งาน “OTOP TO AEC” ตลาดคลองผดุงฯ 3-25 พ.ย.นี้ - จัดได้ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่?


วันนี้ขอนำเสนอเนื้อหาข่าวจากเวปไซต์เมเนเจอร์ก่อน แล้วจะขอแสดงข้อคิดไว้ใต้ข่าวนะคะ

เครดิตข่าวจาก: http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?New...
งาน “OTOP TO AEC” ณ ตลาดคลองผดุงฯ 3-25 พ.ย.นี้

รัฐบาลมอบมหาดไทยจัดงาน “OTOP TO AEC... มรดกของแผ่นดิน จากท้องถิ่นสู่สากล” ที่ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างวันที่ 3-25 พฤศจิกายน 2558 ระบุคัดสุดยอดสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพส่งออกระดับ 3-5 ดาวจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สลับสับเปลี่ยนมาจัดแสดงและจำหน่ายกว่า 330 รายการ
น.ส.เรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการตลาดคลองผดุงกรุงเกษม และนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “OTOP TO AEC...มรดกของแผ่นดิน จากท้องถิ่นสู่สากล” ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ระหว่างวันที่ 3-25 พฤศจิกายน 2558
น.ส.เรณูระบุว่า การจัดงาน “OTOP TO AEC...มรดกของแผ่นดิน จากท้องถิ่นสู่สากล” ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำเนินงานโครงการตลาดคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยได้มีแหล่งจำหน่ายสินค้า และเป็นการเชื่อมโยงการตลาดจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง สำหรับในเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ภายใต้ชื่องาน “OTOP TO AEC…มรดกของแผ่นดิน จากท้องถิ่นสู่สากล” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-25 พฤศจิกายน 2558 มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีศักยภาพส่งออกต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 3-5 ดาวทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงการนำเสนอการพัฒนาโครงการ OTOP ในระยะต่อไป หรือ OTOP Next 2.0 ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีนวัตกรรม OTOP เยาวชน และหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว มีกำหนดพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน 2558 เวลา 17.00 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ด้านนายอภิชาตกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้คัดสรรสุดยอดสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพส่งออก OTOP ระดับ 3-5 ดาว จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาจัดแสดงและจำหน่ายกว่า 330 รายการ ประกอบด้วย สุดยอดอาหารเลิศรส OTOP ชวนชิม 4 ภูมิภาค การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด และพลาดไม่ได้กับไฮไลท์พิเศษภายในงานทั้ง “OTOP สู่ AEC” ที่จะมีการนำเอาผลิตภัณฑ์ที่ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศและได้รับความนิยมจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบรูไน อเมริกา จีน เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี อินเดีย และสวีเดน มาแสดงให้คนไทยได้ร่วมภาคภูมิใจ และได้เห็นถึงศักยภาพของภูมิปัญญาไทยที่ก้าวไกลสู่สากล การจัดแสดงการพัฒนาโครงการ “OTOP Next 2.0” ตามที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาและยกระดับสินค้า OTOP ของไทยในระยะต่อไปมาจัดแสดงด้วย นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมพิเศษ เช่น การส่งเสริมความรู้ด้านการเจรจาธุรกิจ การตลาด การเงินให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจ จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การประเมินให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น (จบข่าว)
-----------------
หลายๆครั้งที่เห็นหน่วยงานของรัฐจัดงานลัษณะนี้ โดยมีการจั่วหัวว่า "TO AEC" หรือ "สินค้าไทยสู่ตลาดโลก" อะไรทำนองนี้อยู่บ่อยๆ สุดท้ายงานเหล่านี้ก็เป็นเพียงงานออกร้านขายของให้คนไทยกันเอง แต่งานข้างบนยังดีอยู่นิดว่า จะมีการให้ความรู้ด้านการเจรจาธุรกิจ และการตลาด นอกจากนี้ก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านการเงิน และประเมินผลิตภัณฑ์มาด้วย
ความจริงผู้ประกอบการต้องการงานที่สามารถนำตัวลูกค้าจริงจากต่างประเทศมาชมเพื่อทำการต่อยอดเจรจาธุรกิจกันได้เลย หรือเป็นงานที่พบปะลูกค้าตามโจทย์ของงานมากว่า ซึ่งงานประเภทนี้ที่จัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์ก็มีเช่นงาน BIG BIH ที่ล่าสุดจัดไประหว่าง 19-23 ตค ที่ผ่านมาที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากงานนี้แล้วบางที่ก็จัดนำผู้ประกอบการออกไปร่วมงานในต่างประเทศ ซึ่งงานเหล่านี้ถือว่าจัดงานได้ตรงวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พบปะกับลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาศทางการค้านั่นเอง
แต่ก็เข้าใจการจัดงาน OTOP ของกระทรวงมหาดไทยในความปราถนาดี แต่เห็นว่าไหนๆจะจัดทั้งที วัตถุประสงค์ก็ดีแล้ว งบประมาณก็มีแล้ว ทำไมไม่วางแผนในการเชิญผู้นำเข้า หรือตัวแทนการค้าของต่างประเทศเข้ามาด้วย อย่างเช่นที่กระทรวงพาณิชย์ทำ เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาส งานเหล่านี้เลยกลายเป็นงานที่มีแต่ลูกค้าชาวไทยกันเองมาเดิน ไม่ใช่ AEC ตามชื่องาน ที่ได้กล่าวชมว่าก็ยังดีที่มีการให้ความรู้ด้านการเจรจาธุรกิจ และการตลาด นอกจากนี้ก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนทางด้านการเงิน และประเมินผลิตภัณฑ์มาด้วย ความจริงหน่วยงานเหล่านี้สังกัดอยู่ในหลายกระทรวง หลักๆจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ซึ่งเขาจะทำหน้าที่เหล่านี้ประจำวันกันอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยตรงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการบางรายไม่ทราบข้อมูลว่าหน่วยงานไหนจะสนับสนุนการหาตลาดในต่างประเทศ หน่วยงานไหนจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือให้การสนับสนุนเงินทุน อย่างบางหน่วยงานที่ให้การอบรมต่างๆ บางทีก็มีค่าอบรมสูงมากอย่างได้กล่าวไว้บ้างในหัวข้อก่อนหน้าแล้ว
หากจะพูดถึงความสำเร็จในการจัดงานแล้วทำให้มีลูกค้าต่างประเทศมาเข้าร่วมงานเยอะแล้ว คงไม่พ้นงานในประเทศจีนอย่างงาน Canton Show ที่ Guangzhou ที่แม้แต่ผู้นำเข้ารายเล็กรายน้อยของไทยเองก็ไปเดินเพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ๆน่าสนใจนำเข้ามาขายบ้าง ถึงขนาดมีการจัดขายทัวร์เพื่อพาพ่อค้าแม่ค้าไทยไปเดินงานนี้โดยเฉพาะ มีการขายตั๋วเป็นแพคเกจรวมตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และจัดให้มีบริการแพคของส่งกลับเมืองไทยเสร็จด้วยเลย ท่านเองอาจจะอ้างว่าก็เมืองจีนของถูก ลูกค้าจากทั่วโลกก็ต้องไปเยอะอยู่แล้ว สินค้าก็มีให้เลือกมากมายครบถ้วน ก็ในเมื่อทราบอย่างนี้ใช่ว่าผู้เขียนคิดว่าเราจะสามารถแข่งกับจีนได้ในกลุ่มสินค้าเหล่านั้น แต่ประเด็นคือภาครัฐต้องช่วยหาตลาดที่เหมาะสม ตลาดที่ใช่ ที่ตรง สำหรับสินค้าจากประเทศไทยเรา โจทย์คือเราจะหาตลาดได้ตรงเป้าหมายได้อย่างไร เช่นงาน OTOP คลองผดุงบอกจัดงานนี้เพื่อตลาด AEC แล้วมีตัวลูกค้าจาก AEC มาเดินบ้างไหม ที่มากไปกว่านั้นสินค้าในกลุ่ม OTOP เป็นกลุ่มหัตกรรมจากศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งพอพูดถึงตรงนี้นี่ หลายท่านอาจเห็นด้วยกับผู้เขียนในประเด็นที่ว่า ไทยกับเพื่อนบ้านใน AEC ก็จะมีหน้าตาสินค้าหลายตัวคล้ายๆกันเนื่องจากมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เพราะมีความเชื่อมโยงกันทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีอยู่ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการจัดงานครั้งนี้ไม่เฉียบคมในด้านยุทธศาสตร์ในการเจาะตลาดที่ดีพอ ผู้เขียนเคยไปเดินงานแสดงสินค้าไทยที่ย่างกุ้ง ก็จัดในลักษณะงานตามข่าวข้างบน ปรากฏว่ามีแต่ผู้บริโภคตรงชาวพม่าไปเดิน ผู้เขียนได้มีโอกาศพูดคุยกับผู้ประกอบการไทยที่หวังว่าจะได้พบผู้นำเข้าชาวพม่ามาเดิน มาเลือกซื้อสินค้าโดยเจรจากันที่เป็นพัน เป็นหมื่นชิ้นแต่กลับเป็นผู้ซื้อรายย่อย กลายเป็นว่าผิดเป้าหมายการเข้าร่วมงานอย่างมาก
ดังนั้นในแง่ผู้ประกอบการแล้ว เราต้องดูก่อนเข้าร่วมในแต่ละงาน หากไปเพื่อระบายสินค้าให้ผู้บริโภคชาวไทยบ้าง ก็ไม่ต้องคาดหวังในด้านการที่จะได้ลูกค้าในต่างประเทศ แต่ถ้าคาดหวังลูกค้าในต่างประเทศเช่นในตลาด AEC เราควรจะดูสินค้าเราก่อนว่าเป็นอะไร ส่วนใหญ่ที่เข้าไปเจาะตลาดได้ในปัจจุบันจะเป็นการแสวงหาช่องทางด้วยตนเองมากว่า เช่นหากเราทำสินค้าสังฆภัณฑ์ ประเทศที่มีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถขยายตลาดได้ก็จะมี ลาว เขมร และพม่า แล้วก็ต้องวิเคราะห์ต่อว่าประเทศลาวกับเขมรนั้นในส่วนของสีจีวรพระอาจจะสามารถส่งเข้าไปเสนอตลาดได้เลย แต่ถ้าเป็นพม่าที่พระที่นั่นจะใช้สีจีวรที่ต่างออกไปบ้างก็ต้องมีการปรับสีกันก่อนเป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีผู้ประกอบการไทยได้เริ่มเข้าไปแล้ว อีกประเภทที่อยากจะขอนำมาแบ่งปันข้อมูลคือขนมอบกรอบ คบเคี้ยวต่างๆ สำหรับประเภทนี้ในตลาด AEC ด้วยกันแล้วแทบไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนใดๆ ผู้ประกอบการไทยที่ได้เข้าไปในตลาดนี้แล้วเพียงแค่มุ่งหาหุ้นส่วนทางการค้าที่แข่งแกร่งในพื้นที่ และรับผิดชอบในการป้อนสินค้าเข้าไปให้ดี อีกประเด็นที่อยากทิ้งไว้ให้พิจารณาเนื่องจากตลาดเหล่านี้เป็นตลาดใหม่ ระบบการเงินการธนาคารอาจมีข้อจำกัดอยู่มาก เราก็ต้องศึกษาว่าข้อจำกัดเหล่านั้นพอรับได้มั้ย หรือจะใช้วิธีการใดในการที่จะทำการค้าต่อไปได้ แต่ละท่านก็ต้องไปวิเคราะห์สินค้าตนเองว่าน่าจะเป็นประเทศใดที่เหมาะสมกับเรา เราต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ขอให้ทุกท่านพบช่องทางการค้าดังใจหวัง และโชคดีทุกท่านค่ะ


อ่านรายละเอียดหนังสือแนะนำการลงทุนใน AEC คลิกที่นี่

หมายเลขบันทึก: 597491เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2015 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2015 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท