ช่องว่างของการปรับฐานเงินเดือน 4% ให้พนักงานมหาวิทยาลัย


อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนนั้นว่า สำหรับสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐมากนัก (แต่ก็ได้รับงบประมาณในจำนวนมาก เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยขนาดเล็กรวมกัน) จะมีปัญหาน้อยในการว่าจ้างพนักงานเข้ามาปฏิบัติงาน ส่วนสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งก่อนนั้นพยายามดีดตัวให้เป็น "มหาวิทยาลัย" แต่ศักยภาพอาจจะต้องปรับปรุงเร่งด่วน สถาบันการศึกษาขนาดเล็กเหล่านี้ น่าจะเหมือนเด็กเรียนไม่เก่งในชั้นเรียนและมีความพยายามในการที่จะยืนอยู่ท่ามกลางสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ความเหนื่อยหนักและอำนาจในการต่อรองจึงดูจะด้อยกว่าสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ เหมือนกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก ๓ สูบ กำลังในการขับเคลื่อนจะด้อยกว่ารถที่มีเครื่องยนต์ ๔ สูบและติดเทอร์โบชาร์จเจอร์ ดังนั้น การบริหารงานบุคคล จึงเป็นการบริหารแบบกัดก้อนเกลือกันเลยทีเดียว

เดิมที ระบบพนักงานที่นำเข้ามาแทนที่การขาดหายไปของข้าราชการ และระบบพนักงานที่นำเข้ามาแทนที่ระบบข้าราชการทั้งหมดในสถาบันการศึกษาที่ออกนอกระบบ ดูแล้วน่าจะเป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการแบบอิสระ แต่น่าเสียดายที่ระบบดังกล่าวถูกครอบงำด้วยความคิดแบบราชการ สุดท้ายระบบพนักงานจึงเป็นระบบราชการแบบเดิม ที่ขาดอิสระในการบริหารการจัดการ เคยกล่าวเล่นๆกันกันในวงสนทนาระหว่างเพื่อนสนิทว่า "กลุ่มอิทธิพลที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่กลุ่มอิทธิพลภาคพื้นประชาชน" อย่างไรก็ตาม ในการบริหารจัดการระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษานั้น แต่ละสถาบันอุดมศึกษาจะมีการจัดการที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นกับศักยภาพ วิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์ของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ในบางสถาบันการศึกษาระบบพนักงานจะเป็นระบบเป็นไปด้วยดี เช่น ความคล่องตัวในการทำงาน เป็นต้น พนักงานที่ขยันสร้างผลผลิตให้กับสถาบัน จะมีสวัสดิการและค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของตนเองและบุคคลในความรับผิดชอบ สถาบันการศึกษาดังกล่าวจะจัดการด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอนโยบายจากภาครัฐ แตกต่างจากสถาบันการศึกษาแบบเครื่องยนต์ ๓ สูบ ที่จะต้องวิ่งอย่างเหนื่อยหนัก ถ้าผู้นำองค์กรทำเพื่อองค์กรจริง จะถือว่า ความเหนื่อยดังกล่าวคุ้มค่ากับหยาดเหงื่อที่เสียสละลงไป

เกี่ยวกับพนักงานฯ คณะรัฐมนตรี มีมติร่วมกันเมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดย "ให้ปรับค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ที่จ้างโดยเงินงบประมาณแผ่นดิน เพิ่มร้อยละ ๔ โดยใช้แนวทางเดียวกันกับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ (ที่มีมติให้ปรับไปแล้ว)" (ดูมติครม.จากนี้)

จากมติดังกล่าว ในการปรับฐานเงินให้กับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จึงจำเป็นต้องไปดูว่า การปรับเงิน ๔ เปอร์เซ็นต์ให้กับข้าราชการก่อนนั้น มีเกณฑ์อย่างไร จะพบว่า ข้าราชการทั้งหมดและพนักงานทั้งหมดบางส่วนจะไม่ได้ปรับฐานเงิน ๔ เปอร์เซ็นต์

สำหรับสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษานั้น มีตำแหน่งทางวิชาการเริ่มจาก (๑) อาจารย์ (๒) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (๓) รองศาสตราจารย์ และ (๔) ศาสตราจารย์ ผู้ที่จะได้ปรับคือตำแหน่งอาจารย์ โดยตำแหน่งดังกล่าวนี้จะได้เมื่อเราทำงานวิชาการหรือเข้ามาเป็นอาจารย์แล้วผ่านการประเมินการเป็นอาจารย์ เราจึงเรียกว่า "อาจารย์" (อธิบายแบบหลวมๆ) หากใครต้องการทำตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นไป จะต้องใช้ความเพียรมากขึ้นกว่าอาจารย์โดยปกติ และเมื่อได้ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น เขาจะได้เงินประจำตำแหน่ง ซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษาจะมีเงื่อนไขในการง่ายให้ที่แตกต่างกัน

การจัดปรับฐานเงินให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยตามแนวทางเดียวกันกับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการจึงมีช่องว่างอยู่ที่....ถ้าอาจารย์ ก. ยังไม่ได้ตำแหน่ง ผศ.ขึ้นไป อาจารย์ ก. จึงจะได้ปรับฐานเงิน ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ข. และรองศาสตราจารย์ ค. จะไม่ได้ปรับฐาน

ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ (๑) อาจารย์ ก. มีเงินค่าจ้างรายเดือน (ไม่ใช่เงินประจำตำแหน่ง) สูงกว่า ผศ. ข. และ รศ.ค. อาจารย์ ก. ได้ปรับฐานเงินใหม่ แต่ ผศ.ข. และรศ. ค.ไม่ได้ปรับฐาน เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินตอบแทนตำแหน่งทางวิชาการ แต่เป็นเงินค่าจ้างรายเดือน ที่ได้รับตลอดไป (๒) การทำตำแหน่งจากอาจารย์ไปสู่ ผศ. รศ.และศ. นั้น ต้องใช้ความเพียรพอสมควร-มาก และต้องลงทุนพอควรเช่นกัน การที่สถาบันอุดมศึกษามี ผศ. รศ. และศ. เพิ่มขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพทางวิชาการที่สูงขึ้น ถ้า ก. ข. และค. เข้าทำงานเป็นพนักงานฯ พร้อมกัน ก.มาสอนหนังสือ และเอาเวลานอกเหนือจากงานประจำไปทำงานอื่นหารายได้ จึงไม่มีเวลาทำตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ขณะที่ ข.และค. เห็นว่า การพยายามทำตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นจะช่วยยกระดับทางวิชาการให้กับสถาบันการศึกษา เพียง ๒ ปัญหานี้ก็น่าจะพิจารณาได้ว่า มีช่องว่างบางอย่างในการปรับฐานเงินค่าจ้างให้กับพนักงานฯ ช่องว่างแรก เป็นช่องว่างของความเสมอเหมือนกันในการปรับฐานเงินค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคน ส่วนช่องว่างที่สอง เป็นช่องว่างของการทุ่มเทให้กับสถาบันการศึกษา

เป็นไปได้ที่ มติดังกล่าวเป็นมติกว้างๆ ที่อาจไม่รู้ในระดับรากหญ้าของพนักงานที่ทำหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่ปฏิบัติสานต่อมติบางหน่วยงาน ศักยภาพในการจัดการมีข้อจำกัด ที่น่าแปลกคือ บางสถาบันการศึกษา ปรับฐานเงิน ๔ เปอร์เซ็นต์ให้กับพนักงานที่จ้างด้วยเงินรายได้ นอกเหนือมติ ครม. แต่ไม่สามารถปรับฐานให้กับพนักงานที่มีตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่ ผศ.ขึ้นไป โดยยึดข้อความที่ว่า "ใช้แนวทางเดียวกันกับการปรับปรุงค่าตอบแทนภาคราชการ" อันที่จริง สถาบันการศึกษาสามารถอุดช่องว่างดังกล่าวนี้ได้ด้วยความรู้สามัญ

มีการกล่าวว่า "เงินทองเป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร" เพียงหนึ่งบาทก็มีเหตุตบตีกันมาแล้ว แต่พุทธองค์กลับมองว่า "เงินทองคืออสรพิษ"

หมายเลขบันทึก: 597432เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2015 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2015 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เมื่อมีการปรับฐานเงินเดือนหรือเงินเดือนมักจะมีกลุ่มที่เสียเปรียบหรือกล่าวได้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม


ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว รมว. กระทรวง ศธ (ไม่ขอเอ่ยนาม) เมื่อเข้ามาก็ เล็งเห็นว่าครู-อาจารย์กลุ่มหนึ่งเงินเดือนติดอยู่ที่ ซี 7 ไม่ได้เลื่อนขั้นต่อไปเพราะไม่ได้ทำผลงานเลื่อนระดับเป็น ผศ. หรือเป็น ซี แปดกับเขาซะที เกิดเมตตาสั่งให้ไปรับเงินเดือนระดับ ซีแปด ก่อน แล้วเลื่อนขั้นประจำปีอีกครั้ง ซึ่งอาจได้สองขั้น


ผลก็คือ ผศ. ซีแปด อีกหลายคนที่เงินเดือนพอ ๆกับซีเจ็ดหรือต่ำกว่า ต่างกันไม่กี่บาท เพราะ ซีติดกันมีขั้นเงินเดือนที่เหลื่อมกันอยู่หลายขั้น พอซีเจ็ดได้เลื่อนขั้นเงินเดือนฟรี ๆ ซีแปดก็เงินเดือนน้อยกว่าทันที มิหนำซ้ำเมื่อเลื่อนขั้นประจำปี หลายคนยิ่งเงินเดือนต่ำกว่า ห่างออกไปอีก ช้ำใจกันถ้วนหน้า


ในหน้าหนังสือพิมพ์ จำได้ว่ามีคนเขียนไปถาม กพ. ได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เป็นไปได้ แต่ไม่รู้สึกเลยว่าได้ทำร้ายคนที่ตั้งหน้าตั้งตาทำราชการ และทำผลงานทางวิชาการให้กับมหาวิทยาลัย และไม่คิดจะแก้ไขให้เหมาะสม


มีปัญหาเรื่องความสามารถในการคิดเลข

ไม่ค่อยได้ตามเรื่องนี้เลยค่ะอาจารย์ เท่าที่รู้คือตกเบิกมาหนึ่งปีแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท