เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับคุณหรือไม่? นอนกรนเสียงดังจนคนข้างๆหลับไม่ลง


sleep-abnea
เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับคุณหรือไม่?

รอบข้างบอกคุณว่า…

  • คุณนอนกรนเสียงดัง…ต้องสะกิดปลุกกลางดึก
  • เวลาไปเที่ยวเพื่อนล้อว่าคุณกรนเสียงดัง จนบางครั้งต้องแอบไปนอนคนเดียวเพื่อไม่ให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี หรือสังเกตว่า
    ตัวเองมีอาการ
  • สะดุ้งตื่นหรือพลิกตัวตอนนอน นอนกระสับกระส่าย เหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ
  • รู้สึกว่านอนไม่อิ่ม มีอาการปวดศีรษะอ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยกว่าปกติ ความคิดการอ่าน ความสามารถในการจดจำลดลง และอาการจะหนักขึ้น ถ้ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือทานยานอนหลับ
  • ง่วงนอนบ่อย หรือหลับง่ายในช่วงกลางวัน ขณะทำงานหรือเรียนหนังสือ จนถึงขั้นมีอันตราย เช่น อุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์ (หลับใน) หรือ อุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ
  • ปากแห้ง คอแห้งในตอนเช้า เพราะต้องหายใจทางปากทั้งคืน

กรน คือ..เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อนขณะนอนหลับ ในเวลาที่เราหลับสนิทนั้น เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องคอโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่และเพดานอ่อนจะคลายตัว บางคนคลายตัวมาก จนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจเข้าไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลมและปอดได้โดยสะดวก กระแสลมหายใจที่ถูกปิดกั้นไหลผ่านในลำคอไปกระทบลิ้นไก่และเพดานอ่อนจนเกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็คือมีเสียงกรนตามมา ยิ่งการอุดกั้นมากเพียงใดเสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่านั้น จนที่สุดการปิดกั้นนี้มากถึงอุดตันทางเดินหายใจจนหมด จะทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยสมบูรณ์ ความจริงแล้วการนอนกรนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจบ่งบอกว่าคุณกําลังมีปัญหาสุขภาพ

สาเหตุของการนอนกรน

  1. อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนยานลง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย
  2. เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนแต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับผู้ชาย
  3. โรคอ้วน มีไขมันส่วนเกินไปสะสมในช่วงคอ เบียดช่องหายใจให้แคบลง
  4. ดื่มสุราหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางส่งผลลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ขยายช่องหายใจ
  5. การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้ช่องคอระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจจึงตีบแคบลง เกิดการอุดตันได้ง่าย
  6. อาการคัดจมูกเรื้อรัง เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ หรือเนื้องอกในจมูก
  7. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าคนปกติ
  8. ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว กระดูกโหนกแก้มแบน โรคที่มีความผิดปกติบริเวณนี้
  9. โรคที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (hypothyroid) พบว่าทำให้เกิดทางเดิน หายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน

  1. ชนิดที่ไม่เป็นอันตราย (simple snoring) คนที่นอนกรนชนิดนี้ มักจะมีเสียงกรนสม่ำเสมอ ไม่มีหายใจสะดุด หรือเสียงฮุบอากาศ เสียงกรนมักดังมาก โดยเฉพาะเวลานอนหงาย ความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ เนื่องจากการกรนชนิดนี้ไม่มีภาวะขาดอากาศร่วมด้วยจึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนักเว้นแต่ทำให้รบกวนคู่นอนได้
  2. ชนิดที่เป็นอันตราย (snoring with obstructive sleep apnea) คนที่มีภาวะนี้มักจะกรนเสียงดังและมีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ใช้เวลานอน 7- 8 ชม.แล้ว กลางวันบางคนอาจมีอาการง่วงนอน, หลงลืม, ไม่มีสมาธิ, หงุดหงิดง่าย, ขี้โมโหรวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง ซึ่งการนอนกรนชนิดนี้ อาจนําไปสู่การหยุดหายใจขณะหลับได้

โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA) คือ..

โรคนอนกรนและหยุดหายใจเกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น เพราะสมองกําลังพักผ่อน ทําให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ทํางานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟทําให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงต้องพยายามหายใจแรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจนี้ เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อยๆ ทําให้หลับไม่ลึกและรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวัน เพลียและไม่สดชื่นเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา เช่น

  • ประสิทธิภาพการทํางานลดลง
  • ความจําไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วงหลับใน และหากทิ้งไว้ในระยะยาวโดยไม่ได้รักษาอาจนําไปสู่
  • โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคซึมเศร้า

การตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับ

  • การตรวจร่างกาย ซักประวัติ
  • การตรวจประเมินทางเดินหายใจ
  • การตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test )

การตรวจวินิจฉัยในโรคนี้มีหลายวิธีและวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การทำ sleep test หรือPolysomnograhpy (PSG) ซึ่งการตรวจนี้ผู้ป่วยต้องติดเครื่องมือบันทึกผลบริเวณรอบศีรษะและร่างกาย จะทำขณะนอนหลับอยู่จึงนิยมรับการตรวจที่โรงพยาบาลและต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล 1 คืน การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีนี้มีความปลอดภัยและแม่นยำสูงสามารถบันทึกคลื่นสมอง ลมหายใจและปริมาณออกซิเจนในเลือดทำให้แพทย์ประเมินการรักษาได้แม่นยำขึ้น

หมายเลขบันทึก: 597438เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2015 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2015 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท