อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (8)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (8)

        โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) , ตอนที่ 2 (click) , ตอนที่ 3 (click) , ตอนที่ 4 (click) , ตอนที่ 5 (click) , ตอนที่ 6 (click) และตอนที่ 7 (click) ก่อนนะครับ

        ในตอนที่ 8 นี้   จะเสนอเรื่อง ระบบ Empowerment Evaluation

        ผมมีความเห็นว่า mega-project ด้านอุดมศึกษาที่กำลังจะเกิดนี้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่มีรูปแบบชัดเจนแน่นอนตายตัว   มีแต่ตัวปณิธานความมุ่งมั่นหรือเป้าประสงค์เท่านั้นที่ชัดเจนแน่นอน   ส่วนการปฏิบัติจะต้องมีความคล่องตัวดิ้นได้หรือปรับตัวได้ตลอดเวลา   คือต้องบริหารหรือจัดการแบบ chaordic ดังกล่าวแล้ว

        งานแบบนี้เป็นงานยาก   และต้องเผชิญแรงบีบคั้นจากหลายทิศทาง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงบีบคั้นเชิงผลประโยชน์   ผู้ตัองการผลประโยชน์บอกให้ตอบตกลง   ผู้สูญเสียผลประโยชน์ต้องการให้ปฏิเสธเช่นนี้   เป็นต้น   นอกจากต้องเผชิญแรงบีบคั้นภายนอกแล้ว   แรงบีบคั้นจากภายในกลุ่มผู้ร่วมงานกันเอง   แม้แต่ตัวเราเองคนเดียวในการทำงานแบบนี้   บางครั้งก็เกิดความไม่มั่นใจ   รวนเร   สรุปว่างานแบบนี้หลงทางได้ง่าย หรือพลาดพลั้งคล้าย ๆ ขับรถลงคูได้ง่าย   จึงต้องมีระบบประคับประคองเชิงประเมิน   สำหรับตรวจสอบความ "ตรงทาง" ไม่หลงทางอยู่ตลอดเวลา   โดยที่เป็นการประเมินแบบ "กัลยาณมิตร" คือไม่ใช่คอยจับผิด   ไม่ใช่คอยประเมินว่าปฏิบัติตรงตามแผนหรือไม่   แต่ประเมินว่ากำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กำหนดหรือไม่   การประเมินแบบนี้ในทางวิชาการเรียกว่า Empowerment Evaluation (EE)

        ทีม EE ควรเริ่มเข้ามาทำงานพร้อม ๆ กันกับทีมบริหาร "สำนักงานพัฒนาอุดมศึกษาเพชราภิเษก (องค์การมหาชน)"   โดยเข้ามาร่วมกันกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในระดับคุณค่า   ความเชื่อ   ปณิธานความมุ่งมั่น (Purpose) และทิศทาง   แต่ไม่ใช่ชัดเจนในระดับหน่วยนับ   เพราะจะละเอียดเกินไปทำให้ขาดความเป็นอิสระในการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของทีมบริหารจัดการ

         ทีม EE ควรทำงานคู่ขนานไปด้วยกันกับทีมบริหารโครงการ   คอยเก็บข้อมูลกิจกรรม   ตรวจสอบทิศทาง   และมี  feedback ทั้งในเชิงบวกและเชิงเตือนให้ระมัดระวัง   ทั้งต่อทีมบริหารและต่อคณะกรรมการนโยบายของโครงการ

สิ่งที่ทีม EE ไม่ควรทำ
- เข้าไปก้าวก่ายการบริหารจัดการ   ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินการ
- ฝากคนเข้าทำงาน
- ฝากให้ช่วยเหลือผู้สมัครรับทุน   ทั้งทุนวิจัยและทุนศึกษาต่อ
- ขอสิทธิพิเศษให้แก่สถาบันของตน
- การกระทำที่นำไปสู่การเล่นพวก   การลดหย่อยคุณภาพทั้งหลาย
- การกระทำที่นำไปสู่การทุจริตด้านเงินและผลประโยชน์อื่น ๆ
- audiiting

สิ่งที่ทีม EE ควรทำ
- ประเมินกิจกรรม  ผลลัพธ์  และชี้ให้เห็นว่าจะมีผลต่อเป้าหมายภาพใหญ่ของโครงการอย่างไรหรือไม่
- จัดทำเอกสารนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย  ทุกครั้งที่มีการประชุม   เน้นการเสนอกิจกรรม  ผลลัพธ์  ผลสำเร็จที่น่าชื่นชมและ challenges ต่อโครงการ
- คอยจับและรายงานภาพใหญ่   และทิศทางของโครงการ
- คอยจับและรายงานสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อโครงการ
- เก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและหรือมีส่วนได้รับ/เสียผลประโยชน์   เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
- ให้ Feedback ต่อคณะผู้บริหารโครงการ   ตามที่ผู้บริหารโครงการร้องขอ
- หน้าที่อื่น ๆ ตามสัญญาจ้าง

         โดยสรุป EE คืออีกพลังหนึ่งที่เข้ามาสร้าง synergy กับทีมบริหารโครงการ   ไม่ใช่เข้ามาตรวจสอบหรือจับผิด

          พรุ่งนี้จะเสนอความเห็นเรื่องระบบข้อมูลและระบบ ICT

วิจารณ์  พานิช
 26 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5988เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท