วันนี้ได้เขียนโครงการที่ได้ผ่านการอนุมัติเพื่อให้ทำเป็นวิดีทัศน์นำเสนอตอนฝึกงานเสร็จ ซึ่งตัวโครงการต้องมีการแก้ไขบางส่วน จากนั้นจะเร่งลงมือถ่ายทำเพื่อที่จะให้ทันการ Present เพราะตอนนี้งานเริ่มเข้ามาเต็มตารางแล้ว และวันนี้ผมได้นำบทวิทยุมาฝากให้ลองอ่านดูนะครับ เพราะบทความนี้เป็นบทความที่จะนำออกอากาศจริงตามสถานีต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้บนหัวของบทวิทยุแล้ว ยังไงใครที่อ่านกันแล้วก็ติชมได้นะ
(ข้อความที่เป็นสีน้ำเงินทั้งหมด คือบทวิทยุครับ)
บทวิทยุ : ทรัพยากรชายฝั่ง ความมหัศจรรย์แห่งระบบนิเวศ รูปแบบ : สารคดี ความยาว : 7 นาที ปีที่ผลิต : พ.ย.2549 เป้าหมาย : ประชาชนและผู้ฟังทั่วไป สถานีวิทยุศึกษา : รายการความรู้สู่ชุมชน FM 92.5 MHz AM 1161 KHz UBCR 30 09.00 – 10.00 www.moeradiothai.net
รวบรวมโดย
: วีระพงษ์ สิโนรักษ์
ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นระบบนิเวศที่มีทั้งสิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต และสภาพแวดล้อมในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศทางบกจำพวกโถงถ้ำ ถ้ำหินงอกหินย้อยรวมถึงพันธุ์ไม้แถบชายฝั่งเรื่อยลงไปจนถึงชายหาดบริเวณที่มีน้ำทะเลซึมถึง และระบบนิเวศทางทะเลจำพวกสัตว์น้ำประเภทต่างๆ
พืชน้ำนานาชนิด เรื่อยขึ้นมาจนถึงบริเวณแนวน้ำทะเลซึมถึงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการบรรจบกันระหว่างระบบนิเวศทางบกและระบบนิเวศทางทะเล ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศชายฝั่งหรือทรัพยากรชายฝั่งนั้นเอง หากจะกล่าวแล้ว
ระบบนิเวศชายฝั่งเป็นระบบนิเวศที่มีความมหัศจรรย์เป็นอย่างมากทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์แถบชายฝั่งทะเล ธรรมชาติแวดล้อม วัฎจักรพืชและสัตว์แนวชายฝั่ง รวมถึงเศรษฐกิจอันมีผลผลิตมาจากทรัพยากรชายฝั่งด้วย เพราะได้เอาสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ทั้งสัตว์ พืช และสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งทางบกและทางทะเลรวมเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่สำคัญได้แก่ ป่าชายเลน ชายหาด หญ้าทะเล พะยูน ปะการัง เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆที่อาศัยหากินอยู่บริเวณชายฝั่ง
นอกจากสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์ทะเลแล้ว ยังมีสัตว์ประเภทสัตว์ปีกอีกมากมายที่มาอาศัยทำรังและวางไข่บริเวณชายหาดตั้งแต่บริเวณที่เป็นพื้นน้ำทะเลตลอดเรื้อยไปจนถึงพื้นที่ที่มีน้ำทะเลซึมถึง เช่น นกทะเล นกชายเลน และนกน้ำนานาชนิด โดยนกกลุ่มนี้ได้อาศัยทำรังและวางไข่จากแหล่งธรรมชาติที่เกิดจากการสึกกร่อนตามกาลเวลาจากการกัดเซาะของกระแสน้ำทะเล และการไหลของหยดน้ำซึ่งได้กลายเป็นโถงถ้ำ และถ้ำหินงอกหินย้อยอันสวยงาม คำว่าทรัพยากรชายฝั่ง หลายคนฟังแล้วอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่เชื่อไหมครับว่าหลายคนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับทรัพยากรชายฝั่งแล้ว
แต่ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองนั้นกำลังอยู่ท่ามกลางทรัพยากรที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของประเทศ เช่นการดำน้ำชมปะการัง หรือการศึกษาเชิงนิเวศดูการออกไข่ของเต่าทะเล ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีบริษัทเอกชนเปิดกิจการเกี่ยวกับการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในลักษณะนี้หลายรายแล้ว ทั้งนี้เพราะความหลากหลายของระบบนิเวศนี่เอง ที่เป็นสิ่งน่าตื่นตาตื่นใจต่อสายตาผู้คนที่ได้พบเห็น และควรค่าแก่การอนุรักษ์หวงแหนให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาวัฏจักรวงจรชีวิตของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ เพราะเชื่อว่าทั้งชีวิตน้อยใหญ่ของสัตว์ในแถบชายฝั่งเป็นระบบนิเวศแบบลูกโซ่ที่ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งการเติบโตและการดูแล และด้วยความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศชายฝั่งนี่เอง ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบให้กับทรัพยากรชายฝั่งเหมือนดาบ 2 คม หรือการให้ผลในสองด้าน
เช่น ถ้าหากระบบนิเวศชายฝั่งนั้นสมบูรณ์ ทุกชีวิต
และสรรพสิ่งของระบบนิเวศก็จะให้ประโยชน์ต่อชีวิตอื่นๆอีกมหาศาลซึ่งเป็นการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ และถ้าหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์และมากพอ พะยูน
ก็จะมีอาหารกินอย่างไม่ขาดแคลนและยังเป็นแหล่งที่ให้สัตว์น้ำต่างๆได้วางไข่เพื่อขยายพันธุ์ มนุษย์ที่จับสัตว์น้ำเป็นอาชีพก็จะมีปริมาณสัตว์น้ำให้ทำประมงอย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติทั้งสิ้นหากระบบนิเวศนั้นสมบูรณ์ แต่หากระบบนิเวศถูกทำลายไปไม่ว่าจะด้วยน้ำมือของมนุษย์หรือธรรมชาติก็ตาม ระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันอยู่นั้นจะค่อยๆขาดช่วงของวงจรชีวิตและวัฎจักรของระบบนิเวศ จึงทำให้ระบบนิเวศขาดสมดุลทางธรรมชาติไปในที่สุด อย่างเช่นเมื่อปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้น ทำให้ทางการต้องสูญเสียงบประมาณในการฟื้นฟูทรัพยากรที่ถูกทำลายด้วยภัยพิบัติต่างๆ เช่นการเกิดคลื่นยักษ์สึนามินอกจากจะคร่าชีวิตคนแล้ว ยังทำลายระบบนิเวศชายฝั่งจนไม่เหลือชิ้นดี เนื่องจากระบบนิเวศชายฝั่งได้รวมเอาความหลากหลาย ของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นดินและน้ำทะเลรวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหายกับทรัพยากรประเภทใดประเภทหนึ่งในระบบนิเวศชายฝั่ง ก็จะส่งผลกระทบแก่ระบบนิเวศทั้งระบบ
ทำให้การฟื้นฟูเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งเป็นการทำงานร่วมกับธรรมชาติดังนั้นจึงต้องใช้เวลากับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง หากอยู่มาวันหนึ่งเต่าทะเลต้องเผชิญต่อการคุกคามของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้เต่าทะเลต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหรือเปลี่ยนที่วางไข่ หรือบางครั้งเต่าทะเลอาจไม่มีโอกาสได้วางไข่ในช่วงที่ถูกคุกคาม ทำให้เต่าทะเลต้องลดจำนวนประชากรลงอย่างน่าเสียดาย นอกจากการสูญเสียระบบนิเวศเพราะการคุกคามของมนุษย์แล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างที่เกิดขึ้นก็สามารถทำให้ระบบนิเวศไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน อย่างเช่นการเกิดพายุและการเคลื่อนที่ขึ้นลงของกระแสน้ำและคลื่น ทำให้มีการฟุ้งกระจายของตะกอน และพัดพาตะกอนมาทับถมบนต้นหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้และตายในที่สุด เป็นเหตุทำให้พะยูนขาดแหล่งอาหารที่สำคัญ และเป็นอาหารชนิดเดียวที่พะยูนชื่นชอบ รวมถึงปลาทะเลอีกหลายชนิดจะไม่มีที่วางไข่เพื่อขยายพันธุ์อีกด้วย ความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศชายฝั่งไม่ได้มีแต่ความหลากหลายและความสวยงามของชีวิตสัตว์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเสริมสร้างรายได้ซึ่งเป็นรายได้หลักให้กับคนในท้องถิ่นให้กับคนในท้องถิ่น ที่ทำอาชีพจับสัตว์น้ำและพืชน้ำบางชนิดมาแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกนอกประประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ต้องระวังเรื่องการนำทรัพยากรไปใช้ เพราะหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังในอนาคตเราก็จะหมดแหล่งระบบนิเวศที่น่ามหัศจรรย์อย่างนี้ไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนที่ทำอาชีพจับสัตว์น้ำและพืชทะเลก็ต้องขาดรายได้ในที่สุด เนื่องจากระบบนิเวศชายฝั่งลักษณะนี้ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยความที่ทรัพยากรชายฝั่งได้เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตโดยรอบได้อย่างหาค่าไม่ได้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์เพื่อรักษาระบบนิเวศอันน่ามหัศจรรย์นี้ให้คงอยู่ต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้วนอกจากเราจะสูญเสียวัฏจักรทางระบบนิเวศแล้ว เรายังจะสูญเสียระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอีกด้วย โดยเฉพาะธุรกิจการส่งออกของประเทศ จึงได้มีการออกกฎเพื่อจัดระเบียบการดำรงชีวิตควบคู่ไปกับทรัพยากรให้กับมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันจึงได้เกิด
กฏระเบียบข้อบังคับค่าง ๆ ออกมาเพื่อกำหนดและช่วงเวลาในการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ จะเห็นได้ชัดว่าระบบนิเวศชายฝั่งนี้ เป็นระบบนิเวศลักษณะลูกโซ่
ที่สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นหากเราปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่งนี้ต่อไป ไม่วันหนึ่งก็วันใด เราอาจจะไม่ได้เห็นความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่สร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติอีกก็ได้ ข้อมูลอ้างอิง http://media.deqp.go.th/003_green/Infor.php หนังสืออุทยานแห่งชาติ ประเด็นสัมภาษณ์เพิ่มเติม - ความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งปัจจุบัน - แนวโน้มและนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย E22PAB ใน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
คำสำคัญ (Tags)#ครั้งที่26
หมายเลขบันทึก: 59660, เขียน: 14 Nov 2006 @ 16:31 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 16:21 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก