๑๔. ห้องสมุดลิ่มอติบูลย์..ห้องสมุด..ในฝัน


เหมือนได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นครูที่สมบูรณ์อีกครั้ง..เมื่อ..คุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์ ที่ผมไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าท่านมาก่อน ทราบแต่ว่าท่านเป็นนักธุรกิจ...โอนเงินมาให้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ผมบอกคณะกรรมการโรงเรียน ทุกคนดีใจและพร้อมใจกันหาทุนทรัพย์เพิ่มเติม โดยจัดผ้าป่าการศึกษาครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ มีผู้ปกครอง ชุมชนและกลุ่มเพื่อนมัธยมโรงเรียนปากเกร็ดมาช่วยสมทบทุน

สมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษา ผมเรียนที่โรงเรียนปากเกร็ด เรียนตั้งแต่ชั้น มศ.๑ ถึง มศ.๕ สายวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยา..นักเรียนเกือบ ๔๐ คน ผลการเรียนตอนนั้นอยู่ในระดับท้ายๆ เกรดเฉลี่ยราว ๒.๕ บางภาคเรียนก็ไม่ถึง วิชาที่ต้องซ่อมบ่อยที่สุด คือฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ แต่ผมก็มานะอดทนเรียนได้จนจบ..

ผมเป็นคนที่สนใจเรียน แต่ด้วยความที่ไม่ถนัด หรืออาจจะไม่ชอบก็ได้ ซึ่งตอนนั้นไม่ค่อยจะรู้ตัวสักเท่าไร พ่อกับแม่อยากให้เรียนอะไรก็เรียน รู้สึกผิดสังเกตกับตัวเองอยู่บ้างก็ตอนที่เข้าห้องสมุดของโรงเรียน และเคยคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ชีวิตไปไม่รอดแน่

ผมเป็นนักเรียนที่เข้าห้องสมุดบ่อยมาก..ว่างไม่ได้ ว่างเป็นต้องหมกตัวอยู่ในห้องสมุด ทุกครั้งที่เข้าห้องสมุดก็ไม่เคยจะอ่านหนังสือหรือบทความที่เกี่ยวกับสาระวิชาวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เรียนอยู่ ผมจะอ่านวรรณกรรม เรื่องสั้น นิยาย เรื่องราวประวัติศาสตร์ และหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการรวมทั้ง วารสารที่เกี่ยวกับภาษาและบันเทิงคดี...

เรียนจบ มศ.๕ จึงต้องไปสอบเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยครูพระนคร เลือกเรียนวิชาเอกภาษาไทย วิชาโทบรรณารักษ์ศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขกับการเรียนมาก กิจกรรมก็เข้าร่วมไม่ได้ขาด ทั้งชมรมเชียร์กีฬา และร่วมวงดนตรีไทยของวิทยาลัย จนได้รับเกียรติบัตรกิจกรรมดีเด่นจากคุณหญิงพึงใจ สินธวานนท์ อธิการบดีในสมัยนั้น..เรียนในสาขาที่ชอบ ผลการเรียนจึงออกมาดี เกรดเฉลี่ยในแต่ภาคเรียนไม่เคยต่ำกว่า ๓.๕ มีความสนใจและถนัดที่จะศึกษาเรียนรู้ในหลากหลายวิชา เรียกว่าจะเรียนอะไรเป็นเข้าทางผมหมด แล้วที่ผมต้องหาเวลาร่วมกิจกรรมพิเศษต่างๆด้วยนั้น ก็เพราะคิดว่า..ต้องไปเป็นครู ควรมีความรู้และประสบการณ์ให้มากพอ

เลือกเรียนวิชาโท..ห้องสมุด..หรือบรรณารักษ์ ด้วยคิดว่าครูภาษาไทยกับการอ่านและการค้นคว้าต้องไปด้วยกัน..จึงตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ และได้เกรด A หลายวิชา ในช่วงที่อยู่ปี ๒ ครูผู้สอนวิชาบรรณารักษ์เห็นแววขยัน จึงให้ผมไปช่วยจัดหนังสือในห้องสมุด ตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม โดยให้ค่าตอบแทนวันละ ๕๐ บาท ผมทำอยู่หลายเดือน ได้ทักษะการจัดเก็บหนังสือและรู้ว่าหนังสือหมวดต่างๆอยู่ตรงไหน ได้รู้จักนักศึกษามากมายที่มาให้ผมช่วยหาหนังสือ ว่างจากจัดหนังสือ ผมก็จะได้นั่งอ่านหนังสือที่ผมชอบ โดยเฉพาะวารสารโลกหนังสือ..ที่รวมเล่มไว้ ปัจจุบันไม่มีการตีพิมพ์แล้ว อ่านไปฝันไป..ว่าสักวัน..จะต้องเป็นนักเขียนให้ได้..แต่ตอนนี้คงได้แค่อ่านไปก่อน

เรียนจบปริญญาตรี สอบเป็นครูได้ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในโรงเรียนท้องถิ่นกันดารมาก สมัยนั้น ผู้บริหารเรียกชื่อตำแหน่งว่า ครูใหญ่..แต่ทุกวันผมจะเรียกว่า..พ่อ..เพราะพักอยู่บ้านเดียวกัน พ่อบอก...ชยันต์ช่วยพ่อสักหน่อย พ่อจะปรับปรุงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ ระดับ ๗ กรรมการเขาเน้นวิชาการ..และโรงเรียนเรายังไม่มีห้องสมุดเลย ชยันต์ช่วยพ่อหน่อยนะ..ผมก็เลยบอกว่า ได้ครับพ่อ.

ผมกับครูอุ้ย..(อัญชัญ ครุฑแก้ว สมาชิกโกทูโนว์ )ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาห้องสมุดจนแล้วเสร็จ..จากนั้นไม่นาน พ่อก็ได้รับการปรับปรุงเป็นอาจารย์ใหญ่ พร้อมห้องสมุดใหม่ ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย

ผมย้ายมาอยู่เมืองกาญจน์..และสอบเป็นศึกษานิเทศก์ที่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอศรีสวัสดิ์ ตอนนั้นได้สำนักงานแห่งใหม่พอดี ท่านหัวหน้าการประถมฯ(ท่านทวีศักดิ์ พัดศรีเรือง) มอบหมายให้ผมดูแลงานด้านวิชาการ ซึ่งหมายรวมถึงการนิเทศติดตามงานของห้องสมุดโรงเรียนในสังกัดด้วย ได้เห็นภาพห้องสมุดโรงเรียนประถมฯที่หลากหลายมาก สมัยนั้นมีกิจกรรมการประกวดห้องสมุดดีเด่น งานวันประถมศึกษาแห่งชาติ..เจ้านายแต่งตั้งผมกับคณะครู เดินทางไปประเมินห้องสมุดทั้งใกล้และไกล เป็นประจำทุกปี จนทุกวันนี้ ภาพเหล่านั้นก็ยังติดตาตรึงใจ ทั้งภาพความสวยงามของห้องสมุดและความยากลำบากในการเดินทางขึ้นเขาลงห้วยอยู่เป็นประจำ

ต่อมาผมได้สอบเปลี่ยนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน...ได้อยู่โรงเรียนใหญ่ มีห้องสมุดที่ได้มาตรฐาน จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือแปลกใจอะไรมากนัก ต่อเมื่อสอบได้เป็นอาจารย์ใหญ่เมื่อปี ๒๕๔๔ ได้บริหารโรงเรียนบ้านหนองจั่น..พบห้องสมุดขนาดกลาง สร้างเป็นเอกเทศ มีป้ายติดไว้หน้าห้องว่า ห้องสมุด ขสมก. ใช้ทุนสร้างจากผ้าป่าการศึกษา นำโดย..พี่สุนันต์ และพี่กัญญา พืชหงษ์ทอง ใช้เงินก่อสร้างไม่ถึงสองแสนบาท แต่ได้ห้องสมุดที่กว้างขวาง สะอาด สวยงาม เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนที่มี ๑๓๐ คน

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ผมย้ายมาอยู่โรงเรียนใกล้บ้าน ..โรงเรียนบ้านหนองผือ ..ตอนนั้นมีนักเรียน ๔๘ คน ห้องสมุด ณ เวลานั้น เป็นห้องสมุดขนาดเล็กมาก ที่ชุมชนช่วยกันสร้างและต่อมาก็มีนิสิตจิตอาสามาแต่งเติมสีสัน ..ด้วยความที่ผมผูกพันกับห้องสมุดมานาน จึงเฝ้ามองครูและนักเรียน เข้าไปใช้บริการกันมากน้อยแค่ไหน ในแต่ละวันก็พบว่า..ไม่มีใครเข้าห้องสมุดเลย เพราะในห้องสมุดไม่มีฝ้า ไม่มีพัดลม จึงร้อนอบอ้าวมาก ถึงมากที่สุด..

ต่อมา..ผมมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นห้องเรียน โดยติดฝ้าติดพัดลม ให้น่าอยู่น่าเรียนมากขึ้น เมื่อไม่มีห้องสมุด ก็ต้องนำหนังสือใส่กระเช้าไปให้นักเรียนอ่านใต้ร่มไม้ชายคา ตามอัธยาศัย

ครับ..ตั้งแค่ปี ๒๕๔๙ เริ่มฝันว่าอยากมีห้องสมุดที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เหมาะสมและพอเพียง แต่ไม่มีความคืบหน้า บางครั้งก็นึกท้อและคิดว่า ตัวผมเองเป็นผู้บริหารที่มีวาสนาน้อย..เป็นนักวิชาการ ที่ชอบส่งเสริมการอ่าน แต่ได้บริหารในโรงเรียนที่ไม่มีห้องสมุด จะให้หยุดคิดว่า..ไม่มีก็ได้ก็คงยาก เพราะห้องสมุดคือ..หัวใจของโรงเรียน เป็นหัวใจของกิจกรรมส่งเสริมให้รักการอ่าน .. นักเรียนอ่านหนังสือใต้ร่มไม้อยู่นาน จนถึงปี การศึกษา ๒๕๕๗..

เหมือนได้เริ่มต้นชีวิตการเป็นครูที่สมบูรณ์อีกครั้ง..เมื่อ..คุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์ ที่ผมไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้าท่านมาก่อน ทราบแต่ว่าท่านเป็นนักธุรกิจ...โอนเงินมาให้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ผมบอกคณะกรรมการโรงเรียน ทุกคนดีใจและพร้อมใจกันหาทุนทรัพย์เพิ่มเติม โดยจัดผ้าป่าการศึกษาครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ มีผู้ปกครอง ชุมชนและกลุ่มเพื่อนมัธยมโรงเรียนปากเกร็ดมาช่วยสมทบทุน ทำบุญสร้างห้องสมุดกันอย่างมากมาย ได้เงินเพิ่มอีก ๑ แสนบาท

ห้องสมุด..ในฝันของผม..แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของครูและนักเรียน จึงสำเร็จลงได้ด้วยเงินนอกงบประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ต้อนรับปีการศึกษา ๒๕๕๘

พอถึงงานวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ จึงถือโอกาสทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล วันเฉลิมพระชนมพรรษา และเสริมส่งให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่อาคารห้องสมุด และแผ่ผลบุญไปยังผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างทุกคน... และวันนั้น..ผู้ที่มาร่วมงานทำบุญต่างพร้อมใจกันให้ชื่อห้องสมุดว่า...”ลิ่มอติบูลย์”

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 597724เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

A library (with building, seats, books, and good learning atmosphere) is a conductor for learning. But libraries like that have been built up and burned down with books for over 2,000 years, even in some countries in recent times.

We are facing new learning environment, new media of knowledge and new demand for information. No longer is 'reading' the prime focus of learning. But knowing and applying information is very much what needed to succeed in modern times. To this end we will need modern library services. We need libraries that can help with information not just books and reading. We need verification of materials, their uptodate-ness, reliability, context, and so on.

We need to extend our concept of reading books to 'reading for understanding of information or process or systems dynamics' from not just letters and numbers but signs and pictures and ...

Let us dream a future of libraries before they die out because libraries do not serve needs.

-สวัสดีครับ

-ยินดีกับเด็ก ๆ ด้วยนะครับ

-อ่านประวัติการเรียน/ทำงานของท่าน ผอ.แล้วประทับใจมาก ๆ ครับ

-ขอบคุณครับ

ห้องสมุดสวยมากเลยครับ

ชอบใจสีและการจัดการ

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท