๑๐. จากวิกฤติ...เป็นโอกาส


“ยังไงก็ดูแลรักษาสุขภาพด้วยก็แล้วกัน บางทีการทำงาน เราควรทำให้มีความสุข และงานนั้นเมื่อประสบความสำเร็จก็น่าจะเพียงพอแล้ว อาจจะไม่ต้องเป็นที่หนึ่งก็ได้นะ”

ผมผ่านช่วงวิกฤติที่สุดของชีวิตมาแล้ว กลับเข้าสู่โรงเรียนใช้ชีวิตของการรับราชการครู ในตำแหน่งผู้อำนวยการ ไม่มีอาการอ่อนล้าหรือปวดหัว เหมือนได้ชีวิตใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม เห็นอะไรก็อยากทำไปหมด งานอะไรเข้ามาก็ยิ้มรับด้วยความเต็มใจ อยากทำให้สำเร็จเรียบร้อยไปซะทุกงาน จะว่าชดเชยช่วงเวลาที่สูญเสียไปก็คงไม่ใช่ แต่ด้วยแรงบันดาลใจบางอย่าง ที่อยากใช้ชีวิตที่เหลือให้คุ้มค่าที่สุด

ทำงานเดินหน้าได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ลืมคำเตือนของคุณหมอโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่เตือนผม ในวันที่ผมไปลาท่าน ก่อนเดินทางออกจากโรงพยาบาล

“กลับไปแล้วอย่าทำงานหนักนะครับ พักผ่อน ออกกำลังกายมากๆ อย่าเคร่งเครียดกับงานมากนัก งานประเภทที่ต้องอบรมสัมมนานานๆ งานปรับโครงสร้างหลักสูตรที่จะต้องเกี่ยวข้อง ก็ต้องดูด้วย อย่าหักโหม เพราะว่าสมองของเราได้รับการผ่าตัดไปนะ ดูแลตัวเองด้วย...”

คุณหมอพูดอย่างผู้รู้งานการศึกษาอย่างแท้จริง มองงานที่ผมทำได้ตลอดแนวและถูกต้องที่สุด..

ผ่านการผ่าตัดสมองมาได้ไม่ถึงเดือน ผมย่างก้าวเข้าสู่งานการเป็นคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาด้านวิชาการ มีหน้าที่ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด เป็นคณะกรรมการผู้ประเมินโรงเรียนต้นแบบการเรียนการสอนเศรษฐกิจพอเพียง และเตรียมโรงเรียนเข้าร่วมงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนทั้งในระดับเขตและระดับภาค...ก่อนนำโรงเรียนขึ้นสู่เวทีสูงสุด..ในระดับชาติ

บางช่วงบางตอนก็ต้องเข้าร่วมการประชุมสัมมนาตามภารกิจของตำแหน่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนงานสนองนโยบายของต้นสังกัด ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ที่เป้าหมายสำคัญ ต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่คุณภาพผู้เรียนที่พึงประสงค์

งานประจำของผู้บริหารสถานศึกษา นอกจากนิเทศกำกับติดตามการเรียนการสอนแล้ว ยังต้องช่วยสอนในบางรายวิชา แต่ของผม ถ้าไม่ติดประชุมอบรม ก็ต้องเป็นครูประจำชั้น คือสอนทั้งวัน โชคดีที่มีระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(DLTV) เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานได้บ้าง

สพฐ.ต้นสังกัด ไม่เพียงแต่อยากเห็นผู้บริหารมีความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมก็มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้ปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง โดยใช้งบประมาณของคุรุสภา และจับมือกับสำนักสงฆ์ขื่อดัง จัดทำค่ายคุณธรรมแก่ผู้บริหารทุกคนตลอดปี ในทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ

ผมต้องไปเข้าค่ายที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากบนเขาใหญ่ ที่มีห้องประชุมและที่พักอลังการ ท่ามกลางขุนเขาและป่าไม้ ที่สงบร่มเย็นและสวยงาม สะดวกทุกอย่าง แต่ผมรู้สึกไม่ค่อยสบาย นั่งสมาธินานๆ รู้สึกเมื่อยและชาวูบวาบตามตัว ใจอยากจะนิ่ง แต่เหมือนร่างกายอยากจะพักผ่อน ก็เป็นอีกช่วงเวลาสั้นๆ..หลังการผ่าตัด ที่ค่อนข้างอึดอัดและทรมาน

ก่อนสิ้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ข่าวดีจากต้นสังกัดว่า..การประกวดและแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนในระดับภาคกลางและภาคตะวันออก เกือบ ๓๐ จังหวัด รวมกันแล้วมากกว่า ๖๐ เขตพื้นที่ฯ จะมาจัดที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต ๑ (สพป.กจ.๑) เป็นเจ้าภาพใหญ่

ครั้งนั้น..กิจกรรมของนักเรียนที่ผมส่งประกวด มี ๒ รายการเท่านั้น คือ นิทานคุณธรรม ได้รางวัลระดับเขต ส่วนเพลงลูกทุ่งชาย ได้รางวัลชนะเลิศ ได้ไปต่อในระดับภาค และโรงเรียนก็ได้รับมอบหมายจาก สพป.กจ.๔ ให้ไปจัดนิทรรศการแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนด้วย เป็นเวลา ๓ วัน

นับเป็นครั้งแรกของโรงเรียนบ้านหนองผือ ที่ได้ร่วมมหกรรมทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ ครูและนักเรียน เดินทางไกลพร้อมสื่อ อุปกรณ์และผลงานในโครงการเกษตรอินทรีย์ มีการแสดงไปโชว์บนเวทีกลาง ทั้งกลองยาวและเพลงพวงมาลัย

ในงานนี้ สพฐ. เปิดโอกาสให้โรงเรียนขนาดเล็กส่งผลงานด้านใดด้านหนึ่งใน ๓ ด้าน ประกอบด้วย ด้านวิชาการ สื่อและนวัตกรรม และด้านบริหารจัดการ ใช้ชื่อรางวัลว่า “OBEC AWARD" ส่งผลงานเป็นเอกสารและแฟ้มผลงานผ่านเขตพื้นที่ที่สังกัดอยู่

ผมเคยให้ความสนใจรางวัลนี้มาบ้างแล้ว แต่ไม่มีโอกาสส่งผลงาน เนื่องจากไม่พร้อมด้วยประการทั้งปวง ครั้งนี้แน่ใจว่าพร้อมกว่าทุกครั้ง ประเมินตนเองว่าน่าจะสอบผ่านในระดับเขต ได้ไปต่อในระดับภาคและ ในระดับภาค ก็ไม่รู้สึกหนักใจ ถึงแม้ว่าจะมีโรงเรียนขนาดเล็กในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกมากกว่า ๕๐๐ โรงเรียนก็ตาม

เมื่อผลงานผ่านเขตพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย สัปดาห์ต่อมา สพป.กจ.๑ เจ้าภาพในระดับภาค ก็ประกาศผลให้โรงเรียนบ้านหนองผือ ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนโรงเรียนขนาดเล็กในระดับภาค เข้าประกวดผลงานด้านบริหารจัดการในระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

วันที่นำเสนอผลงานระดับชาติ ผมยังจำได้ติดตา นิทรรศการผลงานบนโต๊ะ มีไม่มากนัก ผมเลือกแต่ที่สำคัญ ป้ายนิเทศมีข้อมูลที่ทำจากไวนิล ๒ – ๓ ชิ้น ที่สรุปงานและกิจกรรมตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรรมการ ๓ ท่าน ให้เวลาผม ๑๐ นาที และตอบข้อซักถาม ๕ นาที เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่ผมรู้สึกว่า..พูดได้กระชับ ตรงประเด็น ไม่มีตื่นเต้นแต่อย่างใด ถึงแม้ว่ากรรมการที่นั่งฟังจะห่างจากตัวผมไม่ถึง ๒ เมตรก็ตาม

๕ วันต่อมาก็มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ และสัปดาห์ต่อมา ผมไปตรวจสุขภาพหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ตามที่คุณหมอนัด ก่อนที่คุณหมอเจ้าของไข้ จะส่งต่อตัวผมไปยังห้องตรวจเฉพาะทาง คุณหมอถามผมว่า กลับไปโรงเรียน ทำอะไรบ้าง..ผมบอกคุณหมอไปตามความเป็นจริงและตอนท้ายก็ยังได้บอกว่า..

“ได้ส่งผลงานโรงเรียนเข้าประกวด ได้รับรางวัลโอเบค อวอร์ด ชนะเลิศยอดเยี่ยม ระดับประเทศ ด้านบริหารจัดการ..ครับ..”

คุณหมอรับฟังด้วยสีหน้าเรียบเฉย ลงนามในเอกสารตรงหน้าแล้วยื่นให้ผม

“ยังไงก็ดูแลรักษาสุขภาพด้วยก็แล้วกัน บางทีการทำงาน เราควรทำให้มีความสุข และงานนั้นเมื่อประสบความสำเร็จก็น่าจะเพียงพอแล้ว อาจจะไม่ต้องเป็นที่หนึ่งก็ได้นะ”

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘



หมายเลขบันทึก: 596801เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2015 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2015 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท