ความหวังท้องถิ่นไทย : จากสังคมอุปถัมภ์ สู่สังคมคุณธรรม


ความหวังท้องถิ่นไทย : จากสังคมอุปถัมภ์ สู่สังคมคุณธรรม

29ตุลาคม2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]


“หวัง” อุดมการณ์ปัญญาชนจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การทำงาน

ดวงอาทิตย์ สาดแสง

แรงแผด เผาความชั่ว

มวลเมฆร้ายคลายสิ้น

ส่องธรณิน พ้นความมืดมัว

...เป็นเนื้อเพลงแนวเพื่อชีวิต “หวัง” ขับร้องโดย หงาคาราวาน [2]

จำได้ว่า สัก 10-20 ปีที่ผ่านมา เหล่าปัญญาชนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ที่เข้าไปแสวงหาความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 จะเข้าไปแสวงหาอุดมการณ์ไปพร้อมๆ กับการศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไป บรรดาปัญญาชนวัยรุ่นเหล่านี้เมื่อแรกเข้าไปศึกษาหาความรู้ในมหาวิทยาลัยล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์เสรีที่ตนเองใฝ่ฝัน หลายคนเป็น “เด็กกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย” โดยเฉพาะในยุคก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือช่วงหลังจากนั้น ในยุคนั้นถือเป็น “ยุคเด็กกิจกรรมเฟื่องฟู” กาลเวลาผ่านไปเหล่าบรรดาปัญญาชนเหล่านั้นได้สำเร็จการศึกษาออกไป ไปประกอบอาชีพ จนกระทั่งมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ก้าวหน้าทั้งในส่วนราชการ และเอกชน ผลจากการที่ได้พกพาประสบการณ์การโหยหาอุดมการณ์จากชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยกลับมิได้เป็นไปดั่งที่คิดคาดหวังไว้ดังเช่นชื่อเพลง ที่เกริ่นนำไว้ไม่ แม้หลายคนได้พกพาอุดมการณ์แรงบันดาลใจที่มีจากรั้วมหาวิทยาลัยไปทำงานจนประสบผลสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน แต่กลับเป็นคนละเรื่อง หลายคนถูกสังคมดูดกลืน หลายคนถูกระบบครอบงำ จนต้องตกอยู่ภายใต้สิ่งที่ตนเองได้แอนตี้ต่อต้านมาตลอดที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย หลายคนมีประสบการณ์การเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่ที่ตาลปัตรสวนทางกับอุดมการณ์ที่พกออกมาจากมหาวิทยาลัย เพราะ การเติบโตในหน้าที่การงานด้วย “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage System or Patron & Client System) [3] เกือบทั้งสิ้น มันช่างเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สวนทางกับการที่ได้เข้าศึกษาหาความรู้ในมหาวิทยาลัย

ปัญญาชนการศึกษาเหล่านั้น ได้หันเข้ามาประกอบอาชีพรับราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะใน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ อปท. เพราะการเติบโตพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเป็นจำนวนถึง 7,853 แห่ง [4] ที่มี “องค์การบริหารส่วนตำบล” ในทุกอำเภอทุกแห่ง แม้ต่อมาอาจมีการยกฐานะเป็น “เทศบาล” ก็ยังถือว่าเป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เหมือนกัน ส่วนใหญ่ปัญญาชนเหล่านี้จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” อยู่สองลักษณะคือ (1) เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายผู้ปฏิบัติ และ (2) เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายผู้บริหาร

ในบรรดาปัญญาชนที่เข้าสู่ตำแหน่งสายผู้บริหารนั้นนับเป็นจำนวนที่หมุนเวียน สับเปลี่ยนกันไปมาในตำแหน่ง มีจำนวนมากมายหลายตำแหน่งขึ้นกับ อปท. แต่ละประเภทไป แต่หากมองไปที่โครงสร้างแล้ว ทุก อปท. จะมีโครงสร้างที่เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันเลย เพราะมีส่วนราชการ และโครงสร้างเหมือนกัน เป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่การสับเปลี่ยนโยกย้ายข้ามไปต่าง อปท. จะมีเงื่อนไขเฉพาะที่ยากกว่าการสับเปลี่ยนโยกย้ายใน อปท. ประเภทเดียวกันตำแหน่งบริหารในส่วนราชการ นอกจาก ปลัด อปท. และรองปลัด อปท. ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายประจำของท้องถิ่น ส่วนราชการหลัก ได้แก่ ส่วนราชการที่เรียกว่า กอง หรือสำนัก “ครู คลัง ช่าง หมอ และสำนักปลัดฯ” นอกจากนี้ยังมีส่วนราชการอื่นขยายเพิ่มได้แก่ กองวิชาการฯ กองสวัสดิการสังคม กองการประปา กองช่างสุขาภิบาล ฉะนั้นจากจำนวน อปท. 7,853 แห่ง จึงมีปลัด อปท. จำนวน 7,853 คน และ รองปลัด อปท. อีกจำนวนหนึ่ง และมีบรรดาหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวอีกจำนวน อปท.ละ 5-9 ส่วนราชการ คิดเฉลี่ยขั้นต่ำที่ อปท. ละ 5 ส่วนราชการ จะมีจำนวนหัวหน้าส่วนราชการเป็นจำนวนถึงไม่น้อยกว่า 7,853 x 5 = 39,265 คน เมื่อรวมตำแหน่ง ปลัด และรองปลัด อปท. ด้วย จะมีจำนวนถึงไม่น้อยกว่า 54,971 คน คิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งแสน นี่คือเหล่าปัญญาชนจำนวนมากจากรั้วมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนได้กล่าวนำไว้แต่แรก ซึ่งถือเป็นจำนวนบุคลากรฝ่ายบริหารที่เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายของ อปท. ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาต่าง ๆ อันหมายถึงการขับเคลื่อน “การพัฒนาประเทศ” นั่นเอง

วัฒนธรรมของคนไทยตามวิถีไทย

คนไทยมักประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงานสูงมากเมื่อไปอยู่ต่างประเทศต่างถิ่น จะเป็นพลเมืองที่ดี เคารพ กฎหมายบ้านเมืองของประเทศนั้น มีการทำงาน การวางตัว การปฏิบัติตัวที่ไม่มีปัญหาใดในต่างประเทศ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมต่างประเทศได้ แม้ว่าบ้านเมืองนั้นจะค่อนข้างมีระเบียบวินัยอย่างมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน คนไทยก็ทำงานปรับตัวสามารถอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี

แต่พอคนไทยอยู่ในเมืองไทยเอง กลับกลายเป็นคนที่ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” [5] ไม่เคร่งครัดในวินัย ไม่รักษากฎหมาย มีการเล่นพรรคเล่นพวกกัน ไม่เว้น แม้แต่การเล่นพรรคเล่นพวกในกลุ่มของผู้ที่จบการศึกษามาจากสถาบันที่แตกต่างกัน [6] หาทางเลี่ยงกฎหมายมากกว่าการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการทุจริตคอร์รัปชั่น แทบทุกวงการ ไม่เว้น แม้หน่วยงานของรัฐ (ราชการ) หรือองค์กรเอกชน หรือ องค์กรอื่นใด มักมีข่าวให้เห็นมากน้อยมาตลอด มีข้อสังเกตว่า “การอุปถัมภ์การเล่นพรรคเล่นพวก” ก็คือ การไม่ใช้ระบบคุณธรรม (Merit System) [7] ถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า “การทุจริตเชิงนโยบาย” (Policy Corruption) [8] ทำให้พวกพ้อง ได้รับการปฏิบัติ ในลักษณะพิเศษกว่า คนที่ไม่ใช่พวกพ้องของตน ทำให้พวกพ้องได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนทั่วไป ที่มักพบเห็นกันจนชินตาทั่วไป

มีข้อมูลจากการสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประเทศไทยประจำปี 2557 (Thailand Economic Crime Survey) พบว่าร้อยละ 89 ของการทุจริต เกิดขึ้นจากการกระทำของคนในองค์กร [9] สำหรับ “บุคลากรใน อปท. หรือบุคคลากรของท้องถิ่น” ประมาณการว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ที่สูงมากถึงร้อยละ 70-90 และในจำนวนเหล่านี้อาจมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 70-80 ที่เข้าสู่ตำแหน่งด้วย “ระบบอุปถัมภ์ที่มิชอบ” เช่น การทุจริต การซื้อขายตำแหน่ง การใช้วิธีการทำงานต่างตอบแทน เพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ฯลฯ เป็นต้น ฉะนั้น ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า เหล่าบรรดา “ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายผู้บริหาร” นั้น หลายคนที่เติบโตในตำแหน่งหน้าที่ราชการมาจากระบบอุปถัมภ์ที่มิชอบ ไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป ถือเป็นอุดมการณ์ที่ค่อนข้างผิดหวังจากรั้วมหาวิทยาลัยตามที่เกริ่นนำแต่ต้น

รัฐบาล คสช. ปัดกวาดบ้าน ล้างบางอิทธิพล

รัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศนโยบายที่เกี่ยวกับปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และการขจัดอิทธิพล การบังคับใช้กฎหมาย [10] กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย [11] การปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล ใน 6 เดือน [12] หวังล้างบางอาวุธสงคราม สิ่งที่ทำให้เกิดอิทธิพลในท้องถิ่น การพยายามสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมคุณธรรม” มีธรรมาภิบาล (Good Governance) มุ่งใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารประเทศการเพิ่มสอนจริยธรรมแก่เด็กเพื่อหวังลดการโกง [13] การเพิ่มการใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ “Open Government Data” หรือ “Open data” [14] ที่ยึดแนวทางแบบอย่างมาจากประเทศกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) โดยเฉพาะ ในเรื่องการการพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการบริหารงานกิจการทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งที่เอาใจช่วย ด้วยเชื่อว่าหากเราทำให้แนวคิดใหม่แก่สังคมไทย โดยการใช้ระบบคุณธรรมในการบริหารงาน โดยการเริ่มต้นจากครอบครัวเป็นจุดแรกไปหาที่ทำงานในองค์กรทั้งภาครัฐราชการและภาคเอกชนแล้ว เมื่อนั้นประเทศชาติก็จะดีขึ้น ปัญหาการทุจริตจะลดลงในทุกวงการ เกิดการแข่งขันกันในเรื่องคุณธรรม ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในการธุรกิจการค้าการลงทุน จะมีเม็ดเงินการค้าการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างมากมาย

มาช่วยกันสร้าง “ความหวัง” เพื่อทางออกที่ดีของสังคมกันเถอะ

แต่ปัญหาจุดแรกมีว่า เราจะทำอย่างไร เราจะเปลี่ยนแนวคิดวิถี หรือวิธีคิดของคนในชาติให้ได้เสียก่อน นี่คือปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะจากข้อสันนิษฐานที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น บรรดาเหล่าปัญญาชนจากรั้วมหาวิทยาลัยหลายคนที่เป็นตัวจักรในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในเวลานี้ ก็คือคนเติบโตในหน้าที่การงานมาจาก “ระบบอุปถัมภ์” ทั้งสิ้น หากเป็นระบบอุปถัมภ์ที่มิชอบ ก็จะเลวร้ายมากยิ่งขึ้นอีกเท่าตัว จึงเป็นการยากที่จะเปลี่ยนวิถีแนวคิดได้ ผู้เขียนคิดว่า “เราคงปล่อยเรื่องระบบอุปถัมภ์” ไว้ให้เป็นอดีตไป ต่อไปเราคงต้องมาเริ่มต้นทำ “ระบบคุณธรรม” กันใหม่ ด้วยความหวังครับ ผู้เขียนยังมีความหวัง เหมือนเนื้อเพลงตอนต้น ว่า “สังคมเราจะต้องทำได้ และสังคมจะดีขึ้น ตามที่ท่านผู้นำประเทศของเราได้ชูนโยบายไว้ และพยายามที่จะทำนโยบายนั้นให้เป็นผลสำเร็จ เหมือนดังเช่นทุกวันนี้ หวังครับ”



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 5 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] เป็นเพลงเพื่อชีวิต มีเนื้อหมายความหมายที่กินใจ ขับร้องหลายเวอร์ชั่น โดย หงาคาราวาน, สุรชัย จันทิมาธร

[3] ระบบอุปถัมภ์ เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานโดยใช้เหตุผลทางการเมือง หรือความสัมพันธ์เป็นหลักสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมเป็นหลัก ลักษณะทั่ว ๆ ไป ของระบบอุปถัมภ์จึงมีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบคุณธรรม, ดู การบริหารทรัพยากรมนุษย์(Haman Resource Management), 28 พฤษภาคม 2555, http://mpa2011.blogspot.com/2012/05/haman-resource-management.html & ธนธัช ขุนเมือง, ระบบคุณธรรม(Meritsystem) VS ระบบอุปถัมภ์(Patronage System), ใน Liberal OAG, http://hq.prd.go.th/plan/ewt_dl_link.php?nid=1946

[4] กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2555, ส่วนวิจัยและพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง, สำนักพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง, www.dla.go.th/work/abt/

[5] John Embree เห็นว่าสังคมไทยมีโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบหลวม ๆ (Loose Structure)ดูใน “โครงสร้างสังคมหลวม (John Embree)”, จุรี วิจิตรวาทการ, Key Concept และลักษณะคำถาม, http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:FSN7KCNC3t0J:https://nidamppm14.files.wordpress.com/2008/11/keyconcept-drjuree.doc+&cd=1&hl=en&ct=clnk&gl=th ได้แก่ (1) มีความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง(Individualism) ลักษณะตัวใครตัวมัน อิสระชน ไม่ชอบถูกบังคับ ไม่ค่อยมีวินัย สอดคล้องกับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

[6] ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชการการเมืองของคณะรัฐศาสตร์, 17 พฤศจิกายน 2555,

http://www.prachatai.com/journal/2012/11/43706

[7] ระบบคุณธรรม เป็นวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน โดยใช้การสอบรูปแบบต่างๆ เพื่อประเมินความรู้ ความสามารถของบุคคลที่มีคุณสมบัติครบตามต้องการ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสำคัญการบริหารทรัพยากรมนุษย์, ดู การบริหารทรัพยากรมนุษย์, 2555, อ้างแล้ว

[8] สถาพร เริงธรรม, มาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย, 2546,

http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_39.pdf

[9] ไทยนำโด่งระดับโลก! คอร์รัปชั่นภาคธุรกิจ โดยคนในองค์กร, 22 ตุลาคม 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445481106&grpid=02&catid=02 & อิสระพงค์ มีเที่ยง, ระบบเส้นสายในเมืองไทย ทำประเทศชาติด้อยพัฒนา, 24 กุมภาพันธ์ 2553, https://www.gotoknow.org/posts/339594 &

[10] นายกฯ จ่อตั้งกรรมการปราบมาเฟีย หวังล้างบางอาวุธสงคราม, 26 ตุลาคม 2558, http://hilight.kapook.com/view/128297 & บิ๊กตู่' ลั่นกลางเวทีแม่น้ำ5สาย ถ้าบ้านเมืองไม่สงบก็ต้องปิดประเทศ, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, 29 ตุลาคม 2558, https://www.thairath.co.th/content/535530 , การประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ย้ำอีกครั้งว่า ไม่อยากอยู่ในตำแหน่งนี้นานๆ และขอให้นักการเมืองหยุดพูด แต่หากไม่หยุดก็จะยังไม่ไป ถึงแม้จะต้องปิดประเทศก็จะทำ

[11] นายกฯ ลั่นล้างโกง ย้ำกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย หวังฉุดความเชื่อมั่นรัฐบาล, 22 ตุลาคม 2558, http://hilight.kapook.com/view/128153

[12] 'บิ๊กตู่'สั่งปราบมาเฟีย ลั่น 6 เดือนต้องเห็นผล, เดลินิวส์, 20 ตุลาคม 2558, http://www.dailynews.co.th/politics/355646

[13] “ป๋าเปรม”จี้ เพิ่มสอนจริยธรรม-ภาษาอังกฤษแก่เด็ก หวัง ลดโกง-รับประชาคมอาเซียน, 24 ตุลาคม 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445672501 & ‘ป๋าเปรม’ลั่นไม่ทน ชงตั้งศาลปราบโกง, ASTVผู้จัดการรายวัน, 2 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000013094

[14] ฝ่ายนวัตกรรม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), Open Data Handbook Documentation (ฉบับภาษาไทย), 14 พฤศจิกายน 2555, http://www.mict.go.th/assets/portals/1/files/download/Open Data 1.0 ภาษาไทย.pdf & ชวนไปงาน CSDIG (ตอน 1) : สร้างนวัตกรรม & ทำรัฐให้โปร่งใส ด้วย “Open Government Data”, 10 กุมภาพันธ์ 2558, https://thainetizen.org/2015/02/csdig-open-government-data/ & การนำหลักการ “การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” ที่มีประสิทธิภาพ หรือ “Open Data” ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างได้ผลในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (European Union) เพื่อตราหรือปรับบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ความโปร่งใส สุจริตตรวจสอบได้การใช้มาตรการ “เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” (Open Data) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติเชิง “รูปธรรม”

หมายเลขบันทึก: 596808เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท