โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน


โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน

1 ตุลาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงนี้ที่รัฐบาลคาดหวังมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่ภาวะชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 ต่อปีเท่านั้น [2] มีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว และผลผลิตและราคาพืชผลเกษตรสำคัญต่างๆ ปรับลดลง รัฐบาลโดยข้อเสนอของกระทรวงการคลัง จึงมีมาตรการใน 3 มาตรการ รวมวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ประกอบด้วย [3]

(1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า “โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน”วงเงิน 60,000 ล้านบาท

(2) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือที่เรียกว่า “โครงการตำบลละ 5 ล้าน” วงเงิน 36,275 ล้านบาท

(3) มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ เร่งรัดผลักดันโครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท

จุดสนในอยู่ที่มาตรการที่ 1 และมาตรการที่ 2 ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอข้อคิดในมาตรการที่ 2 (โครงการตำบลละ 5 ล้าน) ไปแล้วเมื่อตอนที่แล้ว ด้วยวงเงินงบประมาณที่มากกว่ามาตรการที่ 2 เกือบสองเท่า ตอนนี้ลองมาดูมาตรการที่ 1 (โครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน) ในมุมมองแบบชาวบ้านทั่วไปที่มีความคาดหวังเช่นเดียวกับรัฐบาลในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว มีเงินหมุนสะพัดในระบบเศรษฐกิจหมู่บ้านชุมชน [4]

ความเป็นมา [5]

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นนโยบายที่เริ่มมาจาก “โครงการประชานิยม” สมัยรัฐบาลทักษิณ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 แรกเริ่มใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) พ.ศ. 2544 และ พรฎ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2544 ต่อมามีการออกเป็น พรบ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 [6] ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ โดยการโอนเงินไปแล้ว 151,565.82 ล้านบาท

ปัจจุบัน มีจำนวนกองทุนหมู่บ้านฯ ทั้งสิ้น 79,225 กองทุน แยกเป็นกองทุนระดับ A (เกรดดีมาก) ประมาณ 21,000 กองทุน เกรด B (เกรดดี) ประมาณ 38,000 กองทุน เกรด C (เกรดพอใช้) และเกรด D (เกรดควรปรับปรุง) จำนวน 18,566 กองทุน มีสมาชิกรวม 12,801,444 คน มีเงินทุนหมุนเวียนรวมกันไม่น้อยกว่า 218,899.74 ล้านบาท คิดเป็น 8.5% ของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558

โดยการจัดสรรเงินให้หมู่บ้านและชุมชนเมืองละ 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างงาน สร้างอาชีพ บรรเทาความเดือดร้อน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของหมู่บ้านและชุมชนเมือง [7] กล่าวคือ เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับฐานรากของประเทศ โดยให้หมู่บ้าน/ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้านและชุมชน ด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง เกื้อกูลประโยชน์ ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน เสริมสร้างการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ และประชาสังคม รวมถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน ให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีขีดความสามารถ ในการบริหารจัดการคน เงินทุน และทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยตนเอง และเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อลงทุนประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และความจำเป็นเร่งด่วน

ในมุมมองภาคประชาสังคม จึงเป็นเสมือนเครื่องมือในการพัฒนา “คน” และ “การเรียนรู้” เป็นการเสริมสร้างการเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชน และประชาสังคม [8] เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้าง “ความเข้มแข็ง” ของหมู่บ้านและชุมชนให้มีความยั่งยืน

สาระสำคัญโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน

เป็นมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน โดยการเพิ่มทุนแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) ที่ได้รับการจัดชั้นเป็นกองทุนระดับ A (เกรดดีมาก) และ B (เกรดดี) รวมจำนวน 59,000 กองทุน จากทั้งหมด 79,225 กองทุน หรือประมาณร้อยละ 74 กองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขห้ามนำไป Refinance หนี้เดิม กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนภายใน 7 ปี โดย 2 ปีแรกให้เป็นช่วงเวลาปลอดดอกเบี้ย รวมวงเงิน 60,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับผิดชอบวงเงินธนาคารละ 30,000 ล้านบาท คาดว่าจะปล่อยกู้ได้ครบวงเงินภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 นี้ [9]

ในส่วนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่เหลือซึ่งอยู่ขั้นตอนของการเพิ่มทุน (เกรด C และเกรด D) จำนวน 18,566 กองทุน (ประมาณร้อยละ 23 ของกองทุน) นั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหารือร่วมกันว่า กฎ ระเบียบ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีกลไกในการคัดกรองและติดตาม ให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ มีความคุ้มค่า และโปร่งใสหรือไม่ [10]

ข้อสังเกตห่วงใย

ไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียใด ๆ ก็ตาม ในความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในมุมมองของนักวิชาการ และชาวบ้านทั่วไปก็อดเป็นห่วงใยในเป้าหมายในความหวังดีของรัฐบาลไม่ได้แม้จำนวนเงินกู้เพียงน้อยนิดจากกองทุนหมู่บ้านที่กำหนดเพดานไว้ที่ รายละไม่เกิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) [11] ก็ตาม แต่ในสภาวะทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่จำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบการหรือในการดำรงชีพตามประสาคนชนบทบ้านนอกโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดียิ่ง ข้อสังเกตห่วงใยเหล่านี้อาจเป็นการร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของบรรดาพี่น้องในการช่วยเหลือรัฐบาลได้ในอีกแรงหนึ่ง

(1) มุมมองว่าเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลทักษิณ เป็นการสร้างค่านิยมในลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) สร้างหนี้สินครัวเรือน เพราะประชาชนจำนวนมากนำไปใช้ซื้อของสิ่งของฟุ่มเฟือยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ฉะนั้น การสานต่อโครงการฯ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยขาดมาตรการการควบคุมกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และขาดการสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ประชาชาม อาจเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ขาดความยั่งยืน อาจเป็นภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ในมุมมองนี้ก็คือ มิได้มองว่าเป็นเพียงนโยบายในการหว่านเงินเพื่อคะแนนเสียงตามหลักของโครงการประชานิยมโดยทั่ว ๆ ไป

(2) การบริหารจัดการด้านสินเชื่อการกู้ยืมเงินต่าง ๆ อาทิ การเร่งรัดหนี้เสียและการค้างชำระหนี้ของกองทุน หากปรากฏว่าผู้กู้เงินมีอัตราการไม่ชำระหนี้คืนกองทุนที่สูง หรือ การเบี้ยวไม่ชำระหนี้ด้วยเหตุพฤติกรรมส่วนตัวของผู้กู้ที่ขาดสำนึก มิใช่ด้วยเหตุจำเป็น ควรมีมาตรการในการแซงค์ชันทางสังคมของหมู่บ้านชุมชน เช่นการตัดลบชื่อออกจากการเป็นสมาชิกทันที และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อีก

การกำกับตรวจสอบแนะนำคณะกรรมการกองทุนฯ ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) [12] ควรแนะนำเพื่อป้องกันการดำเนินการที่ไม่สุจริต เป็นหนี้เสีย หนี้ที่เสี่ยงต่อการเป็นหนี้เสีย การขาดมาตรการในการกำกับ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการกับญาติสนิทมิตรสหาย ฯลฯ เพราะมีข้อครหาอยู่เสมอว่า กรรมการฯ มีความลำเอียง ปล่อยเงินกู้ไปตามญาติพี่น้อง หรือขาดการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมใด ๆ แก่ประชาชนที่มิใช่พวกพ้อง หรือการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านชุมชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะในการกู้เงินกองทุนนั้น จะมีลักษณะของการค้ำประกันแบบกลุ่มหมุนเวียน หากบุคคลใดไม่มีกลุ่ม ก็อาจขาดสิทธิในการขอกู้เงินได้ เป็นต้น

ในสังคมชนบทบ้านนอกโดยทั่วไปมักเป็นสังคมด้านการเกษตร ฉะนั้น การเพิ่มรายได้ในกิจการภาคเกษตรให้เพิ่ม ก็จะทำให้รายได้รวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น การใช้จ่ายนอกภาคเกษตรจึงต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด

หากกองทุนที่บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก จะก่อให้เกิดเป็นวงจรหนี้ที่พอกพูนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาชิกยังต้องกลับไปกู้หนี้นอกระบบอีก เพราะปล่อยให้ผู้กู้ยืมกองทุนหมู่บ้านฯ มีการใช้เงินกู้ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

(3) ในข้อดีโดยรวมนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ควรส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเงินงบประมาณที่ส่งตรงถึงมือประชาชน เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้เงินจำนวนมากที่รัฐบาลได้อัดฉีดไปได้ไปไหลหมุนเวียนอยู่ในระดับหมู่บ้านและชุมชน เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประชาชนในการพัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้ในชุมชน ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพ กองทุนหมู่บ้านฯ จะเป็น “แหล่งเงินกู้หลัก” ของครัวเรือน ทำให้การพึ่งพาหนี้ในระบบธนาคาร และหนี้นอกระบบลดลงได้ เพราะแหล่งทุนในระบบ เช่น สถาบันการเงิน จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและเงื่อนไขต่างๆ ที่ยุ่งยากมากว่ากองทุนหมู่บ้านฯ นอกจากนี้ ในเหตุผลความจำเป็นบางประการ เงินกู้จากกองทุนหมู่บ้านฯ อาจนำไปชำระหนี้นอกระบบได้บ้างบางส่วน ทำให้เป็นการช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบลงได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตบางประการเหล่านี้ คงช่วยให้การสร้างสรรค์ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” มีคุณค่า และมีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ และการควบคุมกำกับดูแลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้บ้างตามสมควร



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22804 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น &

สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์‬, บทความวิชาการ, ปีที่ 63 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 2 - วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558, หน้า 80
, คอลัมน์‬ : เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ดู ธปท.เผย เศรษฐกิจส.ค.58 ติดลบ9.5% ส่งออกซึมยาว8เดือนติด, มติชนออนไลน์, 30 กันยายน 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443602230

[3] มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ, 14 กันยายน 2558, http://www.villagefund.or.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1947&pagename=content&contents=1467&parent=433

[4] ปลุกพลังประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก, เดลินิวส์, 29 กันยายน 2558, http://www.dailynews.co.th/article/350853

[5] เปิดงานวิจัย “กองทุนหมู่บ้าน” 14 ปี ได้งบ 1.66 แสนล้าน ก่อน ครม. เติมเงิน 6 หมื่นล้าน ข้อดีมีมาก แต่ข้อเสียก็ร้ายแรง, 9 กันยายน 2558, http://thaipublica.org/2015/09/villagefund-1/

[6] พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1-14 เล่ม 121 ตอนพิเศษ 85 ง วันที่ 30 ธันวาคม 2547, http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1088.pdf

[7] ดู มาตรา 5 แห่ง พรบ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547

[8] สุริชาติ สายทอง, การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, http://samchai.cdd.go.th/villagefund/text-vilfund

[9] เปิดงานวิจัย “กองทุนหมู่บ้าน”, อ้างแล้ว

[10] คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558, ดูใน กระทรวงมหาดไทยได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรและคนยากจน, www.ppb.moi.go.th/midev06/upload/5%20m.doc

[11] ดูระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริการจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1-23 เล่ม 125 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.villagefund.or.th/Sitedirectory/469/2000/666_stb_protocol_2551.pdf & ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดตั้งและบริการจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ข้อ 3 แก้ไขข้อ 37, https://surinvillagefund.files.wordpress.com/2012/06/e0b8a3e0b8b0e0b980e0b89ae0b8b5e0b8a2e0b89ae0b881e0b8ade0b887e0b897e0b8b8e0b899e0b889e0b89ae0b8b1e0b89a-3.pdf

ข้อ 37 บัญญัติว่า

“คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านมีอำนาจในการอนุมัติเงินกู้รายหนึ่งไม่เกินจำนวนสามหมื่นบาท

ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านมีมติเห็นควรอนุมัติเงินกู้รายใดเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเรียกประชุมสมาชิกเพื่อให้สมาชิกพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป แต่ทั้งนี้การอนุมัติเงินกู้รายหนึ่งต้องไม่เกินจำนวนเจ็ดหมื่นห้าพันบาท

การอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉิน หรือเงินยืมฉุกเฉินให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านอนุมัติได้รายหนึ่งจำนวนไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาทจากเงินที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล หรือบัญชีกองทุนหมู่บ้าน (บัญชีที่ 1) ไปใช้จ่ายเพื่อการฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน โดยกองทุนหมู่บ้านสามารถเบิกเงินฉุกเฉินจากบัญชีกองทุนหมู่บ้าน (บัญชีที่ 1) มาเก็บรักษาไว้เป็นเงินสด ตามระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดของกองทุนหมู่บ้านโดยวงเงินสดที่เก็บรักษาประจำวันจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ซึ่งมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

[12] ดู สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, 2554, www.oag.go.th/News/Upload/6.2012120006.1.pdf

หมายเลขบันทึก: 595600เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2015 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2018 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อยากทราบค่าปรับในฐานะที่เลยสัญญา

ตอบ คุณ แพเงิน ทองคำ

ค่าปรับ (เบี้ยปรับ) ค่าเสียหาย

 

*** ค่าปรับ (เบี้ยปรับ) เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย

*** ค่าเสียหาย เป็นสิทธิเรียกร้องของคู่สัญญาเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ต้องพิสูจน์ความเสียหาย

การกำหนดอัตราค่าปรับในสัญญา (ข้อ 134)

กรณีซื้อ /จ้าง

*** ไม่ต้องการผลสำเร็จของงานพร้อมกัน ค่าปรับรายวัน อัตราตายตัว ระหว่างร้อยละ  0.01 – 0.20 ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบกรณีงานจ้างก่อสร้าง

*** ที่ต้องการผลสำเร็จของงานพร้อมกัน ค่าปรับรายวัน เป็นจำนวนเงินตายตัว อัตราร้อยละ 0.01 – 0.10 ของราคางานจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าวันละ 100 บาท

*** จ้างก่อสร้างสาธารณูปโภคที่มีผลกระทบต่อการจราจร ปรับรายวันในอัตรา อัตราร้อยละ 0.25 ของราคางานจ้างนั้น

http://finance.offpre.rmutp.ac...

ทางธนาคารคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่/2ปีแรกปลอดดอกต้นส่ง5ปี/เงินต้น+ ดอกเบี้ย/ ปีต่อไปต้นลดดอกลดตามไหม..อยากทราบครับ

ทางธนาคารคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่/2ปีแรกปลอดดอกต้นส่ง5ปี/เงินต้น+ ดอกเบี้ย/ ปีต่อไปต้นลดดอกลดตามไหม..อยากทราบครับ

ตอบคุณ [email protected]อันนี้ ไม่ทราบรายละเอียด ของธนาคารนะ แม้เป็นเรื่องของ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) ได้เงินผ่านมาจากธนาคารออมสิน และ ธกส. ลองย้อนไปดูระเบียบของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) ว่า เขียนไว้อย่างไร … ที่เห็นมาก็คือ เมื่อได้เงินก้อนมา ก็จะเอาจำนวนสมาชิกกองทุนฯ หารจำนวนเงิน ซึ่ง ก็ได้แค่รายละ 2-3 หมื่น (เต็มที่) เพราะเงินน้อย สองปีแรกก็ปลอดดอกเบี้ย พอเข้าปีที่สามนี่แหละ ต้องใช้คืนธนาคารฯ พร้อมดอกเบี้ย (น่าจะ 7.5%ต่อปี) น่าจะมีลดต้นลดดอกเหมือนสหกรณ์ เพราะธนาคารออมสินและ ธกส. เจ้าของเงินปล่อยกู้ ถนัดอยู่แล้ว
… ขั้นตอนวิธีการส่วนหนึ่งต้องอยู่ที่ระเบียบ กทบ.ฯ และ มติคณะกรรมการฯ … ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “หนี้สูญ” หรือ คนไม่คืนเงินต้น … อันนี้ ก็แล้วแต่กรรมการฯ และธนาคารฯ จะใช้วิธีการใด ๆ…

ลองอ่านดู #การดำเนินการและปัญหากองทุนหมู่บ้าน(1) หนึ่งในร้อยวิธีที่จะทำให้กองทุนเข้มแข็ง, BEERTHAI, 21 ตุลาคม 2548, https://www.gotoknow.org/posts/5688(2) กองทุนหมู่บ้าน: ธนาคารชุมชนจริงหรือ, รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น, 2 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/226931(3) เปิดงานวิจัย “กองทุนหมู่บ้าน” 14 ปี ได้งบ 1.66 แสนล้าน ก่อน ครม. เติมเงิน 6 หมื่นล้าน ข้อดีมีมาก แต่ข้อเสียก็ร้ายแรง, 9 กันยายน 2558, https://thaipublica.org/2015/09/villagefund-1/(4) บทเรียนจากกองทุนหมู่บ้าน, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research, 6 มกราคม 2559, https://www.pier.or.th/?abridged=บทเรียนจากกองทุนหมู่บ้(5) วิเคราะห์โครงสร้างของระบบกองทุนหมู่บ้าน, BEERTHAI, นิสา พักตร์วิไล, 19 พฤษภาคม 2559, https://www.gotoknow.org/posts/29490(6) โครงการกองทุนหมู่บ้าน, 21 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.ideasmodel.com/gov-project/โครงการกองทุนหมู่บ้าน.html

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท