New High !


ผลการทดสอบ SAT ด้านภาษาของนักเรียนชั้น 5 และชั้น 6 สูงที่สุดในรอบ 9 ปี และมี new high ให้เห็นแล้ว !

เมื่อวันที่ ๑๘ มิ.ย. ๕๖ อาจารย์วิจารณ์ได้กรุณาเขียนบันทึกชื่อ ไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนเพลินพัฒนา https://www.gotoknow.org/posts/541384 ในโอกาสที่โรงเรียนเปิดดำเนินการมาครบ ๑๐ ปี


นิทรรศการชุดสุดท้าย คือ ผลการทดสอบ SAT (Scholastic Aptitude Test) ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ - ๒๕๕๕ และคำถามที่อาจารย์ฝากไว้ในวันนั้นคือ ผลการทดสอบ SAT ลดลงเมื่อเด็กเรียนชั้นสูงขึ้น เพราะอะไร ? เหตุที่ดิฉันตั้งใจจัดวางนิทรรศการชุดนี้เอาไว้สุดท้ายก็เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องเอาไปทำงานกันต่อ และจะต้องนำเอาไปเป็นโจทย์การทำงานในปีต่อๆ ไปของโรงเรียน


เป้าหมายต่อไปของพวกเรา คือ หาวิธีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเพิ่มพูนสมรรถนะในการเรียนรู้ และฝังลึกอยู่ในตัวผู้เรียนให้พบ เพราะสมมติฐานแรกที่คิดถึงก็คือ วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เราทำอยู่อาจจะยังไม่เหมาะกับเด็กช่วงชั้นที่ ๒ ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นเพียงพอ และเราอาจจะยังไม่รู้จักกับหัวใจของการสร้างสมรรถนะทางภาษาที่ดีพอ


..................................................


ย้อนกลับมาดูที่หลักวิชา

ความถนัดทางการเรียน ประกอบด้วย

ความถนัดด้านภาษา เป็นความสามารถด้านความเข้าใจภาษาและการสื่อสารทั่วๆ ไป ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้สูงจะมีความสามารถในการอ่านที่เข้าใจความหมายของเรื่อง สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องได้อย่างรวดเร็ว

ความถนัดด้านจำนวน เป็นความสามารถด้านความเข้าใจเกี่ยวกับระบบจำนวนและตัวเลข ความคล่องแคล่ว แม่นยำและความคิดรวบยอดในการจัดกระทำระบบจำนวน

ความถนัดด้านเหตุผล เป็นความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ การคิดหาเหตุผล การวิเคราะห์ความสัมพันธ์และลงสรุปโดยวิธีอุปมาน

ความถนัดด้านมิติสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการเข้าใจเกี่ยวกับขนาด รูปร่าง ระยะทาง ทิศทาง และ ทรวดทรงของวัตถุ หรือ สิ่งต่าง


วันที่ ๑๖ – ๑๗ ก.พ. ๕๖ โรงเรียนปัญญาประทีปได้เรียนเชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ ผอ.สำนักทดสอบทางการศึกษา ม.ศว. ประสานมิตร มาบรรยายความรู้พื้นฐานเรื่อง SAT แก่คุณครูโรงเรียนปัญญาประทีป ทอสี และ เพลินพัฒนา ที่โรงเรียนปัญญาประทีป อาจารย์ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ สมรรถภาพพื้นฐานทางสมอง (primary mental ability) ของ Thurstone (1933) ว่า ประกอบไปด้วย

  • องค์ประกอบด้านภาษา (verbal factor)
  • องค์ประกอบด้านตัวเลข (number factor)
  • องค์ประกอบด้านเหตุผล (reasoning factor)
  • องค์ประกอบด้านมิติสัมพันธ์ (spatial factor)
  • องค์ประกอบด้านการรับรู้ (perceptual factor)
  • องค์ประกอบด้านความจำ (memory factor)
  • องค์ประกอบด้านความคล่องแคล่วในการใช้คำ (word fluency factor)

ในการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ด้านภาษา คนๆ นั้นต้องรู้คำตรงข้าม

  • รู้คำที่มีความหมายใกล้เคียง เข้าใจนัยของคำ
  • รู้ศัพท์สัมพันธ์ วิเคราะห์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไรมากที่สุด
  • มีความเข้าใจทางภาษา สามารถแปลความหมายของคำเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ได้
  • มีความเข้าใจภาพ

ความรู้ที่สำคัญคือ แม้ในการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ด้านเหตุผล ก็ยังต้องอาศัยภาษามาทำความเข้าใจ การพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ด้านภาษาต้องอาศัยการฝึกที่เข้มข้น และทำบ่อยจนกระทั่งเกิดเป็นสมรรถนะ

https://www.gotoknow.org/posts/552005


เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้ว โรงเรียนได้นำหลักคิดดังกล่าวข้างต้นมาพัฒนาการเรียนรู้ในหน่วยวิชา ภูมิปัญญาภาษาไทย ระดับชั้น ๒ ด้วยการสร้างหน่วยการเรียนรู้ “พฤกษาพาคำ” ขึ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/546813)


ล่าสุด... เมื่อต้นปีการศึกษานี้ดิฉันมีโอกาสได้เข้ามาดูแลการออกแบบ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้น ๑ - ๖ ให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง และมีจุดเน้นที่เอื้อต่อการสร้างเจตคติในการเรียนรู้ และเอื้อต่อการสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ทางภาษามากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันในลักษณะของการทำ Lesson Study ร่วมกับครูรุ่นน้องขึ้นมา ดังนั้นจึงสามารถสร้างให้แผนการเรียนรู้ทุกแผนเดินไปด้วยความสนุกของทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าแผนไหน ครูรู้สึกสนุกตั้งแต่ขั้นคิดออกแบบแผนการเรียนรู้ และรอคอยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสัปดาห์นั้น รับประกันได้เลยว่าห้องเรียนจะเปี่ยมไปด้วยพลังการเรียนรู้ของทั้งครูและศิษย์อย่างแน่นอน


หลังจากที่วงจรของการมาร่วมกันคิดแผน สังเกตการเรียนการสอน และสะท้อนผล เพื่อปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลาของกลุ่มครูขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ตัวครูแต่ละคนก็เข้าไปสู่หัวใจของการเรียนรู้มากขึ้น และรักในเรื่องที่ตัวเองกำลังสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์มาขึ้นทุกที ครูก็สามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการทางปัญญา และส่งความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น และมากขึ้น เมื่อผู้เรียนเกิดความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการตีความความรู้ของตัวเอง สังเกตได้ชัดเจนว่าเขาก็เริ่มมีความมั่นใจ เห็นคุณค่า เข้าถึงเรื่องที่เรียน จนกระทั่งสามารถใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่ครูออกแบบไว้ได้อย่างคล่องแคล่วด้วยตัวเขาเอง และยินดีที่จะนำเครื่องมือเหล่านั้นออกไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ


เช้าวันนี้... คุณครูนุช - ชัญญานุช คมกฤส ส่วนงานมาตรฐานและการเทียบโอนของโรงเรียนนำคะแนน SAT ของนักเรียนที่เพิ่งสอบไปเมื่อสัปดาห์ก่อนมาให้ แล้วบอกกับดิฉันว่า ผล SAT ด้านภาษาของนักเรียนชั้น 5 และชั้น 6 สูงที่สุดในรอบ 9 ปี และมี new high ให้เห็นแล้ว !










หมายเลขบันทึก: 597478เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2015 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2017 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามแผนภูมิ ชั้น ๕ และ ๖ นะครับ ที่เป็น new high ไม่ใช่ ๔ และ ๕


ขอแสดงความยินดี ที่ความพยายามก่อผลจริงๆ น่าจะร่วมกัน AAR ว่าครูทำอะไรบ้าง ที่น่าจะก่อผลนี้


วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ







ขอบพระคุณอาจารย์ที่เข้ามาให้คำถาม ให้กำลังใจ และข้อเสนอแนะค่ะ


หนูแก้ไขตัวเลขที่พิมพ์ผิดเรียบร้อยแล้วค่ะ :)





สิ่งที่แน่ใจได้ว่าตัวเองได้ลงมือทำอย่างจริงจัง คือการศึกษาองค์ประกอบของการสร้างสมรรถนะทางด้านภาษาให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน การเข้าไปปรับแผนการเรียนรู้ ควบคุมทิศทางให้การเรียนรู้มุ่งสู่การสร้างสมรรถนะทางภาษา การปรับโจทย์งานให้มีลักษณะเป็นโจทย์ปลายเปิด และการสร้างเส้นทางให้ผู้เรียนได้นำเอาความสนใจของแต่ละคนออกมาเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้นค่ะ





ส่วนการ AAR ของครู จะนำเอามาลงในบันทึกถัดไปค่ะ





ด้วยความเคารพ


ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท