รวงข้าวเขียวเริ่มแก่ นาของชาวนาบางจ้าวก็เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว ผมสะพายเครื่องตัดหญ้าเดินตัดหญ้าและตบแต่งคันนาให้เรียบโล่ง เพื่อให้แสงแดดจากตะวันอ้อมข้าว บ่มรวงข้าวให้เหลืองสุกทั่วถึงที่สุด จากนี้ไปสักครึ่งเดือนแรกของเดือนธันวาคม ข้าวก็จะแก่และพร้อมเกี่ยว ผมน่าจะถือเอาวันพ่อ หรือช่วงสัปดาห์วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นวันเกี่ยวนาตาแฮก หรือวันแรกนาขวัญของฤดูเก็บเกี่ยวการนึกวางแผนที่จะประเดิมเกี่ยวข้าวในห้วงเวลาอย่างนั้น ไม่มีฤกษ์ยามหรือไม่ได้เป็นเคล็ดอะไร เพียงแต่เป็นการทำให้ได้ความสนุก มีความหมาย ให้การใช้แรงกายมีความหมายเป็นเครื่องบำรุงใจ รวมทั้งเป็นสื่อเชื่อมโยงกับญาติพี่น้องปู่ย่าตายาย ที่ก็พากันทำจนแม้ทุกวันนี้
เลยเหมือนกับเป็นการทำเพื่อได้เกิดมรรคผลบนการปฏิบัติ พร้อมกับเป็นการใส่ใจเหมือนเป็นการเลี้ยงคบไฟชีวิตและดูแลวิหารอันเป็นที่อาศัยทางจิตวิญญาณ ได้บูรณาการมิติทางกายและมิติทางใจไปบนการปฏิบัติในชีวิตอีกวาระหนึ่งไปด้วย
การตัดหญ้าและตบแต่งคันนาไม่ให้รก เป็นกระบวนการหนึ่งในวิธีทำนาของชาวบ้านทางเหนือ แถวภาคกลางไม่ได้ทำอย่างนี้ นาทางเหนือและทางภาคใต้จะปล่อยให้ข้าวแก่ยืนต้นและใช้ยืนเกี่ยว แต่นาแถวภาคกลางและภาคอีสาน เมื่อข้าวเริ่มแก่ก็จะนาบข้าวในนาทั้งแปลงให้ราบลงไปในทิศทางเดียวกันแล้วใช้ค้อมหลังน้อมตัวลงไปเกี่ยวรวงข้าว ผมเดินตัดหญ้าบนคันนาให้นาลุงตาปันและลูกหลานที่อยู่ติดกับนาผมด้วย ครอบครัวลูกสาวและลูกเขยของลุงตาปันแบ่งกล้าข้าวเหนียว กข ๖ มาให้ผม แล้วก็ทั้งบ้านก็มักจะแอบมาดูแลข้าวในนาให้ผมด้วย มีอยู่ปีหนึ่ง ผมจัดเวิร์คช็อปเครือข่ายการวิจัยและปฏิบัติการทางศิลปะในบ้านซึ่งคร่อมห้วงเวลาที่ควรจะเกี่ยวข้าวพอดี ความที่ต้องสาลวนอยู่กับการเตรียมการและจัดงานซึ่งมีคนอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยผมจึงเกี่ยวข้าวและตากไว้ก่อน ตั้งใจว่าหลังจากเสร็จงานแล้วก็จะเก็บฟ่อนข้าวและนวดข้าวไปเลย แต่พอเสร็จสิ้นเวิร์คช็อปและเดินลงไปในนาเพื่อเก็บฟ่อนข้าว ก็ได้พบว่ามีคนมาเก็บฟ่อนข้าวผมเรียงไว้ตามคันนาอย่างเรียบร้อย ออกแรงเดินรวบรวมฟ่อนข้าวนิดเดียวก็ขนขึ้นลานและตีฟ่อนข้าวได้เลย ผมเดาเอาว่าหากไม่ใช่ฝีมือลุงตาปัน ก็ต้องเป็นครอบครัวของลูกสาวและลูกเขยของแก ไม่ก็เป็นชาวบ้านที่ทำนาติดกันรอบๆนั่นเอง ผมลองถามดูในภายหลังเมื่อได้เจอกัน ก็เป็นไปอย่างที่คิด .. ลุงตาปันนั่นเองที่แอบมาทำให้ แกไม่ได้ช่วยผมหรอก แกบอกสงสารข้าวที่จะต้องถูกปล่อยตากแดดจนแห้งกรอบ !!!
เมื่อเดินตัดหญ้าไปบนคันนา ทั้งของตนเองและนาของลุงตาปันและลูกหลานที่อยู่ติดกัน ก็พบว่าตามแนวดินที่ลุ่มต่างๆในนาของผมนั้น มีร่องรอยของคนมาช่วยเซาะร่องไขน้ำเข้าออกให้ด้วยทั่วทุกล็อก วิถีปฏิบัติของความมีชีวิตที่พึ่งพิงอิงกันและดูแลซึ่งกันและกันไปตามเหตุปัจจัยที่มีอย่างนี้ของชาวบ้าน เมื่อมีโอกาส ก็ทำให้ผมต้องดูแลนาและสิ่งอาศัยด้วยกันของคนอื่น เหมือนดูแลของของตนเองไปด้วยเช่นกัน.
ได้เห็นความสุข มิตรภาพ และความเอื้ออาทรระหว่างกัน ของคนบ้านใกล้เรีอนเคียง ทางภาคเหนือ ผ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ ..
อ่านจบก็นั่งยิ้มให้กับความรู้สึกเช่นนี้ของอาจารย์ที่ผมก้รู้สึกได้เช่นกัน
..
มิตรภาพ อย่างงัยเสีย... มันไม่เคยอับจน.. มันมีแต่งอกเงยเสมอเลยนะครับ
..
ด้วยความระลึกถึงครับ
นั่งดูท้องนาผ่านม่านบังตาที่มองผ่านทุ่งนา..ที่ดังกรุ้งกริ้งๆอยู่..นึกถึงคำบอกเล่าของ"คนชื่อดี.".เรื่องไขน้ำเข้านา...ที่นาช่วงนี้..กำลังถูกกว้านซื้อ.(กันชุลมุลวุ่นวาย555).มีปัญหาที่ตามมาคือ ทางน้ำดั้งเดิม..ที่ชาวนาช่วยกันทำช่วยกันใช้..ก็จะถูกซื้อไปด้วย..โดยปริยาย..เรื่องการซื้อขายที่..เพราะที่ดิน..ถูกทำให้เป็นสินทรัพย์..แลกเงิน..กันเป็นว่าเล่นอยู่เวลานี้..มีผลตกกระทบ..มากมายนาๆประการ...อาจารย์มีประสพการณ์..บ้างไหม.เอ่ย..ว่า...แล้วอนาคต..ชาวนาที่ยังมีที่นา..แต่ทางน้ำถูกปิด..เนื่องจากเปลี่ยนมือเจ้าของที่ไป..นายทุนที่เป็นเจ้าของใหม่..สามารถเอาที่นา..ไปปลูกสิ่งก่อสร้าง..(.เป็นความประหลาดใจ..ที่รัฐ..เรา..สามารถปล่อยปะละเลยให้เป็นเช่นนี้ได้..อย่างไร..555)..
ชอบใจมิตรภาพแบบนี้ครับอาจารย์
มีความเอื้ออาทรซึ่งหายากในสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่
อาจารย์หายไปนานเลย
สบายดีนะครับ
ด้วยความระลึกถึงเช่นกันครับคุณแสงแห่งความดี มีความสุขนะครับ
พอมีประสบการณ์อยู่ครับพี่-ยายธีครับ บ้านผมมีร่องน้ำเล็กๆไหลผ่านไปนาชาวบ้าน แต่ผมและภรรยาเป็นคนชอบน้ำ แล้วก็ชอบสภาพที่เป็นวิถีชีวิตชาวบ้าน เลยทั้งรักษาทางน้ำไว้และทำนาไปกับเขาด้วยน่ะครับ
สบายดีหลายครับอาจารย์ขจิตครับ