ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๔๖. ตามเสด็จกาญจนบุรี ๓. วันที่สาม และ AAR



วันที่สาม วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ตอนเช้าผมไม่มีเวลาวิ่ง เพราะต้องเอากระเป๋าไว้หน้าห้องพักก่อน ๗.๐๐ น. เพื่อให้เขาขนกลับกรุงเทพ ไปรับคืนที่โรงแรมโอเรียนเตล

ตอนเช้าผมโดนจับไปนั่งร่วมโต๊ะเสวย จึงได้รับฟังเรื่องราวพระราชกรณียกิจต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการสร้างอาคาร ๑๐๐ ปีฯ โรงพยาบาลพหลฯ การช่วยเหลือผู้พิการ และการพัฒนาต่างๆ ที่ทรงสนับสนุน

เวลา ๘.๓๐ น. รถออกไปยังโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ทางโรงพยาบาลจัดการนำเสนอโครงการพัฒนา โรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด ๗๐๐ เตียง มีการสร้างอาคารใหม่ ชื่ออาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สำหรับรับผู้ป่วยใน ๓๐๐ เตียง และมีบริการทันสมัยด้านต่างๆ โดยงบประมาณค่าก่อสร้าง จากงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่มีงบประมาณค่าเครื่องมือแพทย์ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ จึงรณรงค์หาเงินบริจาค สำหรับจัดซื้อครุภัณฑ์ให้ ๒๕๐ ล้านบาท

หลังจากนั้น เป็นการชมนิทรรศการและนำเสนอข้อมูลเรื่อง (๑) พระเมตตาของสมเด็จพระญาณสังวร ต่อโรงพยาบาลนี้ เพราะท่านเป็นชาวกาญจนบุรีโดยกำเนิด (๒) พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ต่อโรงพยาบาลนี้ (๓) โรงพยาบาลนี้ในอดีตและใน ๑๐ ปีข้างหน้า (๔) การใช้เงินบริจาค ในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ (๕) ศูนย์อุบัติเหตุ ที่โรงพยาบาลมีแผนพัฒนาเป็นศูนย์ระดับ ๑ ในปี ๒๕๖๕ โดยจะสร้างอาคารอุบัติเหตุ ๗ ชั้น (๖) การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ยากลำบาก (๗) การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (๗) การพัฒนาโรงพยาบาลคู่แฝด โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา - โรงพยาบาลทะวาย ที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีข้อตกลงกับรัฐบาลเมียนม่าร์ ให้ความร่วมมือพัฒนาโรงพยาบาลทะวาย ใน ๓ ด้าน คือ สร้างอาคารให้ ให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่

เวลา ๑๐ น. เศษ เราก็นั่งรถบัสกลับโรงแรมโอเรียนเตล และนั่งแท็กซี่กลับบ้าน ถึงบ้านก่อนบ่ายโมง


AAR

ยิ่งนับวันการจัดทริปนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ไปเที่ยวภายในประเทศ ๓ วัน ก็จะต้องจัดบริการผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในการเดินมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องขึ้นบันได หรือต้องยืนนานๆ น่าเห็นใจทางเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังที่ต้องอดทนดูแลเรื่องนี้ และทำได้ดีเยี่ยม Prof. Atekunbo และ Mrs. Stella Lucas แสดงความรู้สึกซาบซึ้งในบริการเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับบริการรถเก๋งตลอด ทำให้สะดวกต่อการขึ้นลง และระหว่างทางก็มีรถเข็นบริการตลอด

เราได้เห็นประจักษ์ชัดเพิ่มขึ้น ว่าคนไทยรักและบูชาสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เพียงใด เป็นที่น่าปลาบปลื้มยิ่งนัก และเป็นบุญของสังคมไทยที่มีเจ้าฟ้าที่มีจริยาวัตรเช่นนี้

เราได้เข้าใจความยากลำบากโหดร้าย ของการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่คนงานทั้งเชลยและแรงงานรับจ้าง ๒ แสนคน ตายไปครึ่งหนึ่ง ได้เห็นความเป็นระบบของฝรั่ง ในการทำทะเบียนและสุสานผู้เสียชีวิตจากสงครามโลก ทั้งสองครั้งทั่วโลก ของ Commonwealth War Graves Commission

ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยโบราณ จาก “เมืองมายา” หรือโรงถ่ายภาพยนตร์ ในค่ายสุรสีห์ และได้ไปเยือนปราสาทเมืองสิงห์เป็นครั้งที่ ๓

ได้ชื่นใจที่เห็นความร่วมมือโรงพยาบาลคู่แฝดกับฝั่งทะวายของเมียนมาร์ ผมเชื่อว่า ความร่วมมือกัน เพื่อดูแลสุขภาพเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และอยากเห็นว่าความร่วมมือนี้ ไม่ได้เน้นแค่การตั้งรับ แต่มีการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพระดับชุมชนให้แก่ฝั่งเมียนมาร์ด้วย



บรรยากาศตอนฟังการนำเสนอนิทรรศการ


พระรูปสมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราช


โครงการโรงพยาบาลคู่แฝด






วงดนตรีไทยผู้สูงอายุมาเล่นถวาย


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 597794เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2015 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 06:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท