ระบบเส้นสายในเมืองไทย ทำประเทศชาติด้วยพัฒนา


“ระบบอุปถัมภ์” ทำสังคม ไทยล้าหลังจริงหรือ

“ระบบอุปถัมภ์” ทำสังคม ไทยล้าหลังจริงหรือ

    ประเทศของเราวัดความสามารถและคุณค่าของคนที่เส้นสายจริงหรือ?คำถามนี้ทำให้ใครหลายคนลิ้นคับปาก เพราะรู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่จริงยิ่งเวลานี้ใกล้ถึงฤดูการเปิดเทอมนอกจากนักเรียนนักศึกษาสอบจะตื่นเต้นกับการสอบเข้าเรียนแล้ว บรรดาผู้ปกครองต่างขวนขวายหาเส้นสายมารองรับกันลูกพลาด ส่วนบัณฑิตหมาดๆ ก็กระเสือกกระสนยื่นใบสมัครงานกันจ้าละหวั่นความสามารถล้วนๆหรือจะสู้เส้นใหญ่ เพราะในใบสมัครก็มีช่องให้กรอกว่าท่านรู้จักใครในหน่วยงานของเราบ้าง หรือกรอกบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ เพียงเท่านี้ก็รู้แล้วว่าเขาจะหยิบใบสมัครใครมาพิจารณาก่อน    “ ระบบอุปถัมภ์” อาจดูเป็นเรื่องไกลตัวแต่แท้จริงแล้วมันแทรกซึมเราทุกคนตั้งแต่คุณแม่ต่อคิวฝากครรภ์แล้วคำๆนี้หลายคนมองไปในด้านบวก แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบคือสมองที่กลวงความกล้าที่ถดถอยของคนในชาติรวมถึงสร้างความริษยาให้คนอยากได้ อยากมี จนกลายเป็นแผลอักเสบในหัวใจของพลเมืองมาเนิ่นนาน

 

    รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้แจงถึงปัญหาระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ล้าหลังมาก เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันพัฒนาแบบทุนนิยมเน้นการแข่งขันที่ใช้ความรู้ความสามารถและคุณธรรมเป็นหลัก และที่ผ่านมาหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ก็สามารถหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์ได้ เราควรนำวิธีการแก้ปัญหาของเขามาปรับใช้ แต่คนในสังคมไทยยังติดความสบายจึงไม่ตื่นตัวที่จะแก้ปัญหานี้    “ ระบบราชการของเราควรเปลี่ยนแปลงจากการเล่นพรรคเล่นพวกมาเน้นการส่งเสริมความสามารถมิฉะนั้นจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นได้ การแก้ไขระบบนี้จะต้องทำให้คนระดับล่างตื่นตัว โดยเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขอย่างจริงจัง และรัฐควรส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพให้ประชาชน เพราะคนมีการศึกษาจะเข้าใจสิทธิและกฎหมายมากขึ้น กล้าที่จะโต้เถียง ไม่ยอมให้ใครมาขู่เข็ญ และไม่ยอมตกอยู่ใต้ความอยุติธรรม”     คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม กล่าวต่อไปว่า หลายคนมองว่านักการเมืองส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของกลุ่มอำนาจเก่าจากระบบอุปถัมภ์ แต่โดยส่วนตัวนั้นตนเห็นว่าเป็นเพียงแค่บางส่วน และที่ยังอยู่ในวงการนี้ได้เพราะอาศัยระบบอุปถัมภ์จากคนรุ่นพ่อที่สร้างบุญคุณให้กับคนท้องถิ่น นักการเมืองปัจจุบันส่วนใหญ่ คือ อดีตนักกิจกรรมตัวเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือมาจากกลุ่มนักวิชาการที่เปลี่ยนบทบาทเป็นนักการเมืองมากขึ้น

 

    จากการเสวนา “ ระบบอุปถัมภ์กับสังคมไทย” ของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์ วารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ว่า ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้ระบบมูลนายไพร่ โดยมีต้นแบบเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มผู้นำแบบไม่เป็นทางการเช่น นักเลงหรือ กลุ่มโจร เป็นเครือข่ายคอยช่วยเหลือชาวบ้าน    จนกระทั่งประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ระบบอุปถัมภ์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะรัฐมีการปรับใช้ระบบราชการแบบใหม่ โดยให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการดูแลประชาชน ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันมาพึ่งระบบอุปถัมภ์ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นศูนย์กลาง    อาจารย์วารุณี กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้ตนเชื่อว่า กลุ่มผู้นำทางสังคมต่างๆ ในอดีต อย่างนักเลง หรือโจร ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยคู่กับระบบอุปถัมภ์ เพียงแต่ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลง กลุ่มดังกล่าวจึงมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่กลุ่มชนดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลสามารถขับเคลื่อนระบบอุปถัมภ์ให้มีพลังดังเช่นในอดีต

    

    ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงระบบอุปถัมภ์ว่า แม้ประเทศไทยมีการเลิกใช้ระบบอุปถัมภ์อย่างเป็นทางการ คือ มูลนายไพร่ ตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 แต่คนในชาติยังคงปฏิบัติตัวด้วยความคุ้นชินจนมาถึงปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นตังอย่างได้มากมายไม่ว่าจะเป็น กรณีการแจกปลากระป๋องเน่าชาวดอย กรณีหุ้นส่วนในซานติก้าผับ กรณีเส้นสายในสำนักงานตำรวจ กรณีโควตาเก้าอี้ของบรรดาสิงห์จากมหาวิทยาลัยต่างๆในกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ซึ้งล้วนแต่เป็นความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นทางการในระเบียบกฎหมาย    “ ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการในลักษณะนี้มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะแวดวงราชการ กลุ่มคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน แบบ ลูกพี่-ลูกน้อง ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการสมัครงาน การเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้าย การฮั้วประมูล การเลือกตั้ง ฯลฯ หากคุณไม่ใช่พวกของเขาคุณจะไม่ได้รับอภิสิทธิ์”    

    ทั้งนี้ผศ. ดร.ชัยยนต์ ได้ยกตัวอย่างระบบอุปถัมภ์หลังจากทำการงานวิจัยในหัวข้อ บทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อท้องถิ่นในกระแสโลกาภิวัฒน์ กรณีศึกษาจังหวัดระยองว่า ในอดีตผู้อุปถัมภ์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ หรือ ข้าราชการเกษียณ แต่ผู้อุปถัมภ์ในปัจจุบันคือ กลุ่มนักธุรกิจการเมือง ที่ทุ่มทุนซื้อเสียงผ่านผู้นำชุมชน เพื่อเขาไปแสวงหากำไรจากการกินเปอร์เซ็นต์ในงานพัฒนาประเทศ แสวงหาอำนาจเพื่อปกป้องธุรกิจที่ผิดกฎหมายของตัวเอง เอื้อประโยชน์ในการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมให้กลุ่มนายทุนที่เป็นพวกพ้อง และเหตุที่การซื้อเสียงในเมืองไทยยังเฟื่องฟูอยู่ได้ เพราะระบบนี้เป็นการอุปถัมภ์ทั้งชีวิต ผู้อุปถัมภ์จะช่วยเหลือชาวบ้านตั้งแต่เงินค่าคลอดบุตร ทุนการศึกษา จนถึงเงินค่ารักษาโรคยามชรา จนกลายเป็นหนี้บุญคุณ การซื้อเสียงจึงเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนจน    “ ระบบนี้จะไขข้อสงสัยให้เราทราบว่า ทำไมรัฐมนตรีถึงระดมคนไปชุมนุมได้ เพราะมีเส้นสายต่อทอดไปถึงหมู่บ้านนั่นเอง ในสังคมไทยอำนาจมันมีหลายรูปแบบเราจะมองที่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะอำนาจที่มีผลต่อคนไทยมากกว่านั้น คือ อิทธิพล เราจะเห็นได้ว่า บ่อน บาร์ ซ่อง โต๊ะบอล จะมีคนคุมอย่างหนาแน่น ซึ่งคนเหล่านั้น อาจจะเป็น ทหาร ตำรวจ หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยของตำรวจทหารเอง”    

    สำหรับแนวทางการแก้ไขระบบอุปถัมภ์นั้น ผศ. ดร.ชัยยนต์ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน เพื่อถ่วงดุลอำนาจ และรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาในเรื่องที่พึ่งพาราชการไม่ได้ เช่น ปัญหาการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การแย่งชิงผลประโยชน์จากทรัพยากรกับกลุ่มนายทุน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ในกลุ่มการเมืองเริ่มสั่นคลอนจากการยุบพรรคการเมือง การลี้ภัยในต่างแดน ทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่เชื่อมั่นในระบบอุปถัมภ์ และเมื่อไร้ผลประโยชน์ไปการอุปถัมภ์ก็จะจบลง

ปล.เนื่อหาสาระที่ผมนำลงเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยจะก้าวไปอย่างไร  เมื่อระบบราชการไทยรับใต้โต๊ะ  เอาพรรค  เอาพวกตัวเอง

...อิสระพงค์  มีเที่ยง...ครูของแผ่นดิน

หมายเลขบันทึก: 339594เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2010 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วก็น่าเอาไปคิดมากๆเลยนะครับ ว่าตอนนี้สังคมไทยต้องการคนอย่างไร ถ้าเหนื่อย หนักใจ ก็หลบจากสังคมเมืองมา สังคม

บ้านนอก ก็ได้นะครับ มาเก็บของป่า ชมของป่า ใช้ชีวิตชาวบ้านนอกสักวันอาจจะได้แนวคิดใหม่ๆก็ได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท