจะบันทึกน้องทัศนัยใน ท.ร.๓๘ ก และเมื่อน้องอายุเกิน ๕ ปี แล้ว ก็ควรจะออกบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่น้องเพื่อแสดงตนด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ นอกจากนั้น การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายนี้ยังจะทำให้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ตามข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Covenant on Civil and Political) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙

------------------------------------------------

๗. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบอำเภอตะโหมด ตลอดจนโรงเรียนป่าบอนและโรงเรียนบ้านท่าเชียดมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ? อย่างไร ?

------------------------------------------------

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้องทัศนัยเคยเรียนในโรงเรียนวัดตะโหมด ก่อนวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งก็หมายความว่า ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาที่ ๓ ตอนต้น และต่อมา ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ น้องทัศนัยก็มาเรียนอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าเชียดจนถึงปัจจุบัน

โดยพิจารณาประวัติการจัดการโดยกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเด็กนักเรียนที่ไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร จนประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน เราจะพบอย่างชัดเจนว่า โรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยมีหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่จะต้องสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่เด็กนักเรียนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่พบในโรงเรียนของตน

เมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณากรณีของน้องทัศนัย ซึ่งน่าจะมีอายุราว ๓ ปี แล้ว และก็น่าจะเข้าเรียนแล้ว หรืออาจเข้าเรียนในปีต่อมา น้องก็น่าจะได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก. แล้ว และน่าจะได้รับเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และได้รับการออกบัตรประจำตัวตามกฎหมายนี้แล้วเพื่อแสดงตน ซึ่งปฏิบัติการนี้เป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้เป็นไปตาม (๑) มาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ (๒) ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๓) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อยอมรับยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ (๔) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ. .... (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย)

ผู้บันทึกจึงรู้สึกแปลกใจที่น้องทัศนัยตกหล่นจากการสำรวจตามข้อกฎหมายและข้อนโยบายดังกล่าวมาตลอดเวลาเกือบ ๑๐ ปีที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งยังเป็นเรื่องที่มีมติคณะรัฐมนตรีที่เสนอโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติสนับสนุนอย่างหนักแน่น

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้น้องทัศนัยประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงอย่างเนิ่นนานไปกว่านี้ โรงเรียนทั้งสองตามข้อเท็จจริงนี้ก็ย่อมมีหน้าที่ไม่เพียงแต่รับรองสิทธิในการศึกษาให้น้องทัศนัยเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ประสานงานกับอำเภอตะโหมดในการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่น้องทัศนัยอีกด้วย

ดังนั้น ในวาระที่คุณดาวสวรรค์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หยิบยกเรื่องของน้องทัศนัยขึ้นมาตามหน้าที่ที่มีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.๒๕๕๗ ก็ไม่ทำให้โรงเรียนวัดตะโหมดและโรงเรียนบ้านท่าเชียด รวมถึงอำเภอป่าบอนและอำเภอตะโหมดหลุดพ้นจากการทำหน้าที่ตามกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ และยังไม่ได้ทำจนแล้วเสร็จ การประสานงานกันระหว่างหน่วยงานทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้น้องทัศนัยได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรอย่างไม่ชักช้า

------------------------------------------------

๘. ปัญหาและบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่เอื้อต่อการจัดการปัญหาของน้องทัศนัย : กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลตะโหมดย่อมมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการรับรองสิทธิในสุขภาพดีของน้องทัศนัยหรือไม่ ? อย่างไร ?

------------------------------------------------

แม้โรงพยาบาลตะโหมดจะไม่มีภารกิจที่จะต้องมาร่วมจัดการปัญหาความไร้รัฐของน้องทัศนัย แต่โรงพยาบาลนี้ก็น่าจะได้รับผลลบจากปัญหาความไร้เลขประจำตัวประชาชนของน้องทัศนัย อันทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถที่จะส่งงบประมาณมาให้โรงพยาบาลตะโหมดใช้ในการจัดบริการสาธารณสุขให้แก่น้องทัศนัย ดังนั้น การกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของโรงพยาบาลตะโหมเพื่อน้องทัศนัยในบันทึกนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งน้องทัศนัยและโรงพยาบาลตะโหมดเอง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า น้องทัศนัยอาศัยอยู่ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลตะโหมด ดังนั้น โดยหลักกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลตะโหมดที่จะต้องเข้าดูแลปัญหาสุขภาพของน้องทัศนัย ทั้งนี้ ไม่ว่า น้องจะมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลัก หรือไม่ ด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย Health for All โรงพยาบาลตะโหมดตลอดจนหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อำเภอตะโหมดไม่อาจปฏิเสธการให้บริการสาธารณสุขแก่น้องทัศนัย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับงบประมาณด้านสาธารณสุขที่กระทรวงการคลังจะส่งมายังโรงพยาบาลตะโหมดนั้น เราพบว่า เมื่อน้องทัศนัยยังไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเลย โรงพยาบาลตะโหมดก็จะไม่อาจได้รับงบประมาณทั้งผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผ่านกระทรวงสาธารณสุข ได้เลย

เราอาจตั้งข้อสังเกตต่อไปได้ว่า แม้ว่า น้องทัศนัยจะยังไม่อาจได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้ได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่าที่ดูแลโดย สปสช. แต่เมื่อน้องเป็นผู้ทรงสิทธิในการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนประเภทนักเรียน น้องก็ย่อมจะมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแบบได้เปล่า ซึ่งดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ เป็นไปภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพนี้ถูกเรียกกันในฝ่ายปฏิบัติว่า “ท.๙๙”

ดังนั้น การรับรองสิทธิของน้องทัศนัยใน ท.ร.๓๘ ก. ครั้งนี้ จึงจะส่งผลให้โรงพยาบาลตะโหมดได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขแก่โรงพยาบาลตะโหมดเพื่อน้องทัศนัยอีกด้วย

ผู้บันทึกเชื่อว่า น้องทัศนัยก็น่าจะเป็นหนึ่งใน “เด็กติด G” ซึ่งคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขแสวงหา การติด G ก็คือ การที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดระหัสให้แก่เด็กที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเพื่อรับรองสิทธิในการศึกษา เพราะเด็กดังกล่าวยังไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และการให้ระหัส G ก็จะทำให้กระทรวงการคลังทราบถึงจำนวนงบประมาณที่จะต้องส่งให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดบริการการศึกษาให้แก่เด็กดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงร้องขอให้กระทรวงการคลังส่งงบประมาณให้แก่ตนเพื่อการจัดการบริการสาธารณสุขให้แก่เด็กติด G เช่นกัน ซึ่งประเมินกันว่า เด็กติด G ในโรงเรียนไทยน่าจะมีอยู่ประมาณ ๗ หมื่นกว่าคน

ดังนั้น เมื่อผู้บันทึกเชื่อว่า น้องทัศนัยก็น่าจะเป็นเด็กติด G ผู้บันทึกจึงเสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตะโหมดเข้าสำรวจน้องทัศนัย และรายงานการพบตัวไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นข้อมูลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะใช้เป็นข้อมูลในการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อของบประมาณการจัดการบริการสาธารณสุขในส่วนนี้ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

---------------------------------------

๙. บทสรุป : ความร่วมมือใน ๕ ลักษณะเพื่อจัดการสิทธิในสุขภาวะของน้องทัศนัยและบุคคลในสถานการณ์เดียวกับน้องทัศนัยควรจะเป็นเช่นใด ?

--------------------------------------

ผู้บันทึกใคร่จะสรุปความเห็นในท้ายที่สุดของบันทึกนี้ว่า ควรจะต้องมีความร่วมมือใน ๕ ลักษณะเพื่อจัดการสิทธิในสุขภาวะของน้องทัศนัยและบุคคลในสถานการณ์เดียวกันกับน้องทัศนัย ที่ปรากฏตัวในสถาบันการศึกษาไทยแล้ว และกำลังจะปรากฏตัวในวินาทีต่อไป ดังต่อไปนี้

ในประการแรก ผู้บันทึกขอเสนอให้ฝ่ายวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นของส่วนราชการและเป็นของเอกชน เข้าทำการศึกษาปรากฏการณ์ดังน้องทัศนัย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลของรัฐ แต่กระบวนการจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบขั้นตอนไม่ได้เกิดขึ้น และเป็นเด็กซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อจัดการให้เด็กไร้รัฐในโรงเรียนมีสถานะเป็นเด็กมีรัฐโดยการจดทะเบียนคนอยู่ในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) แต่ก็มีกรณีตกหล่นจนทำให้ยังมีเด็กไร้รัฐอยู่อีกในโรงเรียนไทย การศึกษาวิจัยโดยภาควิชาการในความขัดข้องนี้จึงควรเร่งศึกษาและเสนอทางแก้ไข และควรทำใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑) งานวิจัยทางนิติศาสตร์โดยข้อเท็จจริง (Legal Science of Fact) เพื่อทราบถึงความมีอยู่ จำนวน และผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดแก่เด็กในโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ตลอดจนสถาบันการศึกษาในรูปแบบอื่น ดังเช่นน้องทัศนัย

(๒) งานวิจัยทางนิติศาสตร์โดยแท้ หรือเชิงกฎเกณฑ์ (Legal Science Proper or Normative Legal Science) เพื่อทราบถึงข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่ผูกพันประเทศไทย ตลอดจนส่วนราชการของรัฐไทยเพื่อการรักษาสิทธิของนักเรียนนักศึกษาไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่ปรากฏตัวในสถาบันการศึกษาไทย

(๓) งานวิจัยทางนิติศาสตร์โดยคุณค่าของกฎหมายและนโยบาย (Legal Science of Value) เพื่อทราบถึงข้อกฎหมายและข้อนโยบาย ตลอดจนทางปฏิบัติเพื่อรักษาการที่สร้างคุณค่าหรือทำลายคุณค่าของความยุติธรรมในสังคมไทย ทั้งนี้ เพื่อที่การค้นพบนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปข้อกฎหมายและข้อนโยบาย ตลอดจนการปรับทัศนคติของเหล่าผู้รักษาการตามข้อกฎหมายและข้อนโยบายให้สามารถจรรโลงความยุติธรรมในสังคมไทย อันหมายถึงสุขภาวะของมนุษย์ในสังคมไทย และความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทยนั่นเอง

ในประการที่สอง ผู้บันทึกขอเสนอให้ฝ่ายองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมายต่อเด็กไร้รัฐโดยสิ้นเชิงดังน้องทัศนัยเข้าจัดการตามอำนาจหน้าที่ให้บรรลุผลตามที่กำหนดทั้งในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนราชการที่ควรจะต้องเร่งจัดการปัญหาก็น่าจะมี ๔ ส่วนราชการ กล่าวคือ

(๑) กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง จังหวัดพัทลุง อำเภอป่าบอน และ อำเภอตะโหมด เพื่อการรักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร เพื่อจดทะเบียนคนเกิดและการจดทะเบียนคนอยู่ให้น้องทัศนัยอย่างครบขั้นตอนตามที่กฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศกำหนด

(๒) กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบอำเภอตะโหมด ตลอดจนโรงเรียนวัดตะโหมด และโรงเรียนบ้านท่าเชียด เพื่อรักษาการตามกฎหมายไทยทุกฉบับ ตลอดจนข้อนโยบายว่าด้วยสิทธิในการศึกษาและสิทธิของเด็กในวัยเรียน แม้น้องทัศนัยจะได้รับการรับรองสิทธิในการศึกษามาโดยตลอด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง แต่การปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อร่วมมือกับอำเภอตะโหมดในการบันทึกน้องทัศนัยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยยังไม่แล้วเสร็จ จึงควรจัดการให้แล้วเสร็จก่อนที่น้องจะจบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านท่าเชียด และมีอุปสรรคในการใช้สิทธิในการศึกษาในระดับต่อไป

(๓) กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ตลอดจนโรงพยาบาลป่าบอน และโรงพยาบาลตะโหมดนั้น เพื่อรักษาการตามกฎหมายไทยทุกฉบับ ตลอดจนข้อนโยบายว่าด้วยสิทธิในสุขภาพดีของเด็ก ในลักษณะเดียวกัน ผู้บันทึกขอแสดงความชื่นชมที่โรงพยาบาลป่าบอนพยามจะจดทะเบียนคนเกิดให้ครบขั้นตอนตามที่กำหนดในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เมื่อกระบวนการจดทะเบียนคนเกิดยังไม่แล้วเสร็จตามหนังสือของโรงพยาบาลป่าบอนใน พ.ศ.๒๕๔๕ การเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อราว ๑๓ ปีที่ผ่านมาของน้องทัศนัยจึงเป็นสิ่งที่ควรจะทำ และสำหรับโรงพยาบาลตะโหมดนั้น ผู้บันทึกก็ขอเสนอแนะให้เข้ามาจัดการสิทธิในหลักประกันสุขภาพให้แก่น้องทัศนัย และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะสร้างข้อนโนบายในรูปมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะและสิทธิของบุคคลต่อไป หลังจากที่เริ่มต้นทำโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘

(๔) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตลอดจน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ยกประเด็นของน้องทัศนัยขึ้นหารือภาควิชาการ กล่าวคือ ผู้บันทึกความเห็นทางกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทำงานวิชาการในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข้าสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่องของการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ที่ปรากฏตัวในสังคมไทย

ผู้บันทึกก็ขอแสดงความชื่นชมในบทบาทเชิงรุกเข้าจัดการปัญหาของคุณดาวสวรรค์ ชัยเดช แห่งศูนย์ดังกล่าว ผู้บันทึกจึงอยากจะเสนอให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ใช้ประสบการณ์การทำงานของคุณดาวสวรรค์ในการสร้าง “ขั้นตอนการทำงาน (Work Process or Work Protocol)” สำหรับการทำงานเพื่อคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นเด็กในสถาบันการศึกษาไทย ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ด้วยความสำเร็จในการทำงานของคุณดาวสวรรค์เพื่อน้องทัศนัยในครั้งนี้ ย่อมจะเป็น “ต้นแบบของการทำงาน” ที่ควรมีหนังสือสั่งการเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติ และการจัด Work Shop เพื่อเผยแพร่แนวคิดและวิธีการทำงานต่อไป ในส่วนที่เป็นอุปสรรคในการทำงานนั้น ก็ควรเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.๒๕๕๗ เพื่อจัดการอุปสรรคดังกล่าวทั้งที่สาเหตุและเป็นการเฉพาะหน้า แล้วแต่กรณี

ในประการที่สาม ผู้บันทึกขอเสนอให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ของรัฐบาลไทย อันเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของรัฐไทยที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ข้อนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อเด็กและอดีตเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาในสถาบันการศึกษาไทย เราคงตระหนักว่า ข้อนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถาบันการศึกษาไทยถูกสร้างสรรค์อย่างชัดเจนใน ๒ มติคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ กล่าวคือ (๑) ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ และ (๒) นโยบาย Education for All ซึ่งรับรองสิทธิในการศึกษาให้แก่บุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนใช้สถาบันการศึกษาเป็นกลไกเริ่มต้นสำรวจเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของนักเรียนนักศึกษาไร้รัฐไร้สัญชาติ ดังปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘

เราคงตระหนักอีกว่า ข้อนโยบายทั้งสองนี้ได้สร้างความสำเร็จมากมายในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาในการจัดการสิทธิให้แก่นักเรียนนักศึกษาไร้รัฐไร้สัญชาติ บางคนอาจบรรลุที่จะมีสถานะเป็นคนมีรัฐมีสัญชาติ บางคนอาจจะยังคงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าว แต่เรียนได้จนจบปริญญาบัตร เรื่องของน้องทัศนัยย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่ได้รับการรับรองสิทธิในการศึกษา และสิทธิในชื่อสกุล แต่อย่างไรก็ตาม น้องก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิที่สำคัญที่สุด ก็คือ สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

เราอาจจะต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดแก่น้องทัศนัยอาจจะเกิดขึ้นจากการที่มติคณะรัฐมนตรีทั้งสองอาจจะเก่าแล้ว จนเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการของรัฐที่เข้ามาทำงานในช่วงสิบปีหลังนี้ไม่รู้จัก และอาจมีความคลุมเครือในมติคณะรัฐมนตรีทั้งสอง หรือมีข้อนโยบายอื่นที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนมาสร้างความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รักษาการตามกฎหมาย

ดังนั้น การปฏิรูปมติคณะรัฐมนตรีทั้งสอง ตลอดจนการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนหนังสือสั่งการที่สร้างความสับสนต่างๆ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำโดยไม่ชักช้า หากจะย้อนหลังไปพิจารณาทางปฏิบัติของสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ก็อาจจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่เก่าแก่นี้ของประเทศไทยที่จะนับหนึ่งสำหรับการปฏิรูปเพื่อการจัดการประชากรของรัฐไทยอีกครั้งหนึ่ง มิใช่หรือ

ในประการที่สี่ ผู้บันทึกขอเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ของรัฐสภาไทย อันเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐไทยที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ข้อกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ”เพื่อ (๑) เด็กและอดีตเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาในสถาบันการศึกษาไทย และ (๒) เพื่อเด็กและอดีตเด็กที่ประสบปัญหาความไร้รากเหง้าทั้งแท้และเทียม อันนำไปสู่ปัญหาความไม่อาจกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ปัญหาความไร้สัญชาติ” เมื่อพิจารณาจากปัญหาของน้องทัศนัยแล้ว เราคงเดาได้ว่า ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดแก่น้องทัศนัยตั้งแต่ในช่วงเวลาเกิดในโรงพยาบาลป่าบอนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ ก็น่าจะเกิดจากการที่มารดาไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงไม่มีบัตรประจำตัวเพื่อแสดงความเป็นราษฎรไทย โดยการสืบเสาะของคุณดาวสวรรค์ มารดาของน้องทัศนัยเป็นเด็กที่ถูกนำมาจากจังหวัดเชียงรายตั้งแต่อายุ ๕ ปี และไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับครอบครัวตามกำเนิดเลย จึงอาจสรุปว่า มารดาของน้องทัศนัยก็คืออดีตเด็กไร้รัฐเพราะประสบปัญหาความไร้รากเหง้านั่นเอง เมื่อเธอผู้นี้มามีบุตร และไม่ประสบผลสำเร็จในการก่อตั้งครอบครัว จึงส่งผลให้น้องทัศนัยซึ่งไม่อาจสืบสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลจากมารดา ในประการแรก จึงเจอปัญหาต่อมา กล่าวคือ ไม่อาจสืบสายโลหิตจากบิดา ด้วยมารดาไม่ยอมบอกว่า ใครคือบิดาของน้องทัศนัย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเริ่มต้นนำงานวิจัยด้านการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมาศึกษากันในที่ประชุมทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติหลายครั้ง เพื่อยกร่างยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งต่อมาได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘นั้น ก็ยุติว่า ควรจะต้อง “ข้อนโยบายที่มีประสิทธิภาพ” และ “ข้อกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ” เพื่อจัดการสถานะและสิทธิให้แก่มนุษย์ในสังคมไทยที่ประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพราะ (๑) เป็นต้นทุนทางการศึกษาไทย กล่าวคือ เป็นนักเรียน/นักศึกษา/บัณฑิตในสถาบันการศึกษาไทย และ (๒) เป็นคนไร้รากเหง้าทั้งแท้และเทียม จนประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือปัญหาความเสมือนไร้รัฐไร้สัญชาติ

แต่จะเห็นว่า การจัดการตามเป้าหมายดังกล่าวมิได้รับการจัดการโดยฝ่ายบริหารของรัฐ ทั้งในระดับคณะรัฐมนตรี หรือระดับกระทรวง หรือระดับกรม จนแล้วเสร็จ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองและส่งเสริมบุคคลในทั้งสองสถานการณ์ และในหลายกรณี คนหนึ่งคนก็เผชิญทั้งสองปัญหา ตัวอย่างก็คือ น้องทัศนัยที่กำลังศึกษาอยู่ในงานเขียนฉบับนี้

ในท้ายที่สุด เพื่อจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดแก่บุคคลดังกล่าว ผู้บันทึก ซึ่งทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวมายาวนาน จึงเห็นว่า ควรที่ประเทศไทยจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายของรัฐสภา กล่าวคือ ในรูปแบบของพระราชบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนไร้รากเหง้าแล้ว เพื่อดูแลพวกเขาเหล่านี้ ตั้งแต่วันที่พลัดพรากจากบุพการี หรือบุพการีไม่มีศักยภาพที่จะเลี้ยงดู กฎหมายของรัฐสภาฉบับที่เสนอนี้ ควรจะสร้างแนวคิดและกลไกเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิอันจำเป็นเพื่อเหล่าคนไร้รากเหง้า ซึ่งก็คือ คนไร้ที่พึ่งรูปแบบหนึ่ง แต่การจัดการสิทธิของคนในสถานการณ์นี้ จะต้องใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งมิได้รักษาการโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การมีกฎหมายของรัฐสภาที่สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมจะนำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในประการที่ห้าและเป็นประการสุดท้าย ผู้บันทึกขอเสนอให้ฝ่ายเอกชน ซึ่งเป็นฝ่ายของประชาชน ที่กำลังดูแลเด็กไร้รัฐโดยสิ้นเชิงดังน้องทัศนัยเข้าให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อทั้งสี่ฝ่ายข้างต้น การทำงานอย่างมีส่วนร่วมและรับฟังกันน่าจะสร้าง “แผนปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด” ซึ่งภาคเอกชนที่เข้ามาทำงานนี้ อาจจะเป็นเพียงปัจเจกชน หรืออาจจะร่วมตัวกันแล้วในรูปของมูลนิธิ หรือสมาคม ก็เป็นได้

การช่วยกันให้ข้อมูลทางข้อเท็จจริง ก็จะทำให้ภาควิชาการและภาคราชการได้มีโอกาสตรึกตรอง และสร้างองค์ความรู้ในการจัดการได้ ในบางสถานการณ์ อาจไม่จำเป็นจะต้องรอการสร้างกฎหมายใหม่ของรัฐสภา ความสำคัญจึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่เรียนรู้สถานการณ์ร่วมกัน ซึ่งพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพในประสบการณ์ของผู้บันทึก ก็คือ

(๑) พื้นที่ที่สร้างโดยองค์กรที่ถืออำเภออธิปไตยของรัฐ กล่าวคือ (๑.๑) รัฐบาล หรือ (๑.๒) รัฐสภา ซึ่งในวันนี้ ก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นอกจากนั้น (๒) พื้นที่ที่สร้างโดยองค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในอดีต ก็ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาคนรากหญ้าที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

ตัวอย่างของความสำเร็จในการร่วมคิดของประชาสังคม ก็คือ ประสบการณ์ในอดีตที่ท่านวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และท่านเตือนใจ ดีเทศน์ ซึ่งเป็นคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ได้สร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อจัดการสถานะและสิทธิเพื่อมนุษย์ในสังคมไทยที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ ในช่วงที่ท่านเริ่มต้นทำงานเป็นสมาชิกวุฒิสภา จนมาถึงยุคที่ท่านทั้งสองทำงานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ความร่วมมือสร้างสรรค์งานในยุคนั้น เป็นการสร้างความร่วมมือจากคนในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง กล่าวคือ (๑) ภาควิชาการ (๒) ภาคราชการ ทั้งสายความมั่นคงแบบเก่าและใหม่ (๓) ภาคเอกชน/ชุมชน/ประชาชน (๔) ภาคการเมือง และ (๕) ภาคคนทำงานระหว่างประเทศ การปฏิรูปใหญ่ผ่าน (๑) พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ (๒) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ (๓) พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอดจนบางมาตราในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นไปได้ และยุติความคลุมเครือที่สร้างความอยุติธรรมทางกฎหมายลายลักษณ์อักษร

ผู้บันทึกจึงเสนอให้ท่านวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังทำงานเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และท่านเตือนใจ ดีเทศน์ ซึ่งในวันนี้ ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบปัญหาสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ที่ประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ได้นับหนึ่งอีกครั้งเพื่อสร้างการปฎิรูปกฎหมายและนโยบาย ตลอดจนทัศนคติเพื่อดูแลคนในสถานการณ์ดังน้องทัศนัยและมารดา ซึ่งไม่อาจจะพิสูจน์สิทธิในสัญชาติของประเทศใดเลยบนโลก และยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง

โดยสรุป ทั้ง ๕ ข้อเสนอแนะดังกล่าว จึงเป็นข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากผู้บันทึก ซึ่งเป็นคนในภาควิชาการ ที่มีประสบการณ์ทำงานกับเรื่องจริง กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขอโปรดพิจารณา และแลกเปลี่ยนกลับมา

ขอบพระคุณคุณดาวสวรรค์ ชัยเดช แห่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพัทลุง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่กรุณาตั้งโจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนาอันนี้มาให้ผู้บันทึกได้มีโอกาสทำงานรับใช้สังคม ขอกล่าว ขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่ง

--------------------------------------------------------------

เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๑

หนังสือรับรองการเกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ออกโดยโรงพยาบาลป่าบอน เพื่อเด็กชายไม่มีชื่อตัว แต่มีชื่อสกุลว่า "จันทับวงศ์" จากนางอังคณา จันทับวงศ์ โดยไม่ระบุเลขประจำตัวประชาชน และไม่ระบุชื่อบิดา

เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๒

หนังสือโรงพยาบาลป่าบอนที่ พท ๐๐๓๓.๓๐๗/๘/๑๘๓ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงนายทะเบียนอำเภอป่าบอนเพื่อการทำสูติบัตรของเด็กชายไม่มีชื่อตัว แต่มีชื่อสกุลว่า "จันทับวงศ์" จากนางอังคณา จันทับวงศ์

เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๓

สำเนาทะเบียนนักเรียนที่จัดทำโดยนายธวัชชัย ภักดีวานิช นายทะเบียนโรงเรียนบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เกี่ยวกับเด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์

เอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๔

รูปของเด็กชายทัศนัย จันทับวงศ์ในสำเนาทะเบียนนักเรียนที่จัดทำโดยนายธวัชชัย ภักดีวานิช นายทะเบียนโรงเรียนบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

หมายเลขบันทึก: 598859เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2015 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2015 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท