๘. เรียนรู้เอกลักษณ์...อัตลักษณ์


ผ่านไปเพียงปีเดียว ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากนักวิชาการที่มานิเทศหรือเยี่ยมเยือนโรงเรียน ทุกคนทุกคณะ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..ก็ดูไพเราะสละสลวยสวยงามดี แต่มันยืดยาวเกินไป ทำไมไม่ใช้คำสั้นๆ ที่ปฎิบัติได้และจำง่ายกว่า

งานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่เกิดจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ต้นสังกัดให้ความสำคัญและได้นิเทศกำกับติดตาม ตรวจสอบและประเมินการปฏิบัติงานของโรงเรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยคณะศึกษานิเทศก์และผู้ทรงคุณวุฒิที่เขตพื้นที่แต่งตั้ง

ในระยะแรกเริ่มของงานประกันคุณภาพ แต่ละโรงเรียน ยังไม่ได้ใช้คำว่า”เอกลักษณ์”และ "อัตลักษณ์" สองคำนี้ยังไม่มีปรากฏในแผนปฏิบัติการ หรือ ธรรมนูญโรงเรียน ต่อเมื่อมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานของ สมศ.(ประเมินภายนอก) และสพฐ.ก็ปรับเกณฑ์มาตรฐานด้วยเหมือนกัน เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ จึงเริ่มมีและใช้กันทั่วไป ซึ่งตอนนั้น ผมก็อยู่โรงเรียนขนาดเล็กได้สักระยะหนึ่งแล้ว

ผมทำความเข้าใจอยู่นานว่าอะไรเป็นอะไร ระหว่างเอกลักษณ์กับอัตลักษณ์ คืออะไรกันแน่ มีความหมายไปในทิศทางใด และคำไหนควรมาก่อน

พอเข้าใจได้ว่า เอกลักษณ์ น่าจะมาก่อน เพราะเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ จึงจะค่อยลงไปสู่คำว่าอัตลักษณ์ ที่เล็กแต่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

เอกลักษณ์..เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิด หรือเกิดขึ้นแล้วในโรงเรียน

อัตลักษณ์..เป็นเรื่องที่จะทำให้มีในตัวนักเรียน หรือเกิดขึ้นแล้วในนักเรียนของเรา

ในช่วงเวลานั้น ความคิดอย่างหนึ่งก็ผุดขึ้นในชั่วพริบตา ผมได้คิดถ้อยคำสำคัญที่ให้ความหมายและทำความเข้าใจได้ไม่ยาก จึงนำเข้าที่ประชุมครู เพื่อร่วมกันพิจารณา หาข้อสรุป ว่าสมควรหรือไม่ ที่จะใช้เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของโรงเรียน

คุณครูส่วนใหญ่เห็นด้วย มีบางท่านถามว่า ทำไมผอ.ใช้คำยืดยาว และบางงคำเราจะทำได้หรือ ผมก็เลยบอกครูไปว่า เรากำหนดไปก่อน แล้วจึงจะดำเนินการไปสู่ความคาดหวังเหล่านั้น

โรงเรียนบ้านหนองผือ จึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในการวางแผนการทำงาน เพื่อการเรียนการสอน และเพื่อการอยู่รอด ด้วยรากฐานเล็กๆที่จะมั่นคงยิ่งขึ้น

ภายใต้เอกลักษณ์ที่ว่า...”ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย ใส่ใจผลสัมฤทธิ์ พัฒนาทักษะชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อม”

ส่วนอัตลักษณ์ ว่าด้วย..”สะอาด ซื่อสัตย์ เคร่งครัดวินัย ใฝ่เรียนใฝ่รู้ เชิดชูพอเพียง”

มีกิจกรรมและโครงการที่รองรับ ให้เกิดการปฏิบัติได้จริง อาทิ โครงการบ้านพอเพียง ห้องเรียนคุณภาพ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม ดนตรีสร้างเด็กดีมีคุณธรรม กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

ผ่านไปเพียงปีเดียว ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากนักวิชาการที่มานิเทศหรือเยี่ยมเยือนโรงเรียน ทุกคนทุกคณะ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..ก็ดูไพเราะสละสลวยสวยงามดี แต่มันยืดยาวเกินไป ทำไมไม่ใช้คำสั้นๆ ที่ปฎิบัติได้และจำง่ายกว่า

ผมก็ค้านว่า จำได้ง่ายเหมือนกัน...เพราะเป็นคำคล้องจอง และงานเอกลักษณ์ไทย งานพัฒนาผลสัมฤทฑิ์ และงานสิ่งแวดล้อม เรามีกิจกรรมที่ทำกันอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ในช่วงนั้น กิจกรรมดนตรีและเพลงพื้นบ้านกำลังไปได้ดี งานการเรียนการสอนก็เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ในส่วนของงานพัฒนาอาคารสถานที่ โรงเรียนก็สะอาด ร่มรื่นและสวยงามเป็นปัจจุบัน

ผมมาเข้าใจและเลิกคัดค้าน เมื่อคนที่แนะนำได้อ้างถึง ตัวชี้วัด ซึ่งจะมากขึ้น ถ้าเอกลักษณ์ตั้งไว้เยอะ ก็จะต้องประเมินกันหลายตัว โรงเรียนเล็กๆ บุคลากรน้อย จะทำไหวหรือ..อันนี้ผมเห็นด้วยจึงได้คิดปรับเปลี่ยนทันที

อัตลักษณ์ก็เหมือนกันยาวยืด ต้องการพัฒนาให้เกิดขึ้นในผู้เรียนทุกคน แทนที่ผมจะเลือกประเด็นที่เด่นๆ สักอย่างสองอย่าง กลับคิดพัฒนาถึง ๕ ด้าน ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านั้นต้องมีกิจกรรมมีเกณฑ์และเครื่องมือวัดและประเมินผล จึงจะเชื่อได้ว่า เป็นอัตลักษณ์ของเด็กหนองผือ

ถ้าผมไม่ปรับเปลี่ยน จะเป็นอะไรที่วัดยากมาก เพราะเป็นนามธรรมเกินไป เช่น ความซื่อสัตย์ ความมีระเบียบวินัย และการใฝ่รู้ใฝ่เรียน

ผมจึงใช้เวลาปรับเปลี่ยนอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญได้ชี้แนะไว้บ้างแล้วว่า เอกลักษณ์..ต้องใช้คำที่ตรงๆ และมีอยู่จริง สอดคล้องกับบริบทโรงเรียน หมายความว่า พอใครเข้ามาในโรงเรียน แล้วมองไปรอบๆ พบสิ่งแวดล้อมและกิจกรรม แล้วเข้าใจจุดเน้นของโรงเรียนได้ทันที นั่นล่ะ..คือเอกลักษณ์ล่ะ...อย่างเช่นโรงเรียนบ้านหนองผือ เข้ามาก็รู้ว่า เป็นโรงเรียนต้นแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่ไม่ต้องถามใครก็ได้

ในส่วนของนักเรียน..ผู้เชี่ยวชาญมองว่า โรงเรียนมุ่งเน้นศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว มีกิจกรรมมวยไทย ดนตรีไทย นาฎศิลป์และการละเล่นพื้นบ้าน ตลอดจนมุ่งเน้นการเคารพนพไหว้ ให้น้องรู้จักไหว้พี่ แล้วทำไมโรงเรียนไม่คิดคำที่หลอมรวมเป็นคำเดียว ที่ครอบคลุมได้หมดทุกกิจกรรม

พอได้รับคำแนะนำด้วยเหตุและผลเช่นนั้น ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โรงเรียนบ้านหนองผือ จึงเริ่มมีความชัดเจนอีกครั้ง ปฏิบัติงานประกันคุณภาพภายในได้สอดคล้องกับบริบทโรงเรียน กล่าวคือ

เอกลักษณ์....เศรษฐกิจพอเพียง และ อัตลักษณ์....สำนึกดีตามวิถีไทย และใช้มาจนถึงทุกวันนี้..

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 596675เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2015 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2015 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชัดเจนดีมากครับ

ขอบคุณมากๆครับ

เอกลักษณ์ และ อัตลักษณ์ เสมือน GPS

ที่ใช้นำทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

เป็นกำลังใจให้จ้ะ ท่าน ผอ.คนเก่


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท