ข้อเสนอแนะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดำเนินงานตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"


จากการไปเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ที่เขตพื้นที่การศึกษาและที่โรงเรียนมาหลายแห่ง ได้เห็นเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนนำร่องต่างๆมีการเตรียมความพร้อมและเริ่มดำเนินการสนองนโยบายอย่างกระตือรือร้น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี และเพื่อให้การดำเนินการเรื่องนี้มีคุณค่ายิ่งขึ้น จึงขออนุญาตให้ข้อเสนอแนะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มเติมในบางประเด็นดังนี้


1.จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าแต่ละโรงเรียนต่างพยายามเชื่อมโยงกิจกรรมที่โรงเรียนปฏิบัติอยู่แล้ว เข้าสู่โครงสร้างและตารางกิจกรรมได้อย่างลงตัว แต่บางแห่งยังเห็นการบูรณาการองค์ความรู้จากสาระการเรียนรู้ต่างๆเพื่อพัฒนาทั้ง 4 H ได้ไม่ชัดเจนนัก แม้จะมีการ AAR กัน แต่ก็ยังทำตามรูปแบบเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะถามว่าเด็กชอบกิจกรรมไหม เด็กส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าชอบ เพราะได้เล่นได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ดีกว่าการเรียนในห้องเรียน แต่ครูและผู้บริหารควรจะถามตนเองต่อไปว่า "นักเรียนได้สาระ อย่างครบถ้วนตามแนวคิด หลักการนี้รึยัง"ด้วย มีโรงเรียนหลายแห่งที่ใส่ใจในรายละเอียด โดยระหว่างที่เด็กทำกิจกรรมครูจะคอยสังเกตและคิดหาทางเพิ่มมูลค่าเพื่อต่อยอดกิจกรรมในการพัฒนาเด็กให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญพยายามให้เด็กๆได้สะท้อนความรู้ที่ได้รับ และประเมินผลการทำกิจกรรมด้วยตัวเด็กเอง ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้สร้างความรู้ด้วยตนเองโดยใช้กิจกรรมเป็นสื่อ และมีบางโรงเรียนเอาใจใส่ต่อการเชื่อมโยงกิจกรรมในแต่ละระดับชั้นให้มีความต่อเนื่องและมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมกิจกรรมกันอย่างยืดหยุ่น
2. เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในตอนเช้าตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ครูก็ควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง มากกว่าครูจะคอยสอนแต่เนื้อหาวิชาจนจบชั่วโมงด้วยตนเองทั้งหมด การลดเวลาสอนแล้วเพื่มเวลารู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ควรเริ่มตั้งแต่ภาคเช้าด้วยซ้ำ ยิ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพฯ ศิลปะ พลศึกษา ยิ่งเอื้อให้ใช้กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้ตั้งแต่ภาคเช้า พอภาคบ่ายก็ลงลึกในกิจกรรมได้อย่างเต็มตัว
3. เขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Smart Trainer ไม่เพียงแต่จัด AAR เท่านั้น แต่ควรจัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เรื่องเล่าเร้าพลัง" ระหว่างโรงเรียนนำร่องในเขตพื้นที่(อาจรวมโรงเรียนคู่ขนานด้วยก็ได้ ถ้ามี) โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่น แล้วประยุกต์เป็นของตนเอง อาจให้แต่ละโรงเรียนผลัดกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละครั้ง และจัดอย่างง่ายๆแต่ได้คุณค่า
4. ควรเชื่อมโยงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ให้ครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาซึ่งรู้จักเด็กในชั้นของตนเป็นรายบุคคลเป็นอย่างดี ทั้งจากการเยี่ยมบ้านนักเรียน และทำข้อมูลนักเรียน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดกรอง ส่งต่อนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมตามพหุปัญญาของเขาให้มากที่สุด โดยเฉพาะหากเด็กยังอ่อนด้อยทางวิชาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้ใดก็อาจเสนอให้ฝ่ายวิชาการจัดกลุ่มเพิ่มเติมเสริมความรู้ได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยยกระดับวิชาชีพครู ในการดูแลเด็กเป็นรายบุคคลเหมือนหมอดูแลคนไข้เป็นรายคนเฉกเช่นกัน หากปล่อยให้เด็กเล็กๆที่วุฒิภาวะยังน้อยเลือกเข้ากิจกรรมเองทั้งหมด เขาอาจเลือกตามเพื่อน หรือเลือกที่เห็นว่าสนุก แต่อาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตามพหุปัญญาของเขา แต่เมื่อเขาขึ้นระดับชั้นที่สูงขึ้นเขาก็จะรู้ความถนัด ความชอบของตนเองชัดเจนขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้เขาเลือกเองทั้งหมด
5.ปัจจัยความสำเร็จของนโยบายนี้นอกจากอยู่ที่ผู้บริหารเป็นสำคัญแล้ว กระบวนการสร้างความตระหนัก(awarenes) ให้เกิดแก่ครูและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนสำคัญกว่า เพราะถ้าครูและทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญก็จะเกิดแรงบรรดาลใจ คิดกลยุทธ์กลวิธีที่แยบยลมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ดังที่เราเชื่อว่า ถ้าเกิด A1 ก็จะมีแนวโน้มเกิด A2 A3 และ A4 อย่างยั่งยืน แต่ถ้า A1ไม่เกิด การดำเนินงานก็จะไม่เกิดการระเบิดจากข้างใน(ใจ) ก็จะทำตามสั่ง ทำอย่างขาดจิตวิญญาณ ไม่สนุก จะรู้สึกว่าเป็นการเพิ่มภาระ และมักจะมีข้ออ้างที่ไม่อยากทำ อาทิ ขาดคน ขาดงบประมาณ เป็นต้น ดังนั้นจึงถือว่าการสร้างความตระหนักเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ วิธีการที่เขตพื้นที่และโรงเรียนมักทำกันเสมอคือการประชุมชี้แจงครั้งเดียวแล้วให้ผู้เกี่ยวข้องไปวางแผนทำ ซึ่งก็จะได้แผนและงานตามที่สั่ง มีเอกสารให้ตรวจประเมินอย่างครบถ้วน แต่แผนดังกล่าวที่ขาดจิตวิญญาณก็จะเป็นไปตามคำล้อเลียนที่ว่า "แพลนแล้วก็นิ่ง" ทำเพื่อสนองนโยบายแบบไฟไหม้ฟาง พอมีนโยบายใหม่มาก็จะทำเช่นเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดความเบื่อหน่าย ชาชิน ผู้ที่เบื่อมากที่สุดคือครูผู้ปฏิบัติ ดังนั้นหากเราเห็นว่านโยบายนี้เป็นเรื่องที่ดี ผู้บริหารทั้งระดับเขตพื้นที่และโรงเรียนซึ่งจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างความตระหนัก คงจะไม่ทำอย่างรวบรัดครั้งเดียวจบ แม้นโยบายจะมาอย่างเร่งด่วน(ผิดแต่ต้นแล้ว) แต่ก็จะทยอยหากลวิธีให้เกิดการซึมซับแบบน้ำซึมบ่อทราย อย่างต่อเนื่อง ทำอย่างมีกลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องจัดงานใหญ่โตที่ทำครั้งเดียวแล้วเลิก แรกๆคนอาจยังไม่ตระหนักก็ปล่อยไปก่อน แต่พยายามใช้วิธี "ทำให้ดู กู่ให้ตาม" เหมือนภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง "เสียงกู่จากครูใหญ่" สักวันความสำเร็จที่แท้จริง ซึ่งทุกคนจะได้รับความสุขถ้วนหน้าอย่างแท้จริงก็จะบังเกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 598330เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2015 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อีกเรื่องหนึ่งที่พบเสมอคือโรงเรียนมักให้ความสำคัญที่ผลผลิตมากกว่ากระบวนการผลิต ผมเห็นว่าความภาคภูมิใจในผลงานหรือชิ้นงานรวมทั้งรางวัลที่ได้รับเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยเพิ่มกำลังใจให้ครู ผู้บริหาร นักเรียนอย่างยิ่ง แต่หากจะมีการทบทวนว่าความสำเร็จดังกล่าวมีกระบวนการดำเนินงานอย่างไร นำกระบวนการนี้มาสะท้อนกัน ก็อาจจะเกิดความคิดที่จะพัฒนากระบวนการดำเนินงานและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท