วิธีขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ๕ ขั้นตอน


วิธีขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ๕ ขั้นตอน ต่อไปนี้ ผมมีโอกาสได้ฟังท่านองคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย สอนนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง...(หากจะทำให้ท่านผู้อ่านเชื่อถือมากขึ้น) เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๘ ขณะท่านเยี่ยมชมผลงานของนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะเข้าร่วมพิธีมอบทุนฯ รุ่นที่ ๕

ผมยืนฟังอยู่หลัง "ผู้ฟัง" (อีกที) อย่างใจจดจ่อ เพราะสำหรับผมแล้ว นี่คือโอกาสทองของการเรียนรู้ และก็ไม่ผิดหวัง ท่านบอกว่าวิธีปลูกฝังปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน ควรทำข้อปฏิบัติ ๕ ประการ แสดงดังภาพ


ผมจับใจความและขยายความได้ดังนี้ครับ

๑) ครูสอนให้นักเรียนให้ทำงานหาเงินด้วยตนเอง สอนให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ล้างจาน ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ฯลฯ สร้างโอกาสให้นักเรียนหาเงินด้วยตนเอง อาจรับจ้างงานที่ทำได้อย่างปลอดภัย เช่น รับจ้างล้างจาน หรืองานประดิษฐ์ต่างๆ ที่ครูสอนในโรงเรียน เป็นต้น "... เด็กจะเห็นคุณค่าของเงิน เมื่อเขารู้ด้วยตนเองว่า กว่าจะได้เงินมานั้นยากแค่ไหน ...สังเกตไหม เงินที่ได้มาง่าย จะใช้จ่ายง่าย... เงินที่พ่อแม่ให้มาหรือแม้แต่เงินทุนการศึกษานั้นได้มาง่าย เด็กๆ จะใช้โดยไม่รู้จักคุณค่า.... " ... สรุปสำคัญคือ ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของเงินด้วยการหาเงิน

๒) ให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายครับ แต่ท่านเน้นว่า ต้องให้แบ่งเงินออมออกมาก่อน และต้องซื่อสัตย์ มีวินัยกับการบันทึก บันทึกทุกอย่างทุกวัน หมายเหตุเหตุในการจ่ายไว้เตือนความจำ... ผมตีความว่า การทำบัญชีรับ-จ่าย จะทำให้นักเรียนรู้จักตนเองด้านมิติวัตถุ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในการปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ซึ่งเบื้องต้นต้องทำให้นักเรียนรู้ตนเองก่อน

๓) ทุกๆ เดือน ให้เอาบัญชีรับ-จ่าย มาวิเคราะห์บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ แต่ละรายการมีเหตุผลหรือไม่ ใช้จ่ายอย่างพอประมาณหรือไม่ จ่ายไปแล้วคุ้มค่า เป็นผลดีหรือผลเสียหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น .... ขั้นตอนนี้ ผมตีความว่าเป็นวิธีที่ทำให้นักเรียนเข้าใจปัญหา และมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นๆ

๔) เมื่อรู้ปัญหาจากขั้นตอนการ "ถอดบทเรียน" และเข้าใจหลักคิดตามหลักปรัชญาฯ แล้ว ขั้นตอนต่อมานี้คือ การน้อมนำมาใช้แก้ปัญหานั้นๆ หรือน้อมนำมาปฏิบัติกับชีวิตของตนเอง โดยเริ่มจากการใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับ

๕) ปลูกฝังการให้และแบ่งปัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเสียสละและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนต่อไป ส่วนนี้นักเรียนอาจพิจารณาเงินเก็บออมของตน แล้วแต่เหตุผลว่า มีพอกับความจำเป็นหรือยัง ... การฝึกให้ในสิ่งที่ตนเองต้องการนั้น เป็นการปลูกฝังการให้ที่ดียิ่ง การให้จากส่วนที่เหลือนั้น ได้ฝึกจิตใจในการเสียสละน้อยกว่า....

หมายเลขบันทึก: 596039เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2015 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2017 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท