Universal Design…การออกแบบที่ใจดี ตอนที่ 2


Universal Design หรือ UD ในคำภาษาไทยจะเห็นการใช้คำศัพท์อยู่หลากหลายคำเช่น การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล / การออกแบบเพื่อมวลชน / การออกแบบเพื่อทุกคน ฯลฯ แต่สำหรับคุณซาโตชินั้นได้อธิบายไว้ว่า “…คำว่า Universal Design หลายคนเข้าใจผิดว่าคือการออกแบบให้ทุกๆ คนใช้ได้ แต่ที่จริงแล้ว การออกแบบ UD ที่ดีคือ การออกแบบด้วยความเข้าใจถึงการใช้งานของคนๆ หนึ่งอย่างลึกซึ้ง จนทำให้เขาใช้งานผลิตภัณฑ์หรือสิ่งนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี และจากคนๆ หนึ่งนั้น จะสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานที่คนอื่นๆ ทั่วไปก็ใช้งานสิ่งนั้นได้ นั่นจึงจะเรียกว่า การออกแบบเพื่อทุกคน”

การก่อกำเนิดแนวคิด UD นั้น คุณซาโตชิได้เท้าความไปถึงปีค.ศ. 1960 ในประเทศสหรัฐ อเมริกาที่ได้มีการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้พิการ และได้รับการยอมรับจนออกเป็นกฎหมายในปี 1990 (และในปี 2015 จะครบ 25 ปี ของกฎหมายเพื่อผู้พิการของสหรัฐอเมริกา ; Americans with Disabilities Act of 1990 : ADA) ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 1989 ได้เกิดศูนย์การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ The Center for Universal Design (CUD) โดยทุนก่อตั้งจากศาสตราจารย์ Ronald L. Mace สถาปนิกชาวอเมริกันผู้ใช้ชีวิตบนรถเข็นมาตลอดชีวิตจากการป่วยด้วยโรคโปลิโอ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับ UD ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากหนังสือ Designing for the Disabled ที่ตีพิมพ์ในปี 1963 ของศาสตราจารย์ Ronald L. Mace ที่ได้เขียนหลักและวิธีการออกแบบเพื่อผู้พิการ จนกลายเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลในเวลาต่อมา)

หลัก 7 ประการที่สำคัญของการออกแบบ UD คือ

ความเสมอภาค (Equitable Use)

ความยืดหยุ่น (Flexibility in Use)

ความเรียบง่าย (Simple and Intuitive Use)

การรับรู้ข้อมูลแบบมีทางเลือก (Perceptible Information)

สามารถทนต่อการใช้งานที่ผิดพลาด (Tolerance for Error)

ใช้แรงน้อยและไม่เกิดภาระในการใช้งาน (Low Physical Effort)

ขนาดและพื้นที่ที่จะให้เราเข้าไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม (Size and Space for Approach and Use)

หลักสำคัญในการออกแบบสภาพแวดล้อมหรือผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด UD คือ การมี “ทางเลือก” ให้กับผู้ใช้งาน (Choice in use) เช่น ทางเดิน ควรมีลักษณะลาดชัน มีราวจับใน 2 ระดับ (เด็ก ผู้ใหญ่ คนพิการนั่งรถเข็น) คนทั่วไปสามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่ทำให้ผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายรู้สึกแปลกแยก การออกแบบ UD ของคุณซาโตชิจึงหมายถึง “Good Design should be Universal” (การออกแบบที่ดีจะนำไปสู่ความสามารถในการใช้งานได้ของทุกคน)

ตัวอย่างการออกแบบป้ายแบบมี “ทางเลือก” ให้กับผู้ใช้งาน เช่น ดูที่ “สี” / รูปร่าง (ภาพ Pictogram) / ภาษา (อ่านได้) / สัมผัสได้ (สำหรับคนตาบอด) หรือ ตัวอย่างการออกแบบผลิตภัณฑ์เก้าอี้ ที่มีการออกแบบให้เลือกขนาด (size) แบบเล็ก กลาง ใหญ่ ทำให้สามารถเลือกขนาดที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ช้อน ที่ใช้พลาสติกพิเศษที่เมื่อโดนน้ำร้อนจะสามารถปรับ “ด้ามจับ” ให้เหมาะมือได้กับผู้ใช้งานทุกคน ตัวอย่างเหล่านี้คุณซาโตชิชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของการออกแบบ UD นั้นมีอยู่เพียงแค่อย่างเดียวคือ “จะทำหรือไม่ทำ” เท่านั้นเอง (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดต่ออย่างมาก)

ในบางครั้งการออกแบบป้ายข้อมูลบางอย่าง ทำให้คนสูงอายุอ่านตัวอักษรได้ลำบาก หรือแม้แต่คนทั่วไปก็อ่านได้ลำบากเช่นกัน ถ้าอ่านข้อความไม่ครบ เช่น ภาพ Wednesday is… คือ ตัวอย่างของตารางเดินรถเมล์ที่บอกว่า รถเมล์จะมาถึงเวลาเท่าไหร่ แต่รอไปตั้งนาน รถก็ไม่มาสักที เมื่อสำรวจตัวป้ายให้ครบถ้วน จะพบว่า มีเขียนตัวเล็กๆ อยู่บริเวณด้านล่างว่า รถเมล์จะมาตามเวลาในตาราง ยกเว้นวันพุธ ทำให้ผู้ที่นั่งรอ ต้องเสียเวลานั่งรอเก้อ เพียงเพราะอาจจะอ่านข้อมูลไม่ครบ อ่านไม่สะดวกเพราะตัวอักษรเล็ก เป็นต้น หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ดูเหมือนจะออกแบบให้กับคนถนัดมือข้างใดข้างหนึ่งโดยส่วนใหญ่ เช่น ขวดน้ำ ที่ออกแบบให้คน “ถนัดขวา” เปิดได้โดยง่าย แต่พอคน “ถนัดซ้าย” เปิดฝาขวด ก็จะทำให้น้ำหกเลอะเทอะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะแก้ไขได้โดยง่าย ถ้าประเทศเรามีการเก็บข้อมูล (Database) เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของสังคม และนำมาสู่การปรับนโยบายหรือแนวคิดบางอย่างจนบางครั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนแม้กระทั่ง “กรอบความคิดหรือกระบวนทัศน์ (Paradigm)” ของคนต่อเรื่องๆ หนึ่งกันเลยทีเดียว (หรือที่เรียกกันว่า Paradigm Shift ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงหลายด้านมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ เหตุผล แรงจูงใจ แรงบีบคั้น วัฒนธรรม และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ)

ในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือออกแบบสภาพแวดล้อมบางอย่าง คุณซาโตชิได้ให้ข้อคิดที่สำคัญไว้ว่า การออกแบบนั้นจะขึ้นอยู่กับประเภทของการมองปัญหาจากการใช้งาน ซึ่งแบ่งได้ 3 อย่างคือ

ปัญหาระดับต้น : คือผู้ใช้งานรู้ว่า ใช้งานสิ่งนั้นได้ยาก ปัญหาแบบนี้ แก้ได้ง่าย เพราะ “รู้ว่า ต้องแก้ไขอะไร”

ปัญหาระดับกลาง : คือ ผู้ใช้งานก็ไม่รู้ว่า ทำไมถึงใช้งานสิ่งนั้นยาก บอกไม่ถูก แต่รู้ว่าไม่สะดวก ไม่ราบรื่น ปัญหาขั้นนี้แก้ไขยากขึ้นมากกว่าระดับต้น เพราะผู้ออกแบบต้องค้นหาว่า “อะไรที่มันผิดพลาด”

ปัญหาระดับสูง (หรือลึกมาก) : คือ ผู้ใช้งานก็ไม่รู้ว่าอะไรคือปัญหา เพียงแต่อาจจะรู้สึกว่ามันมีปัญหา แต่พูดไม่ได้ บอกไม่ถูกและบางครั้งก็ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา แต่ก็ใช้ไม่ราบรื่น ปัญหาแบบนี้เรียกว่า แทบไม่เห็นทางแก้ เพราะแม้แต่ผู้ใช้งานสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมเหล่านั้น ก็ไม่รู้ว่ามันมีปัญหาอะไร ทำให้การออกแบบแก้ได้ยาก วิธีนี้จะแก้ไขได้ด้วยการที่นักออกแบบต้องจำลองสถานการณ์ขึ้น และใช้ตัวเองเป็นผู้ทดลอง จึงจะค้นพบแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากการมองให้เห็นปัญหาก่อน แล้วจึงจะลงมือคิดหาทางแก้ไขด้วยการออกแบบ

ส่วนหลักการออกแบบที่ทางบริษัทฯ Tripod Design ได้ใช้สำหรับกระบวนการออกแบบ UD คือ PPP ได้แก่ Product Performance และ Program ด้วยการเริ่มต้นจากการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด (concept) + เทคโนโลยี ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความทันสมัย ใช้งานง่ายและตอบสนองแก่ผู้ใช้งานได้ในทุกความต้องการ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะพัฒนาสิ่งใดก็ตาม ฐานข้อมูลเกี่ยวกับทุกๆ ด้านเป็นเรื่องสำคัญขั้นมูลฐาน ซึ่งประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ สำหรับใช้วางแผนในหลายๆ ด้านเพื่อรับมือกับการก้าวไปอย่างรวดเร็วของโลกในศตวรรษที่ 21

(เรียบเรียงข้อมูลความรู้ที่ได้ฟังจากการบรรยายพิเศษในงาน Asia Design and Innovation Conference 2015 ภายใต้หัวข้อ Universal Design : Design Solutions: New Design Thinking for Well-Being โดยคุณซาโตชิ นาคากาว่า (Satoshi Nakagawa) ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท Tripod Design ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ : 18 กันยายน 2558)

Link ข้อมูลสำหรับอ่านเพิ่มเติม

http://tripoddesign.com/

http://tripoddesign.com/works.html

http://www.ncsu.edu/ncsu/design/cud/

https://www.gotoknow.org/posts/358762

หมายเลขบันทึก: 595063เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2015 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2020 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีนวัตกรรมดีๆทั้งนั้นเลยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ^^

งานนี้มีนวัตกรรมดีๆ และสนุกๆ มากมายเลยค่ะ เสียดายแค่ว่า รู้ข่าวกระชั้นชิด คนส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยจะรู้ข่าวกัน งานปีนี้คนน้อยกว่าปีที่แล้วค่ะ ปีที่แล้วมีหนังเกี่ยวกับการออกแบบมาฉายดีมากๆ ดูไปหลายเรื่อง แต่ปีนี้ไม่มีเวลานั่งดูหนังแอบเสียดายนิดนึงค่ะ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท