โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชน : เวทีคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน


กระบวนการเช่นนี้ไม่ใช่แค่การร่วม “ตรวจทาน-ชำระข้อมูลระบบสุขภาพชุมชน” เท่านั้น ผมมองว่านี่คือเวทีที่เป็นเสมือน “สะพานเชื่อมใจ” ให้ชาวบ้านและฝ่ายปกครอง หรืออื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ร่วมกัน เสมือนการจัดการความรู้ร่วมกัน คิดและเสาะหาต้นเหตุปัญหาร่วมกัน เพื่อผูกโยงไปสู่การคลี่คลายปัญหาร่วมกันแบบพี่ๆ น้องๆ บนฐานคิดของ "การมีส่วนร่วม”

หลังการเก็บข้อมูลชุมชนผ่านเครื่องมือต่างๆ อาทิ แบบสำรวจ สัมภาษณ์ สังเกตพฤติกรรมในวิถีประจำวันและกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนเครื่องศึกษาชุมชน 7 ชิ้น รวมถึงการสะท้อนข้อมูลทั้งหมดร่วมกันในหมู่นิสิตและคณาจารย์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงวาระการคืนข้อมูลให้กับชุมชน




คืนข้อมูลชุมชน : สร้างสะพานใจไขข้อกังขาแบบพี่ๆ น้องๆ

เวทีการคืนข้อมูลให้กับชุมชนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 เวลา 08.00-13.00 น. ณ ศาลาการเปรียญวัดสว่างชัยศรี

แต่กว่าจะเริ่มได้เวลาก็เคลื่อนไหลไปไม่น้อย เนื่องเพราะเช้าวันนี้เป็น “วันพระ” ชาวบ้านมีกิจกรรมทางศาสนายืดยาวกว่าวันธรรมดา ซึ่งผมว่าตรงนี้แหละคือประสบการณ์ของคนจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องพึงตระหนักไว้ด้วยเช่นกัน หรือถ้าไม่ใช่วันพระต่อให้เป็นวันปกติก็เถอะ ช่วงเวลา 08.00 น. ก็อาจจะยังลำบากอยู่บ้าง เพราะยังเป็นช่วงที่เกี่ยวโยงกับการถวายภัตตาหารเช้า หากสามารถออกแบบกิจกรรมในเช้านี้ให้นิสิตมาทำบุญตักบาตรไปในตัว แล้วค่อยๆ ประชาสัมพันธ์และชักชวนชาวบ้านให้ร่วมกิจกรรมต่อเนื่อง หรือกลับมาใหม่อีกครั้ง-ก็น่าจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว


การคืนข้อมูลในเวทีนี้ นิสิตเรียงลำดับเหมือนการสะท้อนข้อมูลเมื่อวาน กล่าวคือจากหมู่ที่ 1 ไปยังหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ตามลำดับ ข้อมูลวันนี้เป็นข้อมูลเชิงสถิติ ส่วนผู้ที่มาร่วมรับฟังข้อมูลในภาคชุมชน หลักๆ แล้วประกอบด้วยผู้แทนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯ อบต.นาดี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รวมถึงประชาชนทั่วๆ ไป


นพ.ชวลิต นิลวรางกูร : อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ กล่าวเปิดเวทีการคืนข้อมูล


โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบการคืนข้อมูลในทำนองนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นเสมือนการได้ร่วมตรวจทาน หรือ “ชำระข้อมูลชุมชน” ร่วมกัน เพราะข้อมูลส่วนใหญ่นิสิตจะเน้นเก็บสำรวจจาก “ปากคำชาวบ้าน” มีบางส่วนที่ถูกนำไปเทียบเคียงร่วมกับ “เอกสาร” สำคัญๆ ในชุมชน

ในบางประเด็นที่มีความคลาดเคลื่อน ผู้แทนชุมชนก็ทักท้วง อธิบาย หรือขยายความให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการ “ถามกลับ” มายังนิสิต เพื่อให้นิสิตได้อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนขานรับข้อมูลร่วมกันอีกครั้ง

เช่นเดียวกับบางประเด็นที่เป็นปัญหา ซึ่งมาจาก “ปากคำชาวบ้าน” เช่น เรื่องของยุงลาย น้ำประปา ร่องระบาย/ท่อระบายน้ำ ผู้แทน อบต.และ รพ.สต. ก็ลุกขึ้นมาบอกกล่าวแถลงความเชื่อมร้อยให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในแบบกัลยาณมิตร ทั้งที่ดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการ หรือกระทั่งความสำเร็จในระดับต่างๆ ของแผนหรือโครงการที่ขับเคลื่อนไปแล้ว




ครับ-กระบวนการเช่นนี้ไม่ใช่แค่การร่วม “ตรวจทาน-ชำระข้อมูลระบบสุขภาพชุมชน” เท่านั้น ผมมองว่านี่คือเวทีที่เป็นเสมือน “สะพานเชื่อมใจ” ให้ชาวบ้านและฝ่ายปกครอง หรืออื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้ร่วมกัน เสมือนการจัดการความรู้ร่วมกัน คิดและเสาะหาต้นเหตุปัญหาร่วมกัน เพื่อผูกโยงไปสู่การคลี่คลายปัญหาร่วมกันแบบพี่ๆ น้องๆ บนฐานคิดของ "การมีส่วนร่วม”


นี่คือมนต์เสน่ห์อีกมิติหนึ่งของ โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่คณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ได้ร่วมเทใจขับเคลื่อนในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” และ “บูรณาการศาสตร์” ขึ้นในชุมชนบ้านปอแดง ตำบลนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์




A-I-C : 4 ปัญหาร่วมและการทบทวนแผนพัฒนาชุมชนแบบเนียนๆ

ข้อมูลของทุกกลุ่ม จะถูกนำมาสร้างการมีส่วนร่วมในเวทีแบบ A-I-C ที่หมายถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ วินิจฉัยข้อมูลเพื่อออกแบบและตัดสินใจสร้างกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชน โดยมีอาจารย์คอยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” เพราะครั้งนี้เน้นกิจกรรม หรือปัญหาที่ชาวบ้านสามารถแก้ไขด้วยตนเองเป็นหัวใจหลัก เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักในศักยภาพตนเอง สามารถหยัดยืนสานต่ออะไรๆ ได้ด้วยตนเอง โดยมี “นิสิต” ผู้เป็นเสมือน “ลูกฮัก” ได้เป็นทั้ง “ลูกมือ-วิทยากร” หรือกระทั่งเป็น “ผู้ขอรับความรู้” จากชาวบ้านไปพร้อมๆ กัน

สำหรับประเด็นปัญหาเร่งด่วน หรือปัญหาที่ชาวบ้านให้ความสำคัญทั้ง 4 หมู่นั้น ประกอบด้วย...

  • 1) ยุงลาย
  • 2) ปวดกล้ามเนื้อ
  • 3) ยาเสพติด
  • 4) ท่อระบายน้ำ


ดร.ประเสริฐ ประสมรักษ์ : วิทยากรกระบวนการ หนึ่งในวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิภาคสนามฯ


ปัญหาทั้งสี่เรื่องนี้ ถูกหยิบยกมา “โสเหล่” ร่วมกันอีกครั้งโดยมี ดร.ประเสริฐ ประสมรักษ์ (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) ทำหน้าที่เป็นกระบวนกรเชื้อเชิญให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันอีกรอบถึงมูลเหตุปัญหา สถานการณ์ปัญหา แนวทางการแก้ไข ทั้งที่ทำอยู่แล้ว และยังไม่ได้ทำ ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่าง “ม่วนซื่น” (เว้านัวหัวม่วน) ในแบบอีสานๆ



ประเด็นดังกล่าวนี้ผมมองไปถึงกระทั่งว่าเป็นเสมือนเวทีของการทบทวนแผนของชุมชนไปในตัวด้วยซ้ำไป เพราะประเด็นทั้ง 4 เรื่องนี้น่าจะมีแผนพัฒนารองรับจาก รพ.สต. หรือ อบต. อยู่แล้ว รวมถึงกิจกรรมประจำและเชิงรุกที่ชาวบ้านได้ทำร่วมกัน ซึ่งนี่คืออีกครั้งของการทบทวน ประเมินผล หรือกระทั่ง SWOT แบบเนียนๆ ถึงแผนงานเหล่านั้นว่าจริงๆ แล้ว “ยังไง” และ “อย่างไร”

ยกตัวอย่างเช่น โครงการที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั้น การระดมความคิดสะท้อนให้เห็นว่าการนำเด็กและเยาวชนไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาเพียงอย่างเดียว ไม่น่าจะเป็นทางออกที่เข้มแข็งเสียทั้งหมด แต่ควรหันกลับมาสร้างการมีส่วนร่วมจาก “ผู้ปกครอง” ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ที่ท้าทายและมีพลังอย่างมหาศาล ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้รับการขานรับจากแกนนำชาวบ้าน เพื่อให้ อบต. หรือภาคส่วนอื่นๆ ได้ริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมทำนองนี้ร่วมกันกับชาวบ้านเสียที

หรือกระทั่งความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับ "ผังชุมชน" หรือ "แผนที่ชุมชน" ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาดียังไม่มีชุดความรู้ในเรื่องเหล่านี้เลย -




นิสิตได้เรียนรู้อะไรจากเวทีการคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน

ในเวทีการคืนข้อมูลให้กับชุมชนดังกล่าว นอกจากการทำให้รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นตรงกับความจริงของชุมชนแค่ไหน เป็นวัตถุดิบอันดีพอที่จะแปลงไปสู่กิจกรรมการพัฒนาได้แค่ไหน หรือชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากเวทีที่ว่านั้น

อย่างไรก็ดีผมยังมองว่าตัวนิสิตเอง หรือกระทั่งคณาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและผู้ซึ่งเป็นเสมือนผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้ ย่อมต้องประเมินผลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการประเมินผลที่เกิดขึ้นกับนิสิต ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าคณะทำงานทั้งหมดได้ตั้ง “โจทย์” ไปเช่นใด



แต่สำหรับผมแล้ว ผมเบิ่งมองแบบพื้นๆ เฉพาะ “เวที” ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลภาคสนาม เป็นต้นว่า

  • การออกแบบเวที รูปแบบการนำเสนอ การกำหนดเวลาการนำเสนอ
  • การคัดเลือกคนนำเสนอ การคัดเลือกพิธีกร
  • การออกแบบสื่อ การใช้ภาษา เทคนิคลูกเล่นลูกฮาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
  • การทำงานแบบเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • การต้อนรับขับสู้ชาวบ้าน การเชื้อเชิญคนเข้าร่วม
  • การจดบันทึก การถอดรหัสพฤติการณ์เชิงสุขภาพจากข้อมูล
  • การเชื่อมโยงข้อมูลในแบบองค์ทั้ง 4 หมู่ (มิใช่แค่สะท้อนว่าแต่ละหมู่เป็นอย่างไร)
  • ฯลฯ



หรือกระทั่งการได้เรียนรู้ว่าศาสตร์และศิลป์ของการใช้เครื่องมือเพื่อศึกษาชุมชนนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง แหล่งข้อมูลในชุมชนนอกจาก “ปากคำชาวบ้าน” แล้ว ยังมีอยู่ที่ไหนอีกบ้าง

รวมถึงการประเมินว่าจากวันแรกถึงวันนี้ (14-18 ธันวาคม 2558) นิสิตตระหนักในพันธกิจการเรียนรู้นี้มากขึ้นแค่ไหน มีแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้เช่นนี้มากขึ้นหรือยัง เพราะการเรียนรู้คู่บริการเช่นนี้คืออัตลักษณ์การเป็นนิสิตฯ (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ที่หมายถึงเรื่องจิตอาสา-จิตสาธารณะ




ครับ-นี่คือการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง เป็นการเรียนรู้ผ่านระบบและกลไกของการศึกษาที่ใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นศูนย์กลางสู่ปลายทางแห่งการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมตามปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)

พรุ่งนี้ (19 ธันวาคม 2558) จะเป็นวันแห่งการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม โดยข้อมูลเหล่านี้แหละคือต้นทุน หรือวัตถุดิบในการที่จะถูกนำไปออกแบบ หรือบูรณาการเป็นกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ”

เท่าที่รู้ตอนนี้ บางกิจกรรมจะต้องเริ่มตั้งแต่ 05.00 น. เลยทีเดียว –

ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้ ครับ




หมายเหตุ

1.วิทยากรผู้ให้ข้อเสนอแนะ : ดร.ประเสริฐ ประสมรักษ์ ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา นายพนัส ปรีวาสนา
2.ภาพ : นายพนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 598603เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2015 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เก็บตก..ค่ะภาพนี้..ตำบลนี้กำลังจะจมน้ำไปเรื่อยๆ...กลุ่มเสวนานี้ได้ยินว่ามาจากจังหวัดตราด...ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้หญิง..ซ้ะด้วย..น่าทึ่งๆ..ค่ะ

นิสิตได้รับสิ่งที่ดี มีประโยชน์มาก ๆ

วันหน้าคงได้เห็นกำลังของชาติเหล่านี้

นำประเทศชาติไปสู่่ความแข้มแข็งมั่นคงต่อไปนะจ๊ะ

เป็นกำลังใจให้คนทำงานจ้าาา

-สวัสดีครับ

-ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านบันทึกของอาจารย์อยู่เสมอ..

-"การชำระข้อมูลชุมชน"..

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท