​ถอดบทเรียนค่าย ลานความคิด คอรัปชั่น "ฉัน" ไม่ขอรับ ตอนที่ 1


"ค่าย" มีทั้งความหมายเชิงลบและบวก คิดถึงตอนบอก "ไปออกค่าย" เป็นมโนทัศน์เชิงบวก เพราะเป็นการไป "ทำ" ค่ายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไป "ทำค่าย" ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ แต่ "ค่าย" ในเชิงลบ เช่น "ค่ายกักกัน" หรือ "ค่ายปรับทัศนคติ" ที่หลายคนก็อาจจะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ว่ากันไป ไม่ได้ออกค่ายนานเหมือนกัน ไม่ได้นอนค่ายก็นาน... ค่ายที่ออกไปทำงานอยู่เรื่อยคือการไปในฐานะวิทยากร เลยเป็นอีกแบบบรรยากาศ แต่ก็หมดสิทธิ์เป็นชาวค่ายนานแล้ว ตั้งแต่เรียนจบขั้นปริญญา ผันตัวมา "ค่าย" ในฐานะที่ปรึกษาแทน แต่ก็น้อยครั้งที่จะได้ไป "นอนค่าย" บรรยากาศของการ "ทำค่าย" จึงค่อยๆจางไป แต่สิ่งที่ไม่อาจลบเลือนไปคือกลิ่นไอของค่ายที่สัมผัสได้ด้วยใจ หอมหวานอยู่เสมอ เพราะประจักษ์ด้วยตาเมื่อคราเป็น "ชาวค่าย" ครั้งเรียนหนังสือ ปีนี้กลับมาทำกิจกรรม "ค่าย" ในฐานะที่ปรึกษาชมรมอีกครั้ง หลังห่างหายไปสองปี ที่ไม่รับเป็นที่ปรึกษาองค์กรกิจกรรมนักศึกษา ปีนี้หวนกลับมาอีกคำรบ ก็ต้อง "อาสา" ทำหน้าที่ แต่ก็ดูขลุกขลักมาก เพราะ "ไฟ" และ "วัย" ดูจะแปรผกผันกันมาก การลงไปคลุกวงในและเล่นกิจกรรมเริ่มมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่อง "สังขาร"

ค่ายนี้เป็นค่ายแรกของชมรมคอรัปชั่น "ฉัน" ไม่ขอรับ เพราะชมรมเพิ่งจะจัดตั้งอย่างเป็นทางการปีการศึกษานี้ (2558) ก็ดูขลุกขลักมากเหมือนกัน กรรมการชมรมก็ใหม่ "มือใหม่หัดขับ" ก็เก้ๆกังๆ ขับส่ายไปมา คนขับชำนาญเห็นแล้วก็อาจจะรำคาญได้ แต่เสียอย่างไร อย่างที่บอกแต่แรกว่า "ค่าย" ตามมโนทัศน์เชิงบวก ก็คือ "ความดี" ที่อยาก "อาสา" ไปทำเรื่องดีๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตำหนิกันมาก แต่เป็นเรื่องที่จะต้อง "แบ่งปัน" ความรู้และเติมเต็ม "ทักษะ" ให้กันและกัน คนค่ายมีหลายกลุ่ม และหลากระดับ ข้อมูลและการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ค่ายลานความคิด คอรัปชั่น "ฉัน" ไม่ขอรับ เป็นอย่างไรบ้าง? วันแรก ปฐมนิเทศค่ายและกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ดูจะขลุกขลัก คนมาน้อย แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ก็ได้แต่ลุ้นว่าเช้าวันพรุ่ง คงมีคนหมายมุ่งไปค่ายด้วยกันเยอะๆ วันที่สอง เช้าพิธีเปิด ท่านอธิการบดี กรุณาเล่าเรื่อง มข. กับการบริหารจัดการเพื่อขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น กับนโยบายและแนวคิดของท่าน และท่านได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจให้ฟัง สายๆคุณขวัญพัฒน์ จาก UNDP พา "เรียน" เรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย และการมีส่วนร่วมของ "พลเมือง" ในการเป็นส่วนหนึ่งในการ "ลด"ปัญหา โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเอง และเท้าความถึงโครงการคอรัปชั่น "ฉัน" ไม่ขอรับ ว่าเริ่มต้นและเดินทางมาถึงปัจจุบันอย่างไร เพื่อปรับฐานคิดให้ตรงกัน บ่าย กิจกรรมที่น้องๆ(รุ่นพี่)เตรียมการไว้ให้น้องๆทำร่วมกันเพื่อระดมสมอง ก่อนออกเดินทางมุ่งหน้าไปโรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริมเพื่อร่วมค่ายกับน้องๆนักเรียนอีก 51 คนในพื้นที่อำเภอพระยืน ก็ขลุกขลักบ้างสำหรับการเดินทาง การประสานงาน และ ฯลฯ


ค่ำคืนที่ประชารัฐวิทยาเสริมก็ผ่านไปด้วยกิจกรรมรอบกองไฟ และกิจกรรมเพื่อปรับฐานคิดเล็กๆน้อยๆ และเพื่อ "เชื่อมสะพาน" แห่งสัมพันธภาพระหว่างชาวค่าย พอปล่อยน้องค่ายแล้ว พี่ๆก็ประชุมถอดบทเรียนเพื่อดูว่า "แผน" / Plan ที่วางไว้ ดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด หลังจาก "ดำเนินการ" / Do ไปแล้ว เพื่อเป็นการร่วมกันตรวจสอบการดำเนินการ / Check ว่าขาก ตก บก พร้อง อะไรไปบ้างเพื่อวางแผนหรือเตรียมรับมือกับวันต่อไปและนำสู่การปฏิบัติ /Action การประชุมสรุป/ถอดบทเรียนถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตรที่ดีมากของชาวค่าย เพราะหลายครั้งที่ไปออกค่าย การประชุมสรุปประเด็นต่างๆ ล้วนออกมาจากจิตใจที่ดีงาม ลด/งดอคติ แต่หวังประโยชน์ร่วมกันคือ ค่าย ได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นการ ขาด ตก บก พร่อง ก็ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนจัดการค่าย เพื่อก้าวไปเป็นมืออาชีพการทำค่าย หรือการทำงานจิตอาสาต่อไป


ไว้จะเขียนเพิ่มในตอนที่ 2 ครับ

12 กันยายน 2558


ปล. ชมรมคอรัปชั่น "ฉัน" ไม่ขอรับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดค่าย

ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและโรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริม อ.พระยืน จังหวัดขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 594814เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2015 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2015 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาเชียร์ชาวค่าย

กระบวนการ PDCA ใช้ได้กับทุกกิจกรรม

ขอบคุณที่นำเรียนรู้

รออ่านอีกครับ

ได้ความรู้ดีๆมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท