​รู้รากเรา


ดร. วินัยน่าจะหาทางให้สังคมไทย ได้รับประโยชน์จากผลงานวิชาการที่เยี่ยมยอดชิ้นนี้ และอีกหลายๆ ชิ้นของท่าน และทีมงาน โดยชวนสถานีโทรทัศน์ ที่กำลังหิวกระหายสาระดีๆ ให้มาตีความนำเสนอสาระในผลงานวิจัยนี้ และผลงานอื่นๆ ตามแบบที่ BBC ทำ

รู้รากเรา

ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กรุณาส่งอีเมล์มาชวนไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ มรดกความทรงจำแห่งนพบุรีศรีลโวทัยปุระ ว่าด้วยโคลงเแลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจารึกโบราณแห่งเมืองละโว้ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งผมติดงานตามเสด็จฯ ในงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ จึงไปร่วมไม่ได้ แต่ก็ได้แสดงความจำนงขอหนังสือ ๑ เล่ม

ท่านฝาก ศ. ดร. เจตนา นาควัชระมาให้ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ผมอ่านเฉพาะส่วนแรกๆ ที่เป็นบท ตีความแล้ว รู้สึกเหมือนได้เปิดกระโหลกตัวเอง และได้ชื่อของบันทึกนี้

ผมได้เรียนรู้ว่า การตีความเอกสารโบราณ จะช่วยให้เรา “รู้รากเรา” ลึกซึ้งขึ้น เข้าใจว่าทำไมสังคม ของเราจึงมีวัฒนธรรมดังที่เป็นอยู่ โครงการ พปอ. ของ ดร. วินัย และคณะ จึงมีความสำคัญยิ่ง

ยกตัวอย่าง บทเกริ่นนำ โดย ดร. ตรงใจ หุตางกูร ในหน้า ๓ - ๑๐ ทำให้ผมตีความสาเหตุที่คนไทย จำนวนมากมีชีวิตอยู่กับการร้องขอพรจากเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้ดียิ่งขึ้น ว่าเราได้วัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย ตารางในหนังสือหน้า ๖ - ๗ บอกว่ามีเทพเจ้าถึง ๑๔ องค์ ซึ่งเมื่อตีความตามแบบของผม (ซึ่งไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ผมยึดมั่นในพรที่เทพเจ้าทั้ง ๑๔ องค์นี้มีทั้งหมด โดยไม่ต้องขอพร (แล้วไม่รู้ว่าจะบันดาลให้ฟรีๆ ได้หรือไม่) แต่ผมหมั่นเพียรฝึกฝนตนเองและปฏิบัติ เพื่อให้ได้พรนั้น โดยผมก็เป็นปุถุชน ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็หมั่นปรับปรุงเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายคือ เส้นทางชีวิตแห่ง “พรหม” ห่างจาก “เปรต”

ทำให้ผมคิดเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า “สัมมาทิฐิ” คือการมีกระบวนทัศน์ หรือ mindset ที่ถูกต้อง และบังเอิญวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ในการพบปะของ “คณะสี่สหาย” ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา มอบหนังสือ S.O.S. โปรดใช้ทางออกพิเศษ เขียนโดย รศ. สุศักดิ์ ทองธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิศวกร และเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากับ ศ. ฉัตรทิพย์ ที่ในหน้า ๘๗ เปรียบเทียบมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ กับสัมมาทิฏฐิ ๑๐ และผมติดใจ มิจฉาทิฏฐิที่กล่าวว่า การบวงสรวงไม่มีผล คู่กับสัมมาทิฏฐิว่า การยกย่องบุคคลที่ควรบูชามีผล ผมชอบมากที่ รศ. สุศักดิ์ ใช้วิธีจับคู่แแบบนี้ และตรงกับวิถีปฏิบัติของผม คือผมไม่บวงสรวงแบบขอพรฟรี แต่ผมหมั่นยกย่องคนดี เพื่อตนเองจะได้ซึมซับ

อ่านหนังสือมรดกความทรงจำฯ แล้ว ทำให้ฝันต่อ ว่า ดร. วินัยน่าจะหาทางให้สังคมไทย ได้รับประโยชน์จากผลงานวิชาการที่เยี่ยมยอดชิ้นนี้ และอีกหลายๆ ชิ้นของท่าน และทีมงาน โดยชวนสถานีโทรทัศน์ ที่กำลังหิวกระหายสาระดีๆ ให้มาตีความนำเสนอสาระในผลงานวิจัยนี้ และผลงานอื่นๆ ตามแบบที่ BBC ทำ ที่ผมนำมาเล่าบ่อยๆ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 596603เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2015 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2015 08:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท